การสอบซ่อมภาค 1 ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1106 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. พระอัยการลักษณะตัวเมีย ในกฎหมายตราสามดวง มีบทบัญญัติในลักษณะทํานองใด

Advertisement

ธงคําตอบ

ตามพระอัยการลักษณะตัวเมีย ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้หลายคนในเวลาเดียวกัน สังคมไทยจึง เป็นสังคมแบบ Polygamy แต่ในขณะเดียวกันกฎหมายก็ไม่อนุญาตให้หญิงมีสามีได้หลายคนในเวลาเดียวกัน หากหญิงมีสามีอยู่ก่อนแล้วจะสมรสกับชายอื่นอีกไม่ได้ จนกว่าสามีจะตายและเผาศพสามีเรียบร้อยแล้ว หรือ
หย่าขาดจากสามีแล้ว

เมื่อชายสามารถมีภรรยาได้หลายคนในเวลาเดียวกัน ในพระอัยการลักษณะตัวเมียจึงจัดลําดับชั้น
ของภรรยาไว้ดังนี้

1. เมียกลางเมือง หญิงอันบิดามารดากุมมือให้เป็นเมียชาย ได้ชื่อว่าเป็นเมียกลางเมือง

2. เมียกลางนอก ชายขอหญิงมาเลี้ยงเป็นอนุภรรยาหลั่นเมียหลวงลงมา

3. เมียกลางทาสี หญิงใดมีทุกข์ยาก ชายช่วยไถ่มาเห็นหมดหน้าเลี้ยงเป็นเมีย ได้ชื่อว่าเมียกลางทาสีหรือเมียทาส

คําว่า เมียกลางเมือง เมียกลางนอก และเมียกลางทาสี เป็นคําในกฎหมาย โดยคนทั่วไปมักเรียก เมียกลางเมืองว่า เมียหลวง เมียกลางนอกว่า เมียน้อย และเมียกลางทาสีว่า ทาสภรรยา ซึ่งการที่กฎหมายกําหนด ลําดับชั้นของภรรยาไว้ เพื่อเหตุดังนี้

1. เพื่อกําหนดส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกของภรรยาเมื่อผู้เป็นสามีถึงแก่ความตาย

2. เพื่อกําหนดเบี้ยปรับชายชู้

3. เพื่อกําหนดความรับผิดชอบของสามีทางหนี้สิน

ในพระอัยการลักษณะมรดกยังมีภรรยาอีก 2 ชั้น ได้แก่

1. ภรรยาอันทรงพระกรุณาพระราชทานให้

2. ภรรยาอันทูลขอพระราชทานให้

สําหรับภรรยาอันทรงพระราชทานให้นั้นจะเป็นใหญ่กว่าภรรยาทั้งปวง ส่วนภรรยาอันทูลขอ
พระราชทานให้นั้นมีศักดิ์เท่ากับภรรยาน้อย

อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายทุกคนจะต้องมีภรรยาหลายคน บางคนอาจจะมีภรรยาเพียงคนเดียวก็ได้

เงื่อนไขการสมรส

เงื่อนไขการสมรส หมายความถึง คุณสมบัติที่ผู้จะสมรสต้องมีหรือต้องไม่มี เพื่อให้การสมรสมีผล สมบูรณ์ตามกฎหมาย แม้ในพระอัยการลักษณะตัวเมียจะไม่ได้บัญญัติไว้โดยตรงว่าเป็นเงื่อนไขแห่งการสมรส ทํานองเดียวกันกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาแล้ว บทบัญญัติดังต่อไปนี้น่าจะถือ ว่าเป็นเงื่อนไขแห่งการสมรสตามพระอัยการลักษณะตัวเมียได้

1. หญิงต้องไม่ใช่ภรรยาของชายอื่นอยู่ก่อนแล้ว จริงอยู่กฎหมายยินยอมให้ผู้ชายมีภรรยาได้หลายคนในเวลาเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้อนุญาตให้ผู้หญิงมีสามีได้หลายคนในเวลาเดียวกัน หากหญิงมีสามีอยู่ก่อนแล้ว และไปได้เสียกับชายอื่น กฎหมายถือว่าชายนั้นเป็นเพียงชายชู้เท่านั้น จะต้องเอาหญิงนั้นส่งคืนสามีของเขา

