การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1001 หลักกฎหมายมหาชน

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 จงอธิบายความหมายของกฎหมายมหาชน และกฎหมายมหาชนแตกต่างจากกฎหมายเอกชนอย่างไร

ธงคําตอบ

กฎหมายมหาชน ได้แก่ กฎหมายที่กําหนดถึงกฎเกณฑ์ทางกฎหมายทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับ “สถานะและอํานาจของรัฐและผู้ปกครอง” รวมทั้งเป็นกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่กําหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ และผู้ปกครองกับพลเมืองผู้อยู่ใต้การปกครอง ในฐานะที่รัฐและผู้ปกครองมีเอกสิทธิทางปกครองเหนือพลเมือง ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นเอกชน

สาขาของกฎหมายมหาชน ได้แก่ รัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง และกฎหมายการคลัง ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและผู้ปกครองกับพลเมืองตามกฎหมายมหาชนนั้น เป็นความสัมพันธ์ในลักษณะที่รัฐและผู้ปกครองมีเอกสิทธิ์ทางปกครองเหนือพลเมือง

ซึ่งจะแตกต่างกับกฎหมายเอกชนที่ตั้งอยู่บน พื้นฐานแห่งความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันของคู่กรณี และตั้งอยู่บนหลักความศักดิ์สิทธิ์แห่งการแสดงเจตนาและเสรีภาพในการทําสัญญา

สําหรับความแตกต่างระหว่างหลักกฎหมายมหาชนกับหลักกฎหมายเอกชนนั้น สามารถแยกออกเป็นหัวข้อที่สําคัญ ๆ ได้ดังนี้

1 ความแตกต่างทางด้านองค์กรหรือบุคคลที่เข้าไปสร้างหรือทํานิติสัมพันธ์ (ทฤษฎีตัวการ) กฎหมายมหาชน คู่กรณี คือ องค์กรหรือบุคคลที่เข้าไปสร้างหรือทํานิติสัมพันธ์ ได้แก่ รัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายหนึ่งกับเอกชนที่เป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง

กฎหมายเอกชน คู่กรณี คือ องค์กรหรือบุคคลที่เข้าไปสร้างหรือทํานิติสัมพันธ์ ได้แก่ เอกชน ที่เป็นคู่กรณีฝ่ายหนึ่งกับเอกชนที่เป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง

2 ความแตกต่างทางด้านเนื้อหาและความมุ่งหมาย (ทฤษฎีผลประโยชน์)

กฎหมายมหาชน มีวัตถุประสงค์ในการดําเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณะและการให้บริการ สาธารณะ โดยมิได้มีความมุ่งหมายถึงผลกําไรเป็นตัวเงินหรือทรัพย์สิน แต่มุ่งหวังถึงความพึงพอใจและการตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนรวมเป็นสําคัญ

กฎหมายเอกชน มีวัตถุประสงค์ในการดําเนินงานเพื่อประโยชน์ของเอกชนแต่ละบุคคล โดยมีความมุ่งหมายถึงผลกําไรเป็นตัวเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์ในลักษณะอื่นใดเพื่อประโยชน์ของปัจเจกบุคคล เป็นสําคัญ ทั้งนี้ มีข้อยกเว้นกรณีที่เป็นเอกชนบางประเภทที่อาจดําเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังเช่น มูลนิธิ หรือสมาคมการกุศล เป็นต้น

3 ความแตกต่างทางด้านรูปแบบของนิติสัมพันธ์ (ทฤษฎีความไม่เท่าเทียมกัน)

กฎหมายมหาชน มีลักษณะเป็นการใช้บังคับอํานาจที่มีอยู่เหนือนิติสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือกับปัจเจกบุคคล โดยวิธีการที่เป็น “การกระทําฝ่ายเดียว” และปรากฏออกมาในรูปแบบ “คําสั่ง กล่าวคือ เป็นการกระทําที่ฝ่ายหนึ่ง (รัฐและผู้ปกครอง) สามารถกําหนดหน้าที่ทางกฎหมายให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง (รัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือปัจเจกบุคคล) กระทําตาม โดยฝ่ายที่มีหน้าที่ต้องกระทําตามอาจไม่ได้ตกลงยินยอมด้วยก็ตาม

กฎหมายเอกชน มีลักษณะที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักความเป็นอิสระในการแสดงเจตนา หลักความเสมอภาค และหลักเสรีภาพในการทําสัญญา โดยคู่กรณีต้องมีความสมัครใจ (เจตนาเสนอสนองตรงกัน สัญญาจึงจะเกิด) และคู่กรณีฝ่ายหนึ่งไม่มีอํานาจเหนือคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง โดยจะทําการบังคับอีกฝ่ายหนึ่งโดยปราศจากความยินยอมมิได้

