การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561
ข้อสอบกระบวนวิชา MCS 1150 (MCS 1100) การสื่อสารมวลชนเบื้องต้น
คําสั่ง ให้นักศึกษาเลือกคําตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคําตอบเดียว

1 มนุษย์เผ่าอะไรที่สื่อสารด้วยภาษาท่าทาง
(1) Australopithecus
(2) Homo Habitis
(3) Neanderthal
(4) Cro-Magnon
ตอบ 3 หน้า 1 มนุษย์พวก Neanderthal (Homo Sapiens Neanderthalensis) ที่อาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยโบราณเมื่อประมาณ 150,000 – 125,000 ปีมาแล้ว จะสามารถสื่อสารด้วยภาษาท่าทาง โดยใช้วิธีการเคลื่อนไหวร่างกาย และใช้เสียงเท่าที่จะสามารถเปล่งออกมาได้เท่านั้น

Advertisement

2 มนุษย์เผ่าอะไรที่เชื่อว่าพูดได้เป็นพวกแรก

(1) Australopithecus
(2) Homo Habitis
(3) Neanderthal
(4) Cro-Magnon
ตอบ 4หน้า 1 มนุษย์ Cro – Magnon (Homo Sapiens Sapiens) ถือเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ ในยุคปัจจุบัน เพราะจะมีกล่องเสียง ลิ้น และโครงสร้างของริมฝีปากที่สามารถควบคุมเสียง ให้เปล่งออกมาได้เหมือนกับมนุษย์ในปัจจุบัน ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่มนุษย์พวกนี้อาจจะ
พูดได้เป็นพวกแรก จนกระทั่งมีการพัฒนาต่อมาจนกลายเป็นภาษา

3 ปรมาจารย์ที่ศึกษาศาสตร์ที่เกี่ยวกับการสื่อสาร คือ
(1) เพลโต
(2) อริสโตเติล
(3) โซเครติส
(4) ธาลิส
ตอบ 2 หน้า 3 อริสโตเติล (Aristotle) นักปราชญ์ชาวกรีก เป็นปรมาจารย์ที่ได้ศึกษาในเรื่องของ ศาสตร์ที่เกี่ยวกับการสื่อสาร และเป็นผู้ที่มองเห็นความสําคัญของการสื่อสารว่า การสื่อสารเป็นช่องทางที่ทําให้มนุษย์เราสามารถบรรลุจุดมุ่งหมายตามที่ต้องการได้

4 สื่อใดไม่เป็นสื่อมวลชน
(1) หนังสือพิมพ์
(2) กล้องถ่ายรูป
(3) โทรทัศน์
(4) นิตยสาร
ตอบ 2 หน้า 37 – 38 สื่อมวลชนที่สําคัญ มีดังนี้
1 สื่อสิ่งพิมพ์ ได้แก่ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร หนังสือ แผ่นปลิวโฆษณา ฯลฯ
2 ภาพยนตร์ ได้แก่ ภาพยนตร์โฆษณา ฯลฯ
3 สื่อการกระจายเสียงหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ เคเบิลทีวี วิดีโอคาสเซ็ท ฯลฯ
4 สื่อสังคมออนไลน์ เช่น หนังสือพิมพ์ออนไลน์ วิทยุอินเทอร์เน็ต ฯลฯ

ข้อ 5 – 7 จงใช้ตัวเลือกต่อไปนี้ตอบคําถาม

(1) การสื่อสารแบบขั้นตอนเดียว
(2) การสื่อสารแบบสองขั้นตอน
(3) การสื่อสารแบบหลายขั้นตอน
(4) การสื่อสารแบบมีส่วนร่วม

5 แบบจําลองการสื่อสารแบบใดที่ถูกนํามาใช้มากในการสื่อสารมวลชน
ตอบ 1 หน้า 46 การสื่อสารแบบขั้นตอนเดียว (One Step Flow Communication) หรือเรียกว่า ทฤษฎีเข็มฉีดยา (Hypodermic Needle Theory) คือ ข่าวสารที่ได้รับมาจากสื่อโดยตรงนั้น มีอิทธิพลมากต่อผู้รับสาร ซึ่งองค์กรหรือผู้ส่งข่าวสารจะเป็นผู้มีอํานาจและมีบทบาทสําคัญที่สุด เพราะเป็นผู้ที่กําหนดข่าวสารและวิธีการส่งข่าวสารไปยังผู้รับสาร โดยสามารถคาดคะเนได้ว่า จะเกิดผลเป็นอย่างไร คล้ายกับหมอที่ฉีดยาให้คนป่วย ดังนั้นจึงถือเป็นการสื่อสารในยุคแรกที่ ถูกนํามาใช้มากในการสื่อสารมวลชน เช่น รายการ “คืนความสุขให้ประเทศไทย” ทุกวันศุกร์, รายการ “ศาสตร์พระราชา” ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ซึ่งออกอากาศทุกช่อง ฯลฯ

6 การสื่อสารในรูปแบบใดที่ผู้รับสารสามารถตรวจสอบแหล่งข่าวสารได้จากหลากหลายช่องทาง
ตอบ 3 หน้า 46 – 47 การสื่อสารแบบหลายขั้นตอน (Multi Step Flow Communication) หรือ เรียกว่า ทฤษฎีกําหนดระเบียบวาระ (Agenda Setting Theory) คือ ข่าวสารที่ไปถึงผู้รับสาร อาจจะผ่านสื่อหลายชนิดด้วยกัน ซึ่งส่งผลให้ผู้รับสารสามารถตรวจสอบแหล่งข่าวสารได้จาก หลากหลายช่องทาง เช่น ผู้รับสารอาจได้รับข่าวสารทั้งจากการอ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุ และ ชมโทรทัศน์ ในขณะที่ผู้รับสารอีกหลายคนอาจได้รับข่าวสารโดยผ่านสื่อบุคคลและสื่อมวลชน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า การสื่อสารแบบนี้เป็นการรวมการสื่อสารแบบขั้นตอนเดียวและแบบ สองขั้นตอนเข้าด้วยกัน

7 การสื่อสารในรูปแบบใดที่ผู้รับสารสามารถรับรู้และเข้าใจข่าวสารได้จากผู้นําทางความคิด (Opinion
Leader)
ตอบ 2 หน้า 46 การสื่อสารแบบสองขั้นตอน (Two Step Flow Communication) หรือเรียกว่า ทฤษฎีสื่อสาร 2 จังหวะ (Two Step Flow Theory) คือ ข่าวสารไปถึงผู้รับสารในลักษณะ การส่งต่อกันเป็น 2 ทอด คือ ลําดับแรกข่าวสารไปถึงผู้นําทางความคิด (Opinion Leader) ในชุมชนหรือในกลุ่มสังคมก่อน เช่น กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน พระ นายกรัฐมนตรี ฯลฯ หลังจากนั้น จึงถูกถ่ายทอดไปยังบุคคลอื่นในกลุ่ม ส่งผลให้ข่าวสารจากสื่อมวลชนหรือผู้ส่งสารไม่มีอิทธิพล โดยตรงต่อผู้รับสารส่วนใหญ่

8 ปัจจัยแรกที่ทําให้ผู้รับสารเลือกเปิดรับสื่อเพื่อตอบสนองความพึงพอใจ คือปัจจัยใด
(1) ความต้องการ
(2) ความคาดหวัง
(3) ความพึงพอใจ
(4) ความทุกข์
ตอบ 1 หน้า 55 – 56, (คําบรรยาย) ทฤษฎีการใช้สื่อเพื่อประโยชน์และความพึงพอใจ (Uses and Gratification Approach) มองว่า ปัจจัยแรกที่ทําให้ผู้รับสารเลือกเปิดรับสื่อเพื่อตอบสนอง ความพึงพอใจจะมาจาก “ความต้องการ” (Need) ของแต่ละคน

9 ตามหลักการของทฤษฎีการปลูกฝังความเป็นจริงที่เชื่อว่า ผู้รับสารที่บริโภคข่าวสารจากสื่อโทรทัศน์น้อย
จะมีบุคลิกเช่นใด
(1) เชื่อข่าวสารที่นําเสนอจากโทรทัศน์ และค่อนข้างหวาดกลัวโลกแห่งความเป็นจริง
(2) ตรวจสอบข่าวสารจากแหล่งอื่นควบคู่ไปกับแหล่งข่าวจากโทรทัศน์
(3) เชื่อว่าสื่อมีอิทธิพลต่อความคิด
(4) เชื่อว่าสื่อนําเสนอเนื้อหาข่าวสารตามความเป็นจริง

ตอบ 2 หน้า 54, (คําบรรยาย) ทฤษฎีการปลูกฝังความเป็นจริง (Cultivation Theory) มองว่า คนที่รับชมโทรทัศน์มากจะเชื่อว่าสื่อมีอิทธิพลต่อความคิด และสื่อนําเสนอเนื้อหาข่าวสารตามความเป็นจริง ซึ่งเมื่อเปิดรับชมโทรทัศน์ที่มีแต่ความรุนแรงมากก็จะค่อนข้างหวาดกลัว โลกแห่งความเป็นจริง และมองโลกว่าเต็มไปด้วยความโหดร้าย ส่วนผู้ที่บริโภคข่าวสารจาก สื่อโทรทัศน์น้อยจะตรวจสอบข่าวสารจากแหล่งอื่นควบคู่กันไป และจะเลือกเชื่อแต่ส่วนที่สอดคล้องกับประสบการณ์ในชีวิตจริงของตน

10 ข้อใดไม่ใช่โลกที่แวดล้อมตัวผู้รับสารตามหลักการของทฤษฎีการปลูกฝังความเป็นจริง
(1)โลกแห่งความเป็นจริงที่เหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น
(2) โลกในอุดมคติ
(3) โลกที่เหตุการณ์ต่าง ๆ ถูกนําเสนอผ่านสื่อ
(4) โลกของผู้รับสารแต่ละคนที่เลือกตีความเหตุการณ์นั้น ๆ
ตอบ 2 หน้า 54, (คําบรรยาย) ทฤษฎีการปลูกฝังความเป็นจริง (Cultivation Theory) มองว่า โลกที่แวดล้อมตัวผู้รับสารมีอยู่ 2 โลก ได้แก่
1 โลกที่เป็นจริง คือ โลกแห่งความเป็นจริง ที่เหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น
2 โลกผ่านสื่อ คือ โลกที่เหตุการณ์ต่าง ๆ ถูกนําเสนอผ่านสื่อ (ซึ่งทั้ง 2 โลกข้างต้นจะขึ้นอยู่กับโลกของผู้รับสารแต่ละคนที่เลือกตีความเหตุการณ์นั้น ๆ)

