การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2002 กฎหมายแฟงและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. จันทร์กู้เงินอังคารไปสองแสนบาท กำหนดชำระคืนให้ในวันที่ 20 มกราคม 2558 เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ปรากฏว่าจันทร์ได้ชำระหนี้ให้แก่อังคารจำนวนสองแสนบาทโดยวิธีทางธนาณัติ ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า การชำระหนี้ของจันทร์เป็นการปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 208 วรรคแรก “การชำระหนี้จะให้สำเร็จผลเป็นอย่างใด ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรง”

วินิจฉัย

กรณีที่จะถือว่าเป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบตามมาตรา 208 วรรคแรกนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ให้เกิดผลตรงตามที่ได้ให้สัญญาไว้กับเจ้าหนี้ โดยลูกหนี้จะต้องอยู่ในฐานะที่จะสามารถชำระหนี้ได้ และจะต้องเป็นการชำระหนี้โดยตรง กล่าวคือ จะต้องเป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้ในลักษณะที่จะให้เกิดสำเร็จผลตามวัตถุประสงค์ของหนี้โดยตรง เช่น ลูกหนี้ตกลงจะชำระหนี้เป็นเงินสด ดังนี้ลูกหนี้จะนำทรัพย์สินอื่นมาชำระแทน หรือจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของเจ้าหนี้ในธนาคารไม่ได้ เพราะจะถือว่าเป็นการชำระหนี้อย่างอื่น อันเป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยมิชอบตามมาตรา 203 วรรคแรก

ตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์กู้เงินอังคารไปสองแสนบาท ถือว่าจันทร์เป็นลูกหนี้อังคารในหนี้เงินกู้สองแสนบาท จันทร์จึงต้องชำระหนี้ให้แก่อังคารด้วยเงินโดยตรงจึงจะถือว่าเป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบ

ดังนั้น การที่จันทร์ชำระหนี้ให้แก่อังคารจำนวนสองแสนบาทโดยวิธีทางธนาณัติ ย่อมถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้อย่างอื่น จึงเป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยมิชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 208 วรรคแรก

สรุป การชำระหนี้ของจันทร์เป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยมิชอบ

 

 

ข้อ 2. นายสอนทำสัญญาขายที่ดินแปลงหนึ่งของตนให้แก่นายชัย ตกลงกันว่าจะจดทะเบียนโอนในวันที่15 เมษายน 2557 แต่เนื่องจากบนที่ดินแปลงนี้มีบุคคลอื่นเข้ามาปลูกบ้านพักอาศัยอยู่ 10 ครอบครัวนายสอนกับนายชัยจึงตกลงกันว่า นายสอนจะต้องดำเนินการให้ครอบครัวเหล่านั้นย้ายออกไปจากที่ดินภายในวันที่ 31 มีนาคม 2557 นายสอนได้ให้ครอบครัวเหล่านั้นทั้งหมดย้ายออกไปตามกำหนดแล้ว โดยได้จ่ายค่าขนย้ายและรื้อถอนให้รวม 100,000 บาท แต่เงินจำนวนนี้ นายสอนต้องกู้มาจากธนาคาร เสียดอกเบี้ยร้อยละ 8 ต่อปี ครั้นวันที่ 15 เมษายน 2557 นายชัยกลับผิดสัญญาไม่ยอมจดทะเบียนรับโอนที่ดินแปลงนี้ เพราะเห็นว่าราคาแพงเกินไป นายสอนจึงมาปรึกษานักศึกษาว่าจะฟ้องนายชัยต่อศาลเพื่อเรียกค่าเสียหาย 100,000 บาท ที่เสียไปเป็นค่าขนย้ายและรื้อถอนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อปี กับเรียกค่าเสียทายที่นายชัยผิดสัญญาไม่ยอมรับโอนที่ดินด้วยอีก 50,000 บาท

นักศึกษาจะให้คำปรึกษาว่า นายสอนเรียกค่าเสียหายกับดอกเบี้ยได้หรือไม่ อย่างไร

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 222 “การเรียกเอาค่าเสียหายนั้น ได้แก่เรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหาย เช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้น