4 ความแตกต่างทางด้านนิติวิธี

กฎหมายมหาชน มีลักษณะเป็นการนํานิติวิธีทางกฎหมาย โดยการนําแนวความคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหาทางกฎหมายมหาชน โดยการสร้างหลักกฎหมายมหาชนขึ้นมาใช้บังคับ (โดยปฏิเสธการนําแนวความคิด วิเคราะห์ตามหลักกฎหมายเอกชนมาใช้บังคับโดยตรง)

กฎหมายเอกชน มีลักษณะเป็นการนํานิติวิธีทางกฎหมาย โดยการนําความคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหาทางกฎหมายเอกชนที่มุ่งเน้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลด้วยกันเอง และมุ่งเน้นถึงการรักษาผลประโยชน์ของเอกชนด้วยกัน

5 ความแตกต่างทางด้านนิติปรัชญา

กฎหมายมหาชน มีลักษณะเป็นการมุ่งเน้นถึงการประสานและสร้างความสมดุลระหว่างผลประโยชน์สาธารณะหรือผลประโยชน์ของส่วนรวมกับผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลหรือเอกชน ที่มุ่งถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลตามที่กฎหมายให้อํานาจหรือกําหนดไว้

กฎหมายเอกชน มีลักษณะเป็นการมุ่งเน้นถึงความยุติธรรมที่เท่าเทียมกัน และตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความสมัครใจของคู่กรณี

6 ความแตกต่างทางด้านเขตอํานาจศาล

กฎหมายมหาชน หากเป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐ หรือข้อพิพาทระหว่างรัฐกับปัจเจกบุคคล หรือเอกชนในทางกฎหมายมหาชนแล้ว คดีข้อพิพาทจะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลเฉพาะหรือศาลพิเศษในทาง มหาชน เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง เป็นต้น

กฎหมายเอกชน หากเป็นข้อพิพาทระหว่างปัจเจกบุคคล หรือเอกชนต่อปัจเจกบุคคลหรือ เอกชนในทางกฎหมายเอกชนแล้ว คดีข้อพิพาทจะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม ดังเช่น ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หรือศาลภาษี เป็นต้น

 

ข้อ 2 ให้อธิบายความหมายของหลักประโยชน์สาธารณะ (Public Interest) และหลักการที่เป็นสาระสําคัญ ในการบริการสาธารณะ (Public Service) มีหลักการสําคัญอะไรบ้าง

ธงคําตอบ

หลักประโยชน์สาธารณะ หมายถึง หลักการใช้อํานาจรัฐเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ มิใช่การตอบสนองต่อความต้องการของปัจเจกบุคคลเพียงคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มบุคคล บางกลุ่ม และมิใช่การตอบสนองต่อความต้องการของรัฐหรือผู้ดําเนินการนั้นเอง หรืออาจกล่าวได้ว่าประโยชน์ สาธารณะ คือความต้องการของปัจเจกบุคคลแต่ละคนที่ตรงกัน และเป็นความต้องการที่ตรงกันจํานวนมากจนเป็น ความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในสังคม มีผลทําให้ความต้องการในลักษณะดังกล่าวเป็นประโยชน์สาธารณะซึ่งจะมีความแตกต่างจากประโยชน์ส่วนบุคคลของปัจเจกบุคคลหรือเอกชนแต่ละคน

หลักการที่เป็นสาระสําคัญในการบริการสาธารณะนั้น อย่างน้อยต้องมีหลักการที่สําคัญดังต่อไปนี้ คือ

1 หลักความต่อเนื่องในการบริการสาธารณะ หมายถึง การจัดทําบริการสาธารณะจะต้องมี ความสม่ําเสมอและต่อเนื่องตลอดเวลา

2 หลักความเสมอภาคในการบริการสาธารณะ หมายถึง การไม่เลือกปฏิบัติ ต้องให้ความ เสมอภาคทั้งในด้านการให้บริการและการรับบุคคลเข้าทํางานในหน่วยงานของรัฐ

3 หลักการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการบริการสาธารณะ คือ จะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ให้เกิดความทันสมัยนั่นเอง

4 หลักการกํากับดูแลการบริการสาธารณะโดยรัฐ หมายถึง ในการดําเนินการจัดทําบริการ สาธารณะต่าง ๆ โดยหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องอยู่ภายใต้การกํากับดูแลของรัฐ ทั้งนี้ก็เพื่อให้การจัดทําบริการสาธารณะบรรลุผลสําเร็จตามวัตถุประสงค์

 

