การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3010 กฎหมายล้มละลาย

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  จำนวน  3  ข้อ

ข้อ  1  เมื่อวันที่  3  ตุลาคม  2549  ศาลแพ่งพิพากษาตามยอมให้นายดนัย  จำเลยที่  1  และนายภราดร  จำเลยที่  2  ร่วมกันชำระเงิน  3 ล้านบาท  แก่นายโรเจอร์  โจทก์  ภายในกำหนด  1  ปี  นับแต่วันทำยอม  ต่อมาวันที่  8  ธันวาคม  2549  นายโรเจอร์นำหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวมาฟ้องนายดนัยให้ล้มละลาย  นายดนัยให้การรับว่าเป็นหนี้โจทก์จริงตามฟ้องและมีหนี้สินล้นพ้นตัว  แต่หนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวยังไม่ครบกำหนดชำระ  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง  อีกทั้งนายภราดรซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษามีฐานะร่ำรวยสามารถชำระหนี้ทั้งหมดแก่โจทก์ได้ขอให้ยกฟ้อง  ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยอ้าง  จึงพิพากษายกฟ้องให้วินิจฉัยว่า  คำพิพากษาของศาลล้มละลายกลางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  9  เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ต่อเมื่อ

(1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท  หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท  และ

(3) หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลัน  หรือในอนาคตก็ตาม

มาตรา  14  ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น  ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  9  หรือมาตรา  10  ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง  ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด  แต่ถ้าไม่ได้ความจริง  หรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายให้ศาลยกฟ้อง

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  คำพิพากษายกฟ้องของศาลล้มละลายกลางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่าโดยหลัก  การฟ้องบุคคลธรรมดาเป็นคดีล้มละลายโดยเจ้าหนี้ไม่มีประกัน  ตาม  พ.ร.บ.  ล้มละลาย พ.ศ. 2483  มาตรา  9  มีหลักเกณฑ์  3  ประการ  คือ

1       ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

2       ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท 

3       หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลัน  หรือในอนาคตก็ตาม

เมื่อศาลพิจารณาเอาความจริงได้ทั้ง  3  ประการดังกล่าวข้างต้น  ศาลก็ต้องมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด  ตามมาตรา  14  ทั้งนี้ในกรณีที่หนี้ที่นำมาฟ้องให้ล้มละลายมีลูกหนี้ร่วมหลายคน  การพิจารณาว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่  คงพิจารณาทรัพย์สินและหนี้สินของลูกหนี้แต่ละคนเป็นการเฉพาะตัว  เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งมีหนี้สินล้นพ้นตัว  ศาลก็พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายได้ แม้ลูกหนี้ร่วมคนอื่นจะมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินก็ตาม  และกรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวล้มละลาย

เมื่อข้อเท็จจริงในกรณีนี้ปรากฏว่า  นายดนัยให้การรับว่าเป็นหนี้โจทก์จริงตามฟ้องจำนวน  3  ล้านบาท  ตามมาตรา  9(2)  และมีหนี้สินล้นพ้นตัว  ตามมาตรา  9(1)  แล้ว  และหนี้ที่เกิดขึ้นโดยผลของคำพิพากษาแม้จะยังไม่ถึงกำหนดชำระ  แต่ก็ถือได้ว่าเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน  ตามมาตรา  9(3)  เพราะคู่ความต้องผูกพันในผลของคำพิพากษานั้นจนกว่าคำพิพากษาจะถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขกลับหรืองดเสีย  (ฎ. 24/2536)  เมื่อพิจารณาได้ความจริงครบหลักเกณฑ์ทั้ง  3  ประการดังกล่าว  ศาลจึงต้องมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายดนัยเด็ดขาด  ตามมาตรา  14  ที่นายดนัยจำเลยให้การต่อสู้ว่าหนี้ตามคำพิพากษายังไม่ครบกำหนดชำระ  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง  จึงรับฟังไม่ได้