เจ้าหนี้จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ แม้กระทั่งเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษหากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็น หรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว”

มาตรา 224 วรรคแรก “หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเนี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปีถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น”

วินิจฉัย

ในเรื่องของการเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนไว้ 2 ประการด้วยกัน คือ

  1. ความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติจากการไม่ชำระหนี้ กรณีนี้ลูกหนี้ต้องรับผิดเสมอ(มาตรา 222 วรรคแรก)
  2. ความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ กรณีนี้ลูกหนี้ต้องรับผิดต่อเมื่อได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นล่วงหน้าก่อนแล้ว (มาตรา 222 วรรคสอง)

ส่วนดอกเบี้ยอันเกิดแต่หนี้เงินนั้น มาตรา 224 วรรคแรก กำหนดว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้เจ้าหนี้ย่อมจะเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี แม้ในสัญญาจะมิได้กำหนดไว้ก็ตาม แต่ถ้าเจ้าหนี้จะเรียกดอกเบี้ยให้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหนี้ก็เรียกได้ตามนั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

  1. ค่าเสียหาย 100,000 บาท ที่นายสอนเสียไปเปีนค่าขนย้ายและรื้อถอนนั้น นายสอนสามารถเรียกเอาจากนายชัยได้เพราะเป็นค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดจากการไม่ชำระหนี้ คือการที่นายชัยผิดสัญญาไม่ยอมรับโอนที่ดินตามที่ได้ตกลงซื้อจากนายสอนตามมาตรา 222 วรรคแรก

ส่วนดอกเบี้ยร้อยละ 8 ต่อปีนั้น ไม่ใช่ค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดจากการไม่ชำระหนี้ แต่ถือว่าเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านายสอนได้แจ้งให้นายชัยทราบถึงอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 8 ต่อปีที่นายสอนต้องเสียให้แก่ธนาคารเนื่องจากการกู้เงิน จึงถือไม่ได้ว่านายชัยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นถึงความเสียหายเช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว นายสอนจึงเรียกให้นายชัยรับผิดชำระดอกเบี้ยใบอัตราดังกล่าวไม่ได้ตามมาตรา 222 วรรคสอง (ฎีกาที่ 1336/2545)

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อค่าเสียหาย 100,000 บาทนั้นถือว่าเป็นหนี้เงิน ดังนั้น นายสอนจึงยังสามารถเรียกดอกเบี้ยในระหว่างที่นายชัยผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามมาตรา 224 วรรคแรก

  1. ค่าเสียหายที่นายชัยผิดสัญญาไม่ยอมจดทะเบียนรับโอนที่ดินจำนวน 50,000 บาทนั้นถือเป็นค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นจากการไม่ชำระหนี้ นายสอนสามารถเรียกเอาจากนายชัยได้ตามมาตรา 222 วรรคแรก และนอกจากนั้นเมื่อเป็นหนี้เงิน นายสอนจึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้อีกในอัตราร้อยละ 7 5 ต่อปีในระหว่างที่นายชัยผิดนัดตามมาตรา 224 วรรคแรก (ฎีกาที่ 12523/2547)

สรุป นายสอนสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ต้องเสียไปเป็นค่าขนย้ายและรื้อถอนจำนวน100,000 บาท และค่าเสียหายเนื่องจากนายชัยผิดสัญญาจำนวน 50,000 บาท ได้รวมทั้งสามารถเรียกเอาดอกเบี้ยจากจำนวนเงินดังกล่าวในระหว่างผิดนัดได้อีกร้อยละ 7.5 ต่อปี

 

 

