การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  บ่อเกิดของกฎหมายเอกชนได้แก่อะไรบ้าง  จงอธิบาย  พร้อมยกตัวอย่างประกอบคำอธิบายมาพอสังเขป

ธงคำตอบ

บ่อเกิดหรือที่มาของกฎหมายเอกชนมีดังนี้  คือ

1  ศีลธรรม  เป็นเหตุผลภายในซึ่งเกิดจากสติปัญญาความรู้สึกรับผิดชอบ  มนุษย์จะใช้เหตุผลความรู้สึกผิดชอบชั่วดีดังกล่าวมาปรับเข้ากับสถานการณ์หรือข้อเท็จจริงต่างๆที่เกิดขึ้น  และศีลธรรมนั้นเมื่อมนุษย์ในสังคมได้ประพฤติปฏิบัติสม่ำเสมอ  และติดต่อกันเป็นเวลานาน  ก็อาจกลายมาเป็นที่มาของกฎหมายได้ในที่สุด  

เช่น  การที่สามีมีภริยาหลายคน  ในสังคมหนึ่งๆถือว่าเป็นเรื่องผิดศีลธรรม  จึงได้นำเอาหลักศีลธรรมนั้นมาบัญญัติเป็นกฎหมาย  เช่น  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ห้ามชายหรือหญิงที่มีคู่สมรสแล้ว  จดทะเบียนสมรสซ้อนอีก  หากฝ่าฝืนจะถือเป็นการผิดศีลธรรมอันดีของประชาชน  ผลคือตกเป็นโมฆะ  เป็นต้น 

2  จารีตประเพณี  คือ  ระเบียบแบบแผนที่มนุษย์ได้ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันเป็นเวลานาน  โดยปกติแล้วขนบธรรมเนียมประเพณีนั้นเป็นสิ่งที่มุ่งถึงการกระทำภายนอกของมนุษย์  เป็นกฎเกณฑ์ที่บังคับเอากับพฤติกรรมที่มนุษย์แสดงออกมา  ซึ่งจารีตประเพณีนั้นในบางกรณีนำมาบัญญัติไวเป็นลายลักษณ์อักษร  หรือมีการนำมาตัดสินโดยผู้พิพากษา  หรือศาลนำมาใช้ในการตัดสินคดีก็เกิดเป็นกฎหมายขึ้นมาได้

จารีตประเพณีที่จะเป็นที่มาของกฎหมายนั้นจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1)     เป็นจารีตประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันเป็นเวลานานและสม่ำเสมอจนกลายเป็นทางปฏิบัติหรือความเคยชิน  หรือธรรมเนียม

(2)     ประชาชนเห็นต้องกันว่า  จารีตประเพณีเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง  และจะต้องปฏิบัติตาม

ตัวอย่างจารีตประเพณีที่เป็นที่มาของกฎหมาย  เช่น  จารีตประเพณีที่ว่าบิดามารดาสามารถเฆี่ยนตีอบรมสั่งสอนบุตรได้  และบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวและมรดก  เป็นต้น

3  ศาสนา  คือ ข้อบังคับที่ศาสดาของแต่ละศาสนาได้กำหนดขึ้น  เพื่อให้มนุษย์ที่นับถือหรือศรัทธาในศาสนานั้นมีความเชื่อถือและบังคับตนเองให้ประพฤติปฏิบัติทำแต่ความดี  ละเว้นความชั่ว  การร่างกฎหมายจึงมีการนำเอาข้อห้ามของศาสนาต่างๆ  มาเป็นหลักในการบัญญัติกฎหมายเช่นเดียวกัน  เช่น  ข้อห้ามในศีล  5  ของศาสนาพุทธ  อาทิห้ามประพฤติผิดในกาม  ก็คล้ายกับบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ว่า  การที่สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันสามีหรือภริยา  เป็นชู้หรือมีชู้  หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ  อีกฝ่ายหนึ่งก็สามารถฟ้องหย่าได้  เป็นต้น

 ความยุติธรรม  ในทางนิติปรัชญา  กฎหมายจีมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความยุติธรรมหรือความถูกต้องเป็นธรรม  การออกกฎหมายจึงต้องสอดคล้องกับความยุติธรรมด้วยเสมอ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบกฎหมายจารีตประเพณี  เช่น  ศาลในประเทศอังกฤษก็ได้มีการนำเอาหลักความยุติธรรมที่เรียกว่า  อิควิตี้ (Equity)  มาใช้ในการแก้ไขเยียวยาและอุดช่องว่างของกฎหมาย  ในกรณีที่ไม่สามารถนำเอาจารีตประเพณีหรือคำพิพากษาในคดีก่อนๆมาตัดสินให้เกิดความเป็นธรรมได้

