การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

Advertisement

ข้อ  1  เอกและโทถูกชิงชัยหัวหน้างานตำหนิติเตียนต่อหน้าคนอื่นรู้สึกอับอายและโกรธเคืองอย่างมาก  จึงชักชวนกันไปดักชกต่อยชิงชัย  เอกชกชิงชัยปากแตก  โทจะเข้าไปชกซ้ำแต่ถูกชิงชัยปัดป้องและชกสวนกลับมาทำให้โทโกรธจึงชักมีดคัตเตอร์ออกมาฟันไปที่ข้อมือชิงชัย  ใบมีดตัดเส้นเลือดใหญ่ขาดชิงชัยถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา  ดังนี้ให้วินิจฉัยความผิดอาญาของเอก

ธงคำตอบ

มาตรา  83  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ  ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  290  วรรคแรก  ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า  แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย  ต้องระวางโทษ

 วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา  ตามมาตรา  290  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       ทำร้ายผู้อื่น

2       เป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายถึงแก่ความตาย

3       โดยเจตนา

เอกชกชิงชัยปากแตก  โทจะเข้าไปชกซ้ำแต่ถูกชิงชัยปัดป้องและชกสวนกลับมา  ทำให้โทโกรธชักมีดคัตเตอร์ออกมาฟันไปที่ข้อมือของชิงชัย  ดังนี้จะเห็นว่าโทมีเจตนาทำร้ายร่างกายชิงชัยมิได้มีเจตนาฆ่า  เมื่อชิงชัยถึงแก่ความตาย  โทจึงมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา  ตามมาตรา  290  วรรคแรก

ส่วนเอกที่ชกชิงชัยปากแตก  เป็นการร่วมกันกระทำความผิดตามที่ได้ตกลงกันและอยู่ในที่เกิดเหตุในลักษณะที่พร้อมจะช่วยเหลือโทได้ทันท่วงที  แม้ในการร่วมกระทำผิดนั้น  เอกจะมีเจตนาเพียงชกชิงชัยผู้ตายมิได้มีเจตนาให้ผู้ตายได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงตาย  เมื่อโทได้ใช้มีดคัตเตอร์ฟันข้อมือชิงชัยจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้ถึงแก่ความตาย  ไม่ว่าเอกจะทราบว่าโทมีอาวุธมีดติดตัวหรือไม่ก็ตาม  และแม้ไม่ได้ร่วมใช้อาวุธมีดทำร้ายชิงชัยด้วยเอกก็ต้องรับผิดฐานเป็นตัวการร่วมทำร้ายชิงชัยผู้ตายเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย  ตามมาตรา  290  วรรคแรกประกอบมาตรา  83  จะถือว่าเป็นเรื่องต่างคนต่างทำไม่ได้  ความตายที่เกิดขึ้น  ถือได้ว่าเป็นผลจากการกระทำของผู้ร่วมกระทำผิดทุกคน

สรุป  เอกเป็นตัวการร่วมในความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา  ตามมาตรา  290  วรรคแรกประกอบมาตรา  83

 

ข้อ  2  นายสิงห์ให้นายเบี้ยวกู้ยืมเงิน  20,000  บาท  แต่ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือ  เมื่อหนี้ถึงกำหนดนายเบี้ยวไม่ยอมชำระหนี้และพูดจาท้าทายให้นายสิงห์ไปฟ้องร้องเอา  วันหนึ่งนายสิงห์ไปจับตัวเด็กชายแบงค์อายุ  7  ปี  บุตรของนายเบี้ยวไป  โดยนำเด็กชายแบงค์ไปฝากไว้กับพี่สาวของนายสิงห์  หลังจากนั้นนายสิงห์ไปขู่เข็ญให้นายเบี้ยวชำระหนี้ตามจำนวนเงินที่กู้ยืม  ถ้านายเบี้ยวไม่ยอมก็จะไม่ได้เห็นหน้าเด็กชายแบงค์อีกเลย  นายเบี้ยวยังไม่ได้มอบเงินให้แก่นายสิงห์  นายสิงห์ก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวไว้ได้เสียก่อน  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่านายสิงห์จะมีความผิดฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  309  วรรคแรก  ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด  ไม่กระทำการใด  หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต  ร่างกาย  เสรีภาพ  ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น  หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น  ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้นต้องระวางโทษ…

มาตรา  313  ผู้ใดเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่

(1) เอาตัวเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไป

ต้องระวางโทษ…

มาตรา  317  วรรคแรก  ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร  พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา  ผู้ปกครอง  หรือผู้ดูแล  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

นายสิงห์มีเจตนาขู่เข็ญให้นายเบี้ยวนำเงินมาชำระแก่ตน  และได้ลงมือกระทำโดยการแจ้งข่าวไปแล้ว  แต่การกระทำยังไม่บรรลุผลเพราะยังไม่มีการปฏิบัติตามคำขู่  การกระทำของนายสิงห์จึงเป็นการพยายามข่มขืนใจผู้อื่น  แม้ว่าจะเป็นการข่มขืนใจเพื่อให้ได้รับชำระหนี้ที่ตนมีอยู่  นายสิงห์ก็ไม่มีอำนาจกระทำได้  นายสิงห์จึงมีความผิดฐานพยายามกระทำผิดต่อเสรีภาพ  ตามมาตรา  309  ประกอบมาตรา  80 

การที่นายสิงห์เอาตัวเด็กชายแบงค์บุตรของนายเบี้ยวไปจากนายเบี้ยว  มีการพรากเด็กอายุยังไม่เกิน  15  ปี  ไปจากนายเบี้ยวโดยมีเจตนาและปราศจากเหตุอันสมควร  จึงเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์  ตามมาตรา  317  วรรคแรก

