การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 3112 ความคิดทางการเมืองในพุทธศาสนา

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบเป็นแบบอัตนัยมี 5 ข้อ ให้นักศึกษาเลือกทําเพียง 3 ข้อ

 ข้อ 1 จงอธิบายลักษณะ ความสําคัญ และแนวคิดทางการเมือง โดยยกตัวอย่างทางเลือกที่สําคัญมา 3 แนวคิด

แนวคําตอบ

ความคิดทางการเมือง คือ ความคิดเห็นและวิสัยทัศน์ของมนุษย์ที่มีต่อการเมืองที่ตนปรารถนา ทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรมในสังคมที่มนุษย์อาศัยอยู่ ความคิดทางการเมืองของมนุษย์มีจุดประสงค์ เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดี รัฐที่ดี และการปกครองที่ดีของมนุษย์ในสังคมนั้น ๆ สรุปได้ว่า ความคิดทางการเมือง คือ สังคมการเมืองที่มนุษย์ปรารถนา ทั้งนี้สามารถแบ่งลักษณะแนวความคิดทางการเมืองออกได้เป็น 6 ยุค ดังนี้

ลักษณะแนวความคิดทางการเมือง

1 ยุคกรีก มีลักษณะแนวความคิดทางการเมือง คือ มีการปกครองเป็นแบบประชาธิปไตยโดยตรง พลเมืองชาวกรีกในนครรัฐเอเธนส์ทุกคนมีสิทธิ และมีส่วนในการปกครองและกิจกรรมของรัฐของตน การสนทนาวิพากษ์วิจารณ์กิจกรรมทางการเมืองเป็นสิ่งธรรมดาและเป็นกิจวัตรประจําวันของพลเมืองชาวกรีก ในนครรัฐเอเธนส์ สถาบันการปกครองเกือบทุกสถาบันเปิดโอกาสให้พลเมืองทุกคนมีส่วนร่วมโดยเสมอภาคกัน เสรีภาพในด้านความคิดเห็นทางการเมืองมีอย่างกว้างไพศาล เพราะชาวกรีกมีทัศนะว่า เป็นหน้าที่ของพลเมือง ทุกคนที่จะต้องเอาใจใส่ในกิจการบ้านเมือง เพราะ “เขาคือส่วนหนึ่งของรัฐ และรัฐคือส่วนหนึ่งของตัวเขา”

2 ยุคโรมัน มีลักษณะแนวความคิดทางการเมือง คือ ชาวโรมันจะเป็นนักปฏิบัติหรือ นักถ่ายทอดความคิด หลักปฏิบัติที่สําคัญของชาวโรมัน คือ การสร้างสถาบันทางกฎหมายอย่างสมบูรณ์และดีที่สุด ชาวโรมันพยายามดัดแปลงกฎหมายให้อยู่ในรูปที่สามารถนําไปใช้ได้จริง ๆ ชาวโรมันแสดงให้เห็นว่า มนุษย์เป็นผู้มีอํานาจทางการเมืองที่แท้จริงไม่ใช่พระเจ้า ดังนั้นชาวโรมันจึงถือว่าผู้ปกครอง คือ ผู้ที่รับอํานาจจากประชาชน ประชาชนจึงเปรียบเสมือนหน่วย ๆ หนึ่งในทางกฎหมายที่จะล่วงละเมิดมิได้

3 ยุคมืดหรือยุคกลาง มีลักษณะแนวความคิดทางการเมือง คือ ผู้คนมีความเคร่งครัด และศรัทธาในศาสนาคริสต์มาก จนแทบไม่มีการพัฒนาทางด้านวัตถุเช่นเดียวกับยุคที่ผ่านมา เนื่องจากโรมันถูกทําลายโดยพวกอนารยชน กฎหมายก็ถูกทําลายไปพร้อมกับอารยธรรมโรมันด้วย ดังนั้นจึงต้องมีการจัดระเบียบ สังคมขึ้นใหม่ โดยการจัดระเบียบสังคมใหม่นี้มีความสําคัญ 2 ประการ คือ ศาสนาคริสต์ และระบบฟิวดัล

4 ยุคฟื้นฟู มีลักษณะแนวความคิดทางการเมือง คือ มีความเจริญทางด้านวัตถุ และความพยายามในการจัดระเบียบสังคมในปลายยุคกลาง ทําให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในแนวความคิดของคน จากความศรัทธาในศาสนาไปสู่ความนิยมในตัวกษัตริย์ โดยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดในยุคฟื้นฟู สรุปได้ดังนี้

1) การเกิดแนวความคิดฟื้นฟูความรู้ทางด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์ขึ้นมาใหม่เรียกว่า Renaissance

2) การพบดินแดนใหม่ ๆ ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนในประวัติศาสตร์ ซึ่งกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของคนมากขึ้น

3) การเสื่อมลงของศาสนาคริสต์ และการปฏิรูปศาสนา (Reformation) ทําให้ศาสนาคริสต์ต้องแบ่งเป็นนิกายโรมันคาทอลิกและโปรเตสแตนต์

4) การนําวัตถุแปลก ๆ ที่มาจากตะวันออกเข้ามาใช้ในชีวิตประจําวันมากขึ้น ทําให้ผู้คนพยายามหาโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตดั้งเดิม ชาวนาเริ่มหันมาทําการค้าในขณะที่พ่อค้าเริ่มขยายเส้นทางการค้าและสินค้าใหม่ ๆ เข้ามาขายมากขึ้น

