การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2544
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 หลักในการตีความกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา และกฎหมายมหาชน มีความแตกต่างกันอย่างไร จงอธิบาย
ธงคำตอบ“การตีความกฎหมาย” หมายถึง การค้นหาความหมายของกฎหมายที่มีถ้อยคำไม่ชัดเจนหรือกำกวมหรือมีความหมายได้หลายทาง เพื่อหยั่งทราบว่าถ้อยคำของบทกฎหมายนั้นมีความหมายอย่างไร ซึ่งกฎหมายแต่ละประเภทจะมีหลักเกณฑ์ในการตีความแตกต่างกันไป คือ
1 ถ้าเป็นกฎหมายแพ่ง (หรือกฎหมายเอกชน) เมื่อพิจารณาบทบัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคแรกว่า “อันกฎหมายนั้นท่านว่าต้องใช้ในบรรดาซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใดๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษรหรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้นๆ …” แสดงให้เห็นว่าการตีความกฎหมายแพ่งนั้น จะต้องตีความตามตัวอักษรและเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นไปพร้อมๆกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายในลักษณะเท่าเทียมกัน
2 ถ้าเป็นกฎหมายอาญา เมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 ที่ว่า “บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติว่าเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย…” แสดงให้เห็นว่าการตีความกฎหมายอาญานั้น จะต้องตีความตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด โดยไม่ต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายแต่อย่างใด ซึ่งเป็นไปตามหลักที่ว่า “ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิดและไม่มีโทษ”
3 ถ้าเป็นกฎหมายมหาชน การตีความจะต้องตีความโดยพิเคราะห์ตัวอักษรและเหตุผลหรือเจตนารมณ์พิเศษของกฎหมายมหาชนนั้นๆ รวมทั้งอาจพิเคราะห์ถึงระเบียบปฏิบัติทางการปกครอง ตลอดจนจารีตประเพณีทางการเมืองการปกครองประกอบด้วย เพราะกฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบสังคม ทั้งนี้เนื่องมาจากกฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชนนั่นเอง