การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2002 กฎหมายแพ่งแสะพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. จันทร์จ้างอังคารสร้างบ้านหนึ่งหลังตามแบบแปลนที่ตกลงกัน โดยมีข้อตกลงกันว่าจันทร์จะต้องขออนุญาตการก่อสร้างจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร โดยจะต้องขออนุญาตและได้รับอนุญาตภายในกำหนดวันที่ 20 สิงหาคม 2556 และอังคารจะทำการสร้างบ้านตามสัญญาทันทีเมื่อจันทร์ได้รับใบอนุญาต ปรากฏว่า จันทร์ละเลยไม่ไปขออนุญาตจนสิ้นสุดวันที่ 20 สิงหาคม 2556

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าจันทร์ตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 209 “ถ้าได้กำหนดเวลาไว้เป็นแน่นอนเพื่อให้เจ้าหนี้กระทำการอันใด ท่านว่าที่จะขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้นจะต้องทำก็แต่เมื่อเจ้าหนี้ทำการอันนั้นภายในเวลากำหนด”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 209 มีหลักว่า ถ้าได้กำหนดเวลาไว้เป็นการแน่นอนเพื่อให้เจ้าหนี้กระทำการใดหากเจ้าหนี้มิได้กระทำการอันนั้นภายในเวลาที่ได้กำหนดไว้ ลูกหนี้ก็ไม่จำเป็นต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ และถือว่าเจ้าหนี้ผิดนัดทันทีโดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวก่อน ทั้งจะถือว่าลูกหนี้ผิดนัดในการไม่ชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้หาได้ไม่

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์จ้างอังคารสร้างบ้านหนึ่งหลังตามแบบแปลนที่ตกลงกัน โดยมีข้อตกลงกันว่าจันทร์จะต้องขออนุญาตการก่อสร้างจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร โดยจะต้องขออนุญาตและได้รับอนุญาตภายในกำหนดวันที่ 20 สิงหาคม 2556 และอังคารจะทำการสร้างบ้านตามสัญญาทันที

เมื่อจันทร์ได้รับใบอนุญาตนั้น ถือเป็นเรื่องการชำระหนี้ที่เจ้าหนี้จะต้องกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน โดยมีการตกลงกันกำหนดเวลาที่เจ้าหนี้จะต้องทำการ (ขออนุญาต) เพื่อรับชำระหนี้ไว้เป็นการแน่นอน

ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า เจ้าหนี้คือ จันทร์ ละเลยไม่ขออนุญาตตามกำหนดเวลาดังกล่าว จันทร์เจ้าหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดทันทีเมื่อพ้นกำหนดเวลานั้น

สรุป จันทร์ตกเป็นผู้ผิดนัด ตามเหตุผลที่ได้อธิบายข้างต้น

 

 

ข้อ 2. นายแก้วเป็นเจ้าของกิจการห้างสรรพสินค้า ในช่วงระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม ถึงวันที่ 5 มกราคมของทุกปี จะเป็นช่วงที่ห้างของนายแก้วสั่งสินค้าจำพวก ส.ค.ส. แนบต่าง ๆ มาจำหน่ายแก่ลูกค้า และสามารถสร้างผลกำไรจากการขาย ส.ค.ส. แก่นายแก้วเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อปี

โดยสั่งซื้อจากโรงงานของนายเขตเพียงแห่งเดียวมาตั้งแต่ปี 2545 เป็นประจำทุกปี ในปีแรกที่ซื้อขายกันนั้นทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันว่านายเขตต้องนำสินค้ามาส่งแก่นายแก้ว ในวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีเพื่อเตรียมวางแสดงสินค้าในห้างสรรพสินค้าในวันรุ่งขึ้น และได้ปฏิบัติต่อกันตามนั้นมาเป็นปกติทุกปี โดยไม่เคยตกลงกันในเรื่องวันส่งสินค้าอีกเลย สำหรับในปี 2556 นายแก้วได้ส่งคำสั่งซื้อ ส.ค.ส.แบบมีเลข พ.ศ. กำกับไปยังโรงงานของนายเขต จำนวน 2,000 ชุด เช่นทุกปี แต่ในปี 2556 นายเขตกลับนำสินค้ามาส่งในวันที่ 14 มกราคม 2557 นายแก้วจึงไม่ยอมรับสินค้าทั้งหมดไว้จำหน่าย

เพราะนายแก้วเห็นว่านายเขตผิดนัด ทั้ง ส.ค.ส. ที่นำมาส่งก็ไม่สามารถจำหน่ายได้แล้ว เนื่องจากล่วงพ้นช่วงเทศกาลปีใหม่แล้ว ต่อมา นายแก้วยื่นฟ้องนายเขตเรียกค่าเสียหาย 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จากเงินต้นดังกล่าว นายเขตต่อสู้ว่า นายแก้วไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจำนวนนั้น เพราะเป็นแต่เพียงผลกำไรที่คาดว่าจะได้จากการขาย ส.ค.ส. เท่านั้นนอกจากนั้น นายแก้วก็ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 ด้วย เพราะไม่เคยตกลงกันในเรื่องดอกเบี้ยและอัตราดอกเบี้ย

ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า ข้ออ้างและข้อต่อสู้ของทั้งสองคนฟังขึ้นหรือไม่ อย่างไร

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 203 วรรคแรก “ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน”

มาตรา 204 “ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว และภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้วลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว

ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการชำระหนี้ ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว”

มาตรา 216 “ถ้าโดยเหตุผิดนัด การชำระหนี้กลายเป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้จะบอกปัดไม่รับชำระหนี้และจะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ก็ได้”

มาตรา 222 วรรคแรก “การเรียกเอาค่าเสียหายนั้น ได้แก่เรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติ ย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้น”

มาตรา 224 วรรคแรก “หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปีถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นิติสัมพันธ์ระหว่างนายแก้วกับนายเขตเป็นสัญญาซื้อขาย ซึ่งนายเขตต้องส่งมอบสินค้าที่ซื้อให้นายแก้ว โดยแม้ในปี 2556 จะไม่ได้มีภารตกลงกันว่านายเขตจะต้องส่งมอบสินค้าในวันใด

แต่จากพฤติการณ์ที่ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติต่อกันมาในเรื่องนี้กว่า 10 ปี สามารถอนุมานได้ตามมาตรา 203 วรรคแรกว่านายเขตต้องชำระหนี้ตามวันที่กำหนดในปฏิทิน คือวันที่ 10 ธันวาคม 2556 ตามมาตรา 204 วรรคสอง เมื่อปรากฏว่านายเขตส่งมอบสินค้าเมื่อพ้นกำหนดตามที่ตกลงกัน จึงเป็นการผิดนัดชำระหนี้โดยมิพักต้องเตือนก่อน

และการที่นายเขตนำสินค้ามาส่งในวันที่ 14 มกราคม 2557 นั้น ทำให้การชำระหนี้เป็นอันไร้ประโยชน์แก่นายแก้ว เนื่องจาก ส.ค.ส. ได้ระบุ พ.ศ.ไว้ด้วย จึงไม่สามารถใช้ขายในปีถัดไปได้นายแก้วจึงมีสิทธิที่จะบอกปิดไม่รับชำระหนี้ได้ และมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากนายเขตได้ด้วยตามมาตรา 216

สำหรับค่าเสียหายที่นายแก้วเรียก 50,000 บาทนั้น เป็นค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นได้จากการไม่ชำระหนี้ตามมาตรา 222 วรรคแรก เพราะการไม่ส่งมอบสินค้าย่อมทำให้ไม่มีสินค้าจะขาย จึงไม่ได้รับกำไรที่ควรได้ตามธรรมดาจากการซื้อสินค้ามาขายต่อ ดังนั้น นายเขตจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวให้แก่นายแก้ว แต่สำหรับดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวนั้น นายแก้วสามารถเรียกได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมาตรา 224 วรรคแรก จะเรียกถึงร้อยละ 15 ไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า นายแก้วกับนายเขตได้ตกลงกันตามมาตรา 224 วรรคแรกตอนท้ายว่าให้คิดดอกเบี้ยได้ถึงร้อยละ 15

สรุป ข้ออ้างและข้อต่อสู้ของนายแก้วฟ้งขึ้น แต่นายแก้วสามารถเรียกดอกเบี้ยได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ส่วนข้ออ้างและข้อต่อสู้ของนายเขตนั้นฟ้งไม่ขึ้น แสะนายเขตจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่นายแก้วในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