5) การสร้างระบบกฎหมายใหม่และการพัฒนาระบบเงินตรา

6) การเกิดขึ้นของวิทยาการและศิลปะสมัยโรมันที่เน้นความยิ่งใหญ่ของมนุษย์และหลักการประชาธิปไตยสมัยกรีก

7) การเสื่อมของระบบฟิวดัล อาณาจักรมีอํานาจและทวีความสําคัญเหนือศาสนจักรมากขึ้น

5 ยุคสมัยใหม่ มีลักษณะแนวความคิดทางการเมือง คือ การที่ประชาชนลุกขึ้นมา ต่อต้านอํานาจกษัตริย์ ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 17 คือ สงครามกลางเมืองในช่วง ระหว่างปี ค.ศ. 1642 – 1689 ระหว่างพระเจ้าชาลส์ที่ 1 กับโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ซึ่งได้ทําให้สิทธิส่วนบุคคลได้ถูก วางรากฐานไว้อย่างดีในทางการเมือง และได้มีความพยายามนําหลักของเหตุผลและความจริงมาใช้ในทาง การเมืองด้วย

สรุปได้ว่า ลักษณะแนวความคิดทางการเมืองจากกรีกถึงสมัยใหม่นั้น มีการแปรเปลี่ยนตาม สภาพสังคมในแต่ละสมัย กล่าวคือ ยุคกรีกโบราณมีแนวความคิดแบบประชาธิปไตยแบบทางตรงที่เน้นสิทธิเสรีภาพของพลเมืองได้รับการยกย่อง ยุคโรมันมีแนวความคิดทางการเมืองที่มีกฎหมายในการอยู่ร่วมกัน ยุคมืด หรือยุคกลางมีแนวความคิดทางการเมืองที่ถูกอธิบายบนฐานของศาสนาคริสต์เพียงอย่างเดียว ยุคฟื้นฟู มีแนวความคิดทางการเมืองที่เกี่ยวพันกับเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ และกษัตริย์กลับมามีอํานาจมากขึ้นอีกครั้ง และในยุคสมัยใหม่มีแนวคิดทางการเมืองที่ให้สิทธิทางการเมืองแก่ประชาชนเพิ่มมากขึ้น

ความสําคัญของความคิดทางการเมือง

ความคิดทางการเมืองเป็นผลผลิตทางประวัติศาสตร์ของการเมืองโลกในแต่ละยุคสมัยของ สังคม ดังนั้นความคิดทางการเมืองจึงมีความสําคัญอย่างน้อย 5 ประการ ดังนี้

1 มีส่วนช่วยในการทําให้เข้าใจประวัติศาสตร์ เพราะจะทําให้ผู้ที่ศึกษาเข้าสู่บรรยากาศ ความคิดในสมัยก่อน ช่วยให้เข้าใจถึงพลังผลักดันที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ สําคัญ ๆ เพราะเหตุที่ว่าปรากฏการณ์ในอดีตเป็นผลมาจากการกระทําของมนุษย์ จึงเป็นการจําเป็นที่จะต้อง ทราบถึงความคิดที่ชักจูงให้เกิดการกระทํานั้น เช่น การที่จะเข้าใจถ่องแท้ถึงประวัติศาสตร์โลกสมัยกลาง (Middle Age) นั้น จําเป็นต้องทราบถึงการพิพาทแย่งความเหนือกว่าในการปกครองคนระหว่างจักรพรรดิกับ สันตะปาปา เป็นต้น

2 ความรู้ในความคิดทางการเมืองแห่งอดีตนั้นมีส่วนช่วยให้เข้าใจถึงการเมืองในสมัย ปัจจุบัน เพราะปัญหาทางการเมืองในปัจจุบันล้วนเกิดขึ้นจากสถานการณ์ในอดีตหรืออาจเทียบเคียงได้กับ ปรากฏการณ์ในอดีต และหลักการเมืองต่าง ๆ ที่นํามาใช้เป็นผลมาจากวิวัฒนาการของความคิดทางการเมือง สมัยก่อน เช่น ทฤษฎีการแบ่งแยกอํานาจในระบบการปกครองของสหรัฐอเมริกามีรากฐานมาจากความคิดของ เมธีการเมืองสมัยกลาง เป็นต้น

3 มีความเข้าใจในนโยบายและการปรับปรุงโครงร่างทางการปกครอง เพราะประเทศทุกประเทศต้องมีหลักการอันเกิดจากปรัชญาการเมืองใดการเมืองหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่นํารัฐบุรุษและประชาชนในการ วางนโยบายหรือปฏิรูปการปกครอง ความก้าวหน้าหรือประสบความสําเร็จของระบบการเมืองในประเทศเป็นผลมาจาก การวางโครงร่างการปกครองอยู่บนทฤษฎีการเมืองที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ และความต้องการของประเทศนั้น

4 ยอร์ช แคทเท็บ กล่าวถึงความสําคัญของความคิดทางการเมืองต่อชีวิตทั่วไปของ มนุษย์ไว้ 3 ประการ คือ

1) ต้องการคําแนะนําซึ่งอาจจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้าง เช่น ควรวางความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานหรือควรกระจายอํานาจหน้าที่หรือควรกําหนดความรับผิดชอบอย่างไร