11 ข้อใดไม่ใช่การทําหน้าที่ (Function) ของสื่อมวลชนตามหลักการของทฤษฎีหน้าที่นิยม
(1) เพื่อความบันเทิง
(2) เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น
(3) เพื่อรายงานเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
(4) เพื่อให้ยอมรับในระบบทุนนิยมว่าดีที่สุด
ตอบ 4หน้า 50 – 51, 53, (คําบรรยาย) ตามหลักการของทฤษฎีหน้าที่นิยม (Functional Theory) มองว่า การทําหน้าที่ (Function) ของสื่อมวลชน ได้แก่
1 เพื่อรายงานเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
2 เพื่อประสานความขัดแย้งของกลุ่มต่าง ๆ
3 เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น
4 เพื่อความบันเทิง (ถือเป็นหน้าที่หลักเพื่อตอบสนองระบบทุนนิยม)

12 ข้อใดคือหน้าที่หลักของสื่อมวลชนตามหลักการของทฤษฎีหน้าที่นิยม เพื่อตอบสนองระบบทุนนิยม
(1) เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น
(2) เพื่อความบันเทิง
(3) เพื่อรายงานเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
(4) เพื่อประสานความขัดแย้งของกลุ่มต่าง ๆ
ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 11 ประกอบ

13 ข้อใดคือการไม่ทําหน้าที่ (Dysfunction) ของสื่อมวลชนตามหลักการของทฤษฎีหน้าที่นิยม
(1) นางสาวเอ พึงพอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
(2) นายบี รู้สึกว่าตนเองโชคดีหลังจากที่ดูรายการไมค์ปลดหนี้
(3) นางซี รู้สึกคับข้องใจกับสภาพสังคมที่ตนเองใช้ชีวิตอยู่
(4) นายดี สามารถเล่าประวัติความเป็นมาของอาณาจักรอยุธยาให้นักท่องเที่ยวทราบได้
ตอบ 3 หน้า 53, (คําบรรยาย) ตามหลักการของทฤษฎีหน้าที่นิยม (Functional Theory) มองว่า การไม่ทําหน้าที่ (Dysfunction) ของสื่อมวลชน คือ การนําเอารายการหรือภาพยนตร์ต่าง ๆ ของประเทศที่เจริญแล้วมาสู่ประเทศกําลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา จนส่งผลให้คนในประเทศที่ ด้อยกว่ารู้สึกคับข้องใจกับสภาพสังคมที่ตนเองใช้ชีวิตอยู่ โดยเน้นทางด้านการอยากได้อยากมี ในวัตถุต่าง ๆ เหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

14 ข้อใดคือการทําหน้าที่เพื่อเติมเต็มของสื่อมวลชน (Functional Equivalence) ตามหลักการของ
ทฤษฎีหน้าที่นิยม
(1) สื่อรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมตามความเป็นจริง
(2) สื่อน่าเสนอโฆษณาเพื่อกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคให้ใช้จ่ายมากขึ้น
(3) สื่อนําเสนอว่าระบบทุนนิยมเป็นระบบที่เหมาะสมที่สุดแล้วกับสังคมของเรา
(4) สื่อนําเสนอข่าวสารเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในสังคม
ตอบ 3 (คําบรรยาย) ตัวอย่างการทําหน้าที่เพื่อเติมเต็มของสื่อมวลชน (Functional Equivalence) ตามหลักการของทฤษฎีหน้าที่นิยม ได้แก่ การที่สื่อมวลชนนําเสนอว่าระบบทุนนิยมเป็นระบบ ที่เหมาะสมที่สุดแล้วกับสังคมของเรา ดังนั้นเหตุผลของการทําหน้าที่นี้ก็เพื่อต้องการจะบอกว่า สังคมที่เราอยู่ตอนนี้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นภาวะเงินฝืด เงินเฟ้อ หรือการ ที่ต้องตกงานแม้ว่าจะขยันก็ตาม

15 ข้อใดคือวัตถุประสงค์ของการเลือกใช้สื่อของผู้รับสารเพื่อตอบสนองความพึงพอใจ
(1) เพื่อแสวงหาความมั่นคงในจิตใจ
(2) เพื่อยกระดับรสนิยมของตนเองให้สูงขึ้น
(3) เพื่อสร้างเอกลักษณ์ของตนเอง
(4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 4 หน้า 55 – 57, (คําบรรยาย) ทฤษฎีการใช้สื่อเพื่อประโยชน์และความพึงพอใจ (Uses and Gratification Apprcach) มองว่า การเลือกใช้สื่อมวลชนของผู้รับสารเป็นไปเพื่อตอบสนอง ความพึงพอใจของตน โดยเฉพาะความต้องการทางด้านจิตใจและสังคม ดังนี้
1 เพื่อการติดต่อสื่อสารกับบุคคลรอบข้าง หรือใช้เป็นหัวข้อในการสนทนา
2 เพื่อแสวงหาความมั่นคงทางจิตใจ
3 เพื่อแสวงหาความหมายและทําความเข้าใจ
4 เพื่อสร้างอัตลักษณ์/เอกลักษณ์ของตนเองหรือกลุ่มที่ตนสังกัด
5 เพื่อยกระดับรสนิยมของตนเองให้สูงขึ้น หรือปรับปรุงบุคลิกภาพของตนเองให้ดีขึ้น

16 ข้อใดไม่ใช่รูปแบบการถอดรหัสสาร (Decoding) ของผู้รับสารตามแนวคิดเกี่ยวกับพฤติกรรม การเข้ารหัส & ถอดรหัสสาร
(1) ผู้รับสารเห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้ส่งสารนําเสนอทั้งหมด
(2) ผู้รับสารไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้ส่งสารนําเสนอมาทั้งหมด
(3) ผู้รับสารเมินเฉยต่อสิ่งที่ผู้ส่งสารนําเสนอมาทั้งหมด
(4) ผู้รับสารเห็นด้วยบ้าง/ไม่เห็นด้วยบ้างกับสิ่งที่ผู้ส่งสารนําเสนอ
ตอบ 3 หน้า 47, (คําบรรยาย) รูปแบบการถอดรหัสสาร (Decoding) ของผู้รับสารตามแนวคิด เกี่ยวกับพฤติกรรมการเข้ารหัสและถอดรหัส (Encoding & Decoding Concept) มีอยู่ 3 ลักษณะ ดังนี้
1 ยอมรับ คือ ผู้รับสารเห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้ส่งสารนําเสนอมาทั้งหมด
2 ต่อรอง คือ ผู้รับสารเห็นด้วยเพียงบางส่วนกับข้อมูลที่ได้รับ และปรับส่วนที่ไม่เห็นด้วย
ให้เข้ากับความคิดของตน
3 โต้แย้ง คือ ผู้รับสารไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้ส่งสารนําเสนอมาทั้งหมด

17 ข้อใดคือสมญานามที่สื่อมวลชนได้รับจากการคาดหวังของประชาชน
(1) สุนัขเฝ้าบ้าน
(2) ฐานันดรที่ 4
(3) ผู้ชี้ทางสว่าง
(4) ถูกทั้งข้อ 1 และ 2

ตอบ 4 (คําบรรยาย) สมญานามที่สื่อมวลชนได้รับจากการคาดหวังของประชาชน คือ การทําหน้าที่ เป็น “ฐานันดรที่ 4” ซึ่งสามารถที่จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างอิสระ และเป็นเวทีของการ อภิปรายแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี รวมทั้งการที่สื่อมวลชนทําหน้าที่เป็น “สุนัขเฝ้าบ้าน” เพื่อติดตามผลงานของรัฐบาล และดูแลผลประโยชน์ของประชาชน

18 ข้อใดคือลักษณะของสื่อมวลชนที่เกิดขึ้นในยุคทฤษฎีอิสรภาพนิยมหรือเสรีนิยม
(1) มีความคาดหวังให้คนในสังคมทุกชนชั้นมีความเท่าเทียม
(2) มุ่งเน้นการสนับสนุนนโยบายของรัฐ และรับใช้ความมั่นคงของรัฐ
(3) สื่อมวลชนปฏิบัติงานโดยยึดหลัก “ความรับผิดชอบ” ควบคู่กับ “การมีเสรีภาพ”
(4) บรรดาเจ้าของทุนขนาดใหญ่ได้เข้ามากว้านซื้อกิจการหนังสือพิมพ์รายย่อย
ตอบ 4 หน้า 61 – 63, (คําบรรยาย) ทฤษฎีอิสรภาพนิยมหรือเสรีนิยม ทําให้อุตสาหกรรมสื่อมวลชน ขยายตัวอย่างกว้างขวาง และเริ่มให้ความสําคัญกับมิติทางเศรษฐกิจ ทําให้เกิดผลที่ตามมา คือ บรรดาเจ้าของทุนขนาดใหญ่ได้เข้ามากว้านซื้อกิจการหนังสือพิมพ์รายย่อย จนในที่สุดก็เหลือหนังสือพิมพ์รายใหญ่เพียงไม่กี่ราย

19 การที่ผู้นําบางประเทศใช้การโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นของสังคม เกิดขึ้นในยุคทฤษฎีสื่อสารมวลชนแบบใด
(1) ทฤษฎีอํานาจนิยม
(2) ทฤษฎีโซเวียตคอมมิวนิสต์
(3) ทฤษฎีสื่อมวลชนเพื่อการพัฒนา
(4) ทฤษฎีความรับผิดชอบต่อสังคม
ตอบ 2 หน้า 63 – 64, (คําบรรยาย) ระบบสื่อมวลชนตามทฤษฎีโซเวียตคอมมิวนิสต์
มีลักษณะสําคัญดังนี้
1 ทฤษฎีนี้เริ่มต้นในสหภาพโซเวียตรัสเซีย
2 มีแนวคิดมาจากลัทธิมาร์กซ์ เลนิน สตาลิน เฮเกล และความคิดของรัสเซีย ในคริสต์ศตวรรษที่ 19
3 ผู้นําบางประเทศอาจใช้การโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นของสังคม เช่น กลยุทธ์การใช้สื่อของ Adolf Hitler
4 รัฐเป็นเจ้าของสื่อมวลชนทุกประเภท
5 สื่อมวลชนถูกควบคุมอย่างใกล้ชิดโดยเจ้าหน้าที่ ของรัฐ เพราะสื่อมวลชนถือเป็นเครื่องมือของรัฐ ซึ่งไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐได้ ฯลฯ

