การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. แดงฝากครรภ์กับแพทย์หญิงนุ่นซึ่งเป็นสูติแพทย์ ซึ่งได้ตรวจและยืนยันว่าแดงมีภูมิคุ้มกันจากหัดเยอรมันสามารถตั้งครรภ์ได้ เมื่อถึงวันใกล้คลอด แดงได้ไปนอนที่คลินิกของแพทย์หญิงนุ่น และนกซึ่งเมินวิสัญญีแพทย์ (หมอดมยา) ได้ฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณสันหลังแก่แดง เพื่อลดความเจ็บปวดในการคลอดบุตร แล้วทิ้งแดงให้อยู่คนเดียวโดยปราศจากผู้ดูแลเพื่อไปวางยาสลบคนไข้รายอื่นต่อมาอีกครึ่งชั่วโมง แพทย์หญิงนุ่นได้เจาะถุงน้ำคร่ำแดง แล้วทิ้งแดงให้อยู่คนเดียวโดยปราศจากผู้ดูแลเช่นกัน ต่อมาอีกครึ่งชั่วโมง แดงเกิดอาการปวดหัวหายใจไม่ออก จนกระทั่งอยู่ในภาวะวิกฤติแต่ไม่มีการช่วยชีวิตตามวิชาการแพทย์อย่างทันท่วงที จนเป็นเหตุให้แดงถึงแก่ความตาย แต่สามารถช่วยให้บุตรในครรภ์คลอดออกมามีชีวิตรอดได้ ดังนี้ให้วินิจฉัยในกรณีต่อไปนี้

(ก) แพทย์หญิงนุ่นและวิสัญญีแพทย์นก ร่วมกันทำละเมิดอันจะต้องร่วมกับรับผิดในความเสียหายต่อชีวิตแดงหรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) บอสซึ่งเมินนายจ้างของแดง จะเรียกค่าสินไหมทดแทนจากแพทย์หญิงนุ่นและวิสัญญีแพทย์นกอันเนื่องมาจากความตายของแดงได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 432 “ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแกบุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกับรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย…”

มาตรา 445 “ในกรณีทำให้เขาถึงตาย หรือให้เสียหายแก่รางกาย หรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย”

วินิจฉัย

(ก) กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แพทย์หญิงนุ่นและวิสัญญีแพทย์นกได้ทิ้งแดงให้อยู่คนเดียวโดยปราศจากผู้ดูแล ทำให้เมื่อแดงเกิดอาการปวดหัวหายใจไม่ออก จนกระทั่งอยู่ในภาวะวิกฤติ แต่ไม่มีการช่วยชีวิตตามวิชาการแพทย์อย่างทันท่วงที จนเป็นเหตุให้แดงถึงแก่ความตายนั้น การกระทำของแพทย์หญิงนุ่นและวิสัญญีแพทย์นกเป็นละเมิดตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ซึงทำให้เขาเสียหายแก่ชีวิตและการกระทำของทั้งสองสัมพันธ์กับผลของการกระทำ คือความตายของแดง ทั้งสองจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อมา คือ แพทย์หญิงนุ่นและวิสัญญีแพทย์นกได้ชื่อว่าเป็นผู้ร่วมกันทำละเมิดอันจะต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายต่อชีวิตแดงหรือไม่ กรณีนี้เห็นว่า การที่จะถือว่าเป็นการร่วมกันทำละเมิดตามบทบัญญัติมาตรา 432 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ผู้ร่วมกระทำได้ร่วมมือร่วมใจกันกระทำมาตั้งแต่ต้น

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่แดงได้ถึงแก่ความตายนั้นเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของแพทย์หญิงนุ่นและวิสัญญีแพทย์นก ซึ่งทั้งสองไม่มีเจตนาร่วมกันในการกระทำหรือได้ร่วมมือร่วมใจกันในการกระทำอันจะเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดตามมาตรา 432 ดังนั้น แพทย์หญิงนุ่นและวิสัญญีแพทย์นกจึงมิความผิดฐานต่างคนต่างกระทำละเมิดต่อแดงโดยประมาทเลินเล่อตามมาตรา 420