2) ต้องการความถูกต้องเพื่อตัดสินเมื่อเกิดปัญหาหรือความไม่เข้าใจระหว่างบุคคล

3) ต้องการทักษะ (Skill) ในการทํานายเหตุการณ์ในอนาคตได้ถูกต้องหรือใกล้เคียง

5 ทําให้เป็นบุคคลที่มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี (Good Human Relations) เพราะเหตุว่า ทฤษฎีการเมืองสอนให้รู้จักความหลากหลายของธรรมชาติหรือลักษณะนิสัยใจคอคน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ความคิดทางการเมืองมีความสําคัญดังประเด็นดังกล่าวข้างต้น เช่น มีส่วน ช่วยในการทําให้เข้าใจประวัติศาสตร์ หรือมีส่วนช่วยให้มีความเข้าใจนโยบายและการปรับปรุงโครงร่างทางการ ปกครอง อีกทั้งความคิดทางการเมืองมีความสําคัญต่อมนุษย์ในสองมิติหลัก คือ มิติในเรื่องส่วนตัวและในเรื่องสาธารณะ

แนวความคิดทางการเมืองที่สําคัญ (3 แนวคิด) มีดังนี้

1 ชาตินิยม (Nationalism) ตามรากศัพท์ภาษาละตินมีอยู่ 2 ความหมาย ได้แก่

1) มาจากคําว่า “Nasci” แปลว่า “การเกิดหรือกําเนิด” (To be born) และ

2) มาจากคําว่า “Natio” แปลว่า “เป็นของ” หรือ “มาจากสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง โดยการเกิด” (Belonging together by birth or place birth)

ในปี ค.ศ. 1789 หลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศส (The French Revolution) คําว่า “ชาติ” หมายถึง องค์รวมของประชาชน ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างจากองค์รวมอื่น ๆ องค์รวมนี้ถูกมองว่าเป็นดุจบุคคลขนาดใหญ่ คนหนึ่ง ซึ่งมีเจตจํานงเดียว มีเป้าประสงค์ร่วมเพียงหนึ่งเดียว และที่สําคัญคือเป็นที่มาของอํานาจอธิปไตย

ความหมายลึกลงไปในทางการเมืองที่สืบย้อนไปถึง ค.ศ. 1712 – 1778 รุสโซ (Jacques Rousseau) ได้กล่าวถึง “ชาติ” ว่าหมายถึง กลุ่มบุคคลที่ผูกพันอยู่ด้วยกัน โดยถือเกณฑ์การเป็นพลเมือง (Citizenship) ของหน่วยหรือสังคมการเมืองเดียวกัน และในยุโรปได้นํามาใช้จนทําให้บทบาททางการเมืองมีการ เปลี่ยนแปลงอย่างสูง เช่น การแต่งเพลงประจําชาติ (National Anthems) การมีธงชาติประจําชาติ (National Flag) เป็นต้น วิธีการดังกล่าวเป็นการส่งผ่านหรือกระตุ้นให้คนในประเทศนั้นเกิดความรักชาติของตน

2 อนุรักษนิยม (Conservative) ความหมายโดยทั่วไปของคําว่า “อนุรักษนิยม” หมายถึง การรักษาสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้มิให้ถูกแตะต้อง (Keeping something intact) ในสมัยกรีกโบราณอุดมการณ์อนุรักษนิยม เห็นได้จากอุดมการณ์ทางการเมืองของ “โพลโต” ที่เสนอว่าผู้ที่สามารถรักษาระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ทางสังคมได้ คือ พวกปัญญาชนชั้นสูงอย่างเดียวเท่านั้น หรือที่เพลโตเรียกว่า “ราชาปราชญ์” (Philosopher King)

ในราวศตวรรษที่ 18 คําว่า “อนุรักษนิยม” หมายถึง อุดมการณ์ทางการเมืองที่ต้องการ โจมตีแนวความคิดของเสรีนิยมและสังคมนิยม ซึ่งเป็นผลผลิตของแนวความคิดทางการเมืองในยุครู้แจ้งที่เชื่อ ในหลักการของเหตุผล

เอ็ดมันด์ เบิร์ก (Edmund Burke) คือ คนแรกที่ใช้อุดมการณ์อนุรักษนิยมต่อต้าน การกระทําทางการเมืองที่มีลักษณะเสรีนิยมและสังคมนิยม คือ การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1789 โดยได้เขียน หนังสือชื่อ “ข้อคํานึงการปฏิวัติ” เพื่อเป็นการโต้กลับซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติฝรั่งเศส โดยแนวคิดอนุรักษนิยมที่เบิร์กเสนอ คือ การมุ่งรักษาแบบแผนประเพณีและสถาบันพร้อม ๆ กับการต่อต้าน การปฏิวัติ หรือความพยายามที่จะเปลี่ยนสังคมแบบถอนรากถอนโคน เพราะต้องการรักษาไว้ซึ่งแบบแผน แบบเก่าที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้นและต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ ๆ ในสังคมเสมอโดยเฉพาะ การปฏิวัติ หรือถ้าต้องมีการเปลี่ยนแปลงพวกอนุรักษนิยมก็ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ และค่อยเป็นค่อยไป