2. ชายต้องไม่เป็นพระภิกษุ กฎหมายห้ามไว้โดยชัดแจ้งไม่ให้พระภิกษุสามเณรมีภรรยา ถ้าพระภิกษุสามเณรผิดเมียผู้อื่นถึงชําเรา ได้ชื่อว่าปาราชิกให้สึกออก และให้ปรับไหมด้วย

3. ชายหญิงต้องไม่เป็นญาติกัน ทั้งนี้เชื่อกันว่าหากชายหญิงที่เป็นญาติกันสมรสกัน จะทําให้เกิดสิ่งอัปมงคลแก่บ้านเมือง

4. หญิงหม้ายที่สามีตายจะสมรสใหม่ได้จะต้องเผาศพสามีเดิมให้เรียบร้อยเสียก่อน ทั้งนี้ กฎหมายบัญญัติไว้ในลักษณะที่ทําให้เห็นว่า หากหญิงยังไม่เผาศพสามีที่ตายไปแล้ว การสมรสยังไม่ขาดจากกัน หากหญิงชักนําเอาชายอื่นมาหลับนอนด้วย ชายนั้นมีฐานะเป็นชายชู้ กฎหมายให้ปรับไหมชายนั้นฐานทําด้วยภรรยาของผู้อื่น

5. กําหนดอายุ พระอัยการลักษณะตัวเมียไม่ได้กําหนดอายุขั้นต่ําของชายหญิงที่จะทําการสมรสได้ไว้ แต่ก็เป็นที่เข้าใจว่าฝ่ายชายต้องได้บวชเรียนเรียบร้อยแล้ว และฝ่ายหญิงก็คงจะต้องเติบโตพอจนออก เรือนได้แล้ว จึงจะทําการสมรสกัน

การสมรส

การสมรสตามพระอัยการลักษณะผัวเมียนั้น จะไม่มีการจดทะเบียนสมรสกันดังเช่นในปัจจุบัน แต่ ก็ไม่ได้หมายความว่าชายหญิงได้เสียกันแล้วจะเป็นสามีภริยากันเสมอไปก็หาไม่ การที่ชายหญิงจะมีสามีภรรยา โดยชอบด้วยกฎหมายนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ดังนี้คือ

1. ชายหญิงทั้งสองฝ่ายได้กินอยู่หลับนอนด้วยกันโดยมีเจตนาเป็นสามีภรรยากัน

2. บิดามารดาหรือผู้เป็นอิสระแก่หญิง (ผู้มีอํานาจปกครอง) ยินยอมยกหญิงให้เป็นภรรยาชาย
โดยหญิงนั้นยินยอมด้วย

 

ข้อ 2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ ทรงเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้…” แสดงให้เห็นถึงการแสดงหลักการที่สําคัญทาง ประวัติศาสตร์ที่ยาวนานว่าด้วยหลักการ “The King Can Do No Wrong” หรือหลักการที่ องค์พระมหากษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย แต่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ฉะนั้น ในฐานะที่ท่านได้ศึกษา วิชาประวัติศาสตร์กฎหมาย ขอให้ท่านอธิบายหลักการดังกล่าวว่ามีภูมิหลังของหลักการอย่างไร จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคําตอบ

หลักการว่าด้วยกษัตริย์ทรงอยู่เหนือกฎหมาย (The King Can Do No Wrong) ดังที่ปรากฏใน รัฐธรรมนูญนั้น มีวิวัฒนาการและภูมิหลังมาจากแนวคิดแบบ “เทวสิทธิ์” หรือ “เทวราชา” (Divine Right of King) ซึ่งเป็นหลักความเชื่อทางการเมืองและทางศาสนาของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

แนวคิดตามทฤษฎีเทวสิทธิ์ เชื่อว่า พระเจ้าเป็นผู้สร้างรัฐหรือเป็นผู้ก่อให้เกิดชาติขึ้นมา ดังนั้น พระมหากษัตริย์จึงมีความชอบธรรมที่จะปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ เพราะได้รับมอบอํานาจมาจากพระเจ้า
โดยตรง

ส่วนแนวคิดตามทฤษฎีสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เชื่อว่า อํานาจเด็ดขาดในองค์กรเดียวจะก่อให้เกิดความมั่นคงและสันติภาพ ซึ่งนักทฤษฎีสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่สําคัญ คือ โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) สนับสนุนให้ผู้ปกครองมีอํานาจเด็ดขาด เป็นแนวอธิบายใหม่ของศักดินานิยมที่ยังคงสนับสนุนให้อํานาจเด็ดขาด อยู่กับพระมหากษัตริย์ แต่เปลี่ยนข้ออ้างจากพระเจ้ามาเป็นความมั่นคงและสันติภาพของชุมชน ซึ่งทฤษฎี สมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น นอกจากจะให้ความชอบธรรมแก่ระบบกษัตริย์แล้ว ยังเน้นการรวมศูนย์ยิ่งกว่าทฤษฎี เทวสิทธิ์ ซึ่งโทมัส ฮอบส์ ยังได้กล่าวว่า สภาพธรรมชาติที่ปราศจากอํานาจศูนย์กลางที่ทําให้ทุกคนเกรงกลัว เป็น สภาพสงครามที่ทุกคนต้องต่อสู้กันเอง คนทุกคนเป็นศัตรูกัน ไม่มีความมั่นคง มนุษย์จึงแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดย ทําสัญญาตั้งองค์อธิปัตย์ที่มีอํานาจเด็ดขาดบังคับให้มีการปฏิบัติตามสัญญา องค์อธิปัตย์จึงทําหน้าที่ตรวจตรา ดูแลและลงโทษผู้ไม่ปฏิบัติตามสัญญาสังคม โดยองค์อธิปัตย์จะอยู่เหนือสัญญา ประชาชนไม่มีสิทธิเรียกร้องใดต่อองค์อธิปัตย์ อํานาจขององค์อธิปัตย์จึงเด็ดขาดสูงสุด

แนวคิดและหลักความเชื่อดังกล่าวที่ว่าพระเจ้าทรงมอบอํานาจทางโลกให้แก่พระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับที่ทรงมอบอํานาจทางธรรมให้แก่สถาบันศาสนาโดยมีประมุขเป็นพระสันตะปาปา และเมื่อมีการ ขยายตัวของรัฐอิสระต่าง ๆ และการปฏิรูปศาสนาของนิกายโปรเตสแตนต์มีอิทธิพลมากขึ้น ทฤษฎี “เทวสิทธิ์” ก็ กลายมาเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสนับสนุนในการให้เหตุผลในเอกสิทธิ์ในการปกครองของพระมหากษัตริย์ทั้งในด้านการเมืองและทางด้านศาสนา

และความเชื่อดังกล่าวนี้ได้แพร่หลายในกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง ของราชวงศ์ทิวดอร์และต้นราชวงศ์สจ๊วตในบริเตน และคริสต์ศาสนาปรัชญาของกลุ่มนักปรัชญาคาโรไลน์ ผู้มีอิทธิพลและมีตําแหน่งหน้าที่สูงในรัชสมัยของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 พระเจ้าชาร์ลที่ 1 และสมเด็จพระเจ้าชาร์ลที่ 2 แห่งอังกฤษ

ในยุคสมัยของการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อํานาจในการบริหารราชการ ทุกประเภทรวมศูนย์อยู่ที่สถาบันกษัตริย์ผู้ดํารงฐานะเป็นประมุขของรัฐ จึงทําให้เข้าใจว่ากษัตริย์เป็นแหล่งกําเนิด อํานาจอธิปไตย อํานาจอธิปไตยเป็นของกษัตริย์ กษัตริย์เป็นผู้ตรากฎหมายและบังคับใช้กฎหมายโดยพระองค์เอง อํานาจต่าง ๆ ในทางการปกครองรวมทั้งการชําระคดีความล้วนมีที่มาหรือได้รับมอบหมายมาจากกษัตริย์ทั้งสิ้น ดังนั้นองค์กษัตริย์จึงไม่อาจมีความรับผิดใด ๆ ได้ เพราะกษัตริย์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองและผู้ใช้อํานาจอธิปไตย เสียเอง จะถูกบังคับให้อยู่ภายใต้อํานาจของตนเองได้อย่างไร จึงมีหลักความคุ้มครองไม่ให้ฟ้องร้องดําเนินคดีใด ๆ ต่อกษัตริย์ที่เรียกว่า “The King Can Do No Wrong” เกิดขึ้นในระบบกฎหมาย Common Law ของอังกฤษ และเป็นที่ยอมรับในหลาย ๆ ประเทศในทวีปยุโรป