20 ปรากฏการณ์ที่สื่อมวลชนต้องพัฒนา “ความรับผิดชอบ” ควบคู่กับ “การมีเสรีภาพ” เกิดขึ้นในยุคทฤษฎี สื่อสารมวลชนแบบใด
(1) ทฤษฎีอิสรภาพนิยมหรือเสรีนิยม
(2) ทฤษฎีสื่อมวลชนที่ประชาชนเป็นผู้มีส่วนร่วมแบบประชาธิปไตย
(3) ทฤษฎีสื่อมวลชนเพื่อการพัฒนา
(4) ทฤษฎีความรับผิดชอบต่อสังคม
ตอบ 4 หน้า 64 – 65, (คําบรรยาย) ระบบสื่อมวลชนตามทฤษฎีความรับผิดชอบต่อสังคม มีดังนี้
1 ทฤษฎีนี้เริ่มต้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในศตวรรษที่ 20
2 เน้นการพัฒนาความรับผิดชอบต่อสังคมควบคู่ไปกับการมีเสรีภาพ
3 มีวัตถุประสงค์ที่สําคัญที่สุด คือ เพื่อการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยสื่อมวลชนจะต้องเป็นตัวแทนของคนทุกกลุ่มในสังคม
4 การควบคุมสื่อมวลชนสามารถกระทําได้โดยใช้ความคิดเห็นของชุมชน ปฏิกิริยาของผู้อ่าน และผู้ฟัง รวมทั้งจริยธรรมของวิชาชีพสื่อสารมวลชน
5 เอกชนสามารถเป็นเจ้าของสื่อมวลชนได้ แต่รัฐบาลก็สามารถเข้ามาดําเนินการแทนได้ ถ้าเห็นว่าเอกชนดําเนินการไม่เหมาะสม ฯลฯ

21 เพราะเหตุใดสื่อมวลชนจําเป็นต้องมี “บรรทัดฐาน” ในการทํางาน
(1) เพื่อขยายกลุ่มผู้รับสารให้กว้างมากขึ้น
(2) เพื่อองค์กรจะได้ทํากําไรมากขึ้น
(3) เพื่อคอยเหนี่ยวรั้งมิให้การทํางานของสื่อมวลชนตกต่ำ หรือเบี่ยงเบนไปจากกฎเกณฑ์
หรือจรรยาบรรณมากไปกว่านี้
(4) เพื่อเป็นข้อบังคับในการทํางานของสื่อมวลชน
ตอบ 3 (คําบรรยาย) ตามหลักการของทฤษฎีบรรทัดฐานของสื่อมวลชน มองว่า สาเหตุที่สื่อมวลชน จําเป็นต้องมี “บรรทัดฐาน” ในการทํางาน คือ เพื่อคอยเหนี่ยวรั้งมิให้การทํางานของสื่อมวลชน ตกต่ำ หรือเบี่ยงเบนไปจากกฎเกณฑ์/กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้สื่อ การกํากับดูแล และ จรรยาบรรณของสื่อ

22 ทฤษฎีสื่อสารมวลชนแบบใดที่ระบุว่า สื่อมวลชนจะต้องเป็นตัวแทนของคนทุกกลุ่มในสังคม
(1) ทฤษฎีอิสรภาพนิยมหรือเสรีนิยม
(2) ทฤษฎีสื่อมวลชนที่ประชาชนเป็นผู้มีส่วนร่วมแบบประชาธิปไตย
(3) ทฤษฎีสื่อมวลชนเพื่อการพัฒนา
(4) ทฤษฎีความรับผิดชอบต่อสังคม
ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 20 ประกอบ

23 สื่อมวลชนทําหน้าที่เป็นเครื่องมือสนับสนุนนโยบายของรัฐ โดยที่รัฐไม่จําเป็นต้องเป็นเจ้าของสื่อ
เกิดขึ้นในยุคทฤษฎีสื่อสารมวลชนแบบใด
(1) ทฤษฎีอํานาจนิยม
(2) ทฤษฎีโซเวียตคอมมิวนิสต์
(3) ทฤษฎีสื่อมวลชนเพื่อการพัฒนา
(4) ทฤษฎีความรับผิดชอบต่อสังคม
ตอบ 1 หน้า 60 – 61, (คําบรรยาย) ระบบสื่อมวลชนตามทฤษฎีอํานาจนิยม มีลักษณะสําคัญดังนี้
1 มีวิวัฒนาการเริ่มต้นที่ประเทศอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17
2 มีรากฐานมาจากลัทธิเผด็จการ โดยมีที่มาจากปรัชญาของระบบอํานาจเด็ดขาดของกษัตริย์ หรือปรัชญาที่เกี่ยวกับอํานาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และรัฐบาลของกษัตริย์
3 วัตถุประสงค์หลักที่สําคัญของสื่อมวลชน คือ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมนโยบายของรัฐ หรือผู้ปกครองที่กําลังมีอํานาจอยู่ และเพื่อรับใช้รัฐ
4 ข้อห้ามสําหรับสื่อมวลชน คือ ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์กลไกทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ ปกครองที่กําลังมีอํานาจ
5 สื่อมวลชนทําหน้าที่เป็นเครื่องมือที่สนับสนุนนโยบายของรัฐบาล โดยที่รัฐบาลไม่จําเป็น
ต้องเป็นเจ้าของกิจการสื่อมวลชนเสมอไป ฯลฯ

24 การที่สื่อมวลชนนําเสนอข่าวสารที่มาจากประเทศกําลังพัฒนาที่อยู่ข้างเคียงก่อนนําเสนอข่าวสารที่มาจากประเทศตะวันตก เกิดขึ้นในยุคทฤษฎีสื่อสารมวลชนแบบใด
(1) ทฤษฎีอํานาจนิยม
(2) ทฤษฎีโซเวียตคอมมิวนิสต์
(3) ทฤษฎีสื่อมวลชนเพื่อการพัฒนา
(4) ทฤษฎีความรับผิดชอบต่อสังคม
ตอบ 3หน้า 67, (คําบรรยาย) ระบบสื่อมวลชนตามทฤษฎีสื่อมวลชนเพื่อการพัฒนา มีดังนี้
1 สื่อมวลชนทําหน้าที่และปฏิบัติงานด้านการพัฒนาให้สอดคล้องกับนโยบายของชาติ
2 สื่อมวลชนควรให้ความสําคัญต่อเนื้อหาด้านวัฒนธรรมและภาษาของชาติเป็นลําดับแรก
3 ข่าวสารที่นําเสนอต้องให้ความสนใจกับประเทศกําลังพัฒนาที่อยู่ข้างเคียงก่อนนําเสนอ
ข่าวสารที่มาจากประเทศตะวันตก

4 เสรีภาพของสื่อมวลชนสามารถควบคุมได้
5 รัฐมีสิทธิแทรกแซงหรือจํากัดการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนด้วยวิธีการเซ็นเซอร์ การให้เงินอุดหนุน และการควบคุมสื่อมวลชนโดยตรงจึงเป็นวิธีการที่มีเหตุผล

25 ปรากฏการณ์ใดเกิดขึ้นในยุคระบบสื่อมวลชนตามทฤษฎีสื่อมวลชนที่ประชาชนเป็นผู้มีส่วนร่วม
แบบประชาธิปไตย
(1) เริ่มมีกระบวนการตรวจสอบกันเองขององค์กรสื่อ
(2) เกิดการพัฒนาสื่อชุมชนที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
(3) ยึดหลักเสรีภาพและความรับผิดชอบต่อสังคมในการทํางาน
(4) มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่น
ตอบ 2 หน้า 67 – 68, (คําบรรยาย) ระบบสื่อมวลชนตามทฤษฎีสื่อมวลชนที่ประชาชนเป็นผู้มีส่วนร่วมแบบประชาธิปไตย จะสนับสนุนสื่อมวลชนที่มีความหลากหลาย สื่อที่มีขนาดเล็ก และเน้นการพัฒนาสื่อชุมชน เช่น วิทยุชุมชน สื่อพื้นบ้าน ฯลฯ ให้กระจายไปตามท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

26 อักษรภาพที่ชาวสุเมเรียนใช้ในการสื่อสาร มีชื่อว่าอะไร
(1) คิวนิฟอร์ม
(2) เฮียโรกลิฟิก
(3) ไทม์นิวโรมัน
(4) ไทกรีสยูเฟรติส
ตอบ 1 หน้า 78 – 79 ระบบเสียงของภาษาเขียนเริ่มเกิดขึ้นเมื่อชาวสุเมเรียน (Sumerians) ซึ่งเป็น เกษตรกรที่อาศัยอยู่ระหว่าง 3,000 – 1,700 B.C. ภายใต้ดินแดนที่เรียกว่า Fertile Crescent (ดินแดนที่รวมเอาส่วนหนึ่งของ Iraq อยู่ด้วย) ได้นําตัวอักษรมาแก้ไขปรับปรุง และเป็นผู้ที่เริ่ม ใช้การเขียนตัวอักษรคิวนิฟอร์ม (Cuneiform Writing) ไว้ในแผ่นดินเหนียว (Clay Tablet) ซึ่งนํามาใช้เป็นสื่อกลางได้ดีกว่าถ้าจะเปรียบเทียบกับแผ่นหิน

27 อักษรภาพที่ชาวอียิปต์โบราณใช้ในการวาดภาพสื่อเรื่องราวต่าง ๆ มีชื่อว่าอะไร
(1) คิวนิฟอร์ม
(2) เฮียโรกลิฟิก
(3) ไทม์นิวโรมัน
(4) ไทกริสยูเฟรติส
ตอบ 2 หน้า 78, (คําบรรยาย) ชาวอียิปต์โบราณถือเป็นพวกที่มีอํานาจมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในยุค เดียวกัน เพราะพวกเขาได้คิดตัวอักษรภาพที่มีชื่อว่า “เฮียโรกลิฟิก” (Hieroglyphics) เพื่อใช้ ในการวาดภาพแสดงความหมายหรือสื่อเรื่องราวต่าง ๆ

28 หนังสือในยุคแรกเริ่มของชาวยุโรปมีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร
(1) ปรัชญา
(2) กฎหมาย
(3) ดาราศาสตร์
(4) ศาสนาคริสต์
ตอบ 4 หน้า 81 – 83, (คําบรรยาย) หนังสือในยุคแรกเริ่มของชาวยุโรปจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนา คริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก โดยบาทหลวงที่ขยันหมั่นเพียรได้คัดลอกหนังสือทางศาสนาคริสต์ มากกว่าพันเล่ม และส่วนใหญ่ยังคงใช้ภาษาละติน

29 หนังสือในยุคแรกเริ่มของชาวอเมริกาเหนือมีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร
(1) ปรัชญา
(2) กฎหมาย
(3) ดาราศาสตร์
(4) ศาสนาคริสต์
ตอบ 4 หน้า 90 – 91, (คําบรรยาย) ก่อนปี ค.ศ. 1800 หนังสือในยุคแรกเริ่มของชาวอเมริกาเหนือ จะมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับศาสนาคริสต์ นิกายโปรเตสแตนท์ หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1855 นอกจาก หนังสือที่เกี่ยวข้องกับคริสต์ศาสนาแล้ว ยังมีการพิมพ์หนังสือประเภทนวนิยายออกมาเผยแพร่อย่างมากมาย

30 การเกิดขึ้นของเครื่องพิมพ์ของกูเตนเบิร์กส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงใดเป็นอย่างแรกในสังคมยุโรป
(1) เริ่มมีการพิมพ์หนังสือทางโลกนอกเหนือจากเรื่องราวของศาสนาคริสต์มากขึ้น
(2) พระคัมภีร์ไบเบิลถูกแปลเป็นภาษาท้องถิ่นมากขึ้น
(3) เกิดวรรณกรรมพื้นบ้านมากขึ้น
(4) เกิดการค้นพบทวีปอเมริกาเหนือ
ตอบ 2 หน้า 88 – 89, (คําบรรยาย) หลังจากเครื่องพิมพ์ของกูเตนเบิร์กแพร่หลาย ได้มีการพิมพ์ พระคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาท้องถิ่นมากขึ้น เช่น ภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน โปรตุเกส สเปน และอิตาเลียน (จากเดิมที่มีแต่ภาษาละติน) ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงประการแรก ในสังคมยุโรป

31 หนังสือประเภทใดที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายหลังจากที่การพิมพ์หนังสือภาษาท้องถิ่นเริ่มเข้ามาแทนที่
ภาษาละตินในทวีปยุโรป
(1) หนังสือนวนิยาย
(2) หนังสือปรัชญา
(3) หนังสือนิทานอีสป
(4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 2 หน้า 89, (คําบรรยาย) การพิมพ์หนังสือภาษาท้องถิ่นแทนที่ภาษาละตินในทวีปยุโรป ทําให้ เนื้อหาของหนังสือมีความหลากหลาย เช่น เนื้อหาด้านวิทยาศาสตร์ ปรัชญา และการค้นพบโลกใหม่ ฯลฯ

32 เพราะเหตุใดหนังสือจึงไม่ได้รับความนิยมมากนักในยุคแรกเริ่มทั้งในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ
(1) มีแต่หนังสือที่เกี่ยวกับศาสนา
(2) หนังสือที่ผลิตออกมาต้องผ่านการอนุญาตจากรัฐบาล
(3) ประชาชนให้ความสําคัญกับการทํางาน
(4) สังคมเป็นชนบท การเดินทางยากลําบาก
ตอบ 3 (คําบรรยาย) สาเหตุที่หนังสือไม่ได้รับความนิยมมากมายนักในยุคแรกเริ่มทั้งในทวีปยุโรปและ อเมริกาเหนือ คือ มีประชาชนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่อ่านออกเขียนได้ เนื่องจากให้ความสําคัญ กับการศึกษาน้อย และมุ่งเน้นกับการทํางานเกษตรกรรมมากกว่า

33 คําว่า Paper ที่แปลว่า กระดาษ มีที่มาจากคํา ๆ ใด
(1) Papyrus
(2) Papier
(3) Paprica
(4) Pacquiao
ตอบ 1 หน้า 79 ในยุค 3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช อียิปต์สามารถผลิตกระดาษได้สําเร็จเป็นชาติแรก โดยได้พัฒนาวิธีการทํากระดาษมาจากต้น Papyrus (หรือปัจจุบันเรียกว่า Paper) ซึ่งเป็นต้นไม้ จําพวกต้นกกหรือหญ้าที่ขึ้นอยู่ในบริเวณที่มีน้ําเฉอะแฉะริมฝั่งแม่น้ําไนล์ (The Nile)

34 ข้อใดไม่ใช่บุคลิกภาพของคนที่ชอบอยู่กับสื่อหนังสือ
(1) มีความเป็นปัจเจก
(2) มีหลากหลายอารมณ์
(3) มีเหตุมีผล
(4) ชอบจินตนาการ
ตอบ 2 (คําบรรยาย) บุคลิกภาพของคนที่ชอบอยู่กับสื่อหนังสือ มีดังนี้
1 แยกตัวอย่างโดดเดี่ยว
2 รักษาระยะห่างระหว่างตัวเองกับเรื่องที่อ่าน
3 ส่งเสริมวิธีคิดแบบมีเหตุมีผล
4 ชอบจินตนาการ
5 ส่งเสริมทัศนคติแบบปัจเจกบุคคล

35 นิตยสารของไทยที่เพิ่งปิดตัวไปเมื่อต้นปี พ.ศ. 2561 ยกเว้นข้อใด
(1) คู่สร้างคู่สม
(2) ขวัญเรือน
(3) ลลนา
(4) ดิฉัน

ตอบ 3 (คําบรรยาย) นิตยสารของประเทศไทยที่เพิ่งปิดตัวไปเมื่อต้นปี พ.ศ. 2561 ได้แก่ ขวัญเรือน คู่สร้างคู่สม และดิฉัน ซึ่งนิตยสารทั้ง 3 เล่ม วางแผงฉบับสุดท้ายในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 (ส่วนนิตยสารลลนา ออกวางแผงฉบับแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 และปิดตัวลงในปี พ.ศ. 2538)

36 ข้อใดคือการปรับตัวของร้านหนังสือในยุคปัจจุบัน
(1) จัดหมวดหมู่หนังสือตาม Life Style ของลูกค้า
(2) ขยายสาขาของร้านตามห้างสรรพสินค้าชื่อดัง
(3) วางจําหน่ายเฉพาะหนังสือขายดี (Best Seller)
(4) มีการพิมพ์หนังสือเพิ่มมากขึ้น
ตอบ 1 (คําบรรยาย) การปรับตัวของร้านหนังสือในยุคปัจจุบัน คือ มีการจัดหมวดหมู่หนังสือหรือ แยกประเภทตามรูปแบบการใช้ชีวิต (Life Style) ของลูกค้า จัดทําระบบฐานข้อมูลของลูกค้า เพื่อนํามาวิเคราะห์ รวมถึงการจัดกิจกรรมทางการตลาดต่าง ๆ เพื่อให้ตรงกับความต้องการ ของผู้บริโภคมากขึ้น

37 ข้อใดคือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสังคมก้าวผ่านยุคการพูดมาสู่ยุคการเขียน
(1) การบันทึกประวัติศาสตร์ผ่านการบอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่น
(2) มีการเกิดขึ้นของนิยายปรัมปราหรือตํานานมากขึ้น
(3) เน้นการท่องจําในรูปแบบของสูตร
(4) ให้ความสําคัญกับเจ้าของผลงาน
ตอบ 4 หน้า 69 – 70, (คําบรรยาย) ในยุคของการพูดนั้น การส่งผ่านความรู้จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คน อีกรุ่นหนึ่งต้องอาศัยการท่องจําและการบอกเล่าแบบปากต่อปาก เช่น การเล่านิยายปรัมปรา หรือตํานาน เพื่อเก็บรักษาประวัติศาสตร์ของกลุ่มคนในสังคมไว้ แต่เมื่อมีภาษาเขียนเกิดขึ้น ความรู้ต่าง ๆ ก็ได้รับการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และมีการให้ความสําคัญกับเจ้าของ ผลงานที่สร้างสรรค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้า

38 หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทยที่เกิดจากมิชชันนารีชาวอเมริกัน มีชื่อว่าอะไร
(1) Bangkok Post
(2) Bangkok Recorder
(3) Bangkok Bradley
(4) Bangkok Today
ตอบ 2 หน้า 101 – 102, 126 หนังสือพิมพ์ไทยในยุคราชสํานัก จะเริ่มนับจากการที่หมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) มิชชันนารีชาวอเมริกัน ได้เริ่มดําเนินการพิมพ์หนังสือพิมพ์ฉบับแรก ที่มีชื่อว่า “บางกอกรีคอร์เดอร์” (Bangkok Recorder) ออกมาให้คนไทยในสมัยนั้นได้อ่าน (แต่นักวิชาการบางท่านก็ได้ให้ความเห็นว่า บางกอกรีคอร์เดอร์มีลักษณะเป็นนิตยสาร มิใช่หนังสือพิมพ์)

39 ข้อใดไม่ใช่เกณฑ์ด้านคุณค่าข่าวในการคัดเลือกข่าวเพื่อนําเสนอ
(1) ความดราม่า
(2) เทคโนโลยีและความก้าวหน้า
(3) ความเร้าอารมณ์ทางเพศ
(4) ความแปลก
ตอบ 1(คําบรรยาย) คุณค่าเชิงข่าวในการคัดเลือกข่าวเพื่อนําเสนอ ได้แก่
1 ความใหม่สด/รวดเร็ว
2 ความใกล้ชิด
3 ความต่อเนื่อง/ผลกระทบ
4 เรื่องที่คนสนใจ เรื่องส่วนบุคคล
5 ความก้าวหน้า
6 ความเด่น
7 ความแปลก
8 ความขัดแย้ง
9 ความมีเงื่อนงํา
10 ความเร้าอารมณ์ทางเพศ
11 เทคโนโลยี/ความก้าวหน้า

40 หลังจากการเกิดขึ้นของเครื่องพิมพ์ของกูเตนเบิร์ก ได้เริ่มมีการเผยแพร่เรื่องราวต่าง ๆ ในรูปแบบของ
เอกสารสั้น ยกเว้นเรื่องใด
(1) การค้นพบดินแดนใหม่ ๆ
(2) การเดินทางจาริกแสวงบุญในทวีปยุโรป
(3) การปฏิวัติฝรั่งเศส
(4) การเดินทางไปตามเมืองต่าง ๆ ในทวีปยุโรป
ตอบ 3(คําบรรยาย) หลังจากการเกิดขึ้นของเครื่องพิมพ์กูเต็นเบิร์ก ได้เริ่มมีการเผยแพร่เรื่องราว ต่าง ๆ และพิมพ์เหตุการณ์สําคัญในรูปแบบเอกสารสั้น เช่น การค้นพบโลกใหม่ของโคลัมบัส, การเดินทางไปตามเมืองต่าง ๆ ในทวีปยุโรป และการเดินทางจาริกแสวงบุญ เป็นต้น

41 ในช่วงที่ประเทศไทยมีการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาล หนังสือพิมพ์ในยุคนั้นถูกจํากัดสิทธิเสรีภาพในด้านใด
(1) เศรษฐกิจ
(2) สังคม
(3) บันเทิง
(4) การเมือง
ตอบ 4หน้า 102 – 103 ในช่วงที่ไทยมีการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาล หนังสือพิมพ์ในยุคนั้นถูกจํากัด สิทธิเสรีภาพในด้านการเสนอข่าวความขัดแย้งทางการเมือง ทําให้เนื้อหาของหนังสือพิมพ์ เริ่มยึดแนวปลอดภัยไว้ก่อน เพื่อป้องกันตนเองจากการถูกปิด ถูกเซ็นเซอร์ และถูกกวาดล้าง จากภาครัฐ ซึ่งส่งผลต่อมาในอนาคต คือ หนังสือพิมพ์เคยชินต่อการเสนอเนื้อหาข่าวแบบ เบาสมอง ข่าวบันเทิง อาชญากรรม ฯลฯ มากกว่าเนื้อหาด้านการเมือง