ส่วนข้อที่จำเลยให้การต่อสู้ว่านายภราดรลูกหนี้ร่วมมีฐานะร่ำรวย  สามารถชำระหนี้ทั้งหมดแก่โจทก์ก็รับฟังไม่ได้เช่นกัน  เพราะการพิจารณาว่าลูกหนี้ร่วมคนใดมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่สามารถชำระหนี้ได้  หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่นั้น  เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมแต่ละคน  (ฎ. 1866/2548)  นายดนัยจึงไม่อาจอ้างเอาการที่นายภราดรสามารถชำระหนี้แก่โจทก์ได้ทั้งหมด  มาเป็นประโยชน์แก่ตนว่าไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัวได้  อีกทั้งการที่นายภราดรมีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้  ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่ควรให้นายดนัยล้มละลายที่ศาลจะมีอำนาจยกฟ้องตามมาตรา  14  ตอนท้ายได้  (ฎ. 4287/2543)  การที่ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยอ้างและพิพากษายกฟ้อง  คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ศาลต้องมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของนายดนัยเด็ดขาดเท่านั้น  จะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นประการอื่นไม่ได้


ข้อ  2  ให้นักศึกษาอธิบายว่า  เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย

ก  จะมีผลต่อคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด  และอำนาจในการจัดการทรัพย์สินและกิจการของลูกหนี้อย่างไร

ข  จะมีผลต่อความรับผิดในหนี้สินของลูกหนี้อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  56  การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว  ผู้มัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้  แต่ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องหนี้ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายได้  เว้นแต่เจ้าหนี้คนนั้นได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้

มาตรา  77  คำสั่งปลดจากล้มละลายทำให้บุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้เว้นแต่

(1) หนี้เกี่ยวกับภาษีอากร  หรือจังกอบของรัฐบาลหรือเทศบาล

(2) หนี้ซึ่งได้เกิดขึ้นโดยความทุจริตฉ้อโกงของบุคคลล้มละลาย  หรือหนี้ซึ่งเจ้าหนี้ไม่ได้เรียกร้องเนื่องจากความทุจริตฉ้อโกงซึ่งบุคคลล้มละลายมีส่วนเกี่ยวข้องสมรู้

มาตรา  91  เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายอาจจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทย์หรือไม่ก็ตาม  ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด  แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกำหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกินสองเดือน

อธิบาย

เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย  ตามมาตรา  56  แล้วจะมีผลดังต่อไปนี้

ก  ทำให้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นอันยกเลิกไปในตัวลูกหนี้หลุดพ้นจากการล้มละลาย  และลูกหนี้กลับมีอำนาจจัดการทรัพย์สินและกิจการของตนหรือต่อสู้คดีได้ดังเดิม  (ฎ. 2649/2541)  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมหมดอำนาจหน้าที่กระทำการแทนดังกล่าว

ข  คำสั่งศาลที่เห็นชอบด้วยการประนอมหนี้นั้นผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้ทุกคน  ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้เสียงข้างน้อยที่ไม่ได้ยอมรับการขอประนอมหนี้  หรือเจ้าหนี้ที่มีสิทธิขอรับชำระหนี้แต่ไม่ได้ขอรับชำระหนี้ไว้ตามมาตรา  91  ก็ตาม  เจ้าหนี้จะมาฟ้องลูกหนี้ให้ต้องรับผิดในหนี้นั้นภายหลังอีกไม่ได้  (ฎ. 1001/2509)  (ประชุมใหญ่)

เมื่อลูกหนี้ชำระหนี้ตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ครบถ้วน  ลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้สินที่เหลือที่อาจขอรับชำระได้  คงมีแต่หนี้ที่ปรากฏตามข้อตกลงในการประนอมหนี้เท่านั้น  และลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในหนี้ต่อเจ้าหนี้มากไปกว่าจำนวนตามที่ปรากฏในข้อตกลงประนอมหนี้ที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแล้ว  (ฎ. 6084/2548)

แต่อย่างไรก็ดี  แม้ศาลจะเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ลูกหนี้ก็ไม่อาจหลุดพ้นจากหนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  77  ซึ่งได้แก่ 

(1) หนี้เกี่ยวกับภาษีอากร

(2) หนี้ซึ่งเกิดขึ้นโดยการทุจริตฉ้อโกงของลูกหนี้หรือที่ลูกหนี้มีส่วนสมรู้ด้วยในการทุจริตฉ้อโกงนั้น

เพราะนี้ทั้ง  2  ประเภทดังกล่าวนี้  ลูกหนี้จะต้องรับผิดชำระต่อไปจนกว่าจะครบถ้วนหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์  โดยไม่ต้องคำนึงว่าเจ้าหนี้ทั้ง  2 ประเภทดังกล่าวนี้จะได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์  ตามมาตรา  91  ตั้งแต่แรกหรือไม่  (ฎ. 4955/2536)  แต่ถ้าเจ้าหนี้ทั้ง  2  ประเภทได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้คือได้ลงมติเห็นชอบด้วยในการประนอมหนี้ของลูกหนี้  ก็จะถูกผูกมัดด้วยการประนอมหนี้ให้ได้รับชำระหนี้เพียงจำนวนที่ปรากฏในข้อตกลงประนอมหนี้ที่ศาลเห็นชอบเท่านั้น