ตัวอย่างเช่น  ลูกหนี้ผิดสัญญาไม่ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายในกำหนด  ทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย  ในระบบกฎหมายจารีตประเพณี  การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาจากลูกหนี้นั้น  มีจารีตประเพณีและคำพิพากษาของศาลอนุญาตให้เรียกค่าเสียหายที่เป็นจำนวนเงินได้เท่านั้น  การที่จะมาฟ้องร้องเพื่อบังคับชำระหนี้ที่ไม่ได้เป็นจำนวนเงินนั้น  ไม่มีจารีตประเพณีหรือคำพิพากษาขิงศาลให้ทำได้  หากเจ้าหนี้ไม่ต้องการฟ้องเรียกเอาค่าเสียหาย   แต่ต้องการตัวบ้าน  ซึ่งเป็นวัตถุแห่งสัญญา  ก็อาจจะเกิดความไม่เป็นธรรมได้  ดังนั้นศาลก็อาจจะนำเอาหลักความยุติธรรมซึ่งศาลได้คิดขึ้นมา  นำมาใช้ตัดสินคดีนั้นๆได้  โดยอนุญาตให้มีการฟ้องร้องเรียกให้ชำระหนี้ที่เป็นการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้  คือ  ให้ลูกหนี้ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จได้  เป็นต้น   

5  คำพิพากษาของศาล  ประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณี  (Common  Law )  เช่น  อังกฤษ  มีการนำเอาคำพิพากษาที่ได้ตัดสินคดีเรื่องใดเรื่องหนึ่งเอาไว้แล้วมา เป็นบรรทัดฐานหรือแบบอย่างที่ศาลต่อๆมาต้องผูกพันตัดสินเป็นอย่างเดียวกัน  จึงถือได้ว่าคำพิพากษาของศาลในระบบกฎหมายจารีตประเพณีก็คือบ่อเกิดหรือที่มาของกฎหมาย

ส่วนประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร  เช่น  ฝรั่งเศส  เยอรมัน  ไทย  ฯลฯ  จะถือว่าคำพิพากษาของศาลเป็นเพียงการนำเอาตัวบทกฎหมายมาปรับกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเท่านั้น  ไม่มีผลผูกพันศาลอื่นที่จะต้องพิพากษาเป็นอย่างเดียวกัน  คำพิพากษาของศาลในระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรจึงไม่ใช่บ่อเกิดหรือที่มาของกฎหมาย

6  ความคิดเห็นของปราชญ์  ซึ่งอาจจะเป็นนักทฤษฎี  นักวิชาการ  หรืออาจจะเป็นอาจารย์ที่สอนกฎหมายอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ  ได้มีการแสดงความคิดเห็นโต้แย้งเกี่ยวกับตัวบทกฎหมาย  หรือคำวินิจฉัยของศาลซึ่งเคยตัดสินเอาไว้  ก็อาจนำเอาความคิดเห็นเหล่านั้นใช้เป็นหลักกฎหมายได้

ตัวอย่างเช่น  กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ได้เคยมีความเห็นว่า  การที่คนไทยพกพาอาวุธไปตามถนนหลวง  ซึ่งแต่ก่อนไม่เป็นความผิดอาญา  น่าจะมีบทบัญญัติห้ามมิให้กระทำการอย่างนั้นได้ต่อไปอีกต่อมาเมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญา  ก็ได้นำข้อห้ามในการถืออาวุธมาใส่ไว้ในกฎหมายอาญาด้วย  เป็นต้น

7  ข้อตกลงระหว่างประเทศ  เมื่อประเทศต่างๆ  มาทำความตกลงหรือทำสนธิสัญญากันแล้ว  ก็จะมีทำให้ประเทศที่ลงนามในสนธิสัญญานั้นจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นมีผลใช้บังคับเทียบเท่ากฎหมายเลยทีเดียว

 

ข้อ  2  นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  นายไก่เดินทางไปธุระที่จังหวัดปัตตานีตั้งแต่วันที่  1  มกราคม  2548  หลังจากนั้นนางไข่ภริยาก็ไม่ได้รับข่าวคราว  และไม่มีใครพบเห็นตัวนายไก่อีกเลย