(ข) โดยหลักแล้วบอสซึ่งเป็นนายจ้างของแดง สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนจากแพทย์หญิงนุ่นและวิสัญญีแพทย์นกอันเนื่องมาจากความตายของแดงในค่าความเสียหายจากการขาดแรงงานในอุตสาหกรรมได้ตามมาตรา 445 แต่เนื่องจากเมื่อแดงซึ่งเป็นลูกจ้างได้ถูกทำละเมิดแล้วตายทันที สัญญาจ้างระหว่างแดงกับบอสจึงสิ้นสุดลง บอสจึงไม่อยู่ในฐานะขาดแรงงาน จึงไม่อาจเรียกร้องค่าขาดแรงงานตามมาตรา 445

สรุป

(ก) แพทย์หญิงนุ่นและวิสัญญีแพทย์นกไม่ได้ร่วมกันทำละเมิดอันจะต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายต่อชีวิตแดง

(ข) บอสซึ่งเป็นนายจ้างของแดง จะเรียกค่าสินไหมทดแทนจากแพทย์หญิงนุ่นและวิสัญญีแพทย์นกอันเนื่องมาจากความตายของแดงไม่ได้

 

 

ข้อ 2. นายเอ เดินมาพบนายแดงซึ่งเป็นคู่อริ จึงสั่งให้สุนัขของนายเอกัดนายแดง นายแดงได้รับบาดเจ็บและร้องขอความช่วยเหลือ เป็นเหตุให้นายโชคซึ่งขี่รถจักรยานยนต์อยู่บริเวณดังกล่าวเลี้ยวรถจักรยานยนต์เข้ามาดูเหตุการณ์ ปรากฏว่าถนนเทศบาลมีการซ่อมแซมท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ โดยเปิดฝาท่อทิ้งไว้แต่ไม่มีป้ายเตือนหรือป้ายสัญญาณไฟแต่อย่างใด นายโชคมองไม่เห็นท่อระบายน้ำดังกล่าวจึงขี่รถจักรยานยนต์พลัดตกลงไป ขณะที่นายโชคกำลังจะจมน้ำ นายแมนนักกีฬาว่ายน้ำตัวแทนจังหวัด เดินผ่านท่อระบายน้ำเห็นนายโชคขอความช่วยเหลือ แต่ไม่เข้าช่วยเหลือแต่อย่างใดต่อมาปรากฎว่านายแดงบาดเจ็บต้องเย็บสิบเข็มเนื่องจากสุนัขกัด และนายโชคจมน้ำในท่อระบายน้ำถึงแก่ความตาย

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่า นายแดงและทายาทของนายโชคจะเรียกร้องให้นายเอ เทศบาล และนายแมน รับผิดในทางละเมิดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 433 “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของำาต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้น ๆ ก็ได้”

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นละเมิดตามมาตรา 420 ประกอบด้วย

  1. บุคคลกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
  2. ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
  3. เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด
  4. ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำนั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ นายแดงและทายาทของนายโชคจะเรียกร้องให้นายเอ เทศบาล และนายแมนรับผิดในทางละเมิดได้หรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

  1. กรณีของนายเอ

การที่นายเอสั่งให้สุนัขของตนกัดนายแดงจนได้รับบาดเจ็บต้องเย็บสิบเข็มนั้น การกระทำของนายเอถือว่าเป็นการกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายโดยใช้สัตว์เป็นเครื่องมือ และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของนายเอ จึงถือว่านายเอได้กระทำละเมิดต่อนายแดงตามมาตรา 420 จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายแดง ไม่ใช่กรณีต้องรับผิดเนื่องจากความเสียหายอันเกิดจากสัตว์ตามมาตรา 433 เพราะความรับผิดตามมาตรา 433 ต้องเป็นความเสียหายซึ่งเกิดขึ้นจากสัตว์นั้นเอง มิใช่ความเสียหายจากสัตว์โดยมีมนุษย์เป็นผู้ทำให้เกิดขึ้นหรือมนุษย์บังคับดูแลอยู่ในขณะนั้น

