การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นางจักจั่นส่งจดหมายแสดงเจตนาเสนอขายแหวนเพชรให้แก่นางจุ๊บจิ๊บเพื่อนสนิทที่จังหวัดเชียงใหม่ราคา 100,000บาท โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับในวันที่ 1 กันยายน 2557 ต่อมาอีก 2วันนางจักจั่นเกิดเปลี่ยนใจ ไม่อยากขายแหวนเพชรดังกล่าว เพราะต้องการเก็บไว้ให้ลูกสาว นางจักจั่นจึงได้ส่งจดหมายบอกถอนการแสดงเจตนาเดิมที่ตนทำไว้โดยการส่งไปรษณีย์ชนิดด่วนพิเศษแบบ EMS แต่ในวันเดียวกันนั้นเองนางจักจั่นได้ถูกรถชนถึงแก่ความตายระหว่างเดินทางกลับบ้าน และลูกสาวของนางจักจั่นก็ได้โทรศัพท์ไปเชิญนางจุ๊บจิ๊บให้มาร่วมงานสวดอภิธรรมศพของมารดาในวันนั้นด้วย

ต่อมาวันที่ 5 กันยายน 2557 เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จึงได้นำจดหมายทั้งสองฉบับของนางจักจั่นไปส่งยังบ้านของนางจุ๊บจิ๊บ โดยมีนางสาวแจ๋วสาวใช้ของนางจุ๊บจิ๊บเป็นคนรับจดหมายไว้ และนางสาวแจ๋วได้โทรศัพท์ไปบอกนางจุ๊บจิ๊บว่ามีจดหมายส่งมา นางจุ๊บจิ๊บจึงให้นางสาวแจ๋วเปิดอ่าน

เมื่อนางจุ๊บจิ๊บทราบว่านางจักจั่นเสนอขายแหวนเพชรดังกล่าว นางจุ๊บจิ๊บจึงรีบเขียนจดหมายตอบตกลงซื้อทันทีโดยการส่งตอบรับแบบ EMS มาให้ลูกสาวของนางจักจั่น และจดหมายนั้นมาถึงวันที่ 7 กันยายน 2557

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าลูกสาวของนางจักจั่นต้องขายแหวนเพชรดังกล่าวให้นางจุ๊บจิ๊บหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบายโดยยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 169 วรรคสอง “การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ”

มาตรา 360 “บทบัญญัติแห่งมาตรา 169 วรรคสองนั้น ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหากว่าขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดงหรือหากว่าก่อนจะสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ”

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าในกรณีที่มีการแสดงเจตนาทำนิติกรรมนั้น เมื่อผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาออกไปแล้ว แม้ภายหลังผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ การแสดงเจตนานั้นก็ไม่เสื่อมเสียไป (มาตรา 169 วรรคสอง) เว้นแต่จะขัดกับเจตนาที่ผู้เสนอได้แสดง หรือหากก่อนมีการสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตาย หรือตกเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (มาตรา 360)

ตามอุทาหรณ์ การที่นางจักจั่นได้ส่งจดหมายแสดงเจตนาเสนอขายแหวนเพชรให้แก่นางจุ๊บจิ๊บและต่อมานางจักจั่นได้ถึงแก่ความตายโดยนางจุ๊บจิ๊บก็ได้ไปร่วมสวดอภิธรรมศพของนางจักจั่นด้วยนั้น ถือว่านางจุ๊บจิ๊บได้รู้อยู่แล้วว่านางจักจั่น (ผู้เสนอ) ตายไปแล้ว ดังนั้น แม้ว่านางจุ๊บจิ๊บ (ผู้สนอง) จะได้ส่งจดหมายตอบตกลงซื้อแหวนเพชรกับลูกสาวนางจักจั่น สัญญาซื้อขายแหวนเพชรก็ไม่เกิดขึ้น