(1)  นางไข่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้หรือไม่

(2)  ถ้าได้นางไข่จะไปศาลได้เมื่อใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  61      ถ้าบุคคลใดไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา  5  ปี

เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ  ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือ  2  ปี

1  นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง   ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม  และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

2  นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง  อับปาง  ถูกทำลาย  หรือสูญหายไป

3  นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน  (1)  หรือ (2)  ได้ผ่านพ้นไป  ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น

วินิจฉัย

การที่ศาลจะสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญ  ตามมาตรา  61  จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์  ดังนี้คือ

1         ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

2         ติดต่อกันเป็นเวลา  5  ปี  สำหรับกรณีสาบสูญธรรมดา  ตามวรรคแรก  หรือ  2  ปี  สำหรับกรณีสาบสูญพิเศษในเห๖การณ์ที่ระบุไว้ในวรรคสอง  (1) – (3)

3         ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล

4         ศาลมีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ

จากหลักเกณฑ์ดังกล่าว  จะเห็นได้ว่า  ถ้าบุคคลใดหายไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  โดยไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่  หรือไม่มีใครได้รับข่างคราวประการใดเลย  เป็นเวลาติดต่อกันตามที่กฎหมายกำหนด  ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการอาจร้องขอต่อศาลให้ศาลสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

(1)     นางไข่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้หรือไม่  เห็นว่า  ผู้มีสิทธิที่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบุคคลใดเป็นคนสาบสูญได้นั้น  จะต้องเป็น

1         ผู้มีส่วนได้เสีย  ผู้มีสิทธิหรือได้รับสิทธิต่างๆ  เนื่องจากการที่ศาลจะสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญ  เช่น  คู่สมรส  บิดามารดาหรือญาติพี่น้องรวมทั้งหุ้นส่วนด้วย  เป็นต้น  หรือ

2         พนักงานอัยการ

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อนายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย  ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะคู่สมรส  นางไข่  จึงมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้

(2)  ถ้าได้นางไข่จะไปศาลได้เมื่อใด  เห็นว่า  การที่นายไก่เดินทางไปธุระที่จังหวัดปัตตานีตั้งแต่วันที่  1  มกราคม 2548  หลังจากนั้นนางไข่กริยาก็ไม่ได้รับข่าวคราวและไม่มีใครพบเห็นตัวนายไก่อีกเลย  จึงเป็นกรณีที่นายไก่ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่มีใครรู้แน่ว่านายไก่นั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่  เป็นกรณีการสาบสูญธรรมดา  ตามมาตรา  61  วรรคแรก  ดังนั้นหากนางไข่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งนายไก่เป็นคนสาบสูญจะต้องร้องขอต่อศาลได้เมื่อครบ  5  ปี  นับแต่นายไก่  ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่

กรณีตามอุทาหรณ์นายไก่หายไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในวันที่  1  มกราคม  2548  โดยไม่มีใครทราบข่าวคราว  ระยะเวลา  5  ปีตามมาตรา  61  วรรคแรก  จึงครบกำหนดในวันที่  1  มกราคม  2553  ดังนั้นนางไข่จึงสามารถร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้ในวันที่  2  มกราคม  2553

สรุป   1 )    นางไข่ร้องขอต่อศาลได้เพราะนางไข่เป็นผู้มีส่วนได้เสีย

2)       นางไข่จะร้องต่อศาลได้ในวันที่  2  มกราคม  2553  ตามมาตรา  61  วรรคแรก

 

ข้อ  3  เป็ดอายุย่างเข้า  15  ปี  ต้องการทำนิติกรรมดังต่อไปนี้  ให้นักศึกษาอธิบายว่าทำได้หรือไม่  และจะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

(1) ทำพินัยกรรมยกเงิน  1  ล้านบาทให้มูลนิธิสุนัขจรจัด

(2)   ถอนเงินส่วนตัวจากบัญชีฝากประจำธนาคารออมสินจะไปซื้อรถยนต์ราคา  6  แสนบาท

(3)  สมัครเรียนคณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยรามคำแหง  หลักสูตรพรีดีกรี  (Pre –  degree)