ภายหลังจากที่หลายประเทศได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็น ระบอบประชาธิปไตย แต่ละประเทศอาจจะเลือกการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่คงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์เป็น ประมุขของรัฐที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นผู้เลือกประธานาธิบดีเป็น ประมุขโดยตรง ซึ่งแตกต่างกันไปแล้วแต่ประวัติศาสตร์ความผูกพันและทัศนคติหรือมุมมองที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

สําหรับประเทศไทย ได้เลือกระบอบประชาธิปไตยที่คงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 3 ได้บัญญัติรับรองหลักการ ปกครองระบอบประชาธิปไตยไว้ว่า อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงใช้อํานาจ อธิปไตย จึงเท่ากับว่าพระมหากษัตริย์ทรงใช้อํานาจอธิปไตยแทนประชาชน แต่เนื่องจากพระมหากษัตริย์ไม่ได้ บริหารราชการแผ่นดิน เพียงแต่พระองค์ทรงทําตามคําแนะนําของรัฐบาลจึงไม่ต้องมีความรับผิดชอบใด ๆ อัน เกิดจากการกระทําของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ จึงต้องนําหลัก “The King Can Do No Wrong มาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 6 ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้” ซึ่งหลักการนี้ได้รับการยอมรับ ในรัฐธรรมนูญของหลายประเทศ เช่น เดนมาร์ก เบลเยี่ยม และนอร์เวย์

 

ข้อ 3. ประมวลกฎหมายของจักรพรรดิจัสติเนียนเกิดขึ้นเมื่อใด เพราะเหตุใด และประกอบไปด้วยเรื่อง
ใดบ้าง จงอธิบาย

ธงคําตอบ

เนื่องจากกฎหมายสิบสองโต๊ะได้มีการพัฒนาโดยพวกเพรเตอร์และนักกฎหมายหลายสํานัก ต่างคนก็ต่างความเห็น และมีจักรพรรดิหลายพระองค์ทรงกําหนดให้อ้างอิงความเห็นของนักกฎหมาย 5 คน จึงจะเป็นความเห็นที่เชื่อถือได้ ถ้าความเห็นของนักกฎหมายเป็นไปในทางเดียวกันทั้ง 5 คน ศาลหรือผู้พิพากษา จะต้องตัดสินความตามนั้น แต่ถ้าความเห็นของนักกฎหมายไม่ตรงกัน ผู้พิพากษาจะพิจารณาตามความเห็น ของใครก็ได้ ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นการแก้ไขปัญหาชั่วคราว ถ้าเห็นพ้องต้องกันก็จะไม่มีปัญหา แต่ถ้าความเห็นของ นักกฎหมายไม่ตรงกันทั้ง 5 คน การใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษาในการตัดสินย่อมเป็นไปตามความคิดเห็นของใครก็ได้ จึงกลายเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน

ความเป็นมาของประมวลกฎหมายจัสติเนียน (The Justinian Code) จากความไม่แน่นอนดังกล่าว ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 528 ภายหลังที่ขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันได้เพียง 1 ปี จัสติเนียนได้แต่งตั้ง กรรมการขึ้นคณะหนึ่งจํานวน 10 คน มีทริโบเนียน (Tribonian) ซึ่งเป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงในขณะนั้นเป็น ประธานให้มีหน้าที่รวบรวมและจัดทํากฎหมายขึ้นใหม่ จนในที่สุดสามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 529

ในปี ค.ศ. 530 จัสติเนียนได้มอบหมายให้ทริโบเนียนจัดทํากฎหมายขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่งให้มี ลักษณะกว้างขวางสามารถใช้บังคับได้ทั่วไป ในครั้งนี้ทริโบเนียนได้เลือกบุคคลอื่น ๆ มาร่วมงานด้วย 16 คน ซึ่งล้วนแต่เป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงทั้งสิ้น และในจํานวนนั้น มี 4 คน ที่เป็นศาสตราจารย์ทางกฎหมาย ซึ่งกรรมการชุดนี้ใช้เวลา 3 ปี ในการจัดทํากฎหมาย และได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 533

