การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560 ข้อสอบกระบวนวิชา

LAW 2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายจันทร์บอกขายที่ดินมีโฉนดของตนแปลงหนึ่งให้นายอังคารในราคา 5 ล้านบาท นายอังคารมาดู
ที่ดินแปลงนี้แล้วพอใจตอบตกลงซื้อ โดยนายอังคารจ่ายเงินค่าที่ดินให้นายจันทร์ 1 ล้านบาท ส่วนที่ยังขาดอยู่นายอังคารจะชําระให้ในวันที่นายจันทร์กลับจากต่างประเทศและไปจดทะเบียนโอนให้ นายจันทร์ได้ส่งมอบที่ดินให้นายอังคาร นายอังคารอยู่มา 3 ปี นายจันทร์กลับจากต่างประเทศก็หาได้ไปโอนให้ นายอังคารอยู่ติดต่อมาอีก 12 ปี ที่ดินแปลงนี้มีราคาท้องตลาดสูงขึ้นกว่า 100 ล้านบาท นายจันทร์อยากได้คืนและขอให้นายอังคารคืนที่ดินแปลงนี้ นายอังคารไม่คืน ดังนี้ นายจันทร์จะมีสิทธิเรียกที่ดินแปลงนี้คืนจากนายอังคารได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/30 “อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกําหนดสิบปี”

มาตรา 456 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพ และสัตว์พาหนะด้วย

สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคํามั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้ มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสําคัญ หรือได้วางประจําไว้ หรือได้ชําระหนี้ บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายจันทร์บอกขายที่ดินมีโฉนดของตนแปลงหนึ่งให้นายอังคารใน ราคา 5 ล้านบาทและนายอังคารตอบตกลงซื้อ โดยนายอังคารจ่ายเงินค่าที่ดินให้นายจันทร์ 1 ล้านบาท ส่วนที่ยังขาดอยู่นายอังคารจะชําระให้ในวันที่นายจันทร์กลับจากต่างประเทศและไปจดทะเบียนโอนให้นั้น สัญญาซื้อขาย ที่ดินระหว่างนายจันทร์และนายอังคารดังกล่าวย่อมเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย เพราะเป็นการตกลงซื้อขายทรัพย์สิน ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์และคู่สัญญาไม่มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่กันในขณะทําสัญญาซื้อขาย แต่มีเจตนาที่จะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กันในภายหน้า

และจากข้อเท็จจริง การที่นายจันทร์ได้ส่งมอบที่ดินแปลงนี้ให้นายอังคารครอบครอง และนายอังคารได้อยู่ในที่ดินแปลงนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายนั้น จะถือว่านายอังคารเจตนาจะยึดถือที่ดินเพื่อตนไม่ได้ แต่ต้องถือว่าเป็นการยึดถือแทนนายจันทร์ และแม้นายอังคารจะอยู่ในที่ดินมาได้ 15 ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ (ตามมาตรา 1382) ดังนั้น เมื่อนายจันทร์ผิดนัดไม่ไปจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญา นายอังคารย่อมมีสิทธิเรียกร้องและบังคับให้นายจันทร์ไปจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงนี้ให้ตนได้ตามมาตรา 456 วรรคสอง แต่นายอังคารต้องใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวภายในอายุความ 10 ปีนับแต่วันที่นายจันทร์ผิดสัญญาตามมาตรา 193/30

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อนายจันทร์ผิดสัญญาจะซื้อจะขาย นายอังคารก็ปล่อยเวลา ให้ล่วงเลยไปโดยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับให้นายจันทร์ไปจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงนี้ให้แก่ตน จนพ้น 10 ปีนับ แต่วันผิดสัญญา ทําให้สิทธิเรียกร้องของนายอังคารขาดอายุความ และมีผลทําให้นายอังคารต้องเสียสิทธิในที่ดินแปลงนี้ ดังนั้น นายจันทร์จึงมีสิทธิเรียกที่ดินแปลงนี้คืนจากนายอังคารได้

สรุป นายจันทร์มีสิทธิเรียกที่ดินแปลงนี้คืนจากนายอังคารได้

 

ข้อ 2. นายมะม่วงตกลงซื้อกระป๋องสําหรับบรรจุปลาซาดีนกับน้ำซอสมะเขือเทศจากนายมะยม เมื่อ
นายมะม่วงได้รับมอบกระป๋องจากพนักงานส่งสินค้าของนายมะยมแล้วพบว่ากระป๋องที่สั่งซื้อ เป็นสนิมและมีความชํารุดบกพร่องอย่างอื่นอันเป็นผลเนื่องมาจากกระบวนการผลิตของนายมะยม ทําให้ไม่อาจใช้บรรจุปลาซาดีนกับน้ำซอสมะเขือเทศเพื่อนําออกจําหน่ายได้ นายมะม่วงรับเอากระป๋องไว้ก่อนแต่ได้เรียกให้นายมะยมนํากระป๋องที่มีสภาพสมบูรณ์มาเปลี่ยนให้ใหม่ในภายหลัง ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่านายมะยมจะต้องรับผิดในความชํารุดบกพร่องหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 472 “ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชํารุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด

ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชํารุดบกพร่องมีอยู่”

มาตรา 473 “ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

(1) ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชํารุดบกพร่อง หรือควรจะได้รู้เช่นนั้น หากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน

(2) ถ้าความชํารุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ และผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อน

(3) ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด”

วินิจฉัย

ความรับผิดในความชํารุดบกพร่องของทรัพย์สินที่ขายตามมาตรา 472 นั้น ผู้ขายต้องรับผิด ถ้าทรัพย์สินที่ขายชํารุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมอย่างใดอย่างหนึ่ง และต้องเกิดขึ้นก่อนที่กรรมสิทธิ์จะตกเป็นของผู้ซื้อ

อย่างไรก็ดี ผู้ขายก็ไม่จําต้องรับผิดในความชํารุดบกพร่องนั้น หากเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 473 เช่น ถ้าความชํารุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ แต่ผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้คิดเอื้อน เป็นต้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมะม่วงตกลงซื้อกระป๋องสําหรับบรรจุปลาซาดีนกับน้ำซอส มะเขือเทศจากนายมะยม เมื่อนายมะม่วงได้รับกระป๋องแล้วพบว่ากระป๋องที่สั่งซื้อเป็นสนิมและมีความชํารุดบกพร่อง อย่างอื่นอันมีผลมาจากกระบวนการผลิตของนายมะยม ทําให้ไม่อาจใช้บรรจุปลาซาดีนกับน้ำซอสมะเขือเทศ เพื่อนําออกจําหน่ายได้นั้น ถือว่าทรัพย์สินที่ตกลงซื้อกันมีความชํารุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งหมายโดยสัญญา ดังนี้นายมะยมผู้ขายย่อมต้องรับผิดในความชํารุด บกพร่องนั้นต่อนายมะม่วงผู้ซื้อตามมาตรา 472
และการที่ความชํารุดบกพร่องนั้นได้เห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ และนายมะม่วงได้รับเอากระป๋องไว้ก่อนแต่ได้เรียกให้นายมะยมนํากระป๋องที่มีสภาพสมบูรณ์มาเปลี่ยนให้ใหม่ในภายหลังนั้น กรณีดังกล่าวไม่ถือว่านายมะม่วงผู้ซื้อได้รับเอาทรัพย์สินนั้นโดยมิได้คิดเอื้อนหรือโต้แย้งไว้ตามนัยของมาตรา 473 (2) อันจะทําให้ผู้ขายไม่ต้องรับผิดในความชํารุดบกพร่องนั้นแต่อย่างใด แต่เป็นกรณีที่ผู้ซื้อได้รับเอาทรัพย์สินนั้นไว้ โดยมีการอิดเอื้อนหรือโต้แย้งไว้แล้ว ดังนั้น นายมะยมผู้ขายจึงยังคงต้องรับผิดในความชํารุดบกพร่องนั้นตาม มาตรา 472 จะอ้างมาตรา 473 (2) เพื่อให้ตนหลุดพ้นจากความรับผิดไม่ได้

สรุป นายมะยมจะต้องรับผิดในความชํารุดบกพร่องที่เกิดขึ้นนั้น

 

ข้อ 3. ดําทําสัญญาเป็นหนังสือและจดทะเบียนขายฝากที่ดินแปลงหนึ่งของดําไว้กับแดงในราคา 400,000 บาท
โดยไม่ได้กําหนดค่าสินไถ่และไม่ได้กําหนดเวลาไถ่คืน ขายฝากไปได้ 3 ปี ดําต้องการจะไปขอไถ่ที่ดินคืนจากแดง แต่แดงขอผัดผ่อน ดําและแดงจึงได้ทําเอกสารบันทึกข้อตกลงเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อ ทั้งดําและแดง ว่าทั้งคู่ตกลงขยายกําหนดเวลาไถ่คืน แต่ก็ไม่ได้กําหนดเวลาที่ขยายไว้แน่นอนในสัญญาข้อตกลง เมื่อครบ 2 ปีหลังจากทําข้อตกลง ดําได้นําเงิน 400,000 บาท มาขอไถ่ที่ดินแปลงนี้ คืนจากแดง แต่แดงไม่ยอมให้ไถ่อ้างว่าถ้าจะไถ่ต้องจ่ายดอกเบี้ยอีกร้อยละ 15 ต่อปีจากเงินต้น 400,000 บาท เป็นระยะเวลาที่ขายฝาก 5 ปี แต่คราวนี้ ดําไม่ยอม ดําจึงได้นําเงิน 400,000 บาท ไปวางทรัพย์ต่อสํานักงานวางทรัพย์ทันทีในวันนั้น โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วาง

ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ที่ดําขายฝากไว้กับแดงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของดําแล้วหรือยัง เพราะเหตุใด และถ้าแดงไม่ยอมไปเพิกถอนทะเบียนให้กับดํา ดําจะมีสิทธิอย่างไร ภายในอายุความเท่าใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/30 “อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกําหนดสิบปี”

มาตรา 492 วรรคหนึ่ง “ในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กําหนดไว้ ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกําหนด หรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสํานักงานวางทรัพย์ภายใน กําหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้ให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชําระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ แล้วแต่กรณี

มาตรา 494 “ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้

(1) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ กําหนดสิบปีนับแต่เวลาซื้อขาย”

มาตรา 496 วรรคหนึ่ง “กําหนดเวลาไถ่นั้น อาจทําสัญญาขยายกําหนดเวลาไถ่ได้ แต่กําหนดเวลาไถ่รวมกันทั้งหมด ถ้าเกินกําหนดเวลาตามมาตรา 494 ให้ลดลงมาเป็นกําหนดเวลาตามมาตรา 494”

มาตรา 499 “สินไถ่นั้น ถ้าไม่ได้กําหนดกันไว้ว่าเท่าใดไซร้ ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก
ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กําหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริง เกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ดําทําสัญญาเป็นหนังสือและจดทะเบียนขายฝากที่ดินแปลงหนึ่ง ของดําไว้กับแดงในราคา 400,000 บาท โดยไม่ได้กําหนดค่าสินไถ่และไม่ได้กําหนดเวลาไถ่คืนไว้นั้น ดังนี้ดําย่อม มีสิทธิไถ่ที่ดินคืนได้ภายในกําหนด 10 ปีนับแต่เวลาขายฝากตามมาตรา 494 (1) และสามารถไถ่คืนได้ตามราคา ขายฝากคือ 400,000 บาท ตามมาตรา 499 วรรคหนึ่ง

เมื่อขายฝากไปได้ 3 ปี ดําต้องการขอไถ่ที่ดินคืนจากแดง แต่แดงขอผัดผ่อน โดยดําและแดง ได้ทําเอกสารบันทึกข้อตกลงเป็นหนังสือว่าทั้งคู่ตกลงขยายกําหนดเวลาไถ่คืนนั้น เมื่อไม่ได้กําหนดเวลาที่ขยายไว้ เป็นที่แน่นอนในสัญญาข้อตกลง การใช้สิทธิไถ่คืนจึงต้องเป็นไปตามมาตรา 494 (1) ประกอบมาตรา 496 วรรคหนึ่ง คือภายใน 10 ปีนับแต่เวลาขายฝาก ดังนั้น เมื่อครบกําหนด 2 ปีหลังจากทําข้อตกลง ดําได้นําเงิน 400,000 บาท มาขอไถ่ที่ดินคืนจากแดง ดําย่อมสามารถใช้สิทธิไถ่คืนได้ เพราะเป็นการใช้สิทธิไถ่คืนภายในกําหนดตาม มาตรา 494 (1) และเป็นการใช้สินไถ่ที่ถูกต้องตามมาตรา 499 วรรคหนึ่ง แดงจะไม่ยอมให้ไถ่โดยอ้างว่า ถ้าจะไถ่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยอีกร้อยละ 15 ต่อปีจากเงินต้น 400,000 บาท เป็นระยะเวลาที่ขายฝาก 5 ปีนั้นไม่ได้ เพราะมิใช่เป็นกรณีที่มีการกําหนดสินไถ่หรือราคาขายฝากไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามมาตรา 499 วรรคสองแต่อย่างใด

และเมื่อดําได้นําเงิน 400,000 บาท ไปวางทรัพย์ต่อสํานักงานวางทรัพย์ทันทีในวันนั้น โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้ ย่อมถือว่าดําได้ใช้สิทธิไถ่ถูกต้องตามกฎหมายตามมาตรา 492 วรรคหนึ่งแล้ว ดังนั้น กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ที่ดําขายฝากไว้กับแดงจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของดําแล้ว และถ้าแดงไม่ยอมไปเพิกถอนทะเบียนให้กับดํา ดําย่อมมีสิทธิฟ้องต่อศาลภายในอายุความ 10 ปีตามมาตรา 193/30 และนําคําพิพากษามาแทนการแสดงเจตนาของแดงได้

สรุป กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ที่ดําขายฝากไว้กับแดงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของดําแล้ว และถ้าแดงไม่ยอมไปเพิกถอนทะเบียนให้ดํา ดําย่อมมีสิทธิฟ้องต่อศาลได้ภายในอายุความ ตามเหตุผลและหลักกฎหมาย ดังกล่าวข้างต้น

Advertisement