ข้อ  3  ศาลในคดีแพ่งมีคำพิพากษาให้บริษัท  กรุงเทพ  จำกัด  ผู้กู้  และนายสยาม  ผู้ค้ำประกัน  ร่วมกันรับผิดชำระเงินให้แก่  นายไทย ต่อมาบริษัท  กรุงเทพ  จำกัด  ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทกรุงเทพ  จำกัด  ต่อศาลล้มละลายกลาง  ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้พิจารณา  นายไทยยื่นคำขอให้ศาลในคดีแพ่งออกหมายบังคับคดี  เพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่นายสยาม  นายสยามยื่นคำคัดค้านว่าศาลในคดีล้มละลายมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท  กรุงเทพ  จำกัดไว้พิจารณาแล้ว  ศาลในคดีแพ่งจะต้องงดการบังคับคดีแก่บริษัท  กรุงเทพ  จำกัด  ลูกหนี้และนายสยาม  ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันไว้

ให้ท่านวินิจฉัยว่าคำคัดค้านของนายสยามรับฟังได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  90/12  ภายใต้บังคับมาตรา  90/13  และมาตรา  90/14  นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน  หรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามความในหมวดนี้

(5) ห้ามมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้  ถ้ามูลแห่งหนี้ตามคำพิพากษานั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน  ในกรณีที่ได้ดำเนินการบังคับคดีไว้ก่อนแล้ว  ให้ศาลงดการบังคับคดีนั้นไว้  เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น  หรือการบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะทราบว่าได้มีการยื่นคำร้องขอ  หรือการบังคับคดีตามคำพิพากษาให้ลูกหลานส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่งเสร็จก่อนวันดังกล่าวนั้น

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  คำคัดค้านของนายสยามรับฟังได้หรือไม่  เห็นว่า  คำสั่งของศาลล้มละลายที่ให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้  มีผลเป็นการเฉพาะตัวแก่ลูกหนี้ในอันที่จะได้รับความคุ้มครองตาม  พ.ร.บ.  ล้มละลาย  พ.ศ. 2483  มาตรา  90/12  หาได้มีผลต่อบุคคลอื่นซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้ที่มีการขอให้มีการขอให้ฟื้นฟูกิจการด้วยไม่

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทกรุงเทพ  จำกัด  ลูกหนี้ไว้พิจารณาแล้ว  กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  90/12(5)  ที่ห้ามมิให้นายไทยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของบริษัท  กรุงเทพ จำกัด  ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา  และมีการขอให้ฟื้นฟูกิจการ

ส่วนการที่นายไทยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งยื่นคำขอให้ศาลในคดีแพ่งออกหมายบังคับคดี  เพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่นายสยามผู้ค้ำประกันนั้น  สามารถกระทำได้  เพราะแม้บริษัท  กรุงเทพ  จำกัด  จะได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติดังกล่าวที่ให้ศาลต้องงดการบังคับคดีนั้นไว้ก็ตาม  ก็มีผลแต่เฉพาะให้งดการบังคับคดีแก่บริษัท  กรุงเพท  จำกัด  ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่มีการขอให้ฟื้นฟูกิจการเท่านั้น  หาได้มีผลไปถึงนายสยาม  ผู้ค้ำประกันซึ่งมิได้ยื่นขอให้มีการฟื้นฟูกิจการด้วยไม่  ศาลในคดีแพ่งจึงบังคับคดีแก่นายสยามได้  ไม่ต้องห้ามตามมาตรา  90/12(5)  นายสยามไม่อาจยกเหตุเฉพาะตัวของบริษัท  กรุงเทพ  จำกัด  ดังกล่าวขึ้นมาอ้างให้ศาลในคดีแพ่งงดการบังคับคดีแก่ตน  เพื่อรอฟังผลในคดีฟื้นฟูกิจการของบริษัท  กรุงเทพ  จำกัด  ได้  คำคัดค้านของนายสยามไม่อาจรับฟังได้  (ฎ. 5773/2548)

Advertisement