การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  หนึ่งแอบเข้าไปลักทรัพย์ในบ้านของเอกพจน์  เวลาประมาณตีหนึ่ง  เห็นเอกพจน์นั่งฟุบที่โต๊ะทำงานเข้าใจว่าหลับ  หนึ่งเกรงว่าเอกพจน์จะตื่นขึ้นมาขัดขวางจึงใช้ด้ามปืนตีศีรษะเอกพจน์ให้หมดสติ  แต่ความจริงเอกพจน์หัวใจวายถึงแก่ความตายตั้งแต่ตอนสี่ทุ่มเศษ  ดังนี้  หนึ่งจะมีความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายฐานใดหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  295  ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย  หรือจิตใจของผู้นั้น  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานทำร้ายร่างกาย  ตามมาตรา  295  ประกอบด้วย

1       ทำร้าย

2       ผู้อื่น

3       จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น

4       โดยเจตนา

ผู้อื่น  หมายความว่า  บุคคลใดๆซึ่งมิใช่ผู้กระทำความผิด  และบุคคลนั้นต้องมีสภาพบุคคลซึ่งยังมีชีวิตอยู่ในขณะถูกทำร้ายด้วย

การที่หนึ่งใช้ด้ามปืนตีศีรษะเอกพจน์ที่ได้ถึงแก่ความตายไปตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว  หนึ่งไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย  แม้ว่าหนึ่งจะมีเจตนาทำร้าย  และได้ลงมือทำร้ายโดยใช้ด้ามปืนตีศีรษะเอกพจน์  แต่ขณะที่หนึ่งลงมือกระทำนั้นเอกพจน์ได้ตายไปก่อนแล้ว  จึงไม่เป็นการทำร้ายผู้อื่น  เพราะเอกพจน์ไม่มีสภาพบุคคล  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  15  แล้ว  ในกรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นการกระทำที่ขาดองค์ประกอบภายนอกและขาดองค์ประกอบความผิดของมาตรา  295  หนึ่งผู้กระทำจึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายและไม่เป็นการพยายามกระทำความผิดตามมาตรา  80  หรือมาตรา  81  ด้วย  เพราะที่จะเป็นการพยายามกระทำความผิดได้นั้นจะต้องมีองค์ประกอบความผิดฐานนั้นครบทุกประการแล้ว

สรุป  หนึ่งไม่มีความผิดเกี่ยวกับชีวิตหรือร่างกาย

 

ข้อ  2  น.ส.สร้อยเป็นข้าราชการสังกัดหน่วยงานหนึ่ง  น.ส.สร้อยได้มีความรักและความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนายเก่งซึ่งเป็นเพื่อนของนายอาทิตย์ทั้งที่นายเก่งก็มีภริยาอยู่แล้ว  น.ส.สร้อยต้องการเอาใจนายเก่งจึงได้กู้ยืมเงินจากนายอาทิตย์เพื่อซื้อของใช้ต่างๆ  ให้นายเก่งเป็นประจำ  ต่อมาเมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ตามที่ตกลงกันไว้  น.ส.สร้อยก็ไม่ยอมชำระหนี้  นายอาทิตย์ได้ทวงถามหลายครั้ง  น.ส.สร้อยก็ขอผัดผ่อน  วันเกิดเหตุขณะที่  น.ส.สร้อยนั่งพูดคุยกับบุคคลอื่นอยู่ในบ้าน  นายอาทิตย์ได้เข้าไปในบ้านและบังคับให้  น.ส.สร้อยหาเงินมาชำระหนี้  โดยขู่เข็ญว่า  ถ้าน.ส.สร้อยไม่ชำระหนี้จะไปบอกภริยาของนายเก่งว่า  น.ส.สร้อยเป็นชู้กับนายเก่งและจะขอให้ผู้บังคับบัญชาของ น.ส.สร้อยลงโทษทางวินัยด้วย  น.ส.สร้อยยังไม่ได้ชำระหนี้ตามที่ถูกขู่เข็ญ  บุคคลอื่นซึ่งอยู่ในบ้านก็ได้แอบโทรศัพท์แจ้งตำรวจมาจับกุมตัวนายอาทิตย์ไว้ได้เสียก่อน  จากข้อเท็จจริงดังกล่าวให้วินิจฉัยว่า  การกระทำของนายอาทิตย์จะเป็นความผิดอาญาฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  309  วรรคแรก  ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด  ไม่กระทำการใด  หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต  ร่างกาย  เสรีภาพ  ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น  หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น  ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้นต้องระวางโทษ…

มาตรา  326  ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม  โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น  หรือถูกเกลียดชัง  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

การที่นายอาทิตย์บังคับให้  น.ส.สร้อยหาเงินมาชำระหนี้โดยขู่เข็ญว่าจะบอกเรื่องที่  น.ส.สร้อยเป็นชู้กับนายเก่งให้ภริยาของนายเก่งรู้  และจะขอให้ผู้บังคับบัญชาลงโทษทางวินัยแก่  น.ส.สร้อยนั้น  เป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ชื่อเสียงของ  น.ส.สร้อย  ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ  แต่  น.ส.สร้อยยังไม่ได้กระทำการชำระหนี้ตามที่ถูกบังคับขู่เข็ญ  การกระทำของนายอาทิตย์จึงเป็นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพฐานพยายามข่มขืนใจผู้อื่นฯ  ตามมาตรา  309  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  80