เพราะกรณีนี้จะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 360 ซึ่งมิให้นำมาตรา 169วรรคสอง มาใช้บังคับ กล่าวคือ ให้ถือว่าการแสดงเจตนาเสนอขายแหวนเพชรของนางจักจั่นย่อมเสื่อมเสียไป เพราะก่อนที่นางจุ๊บจิ๊บจะทำคำสนองตอบตกลงซื้อแหวนเพชรนั้น นางจุ๊บจิ๊บได้รู้อยู่แล้วว่านางจักจั่นผู้เสนอขายแหวนเพชรนั้นตายไปแล้ว และเมื่อถือว่ากรณีดังกล่าวไม่มีคำเสนอของนางจักจั่น มีแต่เพียงคำสนองของนางจุ๊บจิ๊บ ดังนั้นสัญญาซื้อขายแหวนเพชรจึงไม่เกิดขึ้น ลูกสาวของนางจักจั่นจึงไม่ต้องขายแหวนเพชรให้แก่นางจุ๊บจิ๊บ

สรุป

ลูกสาวของนางจักจั่นไม่ต้องขายแหวนเพชรดังกล่าวให้นางจุ๊บจิ๊บ

 

ข้อ 2. นายมะยมโฆษณาโอ้อวดคุณสมบัติของรถมอเตอร์ไซด์ที่ขายให้นายมะกอกว่าเป็นรถมอเตอร์ไซด์รุ่นใหม่ เพิ่งพ่นสีใหม่เป็นสีเดิม ความจริงเป็นรถรุ่นเก่าและเคยเปลี่ยนสีมาหลายครั้งกับกล่าวอ้างคุณสมบัติของรถมอเตอร์ไซด์ซึ่งไม่เป็นความจริงอีกหลายประการ นายมะกอกจึงตกลงซื้อรถมอเตอร์ไซค์โดยหลงเชื่อคำโฆษณาโอ้อวดของนายมะยม ภายหลังต่อมานายมะกอกทราบว่ารถมอเตอร์ไซค์คันดังกล่าวเป็นรถมอเตอร์ไชค์รุ่นเก่าที่นายมะยมนำมาหลอกขายให้กับตน ซึ่งหากนายมะกอกรู้ความจริงคงจะซื้อรถมอเตอร์ไซค์ในราคาที่ต่ำกว่านี้

ให้ท่านวินิจฉัยว่า สัญญาซื้อขายรถมอเตอร์ไซค์เกิดจากการที่นายมะกอกแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเพื่อเหตุหรือไม่ มีผลทางกฎหมายเช่นไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 161 “ถ้ากลฉ้อฉลเป็นแต่เพียงเหตุจูงใจให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่คู่กรณีฝ่ายนั้นจะยอมรับโดยปกติ คู่กรณีฝ่ายนั้นจะบอกล้างการนั้นหาได้ไม่ แต่ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อฉลนั้นได้”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว การแสดงเจตนาทำนิติกรรมที่เกิดจากการที่ผู้ทำนิติกรรมถูกกลฉ้อฉลนั้นกฎหมายได้บัญญัติให้นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆียะ คู่กรณีฝ่ายที่แสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลมีสิทธิบอกล้างได้ (ป.พ.พ. มาตรา 159)

แต่อย่างไรก็ตาม มาตรา 161 ได้บัญญัติว่า ถ้ากลฉ้อฉลนั้นเป็นแต่เพียงเหตุจูงใจทำให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งต้องการแสดงเจตนาทำนิติกรรมอยู่แล้วแม้จะไม่มีการทำกลฉ้อฉล ต้องยอมรับข้อกำหนดตามนิติกรรมอันหนักยิ่งกว่าที่เขาจะยอมรับโดยปกติ ซึ่งถ้าไม่มีการทำกลฉ้อฉลเช่นนั้น คู่กรณีฝ่ายนั้นจะไม่ยอมรับข้อตกลงหรือข้อกำหนดดังกล่าว ผลของการทำนิติกรรมเนื่องจากถูกกลฉ้อฉลในกรณีเช่นนี้ ไม่ทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะ

แต่คู่กรณีฝ่ายที่ถูกกลฉ้อฉลมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อฉลนั้นได้

ตามอุทาหรณ์ การที่นายมะยมโอ้อวดคุณสมบัติของรถมอเตอร์ไซค์ที่ขายให้แก่นายมะกอกว่าเป็นรถมอเตอร์ไซค์รุ่นใหม่ เพิงพ่นสีใหม่เป็นสีเดิม ความจริงเป็นรถรุ่นเก่าและเคยเปลี่ยนสีมาหลายครั้งกับกล่าวอ้างคุณสมบัติของรถมอเตอร์ไซด์ซึ่งไม่เป็นความจริงอีกหลายประการ ทำให้นายมะกอกตกลงซื้อรถมอเตอร์ไซค์โดยหลงเชื่อคำโฆษณาโอ้อวดของนายมะยมนั้น ถือได้ว่าการซื้อขายรถมอเตอร์ไซด์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นเพราะมีการใช้กลฉ้อฉลแล้ว

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า รถมอเตอร์ไซด์คันนั้นก็ยังคงเป็นยี่ห้อเดียวกับที่นายมะกอกต้องการจะซื้อ ซึ่งแม้จะมิได้มีกลฉ้อฉลของนายมะยม นายมะกอกก็ยังคงซื้อรถมอเตอร์ไซด์คันนั้นอยู่แล้ว

เพียงแต่จะซื้อในราคาที่ต่ำกว่านี้เท่านั้น ดังนั้น กลฉ้อฉลของนายมะยมจึงมิได้ถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลเช่นนั้น นายมะกอกจะไม่ซื้อรถมอเตอร์ไซด์จากนายมะยมเลย กลฉ้อฉลของนายมะยมเป็นเพียงเหตุที่ทำให้นายมะกอกต้องรับเอาข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่นายมะกอกจะยอมรับโดยปกติ คือทำให้นายมะกอกต้องซื้อในราคาที่สูงขึ้น

สัญญาซื้อขายรถมอเตอร์ไซค์ของนายมะกอกจึงถือว่าเป็นการแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเพื่อเหตุ และจะมีผลตามมาตรา 161 คือไม่ทำให้สัญญาซื้อขายดังกล่าวตกเป็นโมฆียะ นายมะกอกจะบอกล้างไม่ไต้แต่มีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจากนายมะยมได้

สรุป

สัญญาซื้อขายรถมอเตอร์ไซค์เกิดจากการที่นายมะกอกแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเพื่อเหตุ และนายมะกอกมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจากนายมะยมได้

 

ข้อ 3. เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2543 นายกระต่ายได้ทำสัญญากู้เงินจากนายกระทิงเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท มีกำหนดชำระคืนภายใน 15 มีนาคม 2544 เมื่อหนี้ถึงกำหนดนายกระต่ายไม่นำเงินมาชำระ นายกระทิงได้ติดตามทวงถามด้วยวาจาตลอดมา จนาระทั่งวันที่ 16 มีนาคม 2554

นายกระต่ายได้นำที่ดินมาจำนองเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินดังกล่าว และได้นำเงินไปชำระให้แก่นายกระทิงเป็นจำนวน 5,000 บาท แต่หลังจากนั้นนายกระต่ายก็ไม่นำเงินมาชำระให้อีกเลย

นายกระทิงจึงได้นำคดีมาฟ้องศาลในวันที่ 16 มีนาคม 2556 เพื่อให้นายกระต่ายชำระหนี้เงินกู้ นายกระต่ายต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2554 แต่นายกระทิงอ้างว่ายังไม่ขาดอายุความ เพราะมีการรับสภาพความรับผิด ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(1)     ข้อต่อสู้ของนายกระทิงฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

(2)     ถ้านายกระต่ายไม่รู้ว่าการชำระหนี้ไปบางส่วนจำนวน 5,000 บาท นั้นเลยกำหนดอายุความแล้วนายกระต่ายสามารถเรียกคืนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/9 “สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ”