(3) สตรีนิยม (Feminism) ถือกําเนิดในประเทศฝรั่งเศสและเริ่มปรากฏใช้ใน ค.ศ. 1890 แนวคิดของสตรีนิยมในช่วงนี้อยู่บนฐานของความเชื่อว่าด้วยความเสมอภาคและความเป็นอิสระของเพศหญิง เนื่องจากใน ค.ศ. 1840 และ ค.ศ. 1850 มีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกัน ระหว่างชายกับหญิง โดยการเคลื่อนไหวนี้ได้ถูกเรียกว่าเป็นคลื่นลูกแรก (First Wave) ของสตรีนิยม

ส่วนในภาษาอังกฤษคําว่า “สตรีนิยม” คือ “Feminist” ซึ่งอุดมการณ์ของคํานี้ คือ อุดมการณ์ ที่พยายามส่งเสริมและยกระดับสถานภาพและบทบาททางสังคมของผู้หญิงไม่ให้ต่ำต้อยกว่าผู้ชาย

ใน ค.ศ. 1960 เกิดความเคลื่อนไหวของคลื่นลูกที่สองของอุดมการณ์สตรีนิยม คือ การพิจารณาประเด็นปัญหาใด ๆ ที่เกี่ยวกับสตรีจะต้องยกเลิกภายใต้กรอบแนวความคิดที่ถือว่าผู้ชายเป็นศูนย์กลาง ของความถูกต้อง รวมไปถึงเรื่องการเมืองเรียกว่า การปลดปล่อยสตรี (Women’s Liberation Movement)

สาระสําคัญของอุดมการณ์สตรีนิยม คือ การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคแก่ผู้หญิงในทุกด้าน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ทัดเทียมกับผู้ชาย โดยเห็นว่าสังคมมนุษย์นับตั้งแต่อดีตตกอยู่ ภายใต้อิทธิพลความคิดผู้ชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) ทําให้ผู้หญิงถูกกีดกัน ไม่ได้รับความเสมอภาคในด้านต่าง ๆ เช่น การเมือง การแสดงความคิดเห็น ทรัพยากร เศรษฐกิจ และสังคม เป็นต้น สตรีนิยมจึงเห็นว่าความแตกต่างระหว่างเพศหญิงกับเพศชายของบุคคลมิได้เป็นเพียงความแตกต่างทางสรีรวิทยาตามธรรมชาติเท่านั้น หากเป็นความแตกต่างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งมนุษย์ เป็นผู้สร้าง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าสรีรวิทยาตามธรรมชาติทางเพศนั้นไม่ได้เป็นอุปสรรคในสังคมทั่วไป

 

ข้อ 2 ท่านคิดว่าหลักการรัฐโลกวิสัยเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่

แนวคําตอบ

หลักการของรัฐโลกวิสัย

หลักการหรือลักษณะสําคัญของรัฐโลกวิสัยมี 4 ประการ ดังต่อไปนี้

1 การไม่บัญญัติศาสนาใดเป็นศาสนาประจําชาติในกฎหมาย คือ การไม่ได้ระบุถึงศาสนา ประจําชาติ ไม่มีการยกศาสนาใดให้มีอภิสิทธิ์เหนือศาสนาอื่นและไม่มีการปกป้องศาสนาใดเป็นพิเศษ

หมายความว่า รัฐไม่ควรใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือต่อการจํากัดเสรีภาพของประชาชน ในการเลือกนับถือศาสนา และในขณะเดียวกันยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงศาสนาอย่างเสมอภาค และเท่าเทียมกัน

2 กฎหมายต้องให้เสรีภาพทางศาสนาแก่ประชาชน คือ สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในทางการศาสนาควรได้รับอย่างเต็มที่จากรัฐและกฎหมายของรัฐอีกด้วย

หมายความว่า ประชาชนสามารถใช้สิทธิของตนเองแสดงออกและเสนอทางความคิดเห็น เรื่องศาสนาได้โดยไม่มีกฎหมายหมิ่นศาสนาเข้ามาควบคุมและสิทธิของประชาชนในการแสดงออกทางศาสนา ควรได้รับการคุ้มครองจากรัฐอีกด้วย เพราะว่าศาสนาเป็นสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคลหรือเป็นเรื่องส่วนตัว

3 รัฐไม่มีการสนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ คือ รัฐไม่มีการใช้งบประมาณ จากเงินภาษีของประชาชนในรัฐไปสนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น พิธีการทางศาสนา เชิงสัญลักษณ์ ประจําศาสนา และกําหนดวันหยุดทางศาสนาในปฏิทินของประเทศ เป็นต้น

4 รัฐต้องไม่ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยเหตุผลทางศาสนา คือ การปฏิบัติของรัฐต่อประชาชน ควรใช้หลักการของเหตุและผลทางวิทยาศาสตร์มากกว่าเหตุผลทางศาสนา ยิ่งกว่านั้นไม่ควรนําเอาศาสนาใด ศาสนาหนึ่งมาเป็นหลักแล้วนําเอาความคิดนั้นไปจัดการคนต่างศาสนา

หมายความว่า การกระทําความผิดของประชาชนใช้หลักกฎหมายในการตัดสิน การกระทํานั้นไม่ใช้หลักการทางศาสนาเป็นการกําหนดโทษ

ทั้งนี้ จากหลักการรัฐโลกวิสัยดังกล่าวข้างต้นไม่เหมาะสมกับประเทศไทย ด้วยเหตุผลดังนี้

1 ถึงแม้ว่าในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยไม่ได้ระบุศาสนาประจําชาติ แต่ก็ได้เอาไปซ่อนผูกไว้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเนื้อหาระบุว่า “มาตรา 9 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก”

2 ถึงแม้ว่าในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยไม่ได้ระบุไว้ว่าคนไทยจะต้องนับถือ ศาสนาพุทธ และต้องปฏิบัติตามข้อห้ามของศาสนาพุทธเท่านั้น แต่ประเทศไทยนั้นก็ถือว่ามีศาสนาพุทธเป็น ศาสนาประจําชาติโดยพฤตินัย เช่น มีการออกกฎหมายห้ามขายสุราในวันสําคัญทางพุทธศาสนา

3 มีการกําหนดให้วันสําคัญทางพุทธศาสนา เช่น วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันมาฆบูชา เป็นวันหยุดราชการ เป็นต้น

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ศาสนาพุทธยังคงมีอิทธิพลและผลกระทบต่อการปกครองและชีวิตประจําวันของประชาชนไทย ซึ่งแตกต่างกับหลักการของรัฐโลกวิสัยและความหมายของรัฐโลกวิสัยที่ว่า “รัฐหรือประเทศที่เป็นกลางทางด้านศาสนา ไม่สนับสนุนหรือต่อต้านความเชื่อหรือการปฏิบัติทางด้านศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น รัฐโลกวิสัย จะปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ส่วนใหญ่จะไม่มีศาสนาประจําชาติ หรือหากมี ศาสนาประจําชาติ ศาสนานั้นก็จะมีความหมายทางสัญลักษณ์และไม่มีผลกระทบต่อชีวิตประจําวันของประชาชน ในรัฐที่นับถือศาสนาอื่น”

 

ข้อ 3 จงอธิบายความหมายของคําต่อไปนี้ให้เข้าใจ (เลือกทํา 3 ข้อ)

(1) รัฐ ศาสนา

(2) ประชาธิปไตยทางตรง

(3) สาธารณรัฐ

(4) กษัตริย์

(5) ราชา

(6) จักรพรรดิ

(หมายเหตุ ข้อ (4) – (6) เป็นความหมายตามแนวคิดทางการเมืองเรื่องธรรมราชา)

แนวคําตอบ

(1) รัฐ ในอินเดียโบราณแนวคิดเกี่ยวกับรัฐเป็นแนวคิดของทฤษฎีองคาพยพ คือ รัฐก็มีลักษณะเดียวกันกับองคาพยพของสิ่งมีชีวิต ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ จํานวนหนึ่ง ส่วนต่าง ๆ เหล่านี้มีลักษณะ และบทบาทต่างกันแต่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน องค์ประกอบของแต่ละส่วนไม่เท่าเทียมกัน โดย องค์ประกอบของรัฐแบ่งเป็น 7 ประการ คือ

1) ผู้ปกครองหรือองค์อธิปัตย์ (Svamin) ซึ่งสําคัญที่สุดและเป็นหัวของรัฐ

2) อํามาตย์ (Amatya)

3) อาณาเขตของรัฐและประชาชน (Rastra หรือ Janapada)

4) เมืองหลวงที่มีป้อมปราการล้อมรอบ (Durga)

5) ท้องพระคลังของพระมหากษัตริย์ (Kosa)

6) กองทัพ (Bala)

7) มิตรและพันธมิตร (Mitra)

ศาสนา ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของศาสนาว่า “ลัทธิความเชื่อของมนุษย์ อันมีหลัก คือ แสดงกําเนิดและความสิ้นสุดของโลก เป็นต้น อันเป็นไปในฝ่ายปรมัตถ์ประการหนึ่ง แสดงหลักธรรม เกี่ยวกับบุญบาปอันเป็นไปในฝ่ายศีลธรรมประการหนึ่ง พร้อมทั้งลัทธิพิธีที่กระทําตามความเห็นหรือตามคําสั่งสอน ในความเชื่อนั้น ๆ”

สุชีพ ปุญญานุภาพ อธิบายความหมายคําว่า “ศาสนา” ไว้ว่า

1) ศาสนา คือ ที่รวมแห่งความเคารพนับถืออันสูงส่งของมนุษย์

2) ศาสนา คือ ที่พึ่งทางจิตใจ ซึ่งมนุษย์ส่วนมากย่อมเลือกยึดเหนี่ยวตามความพอใจ และความเหมาะสมแก่เหตุแวดล้อมของตน

3) ศาสนา คือ คําสั่งสอน อันว่าด้วยศีลธรรม และอุดมคติสูงสุดในชีวิตของบุคคลรวมทั้งแนวความเชื่อถือและแนวการปฏิบัติต่าง ๆ กันตามคติของแต่ละศาสนา

(2) ประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) เกิดขึ้นในนครรัฐเอเธนส์ของกรีกโบราณ เมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว เป็นการปกครองที่พลเมือง (Citizen) ชายทุกคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปเป็นผู้ใช้ อํานาจในการปกครองโดยตรงด้วยการประชุมร่วมกัน ทั้งนี้เมื่อพลเมืองชายชาวเอเธนส์อายุ 18 ปีขึ้นไป จะได้เป็นสมาชิกของสภาประชาชนโดยอัตโนมัติ สามารถเข้าไปโหวต ไปอภิปรายแสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งจากการที่ พลเมืองชายอายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถเข้าไปโหวต ไปอภิปรายได้ด้วยตนเองนั้น เรียกการปกครองลักษณะแบบนี้ว่า ประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy)

(3) สาธารณรัฐ (Republic) เป็นประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในสมัยสาธารณรัฐโรมัน ซึ่งคําว่า “Republic” มาจากภาษาละติน 2 คํา คือ res + publica ซึ่งหมายความว่า ประชาชน ดังนั้นการปกครอง สาธารณรัฐก็คือ การเอาคนส่วนมากเป็นที่พึ่ง หรือเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง

(4) กษัตริย์ คือ ผู้ทําหน้าที่ปกครอง ในความหมายเดิมจะหมายถึงบุคคลที่มีหน้าที่รบ ป้องกันภัย แก้ไขข้อขัดแย้งให้กับคนอื่น เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากสังคมให้ทําหน้าที่เฉพาะเรื่อง ไม่ต้องหา เลี้ยงชีพแต่จะได้รับค่าตอบแทนจากบุคคลที่ตนเองให้ความคุ้มครอง โดยถือเป็นอาชีพหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย จากคนในสังคม

(5) ราชา คือ ผู้ปกครองที่ยุติธรรมที่ปฏิบัติหน้าที่โดยปวงชนพอใจ หรืออาจหมายถึง กษัตริย์ที่ประชาชนพอใจ เป็นที่นิยมชมชอบเพราะปฏิบัติหน้าที่ได้ดีและทําหน้าที่ด้วยความยุติธรรม

(6) จักรพรรดิ คือ ผู้ปกครองที่ประชาชนพอใจและเป็นผู้ที่มีคุณธรรมสูงเกินกว่ากษัตริย์ และราชาทั้งปวง มีความหมายรวมถึงผู้ปกครองที่สามารถแผ่อาณาจักรได้อย่างกว้างขวางและมีคุณธรรมสูงส่ง เป็นที่เคารพและพึงพอใจของประชาชน หรืออาจหมายถึง ผู้ปกครองที่มีภารกิจช่วยคนในโลกให้พ้นจากวัฏสงสาร พ้นจากความขัดแย้งทั้งปวง

 

ข้อ 4 การเกิดขึ้นและแพร่ขยายของพุทธศาสนามีนัยสําคัญที่เปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองของชมพูทวีปอย่างไร จงอธิบาย

แนวคําตอบ

พุทธศาสนากําเนิดขึ้นในช่วงที่ยุคสมัยของโลกกําลังอยู่ในยุคเสื่อมถอยอย่างหนักจึงปรากฏมี ศาสดาปรากฏขึ้นมาเพื่อโปรดสัตว์ให้พ้นจากความเสื่อมถอยเหล่านั้น ทั้งนี้พุทธศาสนาเกิดในช่วงกลียุคในช่วงที่ ชมพูทวีปมีสภาพสังคมการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมมีความเด่นชัดแล้ว

การเกิดขึ้นและแพร่ขยายของพุทธศาสนาได้เปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองของชมพูทวีป ดังนี้

1 ชนชั้นพราหมณ์ได้หันมาอุปสมบทในพุทธศาสนาจํานวนมาก อาจวิเคราะห์ได้ว่า เนื่องจากในช่วงเวลานั้นศาสนาพราหมณ์มีความเสื่อมแล้ว ผู้ที่แสวงหาทางออกจากทุกข์เมื่อปฏิบัติตามหลักการ ของพราหมณ์มาแล้วยังไม่พบทางออกจึงหันมาศรัทธาหรือเปิดรับศาสนาใหม่ได้ง่าย ประกอบกับเมื่อวิวาทะ กับพระพุทธเจ้าแล้วเกิดเห็นชอบกับหลักธรรมของพระองค์ อย่างไรก็ตามระยะเวลาการบรรลุธรรมของแต่ละคน ต่างกันไป

2 เกิดการเปลี่ยนแปลงในขนบจารีตเดิม เนื่องจากศาสนาพุทธที่เกิดใหม่ปฏิเสธจารีต ของศาสนาพราหมณ์ เช่น การต้องเลิกทํายัญพิธี และการบูชาไฟ เป็นต้น ซึ่งเป็นการท้าทายความเชื่อที่ฝังราก ลึกมานานของสังคมชมพูทวีป

3 วรรณะแพศย์ได้เปลี่ยนจากศาสนาพราหมณ์มาเป็นพุทธศาสนิกชนจํานวนมากซึ่งต้อง เลิกทําวัตรปฏิบัติแบบศาสนาพราหมณ์ และหันมามีวัตรปฏิบัติแบบศาสนาพุทธซึ่งไม่เคร่งครัดเท่ากับผู้บวชเป็นภิกษุ เงื่อนไขสําคัญในเรื่องนี้คือ วรรณะแพศย์เป็นผู้ทําการค้า ในช่วงเศรษฐกิจกําลังเปลี่ยนแปลง วัตรปฏิบัติ บางอย่างของศาสนาพราหมณ์ไม่เอื้อให้ผู้ทําการค้ามีอิสระในการทําการค้า ในแง่นี้ศาสนาพุทธจึงได้ปลดปล่อย วรรณะแพศย์ให้เป็นอิสระในการทําการค้า ซึ่งทําให้การค้าขยายตัวมาก วรรณะแพศย์จึงกลายเป็นผู้อุปถัมภ์ พุทธศาสนาที่สําคัญ

