การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551 

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3010 กฎหมายล้มละลาย

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  จำนวน  3  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายดำอยากเปิดร้านอินเทอร์เน็ต  จึงได้ไปกู้เงินจากธนาคารออมทรัพย์  จำกัด  จำนวน  2  ล้านบาท  เพื่อใช้จ่ายในการเปิดกิจการร้านอินเทอร์เน็ต  โดยมีนายดีเป็นผู้ค้ำประกัน  และตกลงผ่อนชำระเป็นรายเดือนๆละ  5,000  บาท  ต่อมามีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบพบว่า นายดำไม่มีใบอนุญาตให้เปิดบริการร้านอินเทอร์เน็ต  จึงได้สั่งปิดกิจการ  นายดำไม่มีเงินผ่อนชำระ  นายดีจึงช่วยผ่อนให้แทน  3  เดือน  ก็ไม่ได้ผ่อนชำระอีกเพราะไม่มีเงินเช่นกัน  นายดำจึงถูกธนาคารออมทรัพย์  จำกัด  ฟ้องล้มละลาย  และศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายดำแล้ว  ดังนี้

(ก)  ธนาคารออมทรัพย์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นเงิน  2  ล้านบาทตามสัญญากู้เงิน

(ข)  นายดีได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในหนี้ที่ตนชำระหนี้แทนไปแล้ว  15,000  บาท  และเงินส่วนที่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในภายหน้าอีกจำนวน  1,985,000  บาท

ดังนี้  เมื่อนายดำคัดค้านคำขอรับชำระหนี้ทั้งสองรายการ  หากท่านเป็นศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอรับชำระหนี้ของธนาคารออมทรัพย์  จำกัด  และนายดีอย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  94  เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้  ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์  แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม 

มาตรา  101  ถ้าลูกหนี้ร่วมบางคนถูกพิทักษ์ทรัพย์  ลูกหนี้ร่วมคนอื่นอาจยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่คนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้  เว้นแต่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนแล้ว

บทบัญญัติในวรรคก่อนให้ใช้บังคับแก่ผู้ค้ำประกัน  ผู้ค้ำประกันร่วม  หรือบุคคลที่อยู่ในลักษณะเดียวกันนี้โดยอนุโลม

มาตรา  107  คำขอรับชำระหนี้รายใด  ถ้ามีผู้โต้แย้งให้ศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(3) อนุญาตให้ได้รับชำระหนี้บางส่วน

วินิจฉัย

(ก)  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ธนาคารออมทรัพย์ฯ  จะได้รับชำระหนี้  2  ล้านบาท  ตามที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้หรือไม่  เห็นว่าหนี้ที่เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลายนั้น  จะต้องมีลักษณะตามมาตรา  94  แห่ง  พ.ร.บ.  ล้มละลาย  พ.ศ.  2483  ดังนี้

1)    มูลแห่งหนี้นั้นต้องเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์

2)    หนี้นั้นอาจฟ้องบังคับคดีได้ตามกฎหมาย  และ

3)    ต้องเป็นหนี้เงิน

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหนี้เงินกู้จำนวน  2  ล้านบาทนั้น  นายดี  (ผู้ค้ำประกัน)  ได้ผ่อนชำระแทนนายดำ  (ลูกหนี้)  ไปแล้ว  เป็นเงินรวมทั้งสิ้น  15,000  บาท  จึงเหลือหนี้ที่ธนาคารออมทรัพย์  จำกัด  อาจบังคับชำระหนี้ได้เพียง  1,985,000  บาท  เมื่อนายดำคัดค้านคำขอรับชำระหนี้  ศาลจึงต้องมีคำสั่งอนุญาตให้ธนาคารออมทรัพย์ฯ  มีสิทธิได้รับชำระหนี้เพียงบางส่วนคือ  1,985,000  บาท  เท่านั้น  ตามมาตรา  107(3)

(ข)  โดยหลักแล้ว  เมื่อลูกหนี้ร่วมบางคนถูกพิทักษ์ทรัพย์  ลูกหนี้ร่วมคนอื่น  หรือผู้ค้ำประกันอาจยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้  เว้นแต่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนแล้ว