ประมวลกฎหมายของจักรพรรดิจัสติเนียน มีชื่อเรียกโดยรวมว่า Corpus Juris Civilis ประกอบด้วย

1. Institutes : คําอธิบายกฎหมายเบื้องต้น

จักรพรรดิจัสติเนียนได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ประกอบด้วย ทริโบเนียน และ
ศาสตราจารย์ทางกฎหมายอีก 2 คน ให้เรียบเรียงตํารากฎหมายขึ้นมาเล่มหนึ่งไว้เพื่อที่จะแนะนําให้ผู้ศึกษา กฎหมาย และเนื้อหาสาระของกฎหมายชีวิลลอว์ โดยจะกล่าวถึงสาระสําคัญของกฎหมายทั้งหมดให้เป็นระบบ เพื่อสะดวกแก่การศึกษา ตํารากฎหมายฉบับนี้เรียบเรียงมาจากตําราของไกอุส (Gaius) โดยให้ตัดทอนสิ่งที่ ล้าสมัยในตําราของไกอุสออก และให้จัดทําเป็นตําราคําอธิบายกฎหมายเบื้องต้นซึ่งจัดพิมพ์ในปี
ค.ศ. 533

2. Digest หรือ Pandest : วรรณกรรมทางกฎหมาย

ในปี ค.ศ. 530 จักรพรรดิจัสติเนียนได้แต่งตั้งทริโบเนียนเป็นหัวหน้าคณะกรรมการชุดหนึ่ง จํานวน 16 คน ซึ่งประกอบด้วยศาสตราจารย์ทางกฎหมายและทนายความ หน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ คือ การศึกษาข้อเขียนของเหล่าบรรดานักกฎหมายที่ทรงคุณวุฒิจากหนังสือจํานวน 2,000 เล่ม คณะกรรมการนี้ได้ ตัดทอนเอาเฉพาะสิ่งที่เห็นว่าถูกต้องที่สุดไว้ และให้ตัดสิ่งที่ซ้ําซ้อนหรือขัดแย้งกันทิ้งเสีย และให้ดัดแปลงข้อความ ต่าง ๆ ให้เข้ากับกฎหมายของยุคจักรพรรดิจัสติเนียน โดยผลงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือจํานวน 50 เล่ม จัดเรียงเป็นลักษณะต่าง ๆ และผลงานนี้ทําสําเร็จภายใน 3 ปี ประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อปี ค.ศ. 533

จักรพรรดิจัสติเนียนให้ถือเอา Digest ใช้แทนหนังสือเก่า ๆ ทั้งหมด และห้ามมิให้ค้นคว้าหรืออ้างอิงกฎหมายตามหนังสือเก่าโดยเด็ดขาด

3. Code : ตัวบทกฎหมาย

จักรพรรดิจัสติเนียนได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งจํานวน 10 คน ซึ่งประกอบด้วย นักกฎหมายชั้นนําและศาสตราจารย์ทางกฎหมายจัดการรวบรวมกฤษฎีกาของจักรพรรดิต่าง ๆ โดยให้ตัดทอน สิ่งที่เห็นว่าล้าสมัยและเลิกใช้ไปแล้ว ตลอดจนสิ่งที่เห็นว่าไม่เกี่ยวข้องก็ให้ตัดทิ้งไป ผลงานนี้เรียกว่า Code หรือ ประมวลพระราชบัญญัติ ทําสําเร็จภายในเวลาเพียง 1 ปี และประกาศใช้เป็นกฎหมายในปี ค.ศ. 529 หลังจาก ประกาศใช้ไปได้เพียง 5 ปี ก็มีความจําเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขใหม่เพราะว่าล้าสมัย ประมวลกฎหมายฉบับที่ 2 นี้ มีชื่อเรียกว่า Justinian Code of The Resumed Reading

