การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. กฎหมายตราสามดวงคืออะไร เพราะเหตุใดจึงมีการบัญญัติกฎหมายตราสามดวงขึ้นมา จงอธิบาย

Advertisement

ธงคําตอบ

กฎหมายตราสามดวง คือ กฎหมายที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงให้บัญญัติมา เพื่อใช้ปกครองบ้านเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2347 (จ.ศ.1166) เหตุที่มีการบัญญัติกฎหมายตราสามดวงขึ้นมาก็เนื่องจาก มีการร้องทุกข์ของนายบุญศรี ช่างเหล็กหลวง ว่าภรรยาของตนเองซึ่งมีชื่อว่าอําแดงป้อม ไปทําชู้กับราชาอรรถ แล้วมาฟ้องหย่านายบุญศรี นายบุญศรีไม่ยอมหย่า แต่ศาลตัดรับให้หย่ากันได้ เพราะตามกฎหมายในขณะนั้น บัญญัติว่า เป็นหญิงหย่าชายหย่าได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเห็นว่า หญิงนอกใจชายแล้วมา ฟ้องหย่า ลูกขุนปรึกษาให้หย่ากันนั้นหายุติธรรมไม่ จึงทรงให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งรวม 11 คน ให้ จัดการชําระบทกฎหมายทั้งหมด ตั้งแต่พระธรรมศาสตร์เป็นต้นมาให้ถูกต้องตามความยุติธรรม และให้อาลักษณ์ เขียนเป็นฉบับหลวงจํานวน 3 ชุด ประทับตราคชสีห์ ราชสีห์ และบัวแก้ว อันตราของสมุหพระกลาโหม สมุหนายก และเจ้าพระยาพระคลังไว้เป็นสําคัญ จึงได้เรียกในภายหลังว่ากฎหมายตราสามดวง

 

ข้อ 2. ในพระอัยการลักษณะโจร และพระอัยการลักษณะวิวาทด่าตีกัน มีการบัญญัติกฎหมายที่มีการ ยกเว้นโทษแก่ผู้กระทําความผิดอาญากรณีใดบ้าง อธิบาย

ธงคําตอบ

พระอัยการลักษณะวิวาทด่าตีกัน มีการยกเว้นโทษให้แก่ผู้กระทําความผิดในกรณี ดังนี้
1. ลักทรัพย์ระหว่างเครือญาติ
2. ทําร้ายร่างกายไม่ถึงอันตรายสาหัสระหว่างเครือญาติ
3. เด็กอายุไม่เกิน 7 ขวบ และคนแก่เกินกว่า 70 ปีขึ้นไป ที่กระทําความผิด ไม่ต้องรับโทษ
4. ยกเว้นโทษให้แก่คนวิกลจริต
5. หมิ่นประมาท ว่า พ่อ แม่ ลูก ทําชู้กัน และเป็นจริงตามที่หมิ่นประมาท

 

ข้อ 3. กฎหมายของต่างประเทศมีอิทธิพลต่อกฎหมายไทยในปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย

ธงคําตอบ

ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 บรรพ จํานวน 1,755 มาตรา เมื่อ พิจารณาถึงมาตราต่าง ๆ ในแต่ละบรรพ (Books) จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการร่างกฎหมายได้อาศัยกฎหมายของ ประเทศทางตะวันตกเป็นส่วนมากในการจัดทําประมวลกฎหมายฉบับนี้ ดังจะเห็นได้จากบรรพ 1 หลักทั่วไป และบรรพ 2 ได้ลอกเลียนแบบมาจากกฎหมายแพ่งของเยอรมันและกฎหมายแพ่งของญี่ปุ่น ซึ่งมีรากฐานมาจาก กฎหมายโรมัน โดยเฉพาะในบรรพ 2 ว่าด้วยหนี้ในเรื่องวางทรัพย์ บางมาตราเมื่อเทียบตัวบทแล้วแทบจะเรียกได้ว่า เหมือนกันแทบทุกคําก็ว่าได้