4 วรรณะกษัตริย์ได้ให้การยอมรับพระพุทธศาสนา ดังกรณีพระเจ้าพิมพิสารซึ่งเป็น กษัตริย์ของรัฐมคธอันมั่งคั่งและมีอิทธิพล แม้ว่ากษัตริย์เหล่านั้นจะไม่ได้ตัดขาดจากศาสนาพราหมณ์ โดยมองว่า ศาสนาพุทธก็มีสถานะไม่แตกต่างจากศาสนาพราหมณ์แต่จํากัดบทบาทที่ไม่เกี่ยวกับทางโลกย์ การยอมรับ พระพุทธศาสนาของกษัตริย์อาจเกิดจากที่ประชาชนศรัทธามากและเข้าอุปถัมภ์มากเพื่อเสริมบารมีตนเอง แต่อีกนัยหนึ่งศาสนาพุทธก็ได้ประโยชน์จากการอุปถัมภ์ของกษัตริย์เช่นกัน

5 ภาษาที่ใช้สามารถเข้าถึงประชาชนได้มาก ขณะที่ศาสนาพราหมณ์ใช้ภาษาสันสกฤต ในการเทศน์ซึ่งผู้คนในวรรณะต่ำเข้าไม่ถึง พุทธศาสนาใช้ภาษามคธหรือภาษาบาลีในการเทศน์ ภาษามคธมาจาก ตระกูลปรากฤตอันเป็นภาษาที่พราหมณ์เหยียดหยามว่าเป็นภาษาชั้นต่ำ เป็นภาษาสามัญที่ชาวเมืองใช้พูดกัน ในความเป็นจริงพระพุทธเจ้าได้ใช้ภาษาสันสฤตร่วมด้วยอันแสดงถึงความรู้ทางภาษาที่ได้รับมาก่อนออกบรรพชา ในแง่นี้หากเชื่อว่าภาษาเป็นที่มาของความรู้ การเลือกใช้ภาษาของพระพุทธเจ้าจึงมีนัยทางเศรษฐกิจการเมือง ที่สําคัญ คือ ทําให้ชนชั้นล่างเข้าใจความรู้ได้มากขึ้นส่งผลต่อระบบการเมืองและเศรษฐกิจให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น ไปอีก และที่สําคัญเมื่อทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ได้ไม่แตกต่างกันจึงเท่ากับพระพุทธเจ้าปฏิเสธระบบวรรณะ ไปในคราวเดียวกันด้วย

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการเกิดขึ้นและแพร่ขยายของพุทธศาสนาในชมพูทวีปมีนัยสําคัญ คือ เป็น การต่อสู้ทางสังคมการเมือง เช่น การยกเลิกการทํายัญพิธี การใช้ภาษาที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ รวมทั้งยังเป็น การต่อสู้ทางชนชั้นอย่างสําคัญ เสมือนการปลดแอกให้แก่ชนชั้นต่ำที่ลําบากยากจนได้ทางหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะล้มล้าง การแบ่งชั้นวรรณะไม่ได้ก็ตาม

 

ข้อ 5. “ไตรภูมิพระร่วง” ถือได้ว่าเป็นหลักฐานที่ปรากฏแนวคิดทางการเมืองไทยที่มีลักษณะเป็นระบบที่ชัดเจนที่สุด โปรดอธิบาย “ธรรม” และ “หลักการปกครอง” ที่ปรากฏในไตรภูมิพระร่วงที่สําคัญ โดยอธิบายให้เข้าใจในเนื้อหาของแต่ละเรื่องด้วย

แนวคําตอบ

ไตรภูมิพระร่วง เป็นพระราชนิพนธ์ของพญาลิไท กษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย โดยพญาลิไททรงศรัทธาในความเป็นจักรพรรดิที่เป็นธรรมราชา โดยทรงเห็นว่า พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็น ต้นแบบของธรรมราชาและทรงประสงค์จะยึดถือปฏิบัติธรรมตามแบบนั้นเพราะทรงต้องการที่จะเป็นธรรมราชา เช่นเดียวกัน

การที่พญาลิไททรงประพันธ์ไตรภูมิพระร่วงนั้น ทรงเป็นความพยายามที่จะใช้พุทธศาสนา เป็นเครื่องมือทางการเมือง และกล่าวได้ว่า ไตรภูมิพระร่วงจัดว่าเป็นแนวคิดทางการเมืองไทยที่เป็นระบบและ ชัดเจนที่สุด มีความต่อเนื่องและได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนามากที่สุด

ทั้งนี้ “ธรรม” และ “หลักการปกครอง” ที่ปรากฏในไตรภูมิพระร่วง มีดังนี้

ทศพิธราชธรรม ประกอบด้วย

1 ทาน (ทานํ) คือ การให้

2 ศีล (สีลํ) คือ การตั้งสังวรรักษากาย วาจา ให้สะอาดปราศจากโทษ

3 การบริจาค (ปริจฺจาคํ) คือ การบริจาคสละ

4 ความซื่อตรง (อาชฺชวํ) คือ การมีความซื่อตรง

5 ความอ่อนโยน (มทฺทวํ) คือ การมีอัธยาศัยอ่อนโยน

6 ความเพียร (ตปํ) คือ การกําจัดความคร้านและความชั่ว

7 ความไม่โกรธ (อกฺโกธํ) คือ การไม่โกรธ

8 ความไม่เบียดเบียน (อวิหึสญฺจ) คือ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น ตลอดจนสัตว์ให้ได้ทุกข์ยาก