โดยที่นายสิงห์มีสิทธิในเงินจำนวนดังกล่าว  ดังนั้นเจตนาของนายสิงห์เป็นเพียงแต่จะทวงเอาเงินซึ่งนายสิงห์เชื่อว่าควรจะได้  เงินประเภทนี้จึงไม่ใช่สินไถ่หรือค่าไถ่ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  313  การกระทำของนายสิงห์จึงไม่ใช่เป็นการเอาตัวเด็กไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่  อันเป็นองค์ประกอบความผิดประการสำคัญตามมาตรานี้  นายสิงห์จึงไม่มีความผิดตามมาตรา  313

สรุป  นายสิงห์มีความผิดฐานพยายามข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดๆ  ตามมาตรา  309  ประกอบมาตรา  80  และความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุไม่เกิน  15  ปี ไปฯ  ตามมาตรา  317  วรรคแรก

 

ข้อ  3  นายหนึ่งและนายสองเป็นลูกจ้างของบริษัทไทยเจริญ  โดยนายหนึ่งมีหน้าที่ขับรถส่งของส่วนนายสองมีหน้าที่ขนของ  วันเกิดเหตุผู้จัดการบริษัทไทยเจริญใช้ให้นายหนึ่งและนายสองขับรถไปส่งท่อแก๊สให้กับลูกค้า  ระหว่างทางนายหนึ่งและนายสองช่วยกันขนท่อแก๊สไปวางกองไว้ริมถนนเพื่อจะขายให้แก่ผู้อื่น  ผู้จัดการบริษัทไทยเจริญทราบเรื่องจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ  ดังนี้  นายหนึ่งและนายสองมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  334  ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น  หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์  ต้องระวางโทษ

มาตรา  335  ผู้ใดลักทรัพย์

(7)  โดยมีอาวุธ  หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป

(11) ที่เป็นนายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง

ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334  ประกอบด้วย

1       เอาไป

2       ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3       โดยเจตนา

4       โดยทุจริต

การที่ผู้จัดการบริษัทไทยเจริญ  ใช้ให้นายหนึ่งและนายสองขับรถไปส่งท่อแก๊สให้กับลูกค้า  ระหว่างทางนายหนึ่งและนายสองช่วยกันขนท่อแก๊สไปวางกองไว้ริมถนนเพื่อจะขายให้แก่ผู้อื่น  ถือได้ว่าเป็นการเอาไปซึ่งการครอบครองของผู้อื่น เพราะการครอบครองทรัพย์โดยแท้จริงคือท่อแก๊สยังคงอยู่ที่บริษัทไทยเจริญ นายหนึ่งและนายสองเป็นเพียงการครอบครองแทนไว้ชั่วคราวชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น    การที่นายหนึ่งและนายสองขนท่อแก๊สไปวางกองไว้ริมถนนจึงเป็นการเคลื่อนย้ายทรัพย์เพื่อให้อยู่ในสภาพที่พร้อมจะขายให้แก่บุคคลอื่น  เป็นการกระทำโดยทุจริต  กล่าวคือเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย  ถือได้ว่าเป็นการแบ่งแย่งการครอบครองทรัพย์ไปจากผู้เสียหายแล้ว  การกระทำของนายหนึ่งและนายสองจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334 

เมื่อการลักทรัพย์ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป  และเป็นการลักทรัพย์ของนายจ้าง  ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น  ตามมาตรา  335(7)  (11)

สรุป  นายหนึ่งและนายสองมีความผิดฐานลักทรัพย์

 

ข้อ  4  นาย  ก  ไปซื้อของที่ตลาด  ขณะกำลังเดินอยู่ในตลาด  นาย  ก  ใช้มือข้างหนึ่งปิดบริเวณลำคอไว้จำเลยเดินตรงเข้าไปหานาย  ก จากนั้นจำเลยใช้มือซ้ายดึงมือของนาย  ก  ออกจากบริเวณลำคอ  จำเลยใช้มือขวาจับสร้อยคอทองคำหนัก  1  บาท  ที่นาย  ก  สวมอยู่  กระชากจนสร้อยคอขาดออกจากกัน  แล้วจำเลยก็วิ่งหนีไปพร้อมกับสร้อยคอของนาย  ก  ดังนี้  จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่ เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

มาตรา  339  วรรคแรก  ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย  เพื่อ

(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์  หรือการพาทรัพย์นั้นไป

(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น

(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้

(4) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น  หรือ

(5) ให้พ้นจากการจับกุม

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานชิงทรัพย์  ตามมาตรา  339  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       ลักทรัพย์

2       โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย

3       โดยเจตนา

4       เจตนาพิเศษ  เพื่อ

(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์  หรือพาทรัพย์นั้นไป

(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น

(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้

(4) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น  หรือ

(5) ให้พ้นจากการจับกุม

การที่จำเลยใช้มือซ้ายดึงมือของนาย  ก  ออกจากบริเวณลำคอของนาย  ก  จากนั้นจำเลยใช้มือขวาจับสร้อยคอทองคำหนัก  1  บาท  ที่นาย  ก  สวมอยู่  กระชากจนสร้อยขาดออกจากกัน  เป็นการกระทำแก่เนื้อตัวหรือร่างกายของนาย  ก  จึงเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย  เพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือพาทรัพย์ไป  และยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้  การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์  ตามมาตรา  339 

สรุป  จำเลยมีความผิดฐานชิงทรัพย์

Advertisement