การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1001 หลักกฎหมายมหาชน

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 จงอธิบายอย่างละเอียดว่า กฎหมายมหาชนและหลักกฎหมายมหาชน มีความสําคัญและเกี่ยวข้องกับตัวนักศึกษาอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคําตอบ

“กฎหมายมหาชน” คือ กฎหมายที่บัญญัติให้อํานาจและหน้าที่แก่รัฐ แก่หน่วยงานทางปกครอง หรือหน่วยงานของรัฐและแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในทางปกครองและการบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชน ส่วนใหญ่ ในฐานะที่ฝ่ายปกครองมีอํานาจเหนือผู้ใต้ปกครอง

กฎหมายมหาชน ปัจจุบันได้แก่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง ซึ่งกฎหมายปกครองนั้น อาจจะอยู่ในชื่อของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกําหนด ประมวลกฎหมาย หรืออาจจะอยู่ในชื่อของประกาศคณะปฏิวัติก็ได้

กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการวางระเบียบการปกครองของรัฐในทาง การเมืองโดยกําหนดโครงสร้างของรัฐ ระบอบการปกครอง การใช้อํานาจอธิปไตย และการดําเนินงานของสถาบันสูงสุด ของรัฐที่ใช้อํานาจอธิปไตย กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงอํานาจในการปกครองประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 อํานาจ คือ

1 อํานาจนิติบัญญัติ เป็นอํานาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของ อํานาจอธิปไตย ซึ่งมีรัฐสภาเป็นผู้ใช้อํานาจนี้

2 อํานาจบริหาร เป็นอํานาจที่จะจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย มีรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี เป็นผู้ใช้อํานาจนี้

3 อํานาจตุลาการ เป็นอํานาจในการตัดสินและพิพากษาอรรถคดี ซึ่งองค์กรสําคัญที่ใช้อํานาจนี้คือ ศาล

กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่วางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองของรัฐในทางปกครองหรือที่เรียกว่า “การจัดระเบียบราชการบริหาร” รวมทั้งการวางระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมของฝ่ายปกครอง ที่เรียกว่า “บริการสาธารณะ” ซึ่งฝ่ายปกครองจัดทําเพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชน

ราชการแผ่นดินของไทยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหาร ส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลมาจากกฎหมายปกครองดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

นอกจากนี้ยังกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อํานาจหน้าที่ ในทางปกครองแก่หน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐในการออกคําสั่งทางปกครอง ให้อํานาจในการออกกฎ ให้อํานาจในการกระทําทางปกครองและสัญญาทางปกครอง

ซึ่งในการใช้อํานาจนิติบัญญัติ อํานาจบริหาร และอํานาจตุลาการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมทั้ง การใช้อํานาจทางปกครองในการออกกฎ ออกคําสั่งทางปกครอง หรือการกระทําทางปกครองในรูปแบบอื่น และ การทําสัญญาทางปกครองขององค์กรของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ก็เพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและเพื่อการจัดทําบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวมของประเทศซึ่งรวมทั้ง เพื่อประโยชน์แก่ตัวข้าพเจ้าด้วย ดังนั้นในการใช้อํานาจต่าง ๆ หรือการกระทําต่าง ๆ ขององค์กรของรัฐหรือ หน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงต้องมีกฎหมายมหาชนบัญญัติให้อํานาจและหน้าที่ไว้ด้วย เพราะถ้าไม่มีกฎหมายมหาชนบัญญัติให้อํานาจและหน้าที่ไว้ องค์กรของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองและ เจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะไม่สามารถที่จะดําเนินการใด ๆ ได้

และนอกจากนั้น ในการใช้อํานาจต่าง ๆ ขององค์กรของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็จะต้องได้ใช้อํานาจโดยถูกต้องตามหลักของกฎหมายมหาชนด้วย ซึ่งได้แก่

1 หลักความชอบด้วยกฎหมาย หมายถึง การใช้อํานาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น องค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ องค์กรของรัฐฝ่ายบริหาร และองค์กรของรัฐฝ่ายตุลาการ จะต้องเป็นการใช้อํานาจหน้าที่ ตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้เท่านั้น จะใช้อํานาจหน้าที่นอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้มิได้