42 ชื่อโรงภาพยนตร์ในครั้งแรก ชื่อว่า
(1) The Odeon
(2) The Nickelodeon
(3) Hollywood
(4) Vaudeville
ตอบ 2 หน้า 144 คําว่า “Nickelodeon” เป็นชื่อที่ใช้เรียกโรงภาพยนตร์ในยุคแรก ซึ่งมีจุดเริ่มต้นขึ้น ใน ค.ศ. 1905 โดยผู้ที่ร่วมกันลงทุน 2 คน มาจากเมือง Pittsburgh คือ Harry P. Davis และ John P. Harris ได้เริ่มต้นธุรกิจการทําโรงภาพยนตร์ที่มีชื่อว่า The Nickelodeon อยู่ในเมือง Pittsburgh และเก็บเงินค่าเข้าชมภาพยนตร์จากคนดูเพียง 5 เซ็นต์เท่านั้น จึงส่งผลให้ในเวลา เพียงแค่สัปดาห์เดียว พวกเขาก็สามารถทําเงินได้ถึง 1,000 เหรียญสหรัฐ

43. หนังสือพิมพ์ทั้งในไทยและต่างประเทศส่วนมากใช้วิธีการใดในการป้องกันตนเองจากการถูกปิด
ถูกเซ็นเซอร์ และถูกกวาดล้างจากภาครัฐ
(1) ลุกขึ้นมาโจมตีรัฐบาลอย่างเปิดเผย
(2) นําเสนอเนื้อหาข่าวเบาสมอง ข่าวบันเทิง
(3) หยุดการผลิตชั่วระยะเวลาหนึ่ง
(4) เขียนคอลัมน์ร้องทุกข์
ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 41 ประกอบ

44 ข้อใดคือคุณสมบัติของหนังสือพิมพ์ประเภทประชานิยม
(1) เน้นนําเสนอภาพข่าวพาดหัวที่วาบหวิว ดึงดูด เร้าอารมณ์
(2) นําเสนอข่าวเชิงวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์
(3) เนื้อหาอยู่ในบริบทของการเมือง เศรษฐกิจ
(4) มีความสลับซับซ้อนของการนําเสนอเนื้อหา
ตอบ 1 (คําบรรยาย) หนังสือพิมพ์ประเภทประชานิยม (Popular Newspaper) ได้แก่ หนังสือพิมพ์ ที่เน้นนําเสนอแต่ข่าวเบา เช่น ข่าวอาชญากรรม ข่าวบันเทิง ข่าวกีฬา ฯลฯ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับ ความพอใจจากการอ่านอย่างรวดเร็ว โดยมุ่งเสนอเรื่องเพื่อให้ความบันเทิงมากกว่าให้ความรู้ และเน้นนําเสนอภาพข่าวพาดหัวที่วาบหวิว ดึงดูด เร้าอารมณ์

45 ข้อใดไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการหลอมรวมสื่อ (Media Convergence)
(1) กองบรรณาธิการของแต่ละสื่อแยกส่วนกันทํางาน
(2) สื่อดั้งเดิมล้วนพัฒนาสู่ระบบดิจิทัลและออนไลน์
(3) องค์กรสื่อสิ่งพิมพ์ดั้งเดิมมีการขยายรูปแบบสื่อและเนื้อหาที่หลากหลาย
(4) เนื้อหา รูปแบบ ลีลา วิธีการนําเสนอข่าว มีความแตกต่างกันน้อยลง
ตอบ 1 (คําบรรยาย) ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการหลอมรวมสื่อ (Media Convergence) มีดังต่อไปนี้
1 สื่อดั้งเดิมล้วนพัฒนาสู่ระบบดิจิทัล ออนไลน์ และแพลตฟอร์ม
2 เนื้อหา รูปแบบ ลีลา วิธีการนําเสนอข่าว มีความแตกต่างกันน้อยลง
3 พัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารมีการนําเสนอรูปแบบการสื่อสารใหม่ ๆ
4 องค์กรสื่อสิ่งพิมพ์ดั้งเดิมมีการขยายรูปแบบสื่อและเนื้อหาที่หลากหลาย

46 ข้อใดไม่ใช่คุณสมบัติของนักข่าวคอนเวอร์เจนซ์
(1) รายงานข่าวผ่านหลากหลายช่องทางสื่อได้
(2) มีความสามารถในการทํากราฟิกดีไซน์
(3) ใช้สื่อใหม่ควบคู่ในการนําเสนอเนื้อหาข่าวสาร เช่น ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม
(4) มีความเชี่ยวชาญเฉพาะสื่อใดสื่อหนึ่ง
ตอบ 4 (คําบรรยาย) คุณสมบัติของนักข่าวคอนเวอร์เจนซ์ (Convergence) มีดังนี้
1 รายงานข่าวผ่านช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย
2 ใช้สื่อใหม่ควบคู่ในการนําเสนอเนื้อหาข่าวสาร เช่น ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ไลน์ ฯลฯ
3 มีความสามารถในการทํากราฟิกดีไซน์ ตัดต่อภาพ ทําวิดีโอ และถ่ายภาพนิ่ง
4 มีทักษะการสื่อข่าวหลายด้าน ฯลฯ

47 ข้อใดไม่ใช่การปรับตัวของหนังสือพิมพ์ในยุคดิจิทัลที่เห็นได้ชัดเจน
(1) ช่องดิจิทัลที่พัฒนามาจากธุรกิจสื่อประเภทอื่น มีเนื้อหารายการที่หลากหลาย
(2) เพิ่มพื้นที่การโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์
(3) การเกิดขึ้นของหนังสือพิมพ์แบบแจกฟรี (Free Copy)
(4) เพิ่มหน้าแบบพิมพ์สีในหนังสือพิมพ์มากขึ้น
ตอบ 1 (คําบรรยาย) วิธีปรับตัวของหนังสือพิมพ์ในยุคดิจิทัล มีดังนี้
1 เปลี่ยนเป็นหนังสือพิมพ์ แบบแจกฟรี (Free Copy) โดยมีจุดมุ่งหมายสําคัญ คือ ต้องการรายได้จากการลงโฆษณา
2 เพิ่มหน้าแบบพิมพ์ 4 สี ในหนังสือพิมพ์มากขึ้น เพื่อให้เข้ากับคนยุคใหม่
3 เพิ่มพื้นที่การโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ที่เจาะกลุ่มคนวัยทํางานและวัยเรียน
4 เน้นข่าวสดใหม่ พิมพ์วันต่อวัน ฯลฯ

48 จุดมุ่งหมายสําคัญของการเกิดขึ้นของหนังสือพิมพ์แบบแจกฟรี (Free Copy) ในยุคปัจจุบัน คือข้อใด
(1) ต้องการเจาะกลุ่มวัยทํางานที่ชอบอ่านเนื้อหาแบบกระชับ หลากหลาย เข้าใจง่าย
(2) ต้องการเพิ่มปริมาณการพิมพ์เล่ม
(3) ต้องการให้คนมีงานทํามากขึ้น
(4) ต้องการรายได้จากการลงโฆษณา
ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 47 ประกอบ

49 นิตยสารเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศใด
(1) เยอรมนี
(2) สหรัฐอเมริกา
(3) ฝรั่งเศส
(4) อังกฤษ

ตอบ 4 หน้า 111 – 113 ประวัติศาสตร์ของนิตยสารเริ่มเกิดขึ้นครั้งแรกที่กรุงลอนดอน ประเทศ อังกฤษ โดยมีการลงพิมพ์เรื่องราวต่าง ๆ เป็นครั้งแรกในวารสารที่ชื่อว่า “The Review ซึ่งถือเป็นนิตยสารฉบับแรกที่ก่อตั้งโดย Daniel Defoe (ผู้เขียนเรื่อง Robinson Crusoe)

50 นิตยสารฉบับแรกของไทยที่เกิดจากมิชชันนารีชาวอเมริกัน มีชื่อว่าอะไร
(1) Bangkok Post
(2) Bangkok Recorder
(3) Bangkok Bradley
(4) Bangkok Today
ตอบ 2 หน้า 124 – 126 ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เกิดนิตยสารโดยชาวต่างชาติฉบับแรกของกรุงสยาม มีชื่อว่า “บางกอกรีคอร์เดอร์” (Bangkok Recorder) หรือจดหมายเหตุอย่างสั้น ดําเนินการ โดยหมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) มิชชันนารีชาวอเมริกัน ซึ่งได้พิมพ์นิตยสารฉบับนี้ เป็นภาษาไทย และเรียกสิ่งพิมพ์ที่ตนจัดทําขึ้นมาว่า Journal หมายถึง นิตยสาร

51 ข้อใดคือหัวข้อสําคัญในการนําเสนอของนิตยสารในยุคแรก
(1) นําเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับความบันเทิง
(2) นําเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการทหารและการเมือง
(3) นําเสนอเนื้อหาด้านการค้นพบทวีปอเมริกา
(4) นําเสนอเนื้อหาด้านการเผยแผ่ศาสนา
ตอบ 2 หน้า 111 นิตยสารถือกําเนิดขึ้นในช่วงปลายปี 1500 ซึ่งนิตยสารในยุคแรกนั้นได้บรรจุหัวข้อ สําคัญ ๆ ที่มีความแตกต่างกัน โดยปกติแล้วจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการทหาร เป็นเรื่องราวภายใน กองทัพ และการเมือง

52 นิตยสารฉบับใดในรัชกาลที่ 6 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการให้ความรู้ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
(1) ดุสิตสมิตรายสัปดาห์
(2) ปราโมทย์นคร
(3) หลักเมืองวันอาทิตย์
(4) กรุงเทพฯ การเมือง
ตอบ 1 หน้า 130 – 131 ในสมัยรัชกาลที่ 6 กิจการทางด้านนิตยสารมีความเจริญรุ่งเรืองมาก โดยมี นิตยสารออกถึง 127 ฉบับ ซึ่งฉบับสําคัญที่รัชกาลที่ 6 ทรงออกเพื่อให้ความรู้เรื่องการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย คือ นิตยสารดุสิตสมิตรายสัปดาห์

53 นิตยสารเด็กไม่ค่อยประสบความสําเร็จในช่วงแรกเพราะเหตุใด
(1) บรรดาผู้ปกครองไม่เห็นด้วย
(2) เด็กเป็นกลุ่มที่ไม่มีกําลังซื้อ
(3)เนื้อหาในนิตยสารไม่ดึงดูดความสนใจของเด็ก ๆ
(4) เด็กเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์มากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์
ตอบ 2 (คําบรรยาย) นิตยสารเด็กไม่ค่อยประสบความสําเร็จในช่วงแรก เพราะเด็กไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย ที่มีกําลังซื้อมากนัก ต่อมาจึงได้สอดแทรกเนื้อหาที่เกี่ยวกับเด็กในนิตยสารผู้หญิง เช่น สกุลไทย ขวัญเรือน และกุลสตรี