(4)  ฟ้องให้นายห่านซึ่งเป็นบิดาโดยพฤตินัยรับตนเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  21  ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  การใดๆที่ผู้เยาว์ได้ทำลงไปโดยปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ  เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา  23  ผู้เยาว์อาจทำการใดๆได้ทั้งสิ้น  ซึ่งเป็นการต้องทำเองเฉพาะตัว

มาตรา  24  ผู้เยาว์อาจทำการใดๆได้ทั้งสิ้น  ซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตนและเป็นการอันจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควร

มาตรา  25  ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์

มาตรา  1556  การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรในระหว่างที่เด็กเป็นผู้เยาว์  ถ้าเด็กมีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์  ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องแทน  ในกรณีที่เด็กไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม  หรือมีแต่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่สามารถทำหน้าที่ได้  ญาติสนิทของเด็กหรืออัยการอาจร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีเพื่อทำหน้าที่ฟ้องคดีแทนเด็กก็ได้

เมื่อเด็กมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์  เด็กต้องฟ้องเอง  ทั้งนี้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม

มาตรา  1703  พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ทำขึ้นเป็นโมฆะ

วินิจฉัย

1)  ทำพินัยกรรมยกเงิน  1  ล้านบาทให้มูลนิธิสุนัขจรจัด

ตามมาตรา  25  นั้นผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุครบ  15  ปีบริบูรณ์  หากผู้เยาว์ทำพินัยกรรมโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว  พินัยกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆะ  เสมือนว่ามิได้มีการทำพินัยกรรมนั้นเลย  ตามมาตรา  1703  ดังนั้นการที่เป็ดผู้เยาว์อายุย่างเข้า  15  ปี ทำพินัยกรรมยกเงิน  1  ล้านบาทให้มูลนิธิสุนัขจรจัด  เป็ดจึงไม่สามารถทำได้ตามมาตรา  25  พินัยกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  1703

2)  ถอนเงินส่วนตัวจากบัญชีฝากประจำธนาคารออมสินจะไปซื้อรถยนต์ราคา  6  แสนบาท

นิติกรรมใดๆก็ตามถ้ามิได้เข้าข้อยกเว้นที่ผู้เยาว์สามารถทำเองได้  ผู้เยาว์จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  ดังนั้นในการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำเพื่อจะไปซื้อรถนั้น  เป็ดต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ  ตามมาตรา  21

3)  สมัครเรียนคณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยรามคำแหง  หลักสูตรพรีดีกรี (Pre – degree)

ในกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ผู้เยาว์สามารถ ทำนิติกรรมใดๆได้เองแล้ว  ผู้เยาว์ก็ไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อนแต่อย่างใด  สำหรับการสมัครเรียนคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง  หลักสูตรพรีดีกรีนั้น เป็นการทำสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตตามควรแก่ฐานานุรูป  ตามมาตรา  24  ผู้เยาว์สามารถทำได้เอง  โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม

4)  ฟ้องให้นายห่านซึ่งเป็นบิดาโดยพฤตินัยรับตนเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย

โดยหลักแล้ว  การฟ้องให้บิดาโดยพฤตินัย (บิดาที่มิได้จดทะเบียนสมรสกับมารดา)  รับผู้เยาว์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายนั้น   ถือเป็นเรื่องที่ผู้เยาว์สามารถทำได้เองเฉพาะตัว  โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชองธรรมก่อน  ตามาตรา  23  แต่อย่างไรก็ตาม  กฎหมายก็ได้กำหนดข้อจำกัดสิทธิของผู้เยาว์ไว้อีกในมาตรา  1556  ว่าผู้เยาว์นั้นต้องอายุครบ  15  ปีบริบูรณ์แล้วเท่านั้นที่จะสามารถฟ้องคดีนี้ได้เอง  ถ้าผู้เยาว์ยังมีอายุไม่ครบ  15  ปีบริบูรณ์  จะต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้ฟ้องแทน  หรือถ้าผู้เยาว์ไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม  หรือมีแต่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่สามารถทำหน้าที่ได้  ญาติสนิทของผู้เยาว์หรืออัยการอาจร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีเพื่อทำหน้าที่ฟ้องคดีแทนผู้เยาว์ก็ได้  ดังนั้นเป็ดจึงไม่สามารถฟ้องให้นายห่านรับตนเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้  ตามมาตรา  1556  แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ผู้เยาว์สามารถทำเองได้เฉพาะตัวตามมาตรา  23  ก็ตาม

Advertisement