4. Novels : การแก้ไขเพิ่มเติม ที่มาที่ไปของประมวลกฎหมายนี้

หลังจากที่มีการจัดทําประมวลกฎหมายในข้อ 1, 2 และ 3 แล้ว จักรพรรดิจัสติเนียนยังให้ รวบรวมกฎหมายใหม่ ๆ ที่จักรพรรดิตราขึ้นมา รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย แต่ทําไม่สําเร็จก็เสียชีวิตเสียก่อน ต่อมาก็มีเอกชนผู้อื่นได้จัดการรวบรวมสืบต่อมา เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่จักรพรรดิจัสติเนียน จึงให้นับเนื่องส่วนที่ 4 นี้ เป็นส่วนหนึ่งของผลงานของจักรพรรดิจัสติเนียนด้วย

 

ข้อ 4. จงอธิบายกฎหมายอาญาสมัยบาบิโลน

ธงคําตอบ

กฎหมายอาญาในสมัยบาบิโลน คือ ประมวลกฎหมายพระเจ้าฮัมมูราบียึดหลักการแก้แค้น ตอบแทนที่รุนแรงมาก หลักการดังกล่าวนี้เป็นหลักการของกฎหมายดั้งเดิมที่เรียกว่า “Lex Tationis” หรือ ที่มีคํากล่าวกันว่า “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” (An eye for an eye, and a tooth for a tooth) เห็นได้จากข้อความ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ดังนี้คือ

(1) ถ้าบุคคลใดทําลายดวงตาของอีกผู้หนึ่ง ดวงตาของบุคคลนั้นจะถูกทําลายเช่นกัน

(2) ถ้าชายคนหนึ่งเป็นเหตุให้ขายอีกคนสูญเสียลูกนัยน์ตา ลูกนัยน์ตาของชายคนนั้นต้องถูกควักออกมา

(3) บุคคลใดทําให้บุตรสาวของผู้อื่นถึงแก่ความตาย บุตรสาวของตนก็จะถูกลงโทษให้ถึงแก่ความตายด้วย

(4) ถ้าบ้านพังตกลงมาทับเจ้าของบ้านตาย ผู้สร้างต้องรับผิดชดใช้ด้วยชีวิต

(5) ช่างก่อสร้างบ้านเรือนที่ทําให้บุตรของเจ้าของบ้านถึงแก่ความตายโดยประมาท บุตรของตนจะถูกลงโทษให้ถึงแก่ความตายเช่นกัน

(6) เจ้าหนี้ทําให้บุตรของลูกหนี้ซึ่งมาอยู่กับตนในฐานะเป็นผู้ขัดหนี้ (Mancipium) ถึงแก่ความตาย บุตรของเจ้าหนี้จะถูกลงโทษให้ถึงแก่ความตายด้วย

เมื่อพิจารณาหลักการลงโทษดังกล่าว จะเห็นว่าเป็นการลงโทษแก่บุตรหรือธิดาของผู้กระทําผิด ซึ่งบุคคลดังกล่าวไม่ได้กระทําความผิด อันเป็นวิธีการลงโทษที่มีวัตถุประสงค์ในการแก้แค้นหรือตอบแทนผู้ที่กระทําความผิด วิธีการลงโทษดังกล่าวจึงแตกต่างกับกฎหมายอาญาในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ในประมวลกฎหมายนี้ไม่มีการลงโทษจําคุกแก่ผู้กระทําผิด เพราะโทษที่ลงแก่ ผู้กระทําผิดร้ายแรงที่ผู้กระทําผิดมีเจตนา เช่น ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ ลักทรัพย์ คือ โทษประหารชีวิต แต่ความผิด อื่น ๆ ที่ไม่ร้ายแรง โทษที่ผู้กระทําความผิดได้รับ คือ โทษปรับ เช่น การฆ่าคนตายโดยเจตนาต้องถูกลงโทษ ประหารชีวิต แต่ถ้าจําเลยสาบานว่าฆ่าคนจริงแต่ไม่เจตนา โทษที่จําเลยได้รับ คือ โทษปรับ โดยคํานึงถึงชั้น
วรรณะของผู้ซึ่งถึงแก่ความตายเป็นหลัก

นอกจากนี้ลูกทําร้ายร่างกายพ่อ จะถูกลงโทษให้ตัดมือทิ้งเสีย

วิธีพิสูจน์ความผิดฐานมีชู้ ให้นําภรรยาไปโยนลงในแม่น้ํา ถ้าลอยน้ำถือว่าบริสุทธิ์ ถ้าจมน้ำถือว่ามีความผิด

 

Advertisement