แต่นายเอไม่ต้องรับผิดต่อทายาทของนายโชคในกรณีที่นายโชคจมน้ำท่อระบายน้ำถึงแก่ความตาย เพราะการที่นายโชคถึงแก่ความตายไม่ใช่ผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของนายเอ และเป็นผลที่ไกลกว่าเหตุ

  1. กรณีของเทศบาล

การที่เทศบาลได้ทำการซ่อมแซมท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ โดยเปิดฝาท่อทิ้งไว้แต่ไม่มีป้ายเตือนหรือป้ายสัญญาณไฟแต่อย่างใด ทำให้นายโชคมองไม่เห็นท่อระบายน้ำดังกล่าวจึงขี่รถจักรยานยนต์พลัดตกลงไปและจมน้ำจนถึงแก่ความตายนั้น การกระทำของเทศบาลถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้เขาเสียหายแก่ชีวิตและผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของเทศบาล จึงถือว่าเทศบาลได้กระทำละเมิดต่อนายโชคตามมาตรา 420 จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทของนายโชค

  1. กรณีของนายแมน

การที่นายแมนไม่เข้าช่วยเหลือนายโชค ไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อนายโชคตามมาตรา 420 เพราะการงดเว้นอันจะถือว่าเป็นการกระทำตามกฎหมายนั้น หมายถึงการงดเว้นการกระทำตามหน้าที่ที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกันมิให้ผลนั้นเกิดขึ้นเท่านั้น หากบุคคลนั้นไม่มีหน้าที่ การงดเว้นนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำ และกรณีตามอุทาหรณ์นั้น นายแมนไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องช่วยเหลือแต่อย่างใด จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดโดยการงดเว้นการกระทำตามหน้าที่ตามมาตรา 420

ดังนั้น นายแมนจึงไม่ต้องรับผิดต่อทายาทของนายโชค (ส่วนจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ เป็นอีกส่วนหนึ่ง)

สรุป นายแดงสามารถเรียกร้องให้นายเอรับผิดทางละเมิดได้ตามมาตรา 420 แต่จะเรียกร้องให้เทศบาลรับผิดไม่ได้

ทายาทของนายโชคสามารถเรียกร้องให้เทศบาลรับผิดทางละเมิดได้ตามมาตรา 420 แต่จะเรียกร้องให้นายแมนรับผิดไม่ได้

 

 

ข้อ 3. จำเลยขับรถโดยประมาทเลินเล่อชนนาย ก. ถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงได้ความว่า บิดามารดาของนาย ก. ถึงแก่ความตายไปหมดแล้ว นาย ก. เหลือญาติที่มีอยู่เพียงคนเดียวคือป้าของนาย ก. ก่อนที่นาย ก. จะถูกทำละเมิดถึงแก่ความตาย นาย ก. ได้อุปการะเลี้ยงดูป้าเนื่องจากป้าอายุมากแล้วไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ดังนี้ ป้าของนาย ก. จะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพจากจำเลยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสีทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 443 “ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จำเลยขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนนาย ก. ถึงแก่ความตายการกระทำของจำเลยเป็นละเมิดตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้เขาเสียหายแก่ชีวิตและกระทำของจำเลยสัมพันธ์กับผลของการกระทำ คือ ความตายของนาย ก. จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัย คือ ป้าของนาย ก. จะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพจากจำเลยได้หรือไม่ สำหรับกรณีค่าขาดไร้อุปการะนั้นตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคท้าย ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะว่า ผู้มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิด จะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัวเท่านั้น(สามีกับภริยาหรือบิดามารดากับบุตร) เมื่อนาย ก.(ผู้ตาย) ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องให้การอุปการะเลี้ยงดูป้าของนาย ก. ตามกฎหมายแต่อย่างใด ดังนั้นป้าของนาย ก. จึงไม่มิสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา 443 วรรคท้ายจากจำเลยผู้ทำละเมิด