มาตรา 193/10 “สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้”

มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร่องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง ”

มาตรา 193/28 “การชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องจึงขาดอายุความแล้วนั้น ไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม

บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับแก่การที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือโดยการให้ประกันด้วย แต่จะอ้างความข้อนี้ขึ้นเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันเดิมไม่ได้”

มาตรา 193/30 “อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนดสิบปี”

มาตรา 193/35 “ภายใต้บังคับมาตรา 193/27 สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือโดยการให้ประกันตามมาตรา 193/28 วรรคสอง ให้มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดหรือให้ประกัน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกระต่ายได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายกระทิงเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท มีกำหนดชำระคืนภายในวันที่ 15 มีนาคม 2544 เมื่อถึงกำหนดนายกระต่ายไม่น่าเงินมาชำระ อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันรุ่งขึ้นคือวันที่ 16 มีนาคม 2544 และเนื่องจากการกู้ยืมเงินไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำอายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 คือ อายุความ 10 ปีมาใช้บังคับ ดังนั้นกรณีนี้อายุความ 10 ปี จะครบกำหนดในวันที่ 15 มีนาคม 2554 เมื่อนายกระทิงไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนด 10ปี สิทธิเรียกร้องของนายกระทิงที่มีต่อนายกระต่ายลูกหนี้ย่อมเป็นอันขาดอายุความ นายกระทิงย่อมไม่สามารถฟ้องร้องบังคับให้นายกระต่ายชำระหนี้แก่ตนได้ และถ้านายกระทิงฟ้องนายกระต่ายให้ชำระหนี้ นายกระต่ายย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้นั้นได้ตามมาตรา 193/9 และมาตรา 193/10

การที่นายกระต่ายได้นำที่ดินมาจำนองเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินดังกล่าวและได้นำเงินไปขำระหนี้ให้แก่นายกระทิงเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท ในวันที่ 16 มีนาคม 2554 ไม่ถือว่าเป็นกรณีที่นายกระต่ายลูกหนี้รับสภาพหนี้แก่นายกระทิงเจ้าหนี้แต่อย่างใด เพราะกรณีที่จะถือว่าลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (1) นั้น ต้องเป็นการกระทำก่อนที่สิทธิเรียกร้องนั้นจะขาดอายุความ

ดังนั้น การกระทำของนายกระต่ายจึงเป็นการรับสภาพความรับผิดตามมาตรา 193/28 และเป็นการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้ว

ดังนั้น จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ จึงวินิจฉัยได้ดังนี้

(1)     เมื่อนายกระต่ายได้รับสภาพความรับผิดโดยการนำที่ดินมาจำนองเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นการรับสภาพความรับผิดโดยสัญญาตามมาตรา 193/28 วรรคสอง และเมื่อการรับสภาพความรับผิดนั้นมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงใช้บังคับได้โดยนายกระทิงสามารถฟ้องให้นายกระต่ายชำระหนี้ได้ แต่จะต้องฟ้องภายในอายุความ 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดนั้นตามมาตรา 193/28 วรรคสองประกอบมาตรา 193/35 ซึ่งอายุความ 2 ปี จะครบกำหนดในวันที่ 16 มีนาคม 2556 ดังนั้น เมื่อนายกระทิงได้นำคดีมาฟ้องศาลในวันที่ 16 มีนาคม 2556 นายกระต่ายจะต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้วไม่ได้ ข้ออ้างของนายกระทิงที่ว่าคดียังไม่ขาดอายุความจึงฟังขึ้น

