การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2555
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายดำถูกตำรวจจับกุมตัวดำเนินคดีในข้อหาจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 3 ต่อมาพนักงานอัยการฟ้องนายดำต่อศาลอาญา นายดำให้การปฏิเสธ ระหว่างถูกดำเนินคดีนายดำไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว และในการควบคุมตัวนายดำมาที่ศาล เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ตีโซ่ตรวนนายดำ นายดำอ้างว่าการตีโซ่ตรวนตนเป็นการกระทำที่ขัดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นการกระทำของเจ้าพนักงานที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 26 ที่บัญญัติว่า
“การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” นอกจากนี้ในการพิจารณาคดีนายดำยังอ้างว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 20 วรรคท้าย ที่บัญญัติว่า “การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 3 เกินจำนวนที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย” เป็นข้อสันนิษฐานกฎหมายที่สันนิษฐานว่านายดำเป็นผู้กระทำความผิด จึงเป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 39 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด” นายดำจึงขอให้ศาลอาญาส่งประเด็นซึ่งเป็นข้อต่อสู้ทั้งสองประเด็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ท่านเห็นว่า ศาลอาญาควรส่งปัญหาทั้งสองประเด็นนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
มาตรา 6 “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้
มาตรา 211 วรรคหนึ่ง “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”
วินิจฉัย
ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 211 วรรคแรก กรณีที่ศาลจะส่งความเห็นหรือข้อโต้แย้งเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความได้โต้แย้งว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 6
กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลอาญาควรส่งปัญหาทั้งสองประเด็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้ คือ
ประเด็นที่ 1 การที่นายดำอ้างว่าการตีโซ่ตรวนของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นการอ้างว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีขัดต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 211 ดังนั้น การที่นายดำได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาส่งประเด็นซึ่งเป็นข้อต่อสู้ของตนไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยนั้น ศาลอาญาจึงไม่ควรส่งปัญหาประเด็นนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ประเด็นที่ 2 การที่นายดำอ้างว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 20 วรรคท้าย เป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 39 วรรคสอง นั้นถือว่าเป็นการอ้างว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดี ขัดต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 211 ดังนั้นการที่นายดำได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาส่งประเด็น ซึ่งเป็นข้อต่อสู้ของตนไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยนั้น ศาลอาญาจึงต้องส่งปัญหาประเด็นนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
สรุป ศาลอาญาจะต้องส่งปัญหาเฉพาะประเด็นที่ 2 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ส่วนปัญหาประเด็นที่ 1 ไม่ต้องส่งตามมาตรา 211