ส่วนกรณีค่าปลงศพนั้น ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคแรก ผู้ที่มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพจะต้องเป็นทายาทของผู้ตาย ดังนั้น ป้าของนาย ก. ซึ่งถือว่าเป็นทายาทตามมาตรา 1629(6) จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพจากจำเลยผู้ทำละเมิดได้

สรุป ป้าของนาย ก. จะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะไม่ได้ แต่สามารถฟ้องเรียกค่าปลงศพได้

 

 

ข้อ.4 นายพงษใช้ไม้หน้าสามไล่ตีนายพัฒน์แต่ปรากฏว่านายพัฒน์หลนได้ทันจึงพลาดไปถูกนายแช่มได้รับบาดเจ็บสาหัสไม่สามารถร้องเพลงได้ตลอดชีวิต นายเสกซึ่งเป็นเพื่อนรักของนายแช่มจึงโกรธแค้นและได้ยุให้สุนัขดุของตนที่เลี้ยงไว้กัดนายพงษ์ นายพงษ์คว้ากีตาร์ของนายแอ๊ดฟาดไปที่หัวสุนัขทำให้กีตาร์หักกระเด็นไปถูกนางลำยองแขนหัก ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายพงษ์ต้องรับผิดต่อนายแช่ม(บาดเจ็บสาหัส) นายแอ๊ด (กีตาร์เสียหาย) และนางลำยอง (แขนหัก) หรือไม่ อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 449 “บุคคลใดเมื่อกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี กระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หากก่อให้เกิดเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

ผู้ต้องเสียหายอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือจากบุคคลผู้ให้คำสั่งโดยละเมิดนั้นก็ได้”

วินิจฉัย

การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 449 วรรคแรก จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ดังนี้

  1. จะต้องเป็นการป้องกันสิทธิของตนเองหรือของผู้อื่น
  2. ภยันตรายนั้นจะต้องเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย
  3. เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง
  4. ผู้กระทำได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายพงษใช้ไม้หน้าสามไล่ตีนายพัฒน์ แต่ปรากฏว่านายพัฒน์หลบได้ทัน จึงพลาดไปถูกนายแช่มได้รับบาดเจ็บสาหัสไม่สามารถร้องเพลงได้ตลอดชีวิตนั้น แม้ข้อเท็จจริงนายพงษ์จะไม่ได้ตั้งใจทำร้ายนายแช่มก็ตาม แต่การกระทำของนายพงษ์ก็ถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้นายแช่มได้รับความเสียหายต่อร่างกาย และการกระทำของนายพงษ์สัมพันธ์กับผลของการกระทำ นายพงษ์จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายพัฒน์ ฐานกระทำละเมิดตามมาตรา 420

ส่วนกรณีที่นายเสกได้ยุสุนัขคุของตนที่เลี้ยงไว้กัดนายพงษ์ ถือว่านายพงษ์ถูกนายเสกประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายด้วยการใช้สุนัขเป็นเครื่องมือในการทำละเมิด ดังนั้น การที่นายพงษ์คว้ากีตาร์ของนายแอ๊ดฟาดไปที่หัวสุนัขทำให้กีตาร์หักกระเด็นไปถูกนางลำยองแขนหักนั้น การกระทำซองนายพงษ์ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนอันชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ นายพงษ์จึงได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 449 วรรคแรก คือไม่ต้องรับผิดต่อนายแอ๊ดกรณีกีตาร์เสียหาย และไม่ต้องรันผิดต่อนางลำยองกรณีที่นางลำยองแขนหักแต่อย่างใด (กรณีนี้นายแอ๊ดและนางลำยองอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายเสก ผู้เป็นต้นเหตุให้นายพงษ์ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้ตามมาตรา 449 วรรคสอง)

สรุป นายพงษ์ต้องรับผิดต่อนายแช่มตามมาตรา 420 แต่ไม่ต้องรับผิดต่อนายแอ๊ดและนางลำยองเพราะได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 449 วรรคแรก

Advertisement