9 ความอดทน (ขนฺติญฺจ) คือ ความอดทนต่อสิ่งที่ควรอดทนเป็นเบื้องหน้า

10 ความไม่พิโรธ (อวิโรธนํ) คือ การปฏิบัติไม่ให้ผิดจากการที่ถูกที่ตรงและดํารงอาการคงที่ไม่ให้วิการด้วยอํานาจยินดียินร้าย

ทศพิธราชธรรมเป็นธรรมที่กล่าวถึงคุณลักษณะส่วนตัวของผู้ปกครอง ถือเป็นเครื่องมือยึดเหนี่ยว ไม่ให้ผู้ปกครองทําร้ายหรือรังแกผู้ใต้ปกครอง

หลักการปกครอง จักรวรรดิวัตร 12 ประการ มีดังนี้

1 ควรพระราชทานโอวาทและอนุเคราะห์คนภายในราชสํานักและคนภายนอก

2 ควรทรงผูกพระราชไมตรีสมานราชสัมพันธ์กับกษัตริย์

3 ควรทรงสงเคราะห์พระราชวงศ์ตามควร

4 ควรทรงเกือกูลพราหมณ์ คฤหัสถ์ และคฤหบดีชน

5 ควรทรงอนุเคราะห์ประชาชนชาวนิคมชนบทโดยฐานานุรูป

6 ควรทรงอุปการะสมณพราหมณ์ผู้มีศีลประพฤติชอบด้วยพระราชทานไทยธรรมบริขารเกื้อกูลแก่ธรรมปฏิบัติ

7 ควรทรงจัดรักษาฝูงเนื้อ และนกด้วยพระราชทานอภัยไม่ให้ใครเบียดเบียนทําอันตรายจนเสื่อมสูญพืชพันธุ์

8 ควรทรงห้ามชนทั้งหลายไม่ให้ทํากิจการที่ไม่ประกอบด้วยธรรม ชักนําให้ตั้งอยู่ในกุศลสุจริตส่วนชอบ ประกอบการเลี้ยงชีพโดยทางธรรม

9 ชนใดขัดสนไม่มีทรัพย์พอเลี้ยงชีพโดยสัมมาอาชีวะได้ ควรพระราชทานพระราชทรัพย์เจือจานให้เลี้ยงด้วยวิธีอันเหมาะสม ไม่ให้แสวงหาด้วยทุจริต

10 ควรเสด็จเข้าไปใกล้สมณพราหมณ์ ตรัสถามถึงบุญ บาป กุศล อกุศลให้กระจ่างชัด

11 ควรทรงตั้งวิรัติห้ามจิตไม่ให้เกิดอธรรมราคะในอาคมนียสถาน

12 ควรทรงประหารวิสมโลภเจตนา ห้ามจิตไม่ให้ปรารถนาลาภที่มิควรได้

จักรวรรดิวัตร 12 ประการ จะครอบคลุมเรื่องเกี่ยวกับการปกครอง และมีความคล้ายคลึงกับ จารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชมาก

ธรรมที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสั่งสอนกษัตริย์ทั้งหลาย

ธรรมที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้สั่งสอนกษัตริย์ตามหัวเมืองที่ทรงสวามิภักดิ์ ซึ่งกว้างขวางกว่า ทศพิธราชธรรมและจักรวรรดิวัตร 12 ประการ ซึ่งปรากฏในไตรภูมิพระร่วง ดังนี้

1 ให้รักประชาชนผู้อยู่ใต้ปกครองอย่างเสมอหน้ากัน

2 ให้ผู้ปกครองยึดมั่นในหิริโอตัปปะ และดําเนินการปกครองตัดสินข้อพิพาทของประชาชนอย่างเที่ยงธรรม

3 ไม่ให้ขูดรีดเอาเปรียบประชาชน

4 ให้เลี้ยงดูไพร่ที่ใช้งานและทหารอย่างพอควร ไม่ควรเกณฑ์แรงงานผู้เฒ่า

5 ควรเก็บภาษีสินส่วยจากราษฎรตามอัตราเดิมไม่ควรเก็บส่วยเพิ่ม

6 ควรสนับสนุนช่วยเหลือเกื้อกูลพ่อค้าประชาชน ไม่ให้คิดดอกเบี้ย

7 ควรชุบเลี้ยงข้าราชสํานักให้สุขสบายโดยไม่คิดเสียดาย

8 ควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาทและไม่ลืมตน

9 ควรเลี้ยงดูสมณพราหมณ์ นักปราชญ์ราชบัณฑิตผู้รู้ธรรมและปรึกษาผู้รู้อยู่เสมอ

10 ผู้ปกครองควรให้สิ่งตอบแทนบําเหน็จรางวัลแก่ผู้ทําความดีมากน้อยตามประโยชน์ที่เขานํามาให้

ดังนั้นอาจกลาวได้ว่า “ธรรม” ที่ปรากฏในไตรภูมิพระร่วงข้างต้น ซึ่งได้แก่ ทศพิธราชธรรม ส่วนจักรวรรดิวัตร 12 ประการ และธรรมที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสั่งสอนกษัตริย์ทั้งหลาย ถือเป็น “หลักการปกครอง” ในสมัยพญาลิไท

Advertisement