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่า  ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอรับชำระหนี้ของนายดีอย่างไร  เห็นว่า  การที่นายดีผู้ค้ำประกันผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคารออมทรัพย์ฯ  จำนวน  15,000  บาท  แทนนายดำนั้นมีผลทำให้นายดีกลายเป็นเจ้าหนี้นายดำ  โดยมีสิทธิไล่เบี้ยในมูลหนี้ที่ตนได้ชำระแทนไปแล้วจากกองทรัพย์สินของนายดำลูกหนี้ได้  และถือว่ามูลหนี้นั้นได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์  ตามมาตรา  94  นายดีจึงมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้

ส่วนหนี้จำนวน  1,985,000  บาทนั้น  นายดียังไม่ได้ชำระแก่เจ้าหนี้แทนนายดำลูกหนี้จริงจึงถือเป็นหนี้ที่ผู้ค้ำประกันอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยได้ในอนาคต  เมื่อธนาคารออมทรัพย์ฯ  เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวน  1,985,000  บาทแล้ว  นายดีผู้ค้ำประกันย่อมหมดสิทธิที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของนายดำลูกหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าต่อไปตามมาตรา  101  (ฎ. 1175/2530)

สรุป  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล

(ก)  จะมีคำสั่งอนุญาตให้ธนาคารออมทรัพย์  ได้รับชำระหนี้เพียง  1,985,000  บาท  ตามที่เป็นหนี้อยู่จริงเท่านั้น  และ

(ข)  จะมีคำสั่งอนุญาตให้นายดีได้รับชำระหนี้เพียง  15,000  บาท  ตามที่ได้ชำระหนี้แทนนายดำไปเท่านั้น  ส่วนอีก  1,985,000  บาท  จะมีคำสั่งไม่อนุญาต


ข้อ  2  นายเสื้อแดงถูกธนาคารไทย  ฟ้องเป็นคดีล้มละลาย  เนื่องจากไม่ได้ชำระหนี้เงินกู้  เมื่อศาลได้สั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนายเสื้อแดงแล้ว  ในการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พบว่า  นายเสื้อแดงมีทรัพย์สินที่ดินเพียง  1  แปลง  โดยในช่วงเวลา  2  เดือน  ก่อนวันที่ธนาคารไทยยื่นฟ้องล้มละลาย  นายเสื้อแดงได้โอนที่ดินให้แก่นายทักซึ่งเป็นเจ้าหนี้  เป็นการใช้หนี้  และต่อมาหลังจากฟ้องล้มละลายแล้ว  1  เดือน  นายทักเกรงว่าที่ดินดังกล่าวอาจถูกยึดคืน  จึงได้รีบขายที่ดินให้แก่นายเสื้อเหลือง  ซึ่งไม่รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าว

จึงได้ซื้อไว้และจดทะเบียนรับโอนจากนายทักตามกฎหมายแล้ว  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอเพิกถอนการโอนที่ดินแปลงดังกล่าว  นายเสื้อเหลืองยื่นคัดค้านว่า  ตนได้ซื้อและรับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวจากนายทัก  โดนสุจริตและเสียค่าตอบแทน  ย่อมได้รับความคุ้มครอง  เช่นนี้  หากท่านเป็นศาลจะสั่งอย่างไรกับคำร้องและคำคัดค้านเกี่ยวกับที่ดินแปลงดังกล่าว  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  115  วรรคแรก  การโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใดๆ  ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายภายหลังนั้น  โดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น  ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง  ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้นได้

มาตรา  116  บทบัญญัติในมาตรา  115  ไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันได้มาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนก่อนมีการขอให้ล้มละลาย

วินิจฉัย

เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการโอนอันลูกหนี้ได้กระทำ  หรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลา  3  เดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลาย  และภายหลังจากมีการขอให้ล้มละลาย  แต่ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้  โดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้คนอื่นได้  ตามมาตรา  115  วรรคแรก

แต่ทั้งนี้ก็มีข้อยกเว้นอยู่ว่า  ถ้าบุคคลภายนอกที่รับโอนมาจากผู้รับโอนได้สิทธิมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน  และรับโอนหรือได้สิทธิมาก่อนมีการขอให้ล้มละลายด้วยแล้ว  บุคคลภายนอกนั้นจะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา  116  ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนการโอนไม่ได้