ส่วนในบรรพ 3 ว่าด้วยเอกเทศสัญญา ได้นํากฎหมายหลายประเทศมาพิจารณา เช่น กฎหมายแพ่ง ของฝรั่งเศส กฎหมายแพ่งของสวิส นอกเหนือจากกฎหมายแพ่งของเยอรมันและญี่ปุ่น แต่เมื่อพิจารณาอย่าง ละเอียดรอบคอบแล้ว ได้ยึดถือพระราชบัญญัติซื้อขายสินค้า (The Sale of Goods Act, 1893) ของประเทศ อังกฤษเป็นหลัก ดังปรากฏในมาตราต่าง ๆ ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 1 ว่าด้วย ซื้อขายซึ่งมีบทบัญญัติที่คล้ายคลึงกับกฎหมายซื้อขายของประเทศอังกฤษ

สําหรับกฎหมายตั๋วเงินในบรรพ 3 ลักษณะ 21 ก็ได้นําเอาบทบัญญัติส่วนใหญ่ของ เดอะบิลล์ ออฟเอ็กซ์เชนจ์แอคท์ ค.ศ. 1882 (The Bill of Exchange Act, 1882) ของอังกฤษมาเป็นรากฐานในการร่าง นอกจากนี้กฎหมายอังกฤษก็ยังเป็นต้นแบบแนวความคิดในการร่างกฎหมายลักษณะบริษัทจํากัดอีกด้วย

ในกฎหมายล้มละลายคือพระราชบัญญัติล้มละลาย ร.ศ. 127 ก็เป็นกฎหมายที่ได้รับอิทธิพลมาจาก กฎหมายของต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายของอังกฤษ ซึ่งต่อมาได้มีการตรากฎหมายฉบับใหม่ คือ พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 และฉบับปัจจุบันคือ พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2542

ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย ก็เป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่ผู้ร่างได้ นําเอาหลักกฎหมายอังกฤษมาบัญญัติไว้คือ เรื่องเฮบีอัสคอร์พัส (Habeas Corpus) ซึ่งเป็นกฎหมายสําคัญใน การให้หลักกฎหมายทางเสรีภาพแก่ประชาชนอังกฤษมาใช้ ตามกฎหมายอังกฤษถ้าบุคคลใดฝ่าฝืนหมายเรียก เฮบีอัสคอร์พัส ย่อมมีความผิดฐานละเมิดอํานาจศาล ผลคือศาลลงโทษได้ทันที หลักกฎหมายนี้ได้นํามาบัญญัติไว้ ในมาตรา 90 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนชาวไทยได้รับความ คุ้มครองเสรีภาพส่วนบุคคลอย่างในอังกฤษ

 

ข้อ 4. การเรียนกฎหมายในระบบคอมมอนลอว์ มีความแตกต่างจากระบบซีวิลลอว์ อย่างไร

ธงคําตอบ

การศึกษากฎหมายในระบบกฎหมายคอมมอนลอว์นั้น นักศึกษากฎหมายจําเป็นต้องศึกษาจาก คําพิพากษาที่ศาลได้ตัดสินไว้เป็นบรรทัดฐาน ดังนั้น นักศึกษาจึงได้รับการฝึกหัดให้วิเคราะห์คําพิพากษาจาก ข้อเท็จจริงในคดีที่เกิดขึ้นเพื่อแยกเอาหลักเกณฑ์ที่ถือเป็นบรรทัดฐานของคําพิพากษาที่จะนําไปใช้เป็นแบบอย่าง สําหรับคดีต่อ ๆ มา ตํารากฎหมายของประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์จึงมีลักษณะเป็นการรวบรวม เอาคําพิพากษาที่สําคัญ ๆ ที่ได้ตัดสินไปแล้ว นํามาวิเคราะห์ (Analyse) โดยจะมุ่งแสดงให้เห็นถึงหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏในคําพิพากษาเหล่านั้น มีการจําแนกออกเป็นเรื่อง ๆ เพื่อสะดวกแก่การศึกษา

ส่วนประเทศที่ใช้ระบบชีวิลลอว์ ความสําคัญอยู่ที่ตัวบทกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้แก่ ประมวล กฎหมายต่าง ๆ นั่นเอง นักศึกษาจึงต้องศึกษาจากตัวบทกฎหมายเหล่านั้น หรือค้นคว้าจากคําอธิบาย เพื่อให้ เข้าใจความหมายของตัวบทกฎหมายดังกล่าว ตํารากฎหมายของประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ จึงมีลักษณะ ที่เป็นการอธิบายความหมายของตัวบทกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วยหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นแนวคิดของนักนิติศาสตร์ หรือนักปราชญ์ทางกฎหมาย ตลอดจนคําพิพากษาของศาลสูง ซึ่งถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้กฎหมายอีกด้วย

Advertisement