(2)     การที่นายกระต่ายได้นำเงินไปชำระให้แก่นายกระทิงจำนวน 5,000 บาท โดยไม่รู้ว่าเลยกำหนดอายุความแล้วนั้น นายกระต่ายจะเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากนายกระทิงไม่ได้ตามมาตรา 193/28 วรรคแรก ที่ว่า การชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความแล้วนั้น ไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่ทราบว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม เนื่องจากการที่สิทธิเรียกร้องขาดอายุความนั้น มิได้ทำให้หนี้นั้นระงับไปแต่อย่างใด

สรุป

(1) ข้อต่อสู้ของนายกระทิงที่ว่ายังไม่ขาดอายุความเพราะมีการรับสภาพความรับผิดนั้นฟังขึ้น

(2) แม้นายกระต่ายจะไม่รู้ว่าการชำระหนี้ไปบางส่วนจำนวน 5,000 บาทนั้น เลยอายุความแล้ว นายกระต่ายก็ไม่สามารถเรียกคืนได้

 

ข้อ 4. นายเอกทำสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ 15 ปี ไม่จดทะเบียนจากนายโท ครั้นเวลาผ่านไปได้เพียง 1 ปี นับจากทำสัญญาเช่า นายโทได้โอนขายอาคารพาทณิชย์หลังดังกล่าวให้นายตรี โดยนายตรียอมรับข้อผูกพันระหว่างนายเอกและนายโทด้วย เมื่อนายเอกได้รับแจ้งจากนายโทว่านายโทได้ขายอาคารพาณิชย์ให้นายตรีแล้ว นายเอกจึงนำค่าเช่าที่ตกลงชำระให้นายโทเดือนละ 10,000 บาท ไปชำระให้นายตรีแทน แต่กลับถูกนายตรีปฏิเสธเนื่องจากนายเอกและนายตรีไม่ได้มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน และนายตรียังได้เรียกให้นายเอกออกจากอาคารพาณิชย์ มิเช่นนั้นจะใช้สิทธิทางศาลฟ้องขับไล่นายเอกอีกด้วย

ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้อกล่าวอ้างของนายตรีรับฟังได้หรือไม่ และนายเอกจะต้องออกจากอาคารพาณิชย์ที่เช่าหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 374 “ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกไซร้ ท่านว่าบุคคลภายนอกมีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้

ในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น”

มาตรา 375 “ เมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดมีขึ้นตามบทบัญญัติแห่งมาตราก่อนแล้ว คู่สัญญาหาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่”

วินิจฉัย

ในกรณีที่มีการทำสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก ถ้าบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นตามมาตรา 374 วรรคสองแล้ว สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้น และคู่สัญญาจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังไม่ได้ (มาตรา 375)

ตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกทำสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์จากนายโท และเมื่อผ่านไปได้เพียง 1 ปีนับจากทำสัญญาเช่า นายโทได้โอนขายอาคารพาณิชย์หลังดังกล่าวให้แก่นายตรี โดยที่นายตรีได้ยอมรับข้อผูกพันระหว่างนายเอกและนายโทด้วยนั้น ย่อมถือว่าข้อสัญญาระหว่างนายตรีกับนายโทเป็นข้อสัญญาเพื่อประโยชน์แก่นายเอกซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามมาตรา 374 วรรคแรก

เมื่อนายเอกได้นำค่าเช่าที่ตกลงชำระให้นายโทเดือนละ 10,000 บาท ไปชำระให้นายตรี ย่อมถือว่านายเอกบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาแก่นายตรีว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว และให้ถือว่าสิทธิของนายเอกได้เกิดมีขึ้นแล้ว ดังนั้น นายตรีจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิดังกล่าวของนายเอกโดยการขับไล่ให้นายเอกออกจากอาคารพาณิชย์นั้นไม่ได้ตามมาตรา 374 วรรคสอง ประกอบมาตรา 375

สรุป

ข้อกล่าวอ้างของนายตรีที่ว่านายเอกและนายตรีไม่ได้มีนิติสัมพันธ์ต่อกันรับฟังไม่ได้และนายเอกไม่ต้องออกจากอาคารพาณิชย์ที่เช่า

Advertisement