ข้อ 3 จงอธิบายความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันของการควบคุมการใช้อํานาจรัฐกับการบริหารราชการแผ่นดินของไทยมาโดยละเอียด

ธงคําตอบ

การควบคุมการใช้อํานาจรัฐ หมายถึง การควบคุมการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กร ของรัฐ และหน่วยงานของรัฐนั่นเอง และเหตุที่ต้องมีการควบคุมการใช้อํานาจรัฐดังกล่าวก็เพราะกฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่ไม่เสมอภาค รัฐ หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอํานาจเหนือประชาชน หากไม่มีการควบคุม เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐอาจใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ ซึ่งการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือ การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรของรัฐ และหน่วยงานของรัฐ กระทําการหรืองดเว้นกระทําการใช้อํานาจที่มีอยู่ ตามกฎหมาย หรือใช้อํานาจนอกวัตถุประสงค์ของกฎหมาย อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน

สําหรับพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการใช้อํานาจรัฐนั้น มีหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติ ความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ. 2539 พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เป็นต้น การควบคุมการใช้อํานาจรัฐนั้น แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

1 การควบคุมการใช้อํานาจรัฐแบบป้องกัน หมายความว่า ก่อนที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือ ฝ่ายปกครองจะได้วินิจฉัยสั่งการ หรือมีการกระทําในทางปกครองที่จะไปกระทบต่อสถานภาพทางกฎหมายของบุคคลใด ควรมีระบบป้องกันหรือควบคุมการวินิจฉัยสั่งการหรือการกระทํานั้นเสียก่อน กล่าวคือมีกฎหมาย กําหนดกระบวนการหรือขั้นตอนต่าง ๆ ก่อนที่จะมีคําสั่งนั้นออกไปซึ่งการควบคุมการใช้อํานาจรัฐแบบป้องกันดังกล่าวนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นั่นเอง เช่น

(1) เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้โต้แย้งคัดค้าน คือ การให้โอกาสผู้ที่อาจได้รับความเสียหาย จากการกระทําของฝ่ายปกครอง สามารถแสดงข้อโต้แย้งของตนได้

(2) มีการปรึกษาหารือ คือการให้ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ

(3) หลักการไม่มีส่วนได้เสีย กล่าวคือ ผู้มีอํานาจสั่งการทางปกครองจะต้องไม่มีส่วนได้เสียในเรื่องที่จะสั่งการนั้น

(4) มีการไต่สวนทั่วไป ซึ่งเป็นวิธีการที่กําหนดให้ฝ่ายปกครองต้องสอบสวนหาข้อเท็จจริง โดยทําการรวบรวมความคิดเห็นของบุคคลผู้มีส่วนได้เสีย แล้วทําเป็นรายงานก่อนที่ฝ่ายปกครองจะได้ตัดสินใจ กระทําการที่จะมีผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย

(5) เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจะต้องแจ้งสิทธิและหน้าที่ในกระบวนการพิจารณาทางปกครองให้คู่กรณีทราบตามความจําเป็นแก่กรณี

(6) ถ้าเป็นคําสั่งทางปกครองที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งต่อไปได้ จะต้องระบุกรณีที่อาจอุทธรณ์ หรือโต้แย้ง การยื่นคําอุทธรณ์หรือคําโต้แย้ง และระยะเวลาสําหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งดังกล่าวไว้ด้วย 2. การควบคุมการใช้อํานาจรัฐแบบแก้ไข หมายความว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐได้สั่งการใดหรือ วินิจฉัยเรื่องใดไปแล้ว หากกระทบต่อสถานภาพทางกฎหมายของบุคคลใดในทางที่มิชอบด้วยกฎหมายจึงกําหนด ให้มีระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐแบบแก้ไขโดยองค์กรที่เกี่ยวข้อง คือ ระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐ โดยองค์กรภายในของฝ่ายบริหาร และระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยองค์กรภายนอกของฝ่ายบริหาร

(1) ระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยองค์กรภายในของฝ่ายบริหาร เป็นระบบ การควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยขึ้นอยู่กับการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ โดยอาจกระทําได้โดย การบังคับบัญชา และการกํากับดูแล ได้แก่

ก) ระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐ ด้วยการควบคุมบังคับบัญชาและการกํากับดูแล การควบคุมบังคับบัญชา โดยผู้บังคับบัญชาทําการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและความเหมาะสมในการกระทําของผู้ใต้บังคับบัญชาโดยอาจตรวจสอบเองหรือมีบุคคลมาร้องเรียนการกํากับดูแล โดยหน่วยงานของรัฐจะดําเนินการตรวจสอบความชอบ ด้วยกฎหมายของการกระทําของหน่วยงานตามสายการบังคับบัญชา

