การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2550
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 นายบดี บ้านด่าน ถูกเวนคืนที่ดินและคณะกรรมการพิจารณาค่าเวนคืนได้มีหนังสือแจ้งให้นายบดีไปรับเงินค่าเวนคืนเป็นเงินหนึ่งล้านบาท นายบดี ไม่พอใจกับจำนวนเงินดังกล่าวเนื่องจากที่ดินของตนที่ถูกเวนคืน ควรจะได้ค่าเวนคืนไม่ต่ำกว่าห้าล้านบาท ดังนี้ หากนายบดี มาปรึกษาท่าน ท่านจะแนะนำอย่างไร
ธงคำตอบ
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคแรก (1) (2) บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วย
กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใด เนื่องจากการกระทำโดยไม่มีอำนาจ หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริตหรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
(2) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
และมาตรา 42 วรรคสอง บัญญัติว่า
ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ การฟ้องคดีปกครองในเรื่องนั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการดังกล่าว และได้มีการสั่งการตามกฎหมายนั้น หรือมิได้มีการสั่งการภายในเวลาอันสมควรหรือภายในเวลาที่กฎหมายนั้นกำหนด
วินิจฉัย
ข้อเท็จจริงตามปัญหาดังกล่าว ถ้านายบดี บ้านด่าน มาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำตามขั้นตอน ดังนี้ คือ
1 การที่คณะกรรมการพิจารณาค่าเวนคืน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้มีหนังสือแจ้งให้นายบดีไปรับเงินค่าเวนคืนนั้น ถือว่าหนังสือแจ้งค่าเวนคืนดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครอง เพราะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล
2 กรณีพิพาทที่เกิดขึ้น เนื่องจากนายบดี ไม่พอใจกับจำนวนเงินค่าเวนคืนที่คณะกรรมการพิจารณาค่าเวนคืนกำหนด คือจำนวนเงินหนึ่งล้านบาท เพราะที่ดินของนายบดี ที่ถูกเวนคืนควรจะได้ค่าเวนคืนไม่ต่ำกว่าห้าล้านบาทนั้น ถือว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือได้ออกคำสั่งโดยการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ คือการกำหนดจำนวนเงินค่าเวนคืนต่ำกว่าความเป็นจริง คดีพิพาทดังกล่าวจึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตาม มาตรา 9 วรรคแรก (1) ซึ่งนายบดี สามารถที่จะนำคดีไปฟ้องศาลปกครองได้
3 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อคดีพิพาทดังกล่าว เป็นคดีพิพาทที่เกี่ยวกับการออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นก่อนที่นายบดี จะฟ้องคดีต่อศาลปกครอง นายบดีจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 42 วรรคสองก่อน คือจะต้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อคณะกรรมการพิจารณาค่าเวนคืนผู้ออกคำสั่ง ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในหนังสือแจ้งนั้น ถ้านายบดี ไม่อุทธรณ์คำสั่งนั้น ก็ไม่สามารถที่จะนำคดีไปฟ้องศาลปกครองได้
4 ในกรณีที่มีการอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวแล้ว เมื่อพ้นกำหนด 60 วัน ยังไม่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ถือได้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ คือคณะกรรมการพิจารณาค่าเวนคืนปฏิบัติหน้าที่คือพิจารณาค่าเวนคืนล่าช้าเกินสมควร ดังนี้ผู้อุทธรณ์คือนายบดี สามารถนำคดีพิพาทดังกล่าวไปฟ้องศาลปกครองได้ภายในกำหนด 1 ปี