54 ข้อใดคือการปรับตัวของนิตยสารในยุคปัจจุบัน
(1) เพิ่มปริมาณการพิมพ์เล่มนิตยสารมากขึ้น
(2) จัดกิจกรรมโรดโชว์ตามห้างสรรพสินค้าชั้นนํา
(3) นิตยสารที่เคยผลิตขึ้นสําหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ มีการขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังผู้ชายมากขึ้น
(4) เลือกขายเฉพาะนิตยสารขายดี (Best Setter) ในร้านหนังสือชั้นนํา
ตอบ 3
(คําบรรยาย) การปรับตัวของสื่อนิตยสารในยุคปัจจุบัน ได้แก่
1 ใช้ช่องทางออนไลน์และทีวีดิจิทัล นําเสนอข่าวสารควบคู่กับสื่อสิ่งพิมพ์
2 นําเสนอเนื้อหาหลากหลาย ตอบโจทย์ Life Style ของคนเมือง
3 ขยายกลุ่มเป้าหมายมายังกลุ่มใหม่ ๆ มากขึ้น ได้แก่ นิตยสารสําหรับผู้หญิงมีการขยาย การผลิตที่ตอบสนอง Life Style ของผู้ชายมากขึ้น เช่น นิตยสาร Elle Men ฯลฯ

55 ข้อใดไม่ใช่สาเหตุหลักที่ส่งผลให้นิตยสารคู่สร้างคู่สมต้องปิดตัวลง
(1) คอลัมน์การดูดวงในนิตยสารถูกคัดลอกลงสื่อสังคมออนไลน์
(2) สมาชิกนิตยสารลดน้อยลง
(3) ผู้ผลิตไม่ต้องการปรับตัวไปนําเสนอเนื้อหาในสื่อดิจิทัล และสื่อสังคมออนไลน์
(4) ผู้ผลิตต้องการพักผ่อน และใช้เวลาอยู่กับครอบครัว
ตอบ 3 (คําบรรยาย)
สาเหตุหลักที่ส่งผลให้นิตยสารคู่สร้างคู่สมต้องปิดตัวลง มีดังนี้
1 คอลัมน์การดูดวงในนิตยสารถูกคัดลอกลงสื่อสังคมออนไลน์ ทําให้สูญเสียผู้อ่านไป
2 มีสมาชิกนิตยสารลดน้อยลง ไม่คุ้มที่จะผลิตต่อ
3 ผู้ผลิตต้องการวางมือเพื่อพักผ่อน และใช้เวลาอยู่กับครอบครัว

56 ผู้ค้นพบวิธีการทําให้ภาพต่อเนื่องจนเป็นภาพเคลื่อนไหว คือ
(1) Louis Dagguerree
(2) Thomas Alva Edison
(3) Dr. Peter Mark Roget
(4) George Eastman
ตอบ 3 หน้า 139 ในปี ค.ศ. 1824 Dr. Peter Mark Roget เป็นผู้ค้นพบวิธีการทําให้ภาพต่อเนื่อง จนมองเห็นเป็นภาพเคลื่อนไหว ซึ่งต่อมาวิธีการนี้ได้มีการศึกษาเพิ่มเติม โดยนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงอีกหลายท่าน

57 ผู้มีส่วนสําคัญในการผลิตฟิล์มภาพยนตร์ คือ
(1) Louis Dagguerree
(2) Thomas Alva Edison
(3) Dr. Peter Mark Roget
(4) George Eastman
ตอบ 4 หน้า 138 ในปี ค.ศ. 1880 George Eastman เป็นผู้บุกเบิกงานด้านการถ่ายภาพ และ มีส่วนสําคัญในการผลิตฟิล์มภาพยนตร์ เนื่องจากพัฒนาการของ Eastman และตลาดของ ฟิล์มที่ทําจากวัสดุใส – เซลลูลอยด์ (Celluloid) ได้ทําให้การถ่ายภาพประสบความสําเร็จ และการใช้ประโยชน์จากฟิล์มยังทําให้เทคนิคภาพยนตร์สามารถพัฒนาไปได้

58 ผู้ผลิตเครื่องฉายภาพยนตร์ คือ
(1) Louis Dagguerree
(2) Thomas Alva Edison
(3) Dr. Peter Mark Roget
(4) George Eastman
ตอบ 2 หน้า 142 Thomas Alva Edison และหุ้นส่วนของเขาได้เริ่มการผลิตเครื่องฉายภาพยนตร์ ที่มีชื่อเรียกว่า “Vitascope” และ Edison ยังได้สร้างห้องส่งสําหรับผลิตภาพยนตร์ขนาดสั้น ซึ่งเรื่องราวส่วนใหญ่ก็มาจากการแสดงละครที่ Vaudeville

59 โรงถ่ายภาพยนตร์ The “Big Five” ได้แก่
(1) MGM, Twentieth Century – Fox, Paramount, Columbia, Warner Brothers
(2) MGM, Twentieth Century – Fox, Paramount, Universal, Warner Brothers
(3) MGM, Twentieth Century – Fox, Paramount, RKO, Warner Brothers
(4) MGM, Twentieth Century – Fox, Paramount, Republic, Warner Brothers
ตอบ 3 หน้า 150 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีโรงถ่ายภาพยนตร์ที่สําคัญเพียงไม่กี่โรง ซึ่งมีอิทธิพลต่อ การสร้างภาพยนตร์มาก คือ ผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง 5 (The “Big Five”) ซึ่งได้แก่ MGM, Twentieth Century – Fox, Paramount, RKO Warner Brothers

60 ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่มีการถ่ายทําในเมืองไทย โดยผู้กํากับต่างชาติ คือ
(1) พระเจ้าช้างเผือก
(2) นางสาวสุวรรณ
(3) ช้าง
(4) โชคสองชั้น
ตอบ 2 หน้า 152 – 153 ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่มีการถ่ายทําในเมืองไทยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 คือ เรื่องนางสาวสุวรรณ ซึ่งบริษัท Universal เป็นผู้สร้าง และใช้ผู้แสดงทั้งหมดเป็นคนไทย ออกฉายในกรุงสยามครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2466

61 บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง เป็นของใคร
(1) พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล
(2) พี่น้องวสุวัต
(3) นายพจน์ สารสิน
(4) นายประสาท สุขุม
ตอบ 2หน้า 153 – 155 ผู้สร้างภาพยนตร์เสียงเรื่องแรกของไทย คือ พี่น้องวสุวัต ซึ่งมีกิจการสร้าง ภาพยนตร์เป็นของตัวเอง เรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า “บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง” ทั้งนี้ ภาพยนตร์เสียงเรื่องแรกที่พี่น้องวสุวัตถ่ายทําด้วยกล้องถ่ายภาพยนตร์เสียงที่พวกเขาประดิษฐ์ ขึ้นเอง ได้แก่ ภาพยนตร์ข่าวสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี เสด็จนิวัตพระนคร เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2474

62 ภาพยนตร์ไทยที่สร้างโดยคนไทยเรื่องแรก คือ
(1) พระเจ้าช้างเผือก
(2) นางสาวสุวรรณ
(3) ช้าง
(4) โชคสองชั้น
ตอบ 4(คําบรรยาย) ภาพยนตร์ไทยที่สร้างโดยคนไทยเรื่องแรก คือ โชคสองชั้น (Double Lucky) ซึ่งพี่น้องวสุวัตถ่ายทําขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2470 มีลักษณะเป็นหนังเงียบ ถ่ายทําด้วยฟิล์มขาว – ดํา ขนาด 35 มม.

63 ผู้ที่สร้างเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงสําเร็จ คือ
(1) James Clerk Maxwell
(2) Heinrich Rudolf Hertz
(3) Marconi
(4) Samuel F.B. Morse
ตอบ 3 หน้า 159 – 160, (คําบรรยาย) ใน ค.ศ. 1901 Guglietmo Marconi ชายชาวอิตาเลียนได้ประดิษฐ์เครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงที่มีกําลังส่งมากขึ้นได้สําเร็จเป็นคนแรก นอกจากนี้ เขายังประสบความสําเร็จในการส่งสารข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก จนได้รับยกย่องว่าเป็น“บิดาของวงการวิทยุกระจายเสียงโลก”

64 สถานีวิทยุแห่งแรกในสหรัฐอเมริกา และเป็นสถานีที่เก่าแก่ที่สุดอีกด้วย คือ
(1) สถานี 8XK
(2) สถานี KDKA
(3) สถานี VOA
(4) สถานี NBC
ตอบ 2 หน้า 164 – 165 ใน ค.ศ. 1920 Dr. Frank Conrad ได้สร้างสถานีวิทยุ KDKA ขึ้นในเมือง Pittsburgh ซึ่งถือเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกที่เก่าแก่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังคงดําเนินการออกอากาศตามปกติต่อเนื่องกันมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน

65 ผู้ที่ประดิษฐ์เครื่องส่งโทรเลขสําเร็จ คือ
(1) James Clerk Maxwell
(2) Heinrich Rudolf Hertz
(3) Marconi
(4) Samuel F.B. Morse
ตอบ 4 หน้า 161 Samuel F.B. Morse นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่ ประดิษฐ์สิ่งที่เรียกว่า “เครื่องส่งโทรเลขทางไกล” (The Long – distance Telegraph) ได้สําเร็จ ซึ่งเขาได้พัฒนาระบบให้ดีขึ้นกว่าของเดิมที่นักประดิษฐ์รุ่นก่อน ๆ ได้เริ่มไว้

66 สถานีวิทยุกระจายเสียงถาวรแห่งแรกของประเทศไทยชื่อว่า
(1) สถานี 4 พีเจ
(2) สถานีกรุงเทพที่พญาไท
(3) สถานีวิทยุ 1 ปณ.
(4) สถานีวิทยุกรุงเทพฯ
ตอบ 2 หน้า 169, (คําบรรยาย) สถานีวิทยุกระจายเสียงถาวรแห่งแรกของประเทศไทยจะมีชื่อว่า “สถานีกรุงเทพที่พญาไท” โดยเริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 ซึ่งตรงกับวันพระราชพิธีฉัตรมงคลในรัชกาลที่ 7 ดังนั้นทางราชการจึงได้กําหนดให้วันที่ 25 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันวิทยุกระจายเสียงไทย

67 พระบิดาวิทยุกระจายเสียงไทย คือ
(1) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(2) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
(3) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
(4) พลเอกพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกําแพงเพชรอัครโยธิน
ตอบ 4 หน้า 169, (คําบรรยาย) ใน พ.ศ. 2469 พลเอกพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกําแพงเพชรอัครโยธิน ทรงมีความสนพระทัยในงานด้านวิทยุกระจายเสียง ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในขณะนั้น พระองค์จึงได้ตั้งเครื่องส่งวิทยุทดลองขนาดเล็กขึ้นในวังบ้านดอกไม้ เพื่อใช้ค้นคว้า เป็นการส่วนพระองค์ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าพระองค์เป็นผู้ที่ริเริ่มกิจการวิทยุกระจายเสียง ขึ้นเป็นคนแรกในประเทศไทย จนได้รับการยกย่องว่า “พระบิดาวิทยุกระจายเสียงไทย”