นอกจากนี้ขณะที่นายอาทิตย์พูดกับ  น.ส.สร้อยว่า  น.ส.สร้อยเป็นชู้กับนายเก่ง  ก็มีบุคคลอื่นอยู่ด้วย  ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าบุคคลดังกล่าวจะได้ยินคำพูดของนายอาทิตย์  จึงเป็นการใส่ความ  น.ส.สร้อยต่อบุคคลที่สาม  โดยประการที่น่าจะทำให้  น.ส.สร้อย  เสียชื่อเสียง  การกระทำของนายอาทิตย์จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา  326  อีกกระทงหนึ่งด้วย

สรุป  การกระทำของนายอาทิตย์จึงเป็นความผิดฐานพยายามข่มขืนใจผู้อื่น  ตามมาตรา  309  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  80  และความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา  326

 

ข้อ  3  นายสิงห์ขับรถยนต์กระบะไปซื้อของที่ตลาด  ระหว่างทางรถของนายสิงห์เสียจึงจอดข้างทาง  นายสาขับขี่รถจักรยานยนต์ผ่านมาพบจึงขันอาสาซ่อมรถให้นายสิงห์  ปรากฏว่านายสาซ่อมรถยนต์ของนายสิงห์จนกระทั่งเย็นแต่ซ่อมไม่เสร็จ  นายสิงห์จึงขอยืมรถจักรยานยนต์ของนายสาโดยอ้างว่าจะไปหายืมเงินมาซื้ออะไหล่  นายสายินยอมให้ไป  ต่อมาประมาณหนึ่งชั่วโมงนายสิงห์ขับรถจักรยานยนต์กลับมาและบอกว่าหายืมเงินไม่ได้  นายสิงห์จึงขอยืมรถจักรยานยนต์ของนายสาอีกครั้งอ้างว่าจะไปหารถยนต์มาลากจูงรถยนต์ของนายสิงห์  นายสาก็ยินยอมให้ไป  ปรากฏว่านายสิงห์นำรถจักรยานยนต์ไปขายเอาเงินไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว  ดังนี้  นายสิงห์มีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  352  วรรคแรก  ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น  หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย  เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอกต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  352  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       ครอบครอง

2       ทรัพย์ของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3       เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม

4       โดยเจตนา

5       โดยทุจริต

การที่นายสา  มอบรถจักรยานยนต์ให้นายสิงห์ยืมไปดังกล่าว  เป็นการส่งมอบการครอบครองรถให้แก่นายสิงห์โดยชอบด้วยกฎหมาย  นายสิงห์จึงเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น  เมื่อนายสิงห์นำรถไปขายจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้อื่นนั้นไปโดยทุจริต  เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายนายสิงห์จึงมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  352  วรรคแรก

สรุป  นายสิงห์มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์

 

ข้อ  4  นายแดงลอบเข้าไปในบ้านของนาย  ก  จากนั้นขโมยโทรศัพท์มือถือของนาย  ก  ไป  หลังจากขโมยได้แล้วนายแดงนำโทรศัพท์มือถือไปมอบให้จำเลย  ต่อมาจำเลยโทรศัพท์ไปหานาย  ก  โดยพูดว่า  ให้นาย  ก  นำเงินจำนวน  5,000  บาท  มามอบให้จำเลยเป็นค่าไถ่โทรศัพท์มือถือ  หากไม่นำมาให้จะไม่ได้รับโทรศัพท์คืน  จำเลยจะนำไปขายให้แก่บุคคลอื่น  ปรากฏว่านาย  ก  ยอมมอบเงินให้แก่จำเลยไป  ดังนี้  จำเลยมีความผิดฐานกรรโชกทรัพย์หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  337  วรรคแรก  ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้  หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน  โดยใช้กำลังประทุษร้าย  หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต  ร่างกาย  เสรีภาพ  ชื่อเสียง  หรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ  หรือของบุคคลที่สามจนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชกต้องระวางโทษ..

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานกรรโชก  ตามมาตรา  337  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       ข่มขืนใจ

2       ผู้อื่น

3       โดยใช้กำลังประทุษร้าย  หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต  ร่างกาย  เสรีภาพ  ชื่อเสียง  หรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ  หรือของบุคคลที่สาม

4       ให้ยอมให้  หรือยอมจะให้ตน  หรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน

5       จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น 

6       โดยเจตนา

การที่จำเลยพูดกับนาย  1  ว่า  ให้นาย  ก  นำเงินจำนวน  5,000  บาท  มามอบให้จำเลยเป็นค่าไถ่โทรศัพท์มือถือ  หากไม่นำมาให้จะไม่ได้รับโทรศัพท์คืน  จำเลยจะนำไปขายให้แก่บุคคลอื่น  คำพูดของจำเลยถือได้ว่าเป็นการข่มขืนใจผู้อื่นโดยการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อทรัพย์สินของนาย  ก  แล้ว  และเมื่อนาย  ก  ผู้ถูกขู่เข็ญมอบเงินซึ่งเป็นประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินให้แก่จำเลยไป  การกระทำของจำเลยมีความผิดฐานกรรโชกทรัพย์  ตามมาตรา  337

สรุป  จำเลยมีความผิดฐานกรรโชกทรัพย์

Advertisement