 

 

ข้อ. 3. บริษัท เอาท์ จำกัด ในประเทศฝรั่งเศส ได้ส่งสินค้ามาขายให้บริษัท กาย จำกัด ในประเทศไทยตามที่บริษัท กาย จำกัด สั่งซื้อ คิดเป็นราคารวม 10,000,000 ฟรังส์ฝรั่งเศส กำหนดชำระราคาด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีของบริษัท เอาท์ จำกัด ในประเทศฝรั่งเศส ต่อมาระหว่างที่กำหนดเวลาชำระค่าสินค้ายังไม่ถึงกำหนดประเทศฝรั่งเศสได้ประกาศยกเลิกเงินสกุลฟรังส์ของตน และใช้เงินสกุลยูโรแทน เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว บริษัท กาย จำกัด ผิดนัดไม่ชำระค่าสินค้าตามที่ตกลงกัน

บริษัท เอาท์ จำกัด จึงมายื่นฟ้องเรียกค่าสินค้าในศาลไทย บริษัท กาย จำกัด ต่อสู้คดีว่าไม่มีสกุลเงินฟรังส์ฝรั่งเศสอยู่ในสารบบ สกุลเงินของโลกแล้ว จึงถือได้ว่าการชำระหนี้เงินค่าสินค้าเป็นพ้นวิสัยโดยไม่ใช่ความรับผิดชอบของตน บริษัท กาย จำกัด จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าสินค้าอีกต่อไป และบริษัท เอาท์ จำกัด ต้องฟ้องร้องรัฐบาลฝรั่งเศสที่เป็นผู้ประกาศยกเลิกสกุลเงินฟรังส์

ข้อต่อสู้ของบริษัท กาย จำกัด รับฟังได้หรือ’ไม่ เพราะเหตุใด และหากจะต้องชำระหนี้แก่บริษัท เอาท์ จำกัดหากบริษัท กาย จำกัด จะใช้เงินบาทในการชำระหนี้ได้หรือไม่ อย่างไรจึงจะเป็นตามหลักการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตาม’ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 196 “ถ้าหนี้เงินได้แสดงไว้เป็นเงินตราต่างประเทศ ท่านว่าจะส่งใช้เป็นเงินไทยก็ได้การเปลี่ยนเงินนี้ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงิน”

มาตรา 197 “ถ้าหนี้เงินจะพึงส่งใช้ด้วยเงินตราชนิดหนึ่งชนิดใดโดยเฉพาะ อันเป็นชนิดที่ยกเลิกไม่ใช้กันแล้วในเวลาที่จะต้องส่งเงินใช้หนี้นั้นไซร้ การส่งใช้เงินท่านให้ถือเสมือนว่ามิได้ระบุไว้ให้ใช้เป็นเงินตราชนิดนั้น”

มาตรา 219 วรรคแรก “ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้ ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท เอาท์ จำกัด ในประเทศฝรั่งเศส ได้ส่งสินค้ามาขายให้บริษัทกาย จำกัด ในประเทศไทยตามที่บริษัท กาย จำกัด สั่งซื้อ โดยคิดราคาเป็นสกุลเงินฟรังส์ฝรั่งเศสนั้น แม้ต่อมาจะปรากฎว่าประเทศฝรั่งเศสได้ประกาศยกเลิกเงินสกุลฟรังส์ของตน และใช้เงินสกุลยูโรแทนก็ตาม ก็ไม่ใช่เรื่องการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยตามมาตรา 219 วรรคแรก อันจะทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากการชำระหนี้แต่อย่างใด

เนื่องจากหนี้ที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้เป็นหนี้เงิน มิใช่หนี้ให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งแต่กรณีดังกล่าวถือเป็นกรณีที่สกุลเงินตราถูกยกเลิกตามมาตรา 197 ซึ่งบัญญัติให้ถือเสมือนว่าคู่สัญญามิได้ตกลงให้ใช้เงินตราชนิดที่ถูกยกเลิกไปแล้วนั้น ดังนั้น เมื่อมีการใช้เงินสกุลยูโรแทนแล้ว บริษัท กาย จำกัด จึงต้องชำระหนี้ค่าสินค้าแก่บริษัท เอาท์ จำกัด ด้วยเงินสกุลยูโรซึ่งเป็นเงินสกุลที่ใช้แทนเงินฟรังส์ฝรั่งเศสที่มีมูลค่าเท่ากับเงินสกุลฟรังส์ฝรั่งเศส