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ศาลจะมีคำสั่งกับคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และคำคัดค้านของนายเสื้อเหลืองอย่างไร  เห็นว่า  เมื่อก่อนมีการฟ้องคดีล้มละลาย  2  เดือน  นายเสื้อแดง  (ลูกหนี้)  ได้โอนที่ดินให้แก่นายทัก  (เจ้าหนี้)  ทั้งที่มีที่ดินเพียง  1  แปลงเท่านั้น  การโอนดังกล่าวย่อมเป็นการทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินแปลงดังกล่าวได้ตามมาตรา  115  วรรคแรก

แม้ต่อมาภายหลังจากนายเสื้อแดงถูกฟ้องคดี  1  เดือน  นายทักจะได้โอนที่ดินแปลงดังกล่าวแก่นายเสื้อเหลือง  ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับซื้อไว้โดยสุจริต  และเสียค่าตอบแทนก็ตาม  นายเสื้อเหลืองก็ไม่อาจยกเหตุดังกล่าวขึ้นต่อสู้ได้ตามมาตรา  116  เพราะบทบัญญัติดังกล่าวให้การคุ้มครองเฉพาะการโอนระหว่างผู้รับโอนกับบุคคลภายนอกก่อนมีการขอให้ล้มละลาย  นายเสื้อเหลืองจึงไม่ได้รับการคุ้มครอง  ตามมาตรา  116  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินแปลงดังกล่าวและนำเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ตามมาตรา  115  วรรคแรก  (ฎ. 1195/2541  และ ฎ. 7160/2544)

สรุป  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล  จะมีคำสั่งเพิกถอนการโอนที่ดินแปลงดังกล่าว  ตามมาตรา  115  วรรคแรก  และยกคำคัดค้านของนายเหลือง  ตามมาตรา  116


ข้อ  3  คดีฟื้นฟูกิจการเรื่องหนึ่ง  ในการพิจารณาตั้งผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้  ปรากฏว่าเจ้าหนี้ผู้ร้องขอเสนอนายเชี่ยวเป็นผู้ทำแผน  ส่วนลูกหนี้เสนอนายชาญเป็นผู้ทำแผน  ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วเห็นว่านายชาญที่ลูกหนี้เสนอมีคุณสมบัติเป็นผู้ทำแผน  จึงมีคำสั่งตั้งนายชาญเป็นผู้ทำแผน

ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งของศาลดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  90/17  วรรคแรก  ในการพิจารณาตั้งผู้ทำแผน  ถ้าลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้คัดค้านไม่ได้เสนอบุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนด้วย  เมื่อศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ  ศาลจะมีคำสั่งตั้งบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอเป็นผู้ทำแผนก็ได้  ถ้าศาลเห็นว่าบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอไม่สมควรเป็นผู้ทำแผนก็ดี  หรือลูกหนี้  เจ้าหนี้ผู้คัดค้านเสนอบุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนด้วยก็ดี  ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุดเพื่อพิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทำแผน

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ตั้งนายชาญเป็นผู้ทำแผนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  พ.ร.บ.  ล้มละลาย  พ.ศ.  2483  มาตรา  90/17  วรรคแรก  ได้กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งผู้ทำแผนไว้ดังนี้คือ

1       กรณีลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้คัดค้านไม่ได้เสนอบุคคลอื่นมาเป็นผู้ทำแผน  ศาลอาจมีคำสั่งตั้งบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอเป็นผู้ทำแผนก็ได้

2       กรณีที่ศาลเห็นว่าบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอไม่สมควรเป็นผู้ทำแผน  หรือลูกหนี้เจ้าหนี้ผู้คัดค้านเสนอบุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนด้วย  ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดเร็วที่สุด  เพื่อพิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทำแผน  ศาลจะมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนไปเลยทีเดียวไม่ได้

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าหนี้ผู้ร้องขอเสนอนายเชี่ยวเป็นผู้ทำแผน  และลูกหนี้เสนอนายชาญเป็นผู้ทำแผนด้วย  ศาลจึงต้องมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหมดโดยเร็วที่สุด  เพื่อพิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทำแผน  ทั้งนี้ตามมาตรา  90/17 วรรคแรก  ศาลจะมีคำสั่งตั้งนายเชี่ยวหรือนายชาญเป็นผู้ทำแผนในทันทีหาได้ไม่  การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งตั้งนายชาญเป็นผู้ทำแผนในทันทีก่อนมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้  คำสั่งของศาลดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป  คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ตั้งนายชาญเป็นผู้ทำแผน  โดยมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของมาตรา  90/17  วรรคแรกนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement