การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1102 (LAW1002) หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 ช่องว่างของกฎหมายคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีการบัญญัติ ถึงวิธีการอุดช่องว่างของกฎหมายไว้อย่างไรบ้าง อธิบาย

ธงคําตอบ

ช่องว่างแห่งกฎหมาย คือ กรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนํามาปรับใช้กับข้อเท็จจริงได้ กล่าวคือ ผู้ใช้กฎหมายหากฎหมายเพื่อนํามาปรับใช้แก่กรณีไม่พบนั่นเอง

โดยปกติช่องว่างแห่งกฎหมายเกิดจากการที่ผู้ร่างกฎหมายคิดไปไม่ถึงว่าจะมีช่องว่างในกฎหมายอาจจะเป็นเพราะผู้ร่างกฎหมายไม่สามารถที่จะนึกถึงช่องว่างของกฎหมายนั้นได้ เพราะยังไม่มีเหตุการณ์อันทําให้ช่องว่างนั้นเกิดขึ้น

ซึ่งหลักในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายแพ่งนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4วรรคสอง ได้บัญญัติไว้ว่า

“เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้น ก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป”

กล่าวคือ เมื่อมีคดีหรือข้อพิพาทเกิดขึ้น แต่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติเกี่ยวกับ เรื่องดังกล่าวไว้ให้ศาลวินิจฉัยตามลําดับ ดังนี้

1 ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น หมายความว่า ถ้าไม่มีกฎหมาย ลายลักษณ์อักษรที่จะนํามาตัดสินคดีที่มาสู่ศาล ก็ให้ศาลนําเอาจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาใช้แทนกฎหมาย ลายลักษณ์อักษรเพื่อวินิจฉัยตัดสินคดี ซึ่งจารีตประเพณีก็คือ ระเบียบแบบแผนที่มนุษย์ยอมรับนับถือและปฏิบัติ สืบต่อกันมาเป็นเวลานานจนบุคคลทั่วไปรู้สึกว่าเป็นข้อบังคับที่จะนํามาใช้ได้ และมีผลเช่นเดียวกับกฎหมาย ลายลักษณ์อักษรนั่นเอง เช่น จารีตประเพณีการค้าของธนาคารพาณิชย์ จารีตประเพณีเกี่ยวกับการขนส่ง เป็นต้น

2 ในกรณีที่ไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ให้วินิจฉัยคดีโดยอาศัยเทียบบทกฎหมาย ที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง หมายความว่า เมื่อมีข้อเท็จจริงหรือคดีเกิดขึ้น แต่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร อีกทั้งไม่มี จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะนํามาใช้ในการวินิจฉัยคดีนั้นได้ ศาลก็ยังคงต้องวินิจฉัยตัดสินชี้ขาดคดีโดยการอาศัยบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ซึ่งกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งนี้หมายถึงบทบัญญัติที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในกฎหมาย เดียวกัน ซึ่งก็คือบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั่นเอง มิใช่กฎหมายอย่างอื่นที่มีลักษณะต่างกัน เช่น การขุดหลุมรับน้ำโสโครก หลุมรับปุ๋ย หรือหลุมรับขยะมูลฝอย มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าจะขุดในระยะสองเมตร จากแนวเขตที่ดินไม่ได้ (มาตรา 1342) แต่หลุมที่รับกากสารเคมีไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าขุดได้หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริง ปรากฏว่าในเรื่องการขุดหลุมรับกากสารเคมี มีเหตุผลที่ควรจะห้ามมิให้ขุดในระยะที่ใกล้เคียงกับแนวเขตที่ดิน เพราะ อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญแก่บุคคลที่อยู่ในที่ดินข้างเคียงได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงนําเอามาตรา 1342 มาใช้เทียบเคียงกับการขุดหลุมรับกากสารเคมีได้ เป็นต้น

3 ในกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ให้วินิจฉัยคดีตามหลักกฎหมายทั่วไป กรณีนี้เป็นวิธีการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายแพ่งประการสุดท้าย หมายความว่า ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร ไม่มีจารีตประเพณี และไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ศาลก็ต้องวินิจฉัยตัดสินคดีโดยให้นําเอาหลักกฎหมายทั่วไป มาใช้บังคับ ซึ่งหลักกฎหมายทั่วไปนี้อาจจะเป็นหลักกฎหมายดั้งเดิมของกฎหมายโรมัน หรือสุภาษิตของกฎหมาย หรืออาจจะเป็นหลักกฎหมายที่นานาอารยประเทศยอมรับและใช้ปฏิบัติกันทั่วไปก็ได้ เช่น สัญญาต้องเป็นสัญญา ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อเกิดช่องว่างแห่งกฎหมายแพ่งขึ้น ศาลจะต้องใช้หลักในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมาย ตามขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น เพื่อวินิจฉัยคดีที่เกิดขึ้น จะยกฟ้องโดยอาศัยเหตุว่าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนํามาวินิจฉัยไม่ได้

 

ข้อ 2 นายเอออกจากบ้านไปทําธุระที่ต่างจังหวัดในวันที่ 5 มีนาคม 2550 แล้วหายไป ต่อมาวันที่ 8 สิงหาคม 2554 นายบีพบนายเออยู่ที่จังหวัดแพร่ จึงโทรศัพท์ไปบอกภริยาของนายเอ หลังจาก วันที่ 8 สิงหาคม 2554 ก็ไม่มีใครพบนายเออีกเลย ต่อมาภริยาของนายเอได้ยื่นคําร้องขอให้ นายเอเป็นคนสาบสูญในวันที่ 6 มีนาคม 2555

ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาล ท่านจะมีคําสั่งว่าอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 61 “ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลําเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้น ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้น เป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือสองปี

(1) นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และ หายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

(2) นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทําลาย หรือสูญหายไป

(3) นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น”

วินิจฉัย

ตามปัญหา การที่นายเอออกจากบ้านไปทําธุระที่ต่างจังหวัดในวันที่ 5 มีนาคม 2550 แล้วหายไป ต่อมาวันที่ 8 สิงหาคม 2554 นายบีได้พบนายเออยู่ที่จังหวัดแพร่ จึงได้โทรศัพท์ไปบอกภริยาของนายเอ และ หลังจากวันที่ 8 สิงหาคม 2554 ก็ไม่มีใครพบนายเออีกเลยนั้น กรณีดังกล่าวย่อมถือว่านายเอได้หายไปจาก ภูมิลําเนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่มีใครรู้แน่ว่านายเอยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ในกรณีธรรมดา เนื่องจากนายเอไม่ได้สูญหายไป เพราะเหตุใดเหตุหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 61 วรรคสอง ดังนั้น การที่ภริยาของนายเอซึ่งถือว่าเป็นผู้มีส่วน ได้เสียจะร้องขอต่อศาลเพื่อสั่งให้นายเอเป็นคนสาบสูญนั้น จะร้องขอได้ก็ต่อเมื่อนายเอได้สูญหายไปจนครบ กําหนด 5 ปี โดยให้นับระยะเวลา 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2554 ซึ่งเป็นวันที่มีผู้พบเห็นนายเอครั้งสุดท้าย ซึ่งจะครบกําหนด 5 ปีในวันที่ 8 สิงหาคม 2559 มิใช่เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2550 แต่อย่างใด

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าภริยาของนายเอได้ยื่นคําร้องต่อศาลเพื่อสั่งให้นายเอเป็นคนสาบสูญ

ในวันที่ 6 มีนาคม 2555 จึงเป็นการยื่นคําร้องขอในขณะที่นายเอได้สูญหายไปยังไม่ครบกําหนด 5 ปี ดังนั้น ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล ข้าพเจ้าจะมีคําสั่งยกคําร้องของภริยานายเอและจะไม่มีคําสั่งให้นายเอเป็นคนสาบสูญ

สรุป ข้าพเจ้าจะสั่งยกคําร้องของภริยานายเอและจะไม่มีคําสั่งให้นายเอเป็นคนสาบสูญ

 

ข้อ 3 การนํานิติกรรมของบุคคลดังกล่าวตามโจทย์จะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร เพราะเหตุใด

(1) นายหนึ่งอายุย่างเข้า 20 ปี ใช้เงินส่วนตัวของตนไปซื้อรถยนต์หรูราคา 10 ล้านบาทจากนายสองโดยลําพัง

(2) นายสามคนไร้ความสามารถได้รับอนุญาตจากผู้อนุบาลให้ไปซื้อโทรทัศน์ราคาหนึ่งหมื่นบาทจากร้านนายสี่

(3) นายห้าคนวิกลจริตไปซื้อจักรยานเสือภูเขาในราคาสองแสนบาทจากนายหกในขณะที่กําลังคุ้มร้ายหรือขณะจิตวิกลแต่นายหกไม่ทราบ

(4) นายเจ็ดคนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมลูกช้างห้าตัวไปแสดงโชว์ชาวต่างชาติโดยลําพัง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 21 “ผู้เยาว์จะทํานิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทําลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆยะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

มาตรา 24 “ผู้เยาว์อาจทําการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตนและเป็นการอันจําเป็นในการดํารงชีพตามสมควร”

มาตรา 29 “การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทําลง การนั้นเป็นโมฆียะ”

มาตรา 30 “การใด ๆ อันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทําลง การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทําในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทําเป็นคนวิกลจริต”

มาตรา 34 “คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึง จะทําการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้

(3) กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสั่งหาริมทรัพย์อันมีค่า การใดกระทําลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรานี้ การนั้นเป็นโมฆียะ”

วินิจฉัย

กรณีตามปัญหา วินิจฉัยได้ดังนี้ คือ

(1) โดยหลัก ผู้เยาว์จะทํานิติกรรมใด ๆ จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม ก่อน มิฉะนั้นนิติกรรมที่ผู้เยาว์ทําขึ้นจะตกเป็นโมฆยะตามมาตรา 21 เว้นแต่นิติกรรมบางประเภทที่กฎหมาย กําหนดให้ผู้เยาว์สามารถทําเองได้โดยลําพังตนเองและมีผลสมบูรณ์ เช่น นิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทําเองเฉพาะตัว นิติกรรมที่จําเป็นในการดํารงชีพของผู้เยาว์ หรือนิติกรรมที่ทําให้ผู้เยาว์ได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่งหรือหลุดพ้น จากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง เป็นต้น

ตามปัญหา การที่นายหนึ่งอายุย่างเข้า 20 ปี ซึ่งเป็นผู้เยาว์ได้ใช้เงินส่วนตัว 10 ล้านบาท ไปซื้อรถยนต์จากนายสองนั้น ไม่ถือว่าเป็นการทํานิติกรรมที่จําเป็นในการดํารงชีพของผู้เยาว์ตามมาตรา 24 หรือ เป็นนิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทําเองเฉพาะตัว หรือเป็นนิติกรรมที่ทําให้ผู้เยาว์ได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่งหรือหลุดพ้น จากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่ผู้เยาว์สามารถทําได้เองโดยลําพังแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าการที่ นายหนึ่งได้ไปซื้อรถยนต์จากนายสองดังกล่าวนั้น ไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม นิติกรรม การซื้อขายรถยนต์ดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆยะตามมาตรา 21

(2) ตามมาตรา 29 กฎหมายได้บัญญัติห้ามมิให้คนไร้ความสามารถทํานิติกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าคนไร้ความสามารถฝ่าฝืนไปทํานิติกรรม ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลหรือไม่ก็ตาม นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

ตามปัญหา การที่นายสามคนไร้ความสามารถได้ทํานิติกรรมโดยไปซื้อโทรทัศน์ราคาหนึ่งหมื่นบาทจากร้านนายสี่นั้น แม้การทํานิติกรรมดังกล่าวของนายสามจะได้รับอนุญาต คือได้รับความยินยอม จากผู้อนุบาลก็ตาม นิติกรรมดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 29

(3) โดยหลักของมาตรา 30 คนวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทํานิติกรรม ใด ๆ นิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะตกเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อได้ทํานิติกรรมนั้นในขณะจริตวิกล และคู่กรณี อีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้ทํานิติกรรมเป็นคนวิกลจริต

ตามปัญหา การที่นายห้าคนวิกลจริตได้ไปซื้อจักรยานเสือภูเขาราคาสองแสนบาท จากนายหกในขณะที่กําลังวิกลจริตอยู่ เมื่อนายหกไม่ทราบว่านายห้าเป็นคนวิกลจริต ดังนั้น นิติกรรมการซื้อจักรยานเสือภูเขาจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายไม่ตกเป็นโมฆียะแต่อย่างใด

(4) โดยทั่วไป คนเสมือนไร้ความสามารถทํานิติกรรมใด ๆ ได้โดยลําพังตนเอง และมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมที่สําคัญบางอย่างที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 เช่น การกู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์ อันมีค่า คนเสมือนไร้ความสามารถจะทําต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ ตามปัญหา การที่นายเจ็ดคนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมลูกช้าง 5 ตัว ไปแสดงโชว์ ชาวต่างชาตินั้น เป็นเพียงการให้ยืมสังหาริมทรัพย์ธรรมดาเท่านั้น (เพราะลูกช้างไม่ใช่สัตว์พาหนะ) จึงไม่ใช่กรณีที่ คนเสมือนไร้ความสามารถให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า (สังหาริมทรัพย์ที่เมื่อมีการจําหน่ายจ่ายโอนจะต้องทํา เป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่) ซึ่งเป็นนิติกรรมที่จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน ตามมาตรา 34 (3) ดังนั้นแม้นายเจ็ดจะให้เพื่อนยืมลูกช้าง 5 ตัว โดยลําพัง กล่าวคือโดยผู้พิทักษ์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย แต่อย่างใด สัญญาการให้เพื่อนยืมลูกช้าง 5 ตัว ดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆียะ

สรุป

1) สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างนายหนึ่งกับนายสองเป็นโมฆียะ

2) สัญญาซื้อขายโทรทัศน์ระหว่างนายสามกับนายสี่เป็นโมฆียะ

3) สัญญาซื้อขายจักรยานเสือภูเขาระหว่างนายห้ากับนายหกมีผลสมบูรณ์

4) การให้เพื่อนยืมลูกช้าง 5 ตัวของนายเจ็ดมีผลสมบูรณ์

 

Advertisement