2 หลักประโยชน์สาธารณะ หมายถึง การใช้อํานาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐฝ่ายต่าง ๆ จะต้องเป็นการใช้อํานาจหน้าที่เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของคนส่วนใหญ่ในสังคม ไม่ใช่เป็นการ สนองตอบต่อความต้องการของคนบางกลุ่มบางพวกหรือเพื่อใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ

3 หลักความยุติธรรม หมายถึง การใช้อํานาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐฝ่ายต่าง ๆ จะต้องเป็น การใช้อํานาจหน้าที่กับบุคคลทุกคนในสังคมอย่างเสมอภาคกัน และจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม

และนอกจากนั้นยังมีหลักกฎหมายมหาชนหรือหลักกฎหมายปกครองที่มีความสําคัญต่อการบริหารราชการแผ่นดินอีกหลายประการ เช่น หลักความซื่อสัตย์สุจริต หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เป็นต้น

หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยรามคําแหงซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยซึ่งถือว่า เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะใช้อํานาจทางปกครองเพื่อออกกฎ เช่น ระเบียบข้อบังคับของมหาวิทยาลัยหรือออกคําสั่ง ทางปกครอง หรือกระทําการทางปกครองในรูปแบบอื่น หรือการทําสัญญาทางปกครองในการบริหารมหาวิทยาลัย

เพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัยและนักศึกษาทุกคนซึ่งรวมทั้งข้าพเจ้าด้วยนั้นก็จะต้องมีกฎหมายมหาชน ซึ่งในที่นี้ คือ พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยรามคําแหง ซึ่งเป็นกฎหมายปกครองได้บัญญัติให้อํานาจและหน้าที่ไว้ด้วย และจะต้อง ใช้อํานาจและหน้าที่นั้นโดยถูกต้องตามหลักการต่าง ๆ ของกฎหมายมหาชนดังกล่าวข้างต้นด้วย เพราะถ้าเจ้าหน้าที่ ของมหาวิทยาลัยได้ใช้อํานาจหน้าที่เกินขอบเขตที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือเป็นการใช้อํานาจโดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อํานาจไว้ หรือได้ใช้อํานาจและหน้าที่ไม่ถูกต้องตามหลักของกฎหมายมหาชนแล้ว ย่อมอาจก่อให้เกิด ข้อพิพาทซึ่งเรียกว่า ข้อพิพาททางปกครองขึ้นมาได้ และเมื่อเกิดข้อพิพาททางปกครองหรือคดีปกครองขึ้นมาแล้ว ก็สามารถนําข้อพิพาทนั้นไปฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองได้

ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากฎหมายมหาชนและหลักกฎหมายมหาชนมีความเกี่ยวข้องและสําคัญแก่ตัวข้าพเจ้า ตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 2 จงอธิบายความแตกต่างระหว่างกฎหมายมหาชนกับกฎหมายเอกชนในประเด็นดังต่อไปนี้มาให้เข้าใจอย่างชัดเจน

ธงคําตอบ

(1) ความแตกต่างด้านองค์กรหรือตัวบุคคลที่เข้าไปมีนิติสัมพันธ์

(2) ความแตกต่างด้านเนื้อหาและความมุ่งหมาย

(3) ความแตกต่างด้านรูปแบบของนิติสัมพันธ์

(4) ความแตกต่างด้านนิติวิธี

(5) ความแตกต่างด้านนิติปรัชญา

(6) ความแตกต่างด้านเขตอํานาจศาล

ความแตกต่างระหว่างหลักกฎหมายมหาชนกับหลักกฎหมายเอกชนนั้น สามารถแยกออกเป็นหัวข้อที่สําคัญ ๆ ได้ดังนี้

1 ความแตกต่างทางด้านองค์กรหรือบุคคลที่เข้าไปสร้างหรือทํานิติสัมพันธ์ (ทฤษฎีตัวการ) กฎหมายมหาชน คู่กรณี คือ องค์กรหรือบุคคลที่เข้าไปสร้างหรือทํานิติสัมพันธ์ ได้แก่ รัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายหนึ่งกับเอกชนที่เป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง

กฎหมายเอกชน คู่กรณี คือ องค์กรหรือบุคคลที่เข้าไปสร้างหรือทํานิติสัมพันธ์ ได้แก่ เอกชน ที่เป็นคู่กรณีฝ่ายหนึ่งกับเอกชนที่เป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง

2 ความแตกต่างทางด้านเนื้อหาและความมุ่งหมาย (ทฤษฎีผลประโยชน์)

กฎหมายมหาชน มีวัตถุประสงค์ในการดําเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณะและการให้บริการ สาธารณะ โดยมิได้มีความมุ่งหมายถึงผลกําไรเป็นตัวเงินหรือทรัพย์สิน แต่มุ่งหวังถึงความพึงพอใจและการตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนรวมเป็นสําคัญ

กฎหมายเอกชน มีวัตถุประสงค์ในการดําเนินงานเพื่อประโยชน์ของเอกชนแต่ละบุคคล โดยมีความมุ่งหมายถึงผลกําไรเป็นตัวเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์ในลักษณะอื่นใดเพื่อประโยชน์ของปัจเจกบุคคล เป็นสําคัญ ทั้งนี้ มีข้อยกเว้นกรณีที่เป็นเอกชนบางประเภทที่อาจดําเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังเช่น มูลนิธิ หรือสมาคมการกุศล เป็นต้น

3 ความแตกต่างทางด้านรูปแบบของนิติสัมพันธ์ (ทฤษฎีความไม่เท่าเทียมกัน)

กฎหมายมหาชน มีลักษณะเป็นการใช้บังคับอํานาจที่มีอยู่เหนือนิติสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือกับปัจเจกบุคคล โดยวิธีการที่เป็น “การกระทําฝ่ายเดียว” และปรากฏออกมาในรูปแบบ “คําสั่ง” กล่าวคือ เป็นการกระทําที่ฝ่ายหนึ่ง (รัฐและผู้ปกครอง) สามารถกําหนดหน้าที่ทางกฎหมายให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง (รัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือปัจเจกบุคคล) กระทําตาม โดยฝ่ายที่มีหน้าที่ต้องกระทําตามอาจไม่ได้ตกลงยินยอมด้วยก็ตาม กฎหมายเอกชน มีลักษณะที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักความเป็นอิสระในการแสดงเจตนา หลักความเสมอภาค และหลักเสรีภาพในการทําสัญญา โดยคู่กรณีต้องมีความสมัครใจ (เจตนาเสนอสนองตรงกัน สัญญาจึงจะเกิด) และคู่กรณีฝ่ายหนึ่งไม่มีอํานาจเหนือคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง โดยจะทําการบังคับอีกฝ่ายหนึ่งโดย ปราศจากความยินยอมมิได้

4 ความแตกต่างทางด้านนิติวิธี

กฎหมายมหาชน มีลักษณะเป็นการนํานิติวิธีทางกฎหมาย โดยการนําแนวความคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหาทางกฎหมายมหาชน โดยการสร้างหลักกฎหมายมหาชนขึ้นมาใช้บังคับ (โดยปฏิเสธการนําแนวความคิด วิเคราะห์ตามหลักกฎหมายเอกชนมาใช้บังคับโดยตรง)

กฎหมายเอกชน มีลักษณะเป็นการนํานิติวิธีทางกฎหมาย โดยการนําความคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหาทางกฎหมายเอกชนที่มุ่งเน้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลด้วยกันเอง และมุ่งเน้นถึงการรักษาผลประโยชน์ของเอกชนด้วยกัน

5 ความแตกต่างทางด้านนิติปรัชญา

กฎหมายมหาชน มีลักษณะเป็นการมุ่งเน้นถึงการประสานและสร้างความสมดุลระหว่างผลประโยชน์สาธารณะหรือผลประโยชน์ของส่วนรวมกับผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลหรือเอกชน ที่มุ่งถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลตามที่กฎหมายให้อํานาจหรือกําหนดไว้

กฎหมายเอกชน มีลักษณะเป็นการมุ่งเน้นถึงความยุติธรรมที่เท่าเทียมกัน และตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความสมัครใจของคู่กรณี

