การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. ขณะที่นายเอกและนายโททำสัญญาซื้อขายที่ดิน น.ส.3 ไม่มีกฎหมายกำหนดห้ามนายเอกผู้ทรงสิทธิในที่ดินจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินให้ผู้อื่น ต่อมาหลังจากที่ทำสัญญากันแล้ว ทางราชการได้ออกกฎหมายห้ามไม่ให้โอนที่ดินแปลงดังกล่าว
ให้ท่านวินิจฉัยว่า สัญญาซื้อขายที่ดินที่นายเอกและนายโททำขึ้น มีวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”
วินิจฉัย
การทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และมีผลทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 นั้น จะต้องเป็นการทำนิติกรรมในขณะที่มีกฎหมายห้ามไม่ให้กระทำการดังกล่าวด้วย ถ้าในขณะที่ทำนิติกรรมไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้แต่อย่างใด แม้ในภายหลังจะมีกฎหมายบัญญัติห้ามไม่ให้กระทำก็ไม่ทำให้การกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายตอนแรกกลับเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในภายหลังแต่อย่างใด
ตามอุทาหรณ์ ในขณะที่นายเอกและนายโทได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดิน น.ส.3 นั้น ไม่มีกฎหมายกำหนดห้ามนายเอกผู้ทรงสิทธิในที่ดินจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินให้แก่ผู้อื่น ย่อมถือว่าสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายเอกและนายโทนั้น มีวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ต่อมาหลังจากที่ทำสัญญากันแล้วทางราชการจะได้ออกกฎหมายห้ามมิให้โอนที่ดินแปลงดังกล่าว ก็ไม่ทำให้สัญญาซื้อขายที่ดินนั้นเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ไม่ชอบด้วยกฎหมายและตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด
สรุป
สัญญาซื้อขายที่ดินที่นายเอกและนายโททำขึ้นนั้น มีวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 2. นายหนึ่งไม่มีเจตนาทำพินัยกรรม แต่ถูกนายสองหลอกให้ลงลายพิมพ์นิ้วมือในพินัยกรรม ขณะนอนป่วยอยู่ในโรงพยาบาลโดยบอกว่าเป็นหนังสือมอบอำนาจขอรับเงินเวนคืนที่ดินซึ่งเป็นนิติกรรมที่นายหนึ่งมีเจตนาจะทำอย่างหนึ่งอยู่แล้ว
ให้ท่านวินิจฉัยว่า พินัยกรรมที่นายหนึ่งทำขึ้นมีผลทางกฎหมายเช่นไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 156 “การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ
ความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ ความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ความสำคัญผิดในตัวของบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม และความสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น”
วินิจฉัย
ความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมตามมาตรา 156 นั้น หมายถึง การที่ผู้แสดงเจตนามีความประสงค์ต้องการที่จะกระทำนิติกรรมลักษณะหนึ่ง แต่ได้ไปทำนิติกรรมอีกลักษณะหนึ่งเพราะการเข้าใจผิดคิดว่าเป็นนิติกรรมที่ตนต้องการกระทำ และความสำคัญผิดดังกล่าวย่อมมีผลทำให้นิติกรรมที่เกิดขึ้นเป็นโมฆะ
ตามอุทาหรณ์ แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่านายหนึ่งมีเจตนาที่จะทำหนังสือมอบอำนาจขอรับเงินเวนคืนที่ดินอยู่แล้วก็ตาม แต่การที่นายหนึ่งได้ถูกนายสองหลอกให้ลงลายพิมพ์นิ้วมือในพินัยกรรม ซึ่งเป็นนิติกรรมอีกลักษณะหนึ่ง ทำให้นายหนึ่งหลงเชื่อและได้แสดงเจตนาโดยการลงลายพิมพ์นิ้วมือไปในพินัยกรรมนั้น ย่อมถือได้ว่านายหนึ่งได้แสดงเจตนาเพราะความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ดังนั้น พินัยกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 156
สรุป
พินัยกรรมที่นายหนึ่งทำขึ้นนั้นมีผลเป็นโมฆะ
ข้อ 3. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2543 นายแล่มได้ทำสัญญากู้เงินจากนายแช่มจำนวน 500,000 บาท มีกำหนดชำระคืนภายใน 25 สิงหาคม 2544 เมื่อหนี้ถึงกำหนด นายแล่มไม่นำเงินมาชำระ นายแช่มได้ติดตามทวงถามด้วยวาจาตลอดมาจนกระทั่งวันที่ 26 สิงหาคม 2554 นายแล่มได้นำเงินไปชำระให้แก่นายแช่มเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท แต่หลังจากนั้นนายแล่มก็ไม่นำเงินมาชำระให้อีกเลย นายแช่มจึงได้นำคดีมาฟ้องศาลในวันที่ 25 สิงหาคม 2555 นายแล่มต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2554 แต่นายแช่มอ้างว่ายังไม่ขาดอายุความ เพราะอายุความสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2554 เนื่องจากมีการนำเงินมาชำระให้บางส่วน
ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายแล่มฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 193/3 วรรคสอง “ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี”
มาตรา 193/5 วรรคสอง “ถ้าระยะเวลามิได้กำหนดนับแต่วันต้นแห่งสัปดาห์ วันต้นแห่งเดือนหรือปี ระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งสัปดาห์ เดือน หรือปีสุดท้าย อันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น ถ้าในระยะเวลานับเป็นเดือนหรือปีนั้นไม่มีวันตรงกันในเดือนสุดท้าย ให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งเดือนนั้นเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลา ”
มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง โดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ยให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง”
มาตรา 193/15 “เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ
เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น”
มาตรา 193/30 “อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนดสิบปี”
วินิจฉัย
ตามอุทาหรณ์ การที่นายแล่มได้ทำสัญญากู้เงินจากนายแช่มเป็นเงินจำนวน 500,000 บาท โดยมีกำหนดชำระคืนภายในวันที่ 25 สิงหาคม 2544 เมื่อหนี้ถึงกำหนดนายแล่มไม่น่าเงินมาชำระ อายุความจึงเริ่มต้นนับตั้งแต่วันรุ่งขึ้นคือวันที่ 26 สิงหาคม 2544 และเนื่องจากการกู้ยืมเงินไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำอายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 คืออายุความ 10 ปีมาใช้บังคับ
ดังนั้นกรณีนี้อายุความ 10 ปีจะครบกำหนดในวันที่ 25 สิงหาคม 2554 และแม้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันที่ 26 สิงหาคม 2554 นายแล่มได้นำเงินไปชำระให้แก่นายแช่มเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นการชำระหนี้บางส่วนก็ตาม แต่เมื่อเป็นการขำระหนี้เมื่อเลยกำหนดอายุความเดิมมาแล้ว กรณีจึงไม่ถือว่าเป็นเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (1) แต่อย่างใด
ดังนั้นเมื่อนายแช่มนำคดีมาฟ้องศาลในวันที่ 25 สิงหาคม 2555 จึงเป็นการฟ้องเมื่อเลยกำหนดอายุความแล้ว นายแล่มย่อมมีสิทธิยกเอาอายุความขึ้นต่อสู้นายแช่มได้
สรุป
ข้อต่อสู้ของนายแล่มที่ว่าคดีขาดอายุความแล้ว ฟังขึ้น
ข้อ 4. นายหวานจดทะเบียนหย่ากับนางจืด โดยนายหวานทำบันทึกข้อตกลงกับนางจืดว่าจะยอมแบ่งที่ดินมีโฉนดของตนแปลงหนึ่งให้แก่เด็กชายปื๊ดและเด็กหญิงฟ้า ซึ่งเป็นบุตรคนละส่วนเท่า ๆ กัน โดยนายหวานจะดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินให้เป็นไปตามสัญญา เมื่อเด็กชายปื๊ดและเด็กหญิงฟ้าอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ ต่อมาภายหลังจากที่เด็กหญิงฟ้ามีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ นายหวานก็ยังไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินให้แก่เด็กหญิงฟ้าแต่อย่างใด เนื่องจากเด็กหญิงฟ้าติดยาเสพติดและการพนัน ด้วยเหตุนี้ นายหวานกับนางจืดจึงทำบันทึกข้อตกลงใหม่ โดยให้ที่ดินส่วนที่ตกลงแบ่งให้เด็กหญิงฟ้าไว้เดิม ไปให้แก่เด็กชายปื๊ดบุตรชายแทน
ให้ท่านวินิจฉัยว่า เด็กหญิงฟ้าจะฟ้องบังคับให้นายหวานจดทะเบียนโอนที่ดินให้ตนตามบันทึกฉบับแรกได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 374 “ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกไซร้ ท่านว่าบุคคลภายนอกมีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้
ในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น”
มาตรา 375 “เมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดมีขึ้นตามบทบัญญัติแห่งมาตราก่อนแล้วคู่สัญญาหาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่”
วินิจฉัย
ในกรณีที่มีการทำสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก ถ้าบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นตามมาตรา 374 วรรคสองแล้ว สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้น และคู่สัญญาจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังไม่ได้ (มาตรา 375)
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหวานจดทะเบียนหย่ากับนางจืด โดยนายหวานได้ทำบันทึกข้อตกลงกับนางจืดว่าจะยอมแบ่งที่ดินมีโฉนดของตนแปลงหนึ่งให้แก่เด็กชายปื๊ดและเด็กหญิงฟ้า เมื่อเด็กชายปื๊ดและเด็กหญิงฟ้าอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์นั้น บันทึกข้อตกลงระหว่างนายหวานกับนางจืดดังกล่าวถือว่าเป็นสัญญาที่คู่สัญญาตกลงจะชำระหนี้ตามสัญญาให้แก่เด็กหญิงฟ้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามมาตรา 374 วรรคแรก
และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อเด็กหญิงฟ้ามีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์แล้ว เด็กหญิงฟ้ายังไม่ได้บอกกล่าวไปยังนายหวานให้โอนที่ดินให้ตน สิทธิของเด็กหญิงฟ้าที่จะเรียกให้นายหวานชำระหนี้ตามสัญญาจึงยังไม่ได้เกิดมีขึ้น เนื่องจากเด็กหญิงฟ้ายังไม่ได้แสดงเจตนาแก่นายหวานว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น (มาตรา 374 วรรคสอง) ดังนั้น นายหวานและนางจืดจึงสามารถทำบันทึกข้อตกลงใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิของ
เด็กหญิงฟ้าในภายหลังได้ตามมาตรา 375 และเมื่อนายหวานกับนางจืดได้ทำบันทึกข้อตกลงใหม่ โดยให้ที่ดินส่วนที่ตกลงแบ่งให้เด็กหญิงฟ้าไว้เดิม ไปให้แก่เด็กชายปื๊ดบุตรชายแทน เด็กหญิงฟ้าจึงไม่สามารถที่จะฟ้องบังคับให้นายหวานจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ตนตามบันทึกฉบับแรกได้
สรุป
เด็กหญิงฟ้าจะฟ้องบังคับให้นายหวานจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ตนตามบันทึกฉบับแรกไม่ได้