ข้อ 3. แดงมีหนี้สินมากมายซึ่งแดงก็ทราบดีว่าตนเองไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ที่ตนมีอยู่ได้ ดำเป็นหลานซึ่งอยู่อาศัยกับแดง ดำเกรงว่าวันหนึ่งจะมีเจ้าหนี้มายึดบ้านทำให้ตนไม่มีที่อยู่ ดำจึงขอให้แดงไปจดทะเบียนให้ตนเองมีสิทธิอาศัยไปตลอดโดยไม่มีค่าตอบแทน ส่วนเขียวเพื่อนของดำทราบว่าแดงมีหนี้สินมากมายจึงมาขอซื้อเฟอร์นิเจอร์ที่มีค่าในบ้านไปในราคาถูกกว่าปกติ และนำไปขายให้ร้านขายของเก่าของฟ้า โดยที่ฟ้าไม่ได้ทราบถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ

ต่อมาเหลืองเจ้าหนี้รายหนึ่งของแดง ได้สืบทราบเรื่องดังกล่าว ทนายของเหลืองจึงแนะนำให้เหลือฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉล

ดังนี้ อยากทราบว่าเหลืองจะสามารถฟ้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิอาศัย และในกรณีซื้อขายเฟอร์นิเจอร์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 237 วรรคแรก “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย

แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้”

มาตรา 238 “การเพิกถอนดังกล่าวมาในบทมาตราก่อนนั้น ไม่อาจกระทบกระทั่งถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันได้มาโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดีขอเพิกถอน

อนึ่ง ความที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับถ้าสิทธินั้นได้มาโดยเสน่หา”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้ คือ

  1. การที่แดงได้จดทะเบียนให้ดำซึ่งเป็นหลานได้สิทธิอาศัยตลอดไปโดยไม่มีค่าตอบแทนนั้น เป็นการทำนิติกรรมโดยแดงลูกหนี้ทราบอยู่แล้วว่าตนเองไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ได้และเป็นทางทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ซึ่งดำก็ทราบเช่นกัน อีกทั้งเป็นการทำให้โดยเสน่หา ดังนั้นเหลืองเจ้าหนี้จึงชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนสิทธิอาศัยได้ตามมาตรา 237 วรรคแรก
  2. การที่แดงได้ทำนิติกรรมโดยการขายเฟอร์นิเจอร์ให้แก่เขียวในราคาถูกนั้น เป็นนิติกรรมที่แดงลูกหนี้ได้ทำลงทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าเป็นทางทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ และเขียวซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกก็ได้รู้ถึงข้อความจริง อันเป็นทางทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ดังนั้นเหลืองเจ้าหนี้จึงชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายเฟอร์นิเจอร์ดังกล่าวได้ตามมาตรา 237 วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม การที่เขียวได้นำเฟอร์นิเจอร์ไปขายให้แก่ฟ้า และฟ้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนั้นได้รับซื้อเฟอร์นิเจอร์มาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริต และได้สิทธิมาก่อนที่จะมีการฟ้องคดีเพิกถอนการฉ้อฉล

ดังนั้น เหลืองแม้จะฟ้องเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายเฟอร์นิเจอร์ระหว่างแดงกับเขียวได้ แต่ก็ไม่อาจเรียกเฟอร์นิเจอร์คืนจากฟ้าได้

สรุป. เหลืองสามารถฟ้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิอาศัย และในกรณีการซื้อขายเฟอร์นิเจอร์ได้ แต่จะเรียกเฟอร์นิเจอร์คืนไม่ได้

 

 

ข้อ 4. ในวันที่ 7 มกราคม 2556 นายหนึ่งและนายสองได้ร่วมกันทำสัญญาจะซื้อที่ดินมีโฉนดที่ดิน 1 แปลง ราคา 2 ล้านบาท จากนายเข้ม โดยในวันทำสัญญานายหนึ่งและนายสองได้วางเงินมัดจำให้แก่นายเข้มจำนวน 1 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาซื้อขาย ราคาส่วนที่เหลือจะชำระให้แก่นายเข้มภายหลังจากที่นายเข้มได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่าเมื่อถึงกำหนดวันนัดจดทะเบียน นายสองแต่เพียงผู้เดียวได้เดินทางมายังสำนักงานที่ดินเพื่อขอรับโอนที่ดินและชำระราคาที่ดินค้างชำระให้แก่นายเข้ม นายเข้มจึงปฏิเสธไม่ยอมโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายสอง

ต่อมานายสองจึงนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลขอให้บังคับให้นายเข้มปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายโดยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและรับราคาที่ค้างชำระจากนายสอง นายเข้มยื่นคำให้การต่อสู้ว่านายเข้มมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาเนื่องจากในวันนัดจดทะเบียนโอนที่ดิน นายหนึ่งผู้จะซื้ออีกคนหนึ่งมิได้มาร่วมรับโอนที่ดินพร้อมกับนายสอง นายเข้มจึงไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่นายสองได้

อีกทั้งนายสองผู้เดียวไม่มีอำนาจฟ้องนายเข้มต่อศาล แต่จะต้องได้รับมอบอำนาจจากนายหนึ่งคู่สัญญาอีกคนหนึ่งด้วย ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ทั้ง 2 ข้อ ของนายเข้มฟังขึ้นหรีอไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 298 “ถ้าบุคคลหลายคนมีสิทธิเรียกร้องการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนอาจจะเรียกให้ชำระหนี้สิ้นเชิงได้ไซร้ แม้ถึงว่าลูกหนี้จำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงแต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือ เจ้าหนี้ร่วมกัน) ก็ดี

ท่านว่าลูกหนี้จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แต่คบใดคนหนึ่งก็ได้ตามแต่จะเลือก ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ แม้ทั้งที่เจ้าหนี้คนหนึ่งจะได้ยื่นฟ้องเรียกชำระหนี้ไว้แล้ว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งและนายสองได้ร่วมกันทำสัญญาจะซื้อที่ดินจากนายเข้มย่อมถือว่านายหนึ่งและนายสองอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ร่วม ซึ่งตามมาตรา 298 นายหนึ่งและนายสองต่างมีสิทธิที่จะเรียกร้องการชำระหนี้ (การจดทะเบียนโอนที่ดิน) จากนายเข้มลูกหนี้ได้ โดยทำนองแต่ละคนอาจจะเรียกให้ชำระหนี้สิ้นเชิงได้ กล่าวคือ นายหนึ่งและนายสองเจ้าหนี้ร่วมไม่ต้องร่วมกันใช้สิทธิเพราะเป็นการใช้สิทธิของตนเอง และโดยไม่ต้องเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้เพื่อประโยขน์แก่เจ้าหนี้คนอื่น ดังนั้นนายสองเพียงคนเดียวจึงมีสิทธิเรียกให้นายเข้มโอนที่ดินให้แก่ตนได้โดยไม่ต้องโอนให้ผู้จะซื้อทุกคน และจากข้อเท็จจริงเมื่อนายสองแต่ผู้เดียวจะมาขอรับโอนที่ดินและชำระราคาที่ค้างแก่นายเข้มโดยที่นายหนึ่งไม่ได้มาร่วมรับโอนด้วยนั้น นายเข้มจะปฏิเสธไม่ยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่นายสองไม่ได้ (เทียบเดียงฎีกาที่ 6846/2539)

และนอกจากนั้นโดยหลักของการเป็นเจ้าหนี้ร่วม เจ้าหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งแต่ผู้เดียวย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องลูกหนี้ให้ชำระหนี้ได้โดยไม่จำต้องได้รับการมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ร่วมคนอื่น ดังนั้นเมื่อนายสองได้นำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอให้บังคับให้นายเข้มปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายดังกล่าว นายเข้มจะต่อสู้ว่านายสองแต่ผู้เดียวไม่มีอำนาจฟ้องนายเข้มต่อศาลเพราะไม่ได้รับมอบอำนาจจากนายหนึ่งคู่สัญญาอีกคนหนึ่งนั้นไม่ได้

สรุป ข้อต่อสู้ของนายเข้มทั้ง 2 ข้อ ฟังไม่ขึ้น

 

Advertisement