6 ความแตกต่างทางด้านเขตอํานาจศาล

กฎหมายมหาชน หากเป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐ หรือข้อพิพาทระหว่างรัฐกับปัจเจกบุคคล หรือเอกชนในทางกฎหมายมหาชนแล้ว คดีข้อพิพาทจะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลเฉพาะหรือศาลพิเศษในทาง มหาชน เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง เป็นต้น

กฎหมายเอกชน หากเป็นข้อพิพาทระหว่างปัจเจกบุคคล หรือเอกชนต่อปัจเจกบุคคลหรือ เอกชนในทางกฎหมายเอกชนแล้ว คดีข้อพิพาทจะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม ดังเช่น ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หรือศาลภาษี เป็นต้น

 

ข้อ 3 เหตุใดจึงกล่าวว่า การควบคุมการใช้อํานาจรัฐ ก็คือการควบคุมการใช้ดุลพินิจ และดุลพินิจที่จะต้อง ถูกควบคุมมีลักษณะอย่างไร และมีกระบวนการในการวางระบบการควบคุมไว้อย่างไร จงอธิบาย พร้อมยกตัวอย่างประกอบมาโดยละเอียด

ธงคําตอบ

ที่กล่าวกันว่า “การควบคุมการใช้อํานาจรัฐ ก็คือการควบคุมการใช้ดุลพินิจ” ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐนั้น เนื่องมาจากเหตุผลที่ว่าในการใช้อํานาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐนั้น มีได้ 2 รูปแบบ คือ

1 อํานาจผูกพัน คือ อํานาจหน้าที่ที่องค์กรฝ่ายปกครองของรัฐต้องปฏิบัติเมื่อมีข้อเท็จจริง อย่างใด ๆ เกิดขึ้นตามที่กฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ ได้บัญญัติกําหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว ดังนี้องค์กรฝ่ายปกครอง ของรัฐจะต้องออกคําสั่ง และคําสั่งนั้นต้องมีเนื้อความเป็นไปตามที่กฎหมายกําหนดไว้ เช่น เรื่องการร้องขอ จดทะเบียนสมรส เมื่อชายและหญิงผู้ร้องขอมีคุณสมบัติครบถ้วนและปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการสมรสที่บัญญัติ ไว้ใน ป.พ.พ. แล้ว นายทะเบียนครอบครัวจะต้องทําการจดทะเบียนสมรสให้แก่ผู้ร้องขอเสมอ เป็นต้น

2 อํานาจดุลพินิจ อํานาจดุลพินิจแตกต่างกับอํานาจผูกพันข้างต้น กล่าวคือ อํานาจดุลพินิจ เป็นอํานาจที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหรือองค์กรฝ่ายปกครองของรัฐสามารถเลือกตัดสินใจออกคําสั่ง หรือเลือกสั่งการอย่างใด ๆ ได้ตามที่กฎหมายให้อํานาจไว้ เพื่อให้บรรลุตามความมุ่งหมายหรือตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย กล่าวอีกนัยหนึ่ง อํานาจดุลพินิจก็คือ อํานาจที่กฎหมายเปิดช่องให้องค์กรฝ่ายปกครองของรัฐมีอิสระในการตัดสินใจ เมื่อมีเหตุการณ์หรือมีข้อเท็จจริงใด ๆ ที่กําหนดไว้เกิดขึ้น

เหตุที่ต้องมีการควบคุมการใช้อํานาจรัฐดังกล่าวก็เพราะกฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่ไม่เสมอภาค รัฐ หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอํานาจเหนือประชาชนหากไม่มีการควบคุม เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงาน ของรัฐอาจใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ การใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือ การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรของรัฐ หน่วยงานของรัฐ กระทําการหรืองดเว้นกระทําการใช้อํานาจที่มีอยู่ตามกฎหมาย หรือใช้อํานาจ นอกวัตถุประสงค์ของกฎหมาย อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน

การควบคุมการใช้อํานาจรัฐนั้น แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