ข) ระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐ ด้วยการร้องทุกข์และการอุทธรณ์ภายใน หน่วยงาน โดยสามารถร้องทุกข์หรืออุทธรณ์คําสั่งไปยังผู้ออกคําสั่งนั้น

(2) ระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยองค์กรภายนอกของฝ่ายบริหาร ได้แก่ ก) การควบคุมโดยองค์กรทางการเมือง เช่น รัฐสภา เป็นต้น

ข) การควบคุมโดยองค์กรพิเศษ คือ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฯ เช่น คณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น

(3) ระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยองค์กรศาล ได้แก่

ก) การควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยศาลยุติธรรม

ข) การควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยศาลปกครอง

ค) การควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยศาลรัฐธรรมนูญ

การควบคุมการใช้อํานาจรัฐมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการบริหารราชการแผ่นดินของไทย ดังนี้คือ

การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทยตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น

ราชการบริหารส่วนกลาง ประกอบด้วย กระทรวง ทบวง กรม เป็นการจัดระเบียบบริหารราชการ ในรูปแบบการรวมอํานาจ โดยการปกครองแบบนี้อํานาจในการตัดสินใจทั้งหลายจะอยู่ที่ส่วนกลางทั้งสิ้น มีการ รวมกําลังในการบังคับต่าง ๆ ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง และมีลําดับขั้นการบังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจน

ราชการบริหารส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย จังหวัด อําเภอ กิ่งอําเภอ ตําบล หมู่บ้าน เป็นการจัด ระเบียบบริหารราชการในรูปแบบการแบ่งอํานาจ ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองที่ส่วนกลางมอบอํานาจตัดสินใจ บางประการให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนภูมิภาค โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวก็ยังคงอยู่ในบังคับบัญชาของส่วนกลางตลอดเวลา

ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตําบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร เป็นการจัดระเบียบบริหารราชการในรูปแบบการกระจายอํานาจ โดยรัฐ จะมอบอํานาจปกครองบางส่วนให้แก่องค์กรอื่นที่ไม่ใช่องค์กรส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค เพื่อจัดทําบริการสาธารณะ บางอย่าง โดยจะมีอิสระตามสมควร ไม่ต้องขึ้นอยู่ในการบังคับบัญชาของส่วนกลาง เพียงแต่ขึ้นอยู่ในการกํากับดูแลเท่านั้น

ในการบริหารราชการแผ่นดินของไทยทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หรือส่วนท้องถิ่น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดทําบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวม และการ ใช้อํานาจทางปกครองในการออกกฎ ออกคําสั่ง หรือการกระทําทางปกครองในรูปแบบอื่น เช่น การทําสัญญา ทางปกครอง เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานต่าง ๆ จะดําเนินการต่าง ๆ ดังกล่าวได้ ก็จะต้องมีกฎหมายมหาชนหรือกฎหมายปกครองได้บัญญัติให้อํานาจและหน้าที่ไว้ด้วย เช่น พระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เป็นต้น

และนอกจากนี้ ในการใช้อํานาจรัฐเพื่อการดําเนินการต่าง ๆ นั้น ยังมีกฎหมายที่ได้บัญญัติเกี่ยวกับ การควบคุมการใช้อํานาจรัฐอีกหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐฯ เป็นกฎหมายที่ใช้ควบคุมการใช้อํานาจรัฐ โดยควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐมิให้เจ้าหน้าที่รัฐกระทําการใด ๆ ไม่ว่าจะโดยจงใจหรือโดยประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลภายนอกหรือต่อหน่วยงาน ของรัฐ และพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ เป็นกฎหมายที่ใช้ควบคุมการใช้อํานาจทางปกครอง ของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะการใช้อํานาจทางปกครองในการออกคําสั่งทางปกครองว่าจะต้องเป็นไปตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกําหนดไว้เท่านั้น

ในกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทําการใด ๆ เนื่องจากการใช้อํานาจรัฐและก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น แก่บุคคลภายนอก หรือเจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้อํานาจทางปกครองออกกฎหรือคําสั่ง และเป็นกฎหรือคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้บุคคลที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับความเดือดร้อนจากการใช้อํานาจหรือจากการกระทําของเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าว ย่อมสามารถฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองเพื่อเรียกค่าเสียหายหรือให้ศาลปกครองสั่งให้เพิกถอน กฎหรือคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นได้ โดยอาศัยสิทธิตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและ วิธีพิจารณาคดีปกครองฯ นั่นเอง

 

Advertisement