68 วันวิทยุกระจายเสียงไทย ตรงกับวันที่
(1) 1 มกราคม
(2) 25 กุมภาพันธ์
(3) 3 พฤษภาคม
(4) 24 มิถุนายน
ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 66 ประกอบ

69 ปัจจุบันคลื่นวิทยุกระจายเสียงทั้งหมดอยู่ในความดูแลของ
(1) กรมประชาสัมพันธ์
(2) กระทรวง ICT
(3) กสทช.
(4) คสช.
ตอบ 3 (คําบรรยาย) เจตนารมณ์ในการปฏิรูปสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ไทยตามที่ระบุ ในรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 47 ได้กําหนดให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่ง ได้แก่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทําหน้าที่กํากับดูแลและจัดสรรคลื่นความถี่ในการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

70 สถานีโทรทัศน์แห่งแรกของสหรัฐอเมริกา คือสถานี
(1) NBC
(2) CES
(3) RCA
(4) PBS
ตอบ 3 หน้า 176, (คําบรรยาย) ใน ค.ศ. 1932 บริษัท RCA (The Radio Corporation of America) ได้สร้างสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นที่ตึกเอ็มไพร์สเตท เมืองนิวยอร์ก ซึ่งมีอุปกรณ์สําหรับใช้ในห้องส่งและการถ่ายทอดสดอย่างสมบูรณ์ที่สุด ต่อมาใน ค.ศ. 1936 เริ่มมีการทดสอบระบบโดยถ่ายทอดรายการเพียง 2 รายการต่อสัปดาห์ และใน ค.ศ. 1939 จึงถ่ายทอดงาน World Fair New York

71 ยุคทองของวิทยุโทรทัศน์ อยู่ในช่วงใด
(1) 1930-1940
(2) 1940 – 1950
(3) 1950 – 1960
(4) 1960 1980

ตอบ 4 หน้า 180 ยุคทองของวิทยุโทรทัศน์หรือยุคแห่งความรุ่งเรืองของวิทยุโทรทัศน์ เป็นยุคที่ อาจกล่าวได้ 2 ประการ ดังนี้
1 สื่อวิทยุโทรทัศน์อยู่ในยุคที่มีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
2 เป็นยุคที่ยาวนานอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1960 — 1980 ซึ่งเป็นยุคที่เครือข่ายวิทยุโทรทัศน์ มีการแข่งขันกันมากขึ้น

72 “เครือข่ายวิทยุโทรทัศน์ คือ อาณาจักรอันกว้างใหญ่ที่ไร้ความคิด” เป็นคํากล่าวของใคร
(1) Marconi
(2) David Sarnoff
(3) Frank Conrad
(4) Newton Minow
ตอบ 4 หน้า 181 Newton Minow ซึ่งเป็นอดีตประธาน FCC (Federal Communications Commission) กล่าวว่า เครือข่ายวิทยุโทรทัศน์ คือ อาณาจักรอันกว้างใหญ่ที่ไร้ความคิด (Vast Wasteland of Mindless) เนื่องจากรายการวิทยุโทรทัศน์มีแต่รายการตลกที่สิ้นคิด ละครชีวิตที่เพ้อฝันเกินจริง การแสดงมวยปล้ำ การ์ตูนที่มีแต่ความรุนแรง กีฬาที่น่าตื่นเต้น การแข่งขันตอบปัญหา และรายการตลกฝืดในเรื่องครอบครัว

73 การพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตครั้งแรกในโลกผ่านเครือข่ายชื่อว่า
(1) ARPANET
(2) DAPANET
(3) SERCNET
(4) JANET
ตอบ 1 หน้า 193 – 194 การพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตครั้งแรกในโลกเริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1969 ผ่านเครือข่ายที่ชื่อว่า ARPANET (Advanced Research Projects Agency Network) และมีการพัฒนาโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การทําให้ คอมพิวเตอร์สามารถเชื่อมต่อและมีปฏิสัมพันธ์กันได้ จนเกิดระบบ World Wide Web ที่ใช้ระบบไฮเปอร์เท็กซ์

74 ผู้ดําริให้มีวิทยุโทรทัศน์ในประเทศไทย คือ
(1) จอมพล ป. พิบูลสงคราม
(2) จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
(3) จอมพลถนอม กิตติขจร
(4) พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ
ตอบ 1 หน้า 184, 186 กิจการวิทยุโทรทัศน์ในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2495 ในรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นและเป็นผู้ดําริให้มีวิทยุโทรทัศน์ขึ้นจึงได้ให้อธิบดีกรมโฆษณาการส่งเจ้าหน้าที่ไปดูการส่งวิทยุโทรทัศน์ในประเทศสหรัฐอเมริกา และในเวลาต่อมาก็ได้มีคําสั่งราชการเพื่อแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นกรรมการพิจารณาจัดซื้อเครื่องส่งวิทยุโทรทัศน์

75 การแพร่ภาพสถานีโทรทัศน์ครั้งแรกในประเทศไทยทางช่อง 4 บางขุนพรหมเมื่อใด
(1) 22 มิถุนายน 2466
(2) 25 กุมภาพันธ์ 2473
(3) 24 มิถุนายน 2498
(4) 1 มกราคม 2500
ตอบ 3 หน้า 186, 188, 190 กําเนิดโทรทัศน์ไทยเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 ซึ่งเป็น วันชาติในสมัยนั้น โดยบริษัท ไทยโทรทัศน์ จํากัด ได้จัดตั้งและทําพิธีเปิดสถานีส่งวิทยุโทรทัศน์ เป็นแห่งแรกของประเทศไทย คือ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม และเริ่มแพร่ภาพ ออกอากาศรายการต่าง ๆ เป็นครั้งแรก เช่น รายการรําเบิกโรง รายการภาพปริศนา รายการ ดนตรี รายการข่าว ฯลฯ

76 การจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ในไทยครั้งแรกนั้น ตั้งเป็นบริษัทชื่อว่า
(1) บริษัท ไทยโทรภาพ จํากัด
(2) บริษัท ไทยโทรทัศน์ จํากัด
(3) บริษัท กรุงเทพและวิทยุโทรทัศน์
(4) บริษัท บางกอกเอ็นเทอร์เทนเมนท์ จํากัด
ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 75 ประกอบ

77 อ.ส.ม.ท. รับโอนกิจการมาจาก
(1) บริษัท ไทยโทรภาพ จํากัด
(2) บริษัท ไทยโทรทัศน์ จํากัด
(3) บริษัท กรุงเทพและวิทยุโทรทัศน์
(4) บริษัท บางกอกเอ็นเทอร์เทนเมนท์ จํากัด
ตอบ 2 หน้า 190, (คําบรรยาย) สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม ซึ่งก่อตั้งขึ้นครั้งแรก ในรูปของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จํากัด ต่อมาจึงได้โอนกิจการมาเป็นสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. (องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย) เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2520 โดยให้เป็นสถานีโทรทัศน์ที่อยู่ภายใต้ความดูแลรับผิดชอบของสํานักนายกรัฐมนตรีในรูปขององค์การรัฐวิสาหกิจ

78 สถานีโทรทัศน์สีแห่งแรกของประเทศไทย คือ
(1) สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3
(2) สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 5
(3) สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
(4) สถานีโทรทัศน์สีช่อง 9 อ.ส.ม.ท.
ตอบ 3 หน้า 189, (คําบรรยาย) สถานีโทรทัศน์สีแห่งแรกของประเทศไทย คือ สถานีโทรทัศน์สี กองทัพบกช่อง 7 ซึ่งมีลักษณะเป็นสถานีโทรทัศน์ของทางราชการเจ้าแรกที่ให้บริษัทเอกชน (บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จํากัด) เป็นเจ้าของสัมปทานหรือร่วมดําเนินการจัดตั้ง โดยเริ่มแพร่ภาพออกอากาศเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510

79 สถานีโทรทัศน์สาธารณะในประเทศไทย คือ
(1) สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์
(2) สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
(3) สถานีโทรทัศน์ ETV กระทรวงศึกษาธิการ
(4) สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมไทยคม
ตอบ 2 (คําบรรยาย) สถานีโทรทัศน์ระดับชาติในส่วนกลางที่ได้มีการจัดตั้งขึ้นมาใหม่ล่าสุด คือ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (TPBS) หรือทีวีไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นสถานีโทรทัศน์ สาธารณะหรือทีวีสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย และเริ่มแพร่ภาพออกอากาศอย่าง เป็นทางการตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 โดยได้รับสัมปทานการใช้คลื่นความถี่ ในการแพร่ภาพจากสํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี (สปน.)

80 บิดาแห่งเว็บ (Web) คือ
(1) บิลเกต
(2) ซัคเกอร์เบิร์ก
(3) ทิม เบอร์เนอร์ส ลี
(4) สตีฟ จ๊อบส์
ตอบ 3 หน้า 194, (คําบรรยาย) Sir Timothy John Berners – Lee หรือทิม เบอร์เนอร์ส ลี เป็นชาวอังกฤษที่ได้คิดค้นและประดิษฐ์ World Wide Web สําเร็จเป็นคนแรกของโลก ทําให้เกิดเว็บไซต์ขึ้นมากมายในปัจจุบัน ดังนั้นเขาจึงได้รับยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งเว็บ

81 Facebook เป็น Social Network ประเภท
(1) Identity Network
(2) Interested Network
(3) Collaboration Network
(4) Gaming/Virtual Reality

ตอบ 1 หน้า 200 – 201, (คําบรรยาย) หมวดหมู่หรือประเภทของเครือข่ายสังคมออนไลน์ในบทบาท ของ Social Network ในอินเทอร์เน็ตยุค 2.0 แบ่งออกได้ดังนี้
1 Identity Network คือ การแสดงตัวตนและภาพลักษณ์ของตน เช่น Facebook, Twitter
2 Interested Network คือ การรวมตัวกันโดยอาศัยความสนใจที่ตรงกัน เช่น Digg, Zickr, del.icio.us, duocore.tv
3 Collaboration Network คือ กลุ่มเครือข่ายที่ร่วมกันทํางาน โดยเปิดให้สมาชิกทุกคน ในกลุ่มนําเสนอข้อมูลหรือต่อยอดเรื่องราวต่าง ๆ ได้ เช่น Wikipedia, Google Earth
4 Gaming/Virtual Reality หรือโลกเสมือน ซึ่งมีลักษณะเป็นการสวมบทบาทของผู้เล่นใน ชีวิตจริงกับตัวละครในเกม เช่น Ragnarok, Pangya, Second Life, World of Warcraft
5 Professional Network ซึ่งใช้งานในอาชีพ เช่น LinkedIn
6 Creative Network คือ การสร้างและประกาศผลงานของตัวเองไม่ว่าจะเป็นวิดีโอ รูปภาพ เพลง โดยจะเน้นเฉพาะไฟล์ที่เป็นมัลติมีเดีย เช่น YouTube, Flickr, Multiply เป็นต้น