1 การควบคุมการใช้อํานาจรัฐแบบป้องกัน หมายความว่า ก่อนที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือ ฝ่ายปกครองจะได้วินิจฉัยสั่งการ หรือมีการกระทําในทางปกครองที่จะไปกระทบต่อสถานภาพทางกฎหมาย ของบุคคลใด ควรมีระบบป้องกันหรือควบคุมการวินิจฉัยสั่งการหรือการกระทํานั้นเสียก่อน กล่าวคือมีกฎหมาย กําหนดกระบวนการหรือขั้นตอนต่าง ๆ ก่อนที่จะมีคําสั่งนั้นออกไป

ซึ่งการควบคุมการใช้อํานาจรัฐแบบป้องกันดังกล่าวนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นั่นเอง เช่น

(1) เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้โต้แย้งคัดค้าน คือ การให้โอกาสผู้ที่อาจได้รับความเสียหาย จากการกระทําของฝ่ายปกครอง สามารถแสดงข้อโต้แย้งของตนได้ในเรื่องที่จะสั่งการนั้น

(2) มีการปรึกษาหารือ คือการให้ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ

(3) หลักการไม่มีส่วนได้เสีย กล่าวคือ ผู้มีอํานาจสั่งการทางปกครองจะต้องไม่มีส่วนได้เสีย

(4) มีการไต่สวนทั่วไป ซึ่งเป็นวิธีการที่กําหนดให้ฝ่ายปกครองต้องสอบสวนหาข้อเท็จจริง โดยทําการรวบรวมความคิดเห็นของบุคคลผู้มีส่วนได้เสีย แล้วทําเป็นรายงานก่อนที่ฝ่ายปกครองจะได้ตัดสินใจ กระทําการที่จะมีผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย

(5) เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจะต้องแจ้งสิทธิและหน้าที่ในกระบวนการพิจารณาทางปกครอง ให้คู่กรณีทราบตามความจําเป็นแก่กรณี

(6) ถ้าเป็นคําสั่งทางปกครองที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งต่อไปได้ จะต้องระบุกรณีที่อาจอุทธรณ์ หรือโต้แย้ง การยื่นคําอุทธรณ์หรือคําโต้แย้ง และระยะเวลาสําหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งดังกล่าวไว้ด้วย

2 การควบคุมการใช้อํานาจรัฐแบบแก้ไข หมายความว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐได้สั่งการใดหรือ วินิจฉัยเรื่องใดไปแล้ว หากกระทบต่อสถานภาพทางกฎหมายของบุคคลใดในทางที่มิชอบด้วยกฎหมายจึงกําหนด ให้มีระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐแบบแก้ไขโดยองค์กรที่เกี่ยวข้อง คือ ระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐ โดยองค์กรภายในของฝ่ายบริหาร และระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยองค์กรภายนอกของฝ่ายบริหาร

(1) ระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยองค์กรภายในของฝ่ายบริหาร เป็นระบบ การควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยขึ้นอยู่กับการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ โดยอาจกระทําได้โดยการบังคับบัญชา และการกํากับดูแล ได้แก่

ก) ระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐ ด้วยการควบคุมบังคับบัญชาและการกํากับดูแล การควบคุมบังคับบัญชา โดยผู้บังคับบัญชาทําการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและความเหมาะสมในการกระทําของผู้ใต้บังคับบัญชาโดยอาจตรวจสอบเองหรือมีบุคคลมาร้องเรียนการกํากับดูแล โดยหน่วยงานของรัฐจะดําเนินการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทําของหน่วยงานตามสายการบังคับบัญชา

ข) ระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐ ด้วยการร้องทุกข์และการอุทธรณ์ภายใน หน่วยงาน โดยสามารถร้องทุกข์หรืออุทธรณ์คําสั่งไปยังผู้ออกคําสั่งนั้น

(2) ระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยองค์กรภายนอกของฝ่ายบริหาร ได้แก่

ก) การควบคุมโดยองค์กรทางการเมือง เช่น รัฐสภา เป็นต้น

ข) การควบคุมโดยองค์กรพิเศษ คือ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฯ เช่น คณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น

(3) ระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยองค์กรศาล ได้แก่

ก) การควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยศาลยุติธรรม

ข) การควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยศาลปกครอง

ค) การควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยศาลรัฐธรรมนูญ

Advertisement