และกรณีนี้บริษัท กาย จำกัด สามารถชำระหนี้เป็นเงินบาทได้ตามมาตรา 196 วรรคแรก ส่วนการเปลี่ยนเงินนั้นให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงินตามมาตรา 196 วรรคสอง

สรุป ข้อต่อสู้ของบริษัท กาย จำกัด รับฟังไม่ได้ และบริษัท กาย จำกัด สามารถใช้เงินบาทในการชำระหนี้ได้

 

 

ข้อ 4. นางแตงกวาและนายแตงไทยร่วมกันทำสัญญาจะซื้อที่ดิน 1 แปลง ราคา 1 ล้านบาท จากนายชบา โดยในวันทำสัญญานางแตงกวาและนายแตงไทยได้ชำระเงินมัดจำให้แก่นายชบาจำนวน 5 แสนบาท ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาซื้อขาย ราคาซื้อขายส่วนที่เหลืออีกจำนวน 5 แสนบาท จะชำระให้แก่นายชบา ในวันที่ได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ณ สำนักงานที่ดินเรียบร้อยแล้ว

ต่อมา เมื่อถึงกำหนดวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ปรากฏว่า นายแตงไทยแต่ผู้เดียวมาขอรับโอนที่ดินและชำระราคาที่ค้างให้แก่นายชบา โดยนางแตงกวาไม่ได้มาร่วมรับโอนด้วย ดังนี้ นายชบาจะมีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมโอนที่ดินให้แก่นายแตงไทยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 298 “ถ้าบุคคลหลายคนมีสิทธิเรียกร้องการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนอาจจะเรียกให้ชำระหนี้สิ้นเชิงได้ไซร้ แม้ถึงว่าลูกหนี้จำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงแต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือ เจ้าหนี้ร่วมกัน) ก็ดี ท่านว่าลูกหนี้จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แต่คนใดคนหนึ่งก็ได้ตามแต่จะเลือก ความข้อนี้ไห้ใช้บังคับได้ แม้ทั้งที่เจ้าหนี้คนหนึ่งจะได้ยื่นฟ้องเรียกชำระหนี้ไว้แล้ว”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว การเป็นเจ้าหนี้ร่วมตามมาตรา 298 นั้น ย่อมมีผลทางกฎหมาย คือ เจ้าหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งมีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยสิ้นเชิงแก่ตนเองคนเดียวได้ แม้เจ้าหนี้ร่วมคนอื่นจะมิได้เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ด้วยหรือแม้เจ้าหนี้ร่วมคนอื่นจะได้ยื่นฟ้องคดีเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ไว้แล้วก็ตาม

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางแตงกวาและนายแตงไทยร่วมกันทำสัญญาจะซื้อที่ดินจากนายชบานั้นย่อมส่งผลให้นางแตงกวาและนายแตงไทยอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ร่วม ซึ่งตามนัยมาตรา 298 นางแตงกวาและนายแตงไทยมีสิทธิเรียกร้องการชำระหนี้จากนายชบาลูกหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนอาจจะเรียกให้ชำระหนี้สิ้นเชิงได้ นายชบาจึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนที่ดินและรับชำระราคาที่ค้างจากนายแตงไทย

การที่นายแตงไทยแต่ผู้เดียวมาขอรับโอนที่ดิน และชำระราคาที่ค้างแก่นายชบา โดยที่นางแตงกวาไม่ได้มาร่วมรับโอนด้วย จึงไม่เป็นเหตุขัดข้องที่นายชบาจะปฏิเสธไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่นายแตงไทย (เทียบเคียง ฎีกาที่ 6846/2539)

สรุป นายชบาจะปฏิเสธไม่ยอมโอนที่ดินให้แก่นายแตงไทยไม่ได้ ตามเหตุผลที่ได้อธิบายข้างต้น

 

Advertisement