82 การขยายตัวอย่างรวดเร็วของสังคมออนไลน์สะท้อนแนวโน้มการสื่อสารที่สําคัญ คือ
(1) รูปแบบการสื่อสารแบบจุดต่อจุดไปสู่การสื่อสารระหว่างผู้ใช้หลายคน
(2) มีการใช้ Link วีดิทัศน์ ภาพถ่าย และเนื้อหามัลติมีเดียมากขึ้น
(3) การควบคุมการสื่อสารเปลี่ยนจากผู้ให้บริการมาเป็นแพลตฟอร์มแบบเปิด
(4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 4 หน้า 195 – 196 การขยายตัวอย่างรวดเร็วของสื่อสังคมออนไลน์ ได้สะท้อนให้เห็นถึง ความเปลี่ยนแปลงในระยะยาวของแนวโน้มการสื่อสารที่สําคัญใน 2 ด้าน ได้แก่
1 รูปแบบการสื่อสารเปลี่ยนจากการสนทนาแบบจุดต่อจุด (Point to Point) และสองทาง (Two Way) ไปสู่การสื่อสารระหว่างผู้ใช้หลายคน (Many to Many) และมีการใช้ Link วีดิทัศน์ ภาพถ่าย และเนื้อหามัลติมีเดียมากขึ้น
2 การควบคุมการสื่อสารเปลี่ยนจากระบบที่ครอบครองโดยผู้ให้บริการโทรคมนาคมแบบเดิม
ไปสู่ผู้ให้บริการบนแพลตฟอร์มแบบเปิดบนอินเทอร์เน็ต

83 Six Degrees of Separation คือ ทฤษฎีที่อธิบายปรากฏการณ์
(1) การสื่อสารระหว่างบุคคล
(2) การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม
(3) การสื่อสารเครือข่ายทางสังคม
(4) การสื่อสารภายในองค์การ
ตอบ 3 หน้า 193, 196 ทฤษฎีที่อธิบายการสื่อสารเครือข่ายทางสังคม (Social Networking) และ สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ได้ดีทฤษฎีหนึ่ง คือ ทฤษฎีระยะห่างหกชั้น (Six Degrees of Separation) ซึ่งได้อธิบายไว้ว่า “ทุกคนบนโลกจะสามารถเชื่อมโยงกันได้ภายในระยะห่าง ไม่เกิน 6 ช่วงคน” โดยทฤษฎีนี้มีที่มาดั้งเดิมจากนักเขียนชาวฮังการีชื่อว่า Frigyes Karinthy

84 Wikipedia เป็น Social Network ประเภท
(1) Identity Network
(2) Interested Network
(3) Collaboration Network
(4) Gaming/Virtual Reality
ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 81 ประกอบ

85 ผู้ก่อตั้ง Facebook คือ
(1) Bill Gates
(2) Mark Zuckerberg
(3) Ray Tomlinson
(4) Sergey Brin & Larry Page

ตอบ 2 หน้า 204 Mark Zuckerberg เป็นผู้ที่ก่อตั้ง Facebook ซึ่งถือว่าเป็นเว็บชุมชนออนไลน์ (Social – networking Site) ที่กําลังได้รับความนิยมอย่างสุดขีดในขณะนี้ โดยเขาได้ก่อตั้ง เว็บไซต์ Facebook ขึ้นขณะยังเรียนอยู่ที่ Harvard ก่อนจะลาออกกลางคัน เจริญรอยตาม Bill Gates แห่ง Microsoft เพื่อเป็น CEO ของเว็บชุมชนออนไลน์ด้วยวัยเพียง 22 ปี

86 Twitter ส่งข้อความได้ครั้งละไม่เกินกี่ตัวอักษร
(1) 100 อักษร
(2) 110 อักษร
(3) 120 อักษร
(4) 140 อักษร
ตอบ 4 หน้า 204 – 205 Twitter คือ บริการสําหรับบุคคลที่ต้องการจะติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ได้อย่างรวดเร็วผ่านคําถามง่าย ๆ ที่มักใช้ถามกันบ่อย ๆ ว่า “คุณกําลังทําอะไรอยู่ ?” โดยมี ข้อกําหนดว่าส่งข้อความได้ครั้งละไม่เกิน 140 ตัวอักษร และด้วยเหตุที่เขียนข้อความได้จํากัด จึงเกิดคําเรียกอีกคําว่า “Micro Blogging” ส่วนข้อความที่ส่งถึงกันมีศัพท์เรียกว่า “Tweets ซึ่งเปรียบเหมือนเสียงนกร้องอยู่ตลอดเวลา

87 ผู้ก่อตั้ง Google คือ
(1) Bill Gates
(2) Mark Zuckerberg
(3) Ray Tomlinson
(4) Sergey Brin & Larry Page
ตอบ 4 หน้า 210 – 211 กูเกิล (Google Inc.) เป็นบริษัทมหาชนของสหรัฐอเมริกาที่เริ่มก่อตั้งขึ้น เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2539 จากโครงงานวิจัยสําหรับดุษฎีนิพนธ์ของเซอร์เกย์ บริน และ แลร์รี เพจ (Sergey Brin & Larry Page) นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งต่อมากูเกิลมีผู้ใช้งานค้นหาคํามากกว่า 18 ล้านคําต่อวัน และกลายเป็น Search Engine อันดับหนึ่งของโลกในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2543

88 เว็บไซต์มหาวิทยาลัยรามคําแหง คือ
(1) www.ru.or.th
(2) www.ru.ac.th
(3) www.ru.go.th
(4) www.ru.org
ตอบ 2 (คําบรรยาย) เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยรามคําแหง คือ www.ru.ac.th

89 Facebook กลุ่มวิชานี้ คือ
(1) MCS 1150
(2) MCS 1150 (MCS 1100)
(3) MCS 1150 (MCS 1100) ส่วนกลาง
(4) MCS 1150 (MCS 1100) ส่วนภูมิภาค
ตอบ 3 (คําบรรยาย) Facebook ของกลุ่มวิชานี้ คือ MCS 1150 (MCS 1100) ส่วนกลาง

90 Facebook ประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยรามคําแหง คือ
(1) PR RAM
(2) PR Ramkhamhaeng University
(3) MC Club
(4) RU Easy Radio
ตอบ 2 (คําบรรยาย) Facebook ที่ใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยรามคําแหง คือ PR Ramkhamhaeng University

91 สถานีวิทยุอินเทอร์เน็ต มหาวิทยาลัยรามคําแหง คือ
(1) PR RAM
(2) PR Ramkhamhaeng University
(3) MC Club
(4) RU Easy Radio
ตอบ 4

92 พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. อะไร
(1) พ.ศ. 2530
(2) พ.ศ. 2540
(3) พ.ศ. 2550
(4) พ.ศ. 2560
ตอบ 4 (คําบรรยาย) พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับล่าสุดที่ใช้อยู่ใน ปัจจุบัน คือ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ซึ่งประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560 และให้ใช้บังคับเมื่อพ้น กําหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

93 พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ใครเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ. นี้
(1) นายกรัฐมนตรี
(2) ปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี
(3) รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
(4) รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ตอบ 3 (คําบรรยาย) พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 4 ระบุว่า ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรักษาการตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้

94 ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่บุคคลอื่น อันมีลักษณะเป็นการก่อให้เกิด ความเดือดร้อนรําคาญ จะมีความผิดถูกลงโทษอย่างไร
(1) ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท
(2) ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท
(3) ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท
(4) ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท
ตอบ 3 (คําบรรยาย) พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 11 วรรค 2 ระบุว่า ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่น อันมีลักษณะเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญแก่ผู้รับข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมาย อิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับสามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการ ตอบรับได้โดยง่าย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท

95 นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามก จะมีความผิดอย่างไร
(1) จําคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท
(2) จําคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท
(3) จําคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท
(4) จําคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท
ตอบ 2 (คําบรรยาย) พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 14 ระบุว่า ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่ น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ประมวลกฎหมายอาญา…
(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูล คอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่า เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)…

96 ผู้ที่นําข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ มีความผิดตามมาตรา 14 ต้องระวางโทษอย่างไร
(1) จําคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท
(2) จําคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท
(3) จําคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท
(4) จําคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท
ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 95. ประกอบ

97 ถ้าใครส่งภาพไม่เหมาะสมให้นักศึกษาแล้วนักศึกษาแชร์ต่อให้เพื่อน จะมีความผิดอย่างไร
(1) จําคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท
(2) จําคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท
(3) จําคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท
(4) จําคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท
ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 95. ประกอบ

98 เลิกกับแฟนเก่าแล้วเอาภาพส่วนตัวมาตัดต่อแล้วโพสลง Facebook ทําให้แฟนเก่าเสื่อมเสียชื่อเสียง
ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง
(1) จําคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท
(2) จําคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท
(3) จําคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท
(4) จําคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท
ตอบ 3 (คําบรรยาย) พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 16 ระบุว่า ผู้ใดนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจจะเข้าถึงได้ ซึ่งข้อมูล คอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท

99 การพบกันของสื่อส่วนตัว สื่อมวลชน สื่อโทรคมนาคม และอินเทอร์เน็ต เรียกว่า
(1) ICT
(2) Convergence
(3) Mass Media
(4) User Generate Content
ตอบ 2(คําบรรยาย) คําว่า “Convergence” หมายถึง กระบวนการเข้ามาบรรจบกัน รวมศูนย์ ดังนั้นการหลอมรวมสื่อ (Media Convergence) จึงหมายถึง การบรรจบกันของเทคโนโลยี สื่อแบบดั้งเดิมกับสื่อใหม่ หรือการรวมเทคโนโลยีสื่อที่แตกต่างเข้าไว้ด้วยกันในศูนย์เดียว เช่น การพบกันของสื่อส่วนตัว สื่อมวลชน สื่อโทรคมนาคม และอินเทอร์เน็ต เป็นต้น

100 ปรากฏการณ์ที่ผู้รับสารลุกขึ้นมาทําการสื่อสารเอง เรียกว่าอะไร
(1) ICT
(3) Mass Media
(2) Convergence
(4) User Generate Content
ตอบ 4 (คําบรรยาย) การที่สื่อใหม่เปิดโอกาสให้ทุกคนทําหน้าที่เป็นผู้ส่งสารบนพื้นที่ของตนเองสู่พื้นที่สาธารณะบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทําให้เกิดปรากฏการณ์ที่ผู้รับสารลุกขึ้นมาทําการ สื่อสารเอง เรียกว่า “ Jser Generate Content” (UGC) ซึ่งก็คือ ผู้ใช้งานสื่อเป็นผู้ที่ผลิต เนื้อหาเอง แบ่งปันเนื้อหาให้กัน และมีส่วนร่วมระหว่างกันบนพื้นที่เครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น YouTube, Flickr, Blog ฯลฯ

Advertisement