การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 ประเสริฐเกิดที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2530 จากบิดาคนสัญชาติไทยส่วนมะขิ่น มารดาเป็นแรงงานต่างด้าว สัญชาติพม่า ซึ่งทำงานในสวนยางพารา แต่ก็ได้รับอนุญาตจากทางการให้ทำงานได้ นายดำบิดาเพิ่งมาจดทะเบียนรับรองประเสริฐเป็นบุตรชายเมื่อ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ให้ท่านวินิจฉัยว่า ประเสริฐได้หรือเสียสัญชาติไทย อย่างไรหรือไม่
ธงคำตอบ
พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
(1) ผู้เกิดโดยบิดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย
(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย
ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337
ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น
(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
ข้อ 2 บุคคลตามข้อ 1 ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว ไม่ได้สัญชาติไทย เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร
มาตรา 1557 การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1547 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด แต่ทั้งนี้จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่เด็กเกิดจนถึงเวลาที่บิดามารดาได้สมรสกันหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นบุตรไม่ได้
วินิจฉัย
ประเสริฐได้หรือเสียสัญชาติไทยหรือไม่ เห็นว่า ประเสริฐเกิดที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2530 กรณีจึงถือได้ว่าประเสริฐเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยภายหลังวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลบังคับใช้ (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515) มีผลทำให้ประเสริฐไม่ได้รับสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) แม้จะเกิดในราชอาณาจักรไทยก็ตาม ทั้งนี้ เพราะประเสริฐเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย (ขณะนั้นบิดาและมารดาของประเสริฐมิได้จดทะเบียนสมรสกัน) และในขณะที่เกิดนั้น มารดาเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 2 และข้อ 1(3)
และประเสริฐก็ไม่ได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(1) เพราะในขณะเกิด บิดาของประเสริฐยังไม่ได้เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะมีสัญชาติไทย กรณีก็ไม่ต้องตามบทบัญญัติดังกล่าว
อนึ่งแม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 นายดำบิดาของประเสริฐจะได้มาจดทะเบียนรับรองประเสริฐเป็นบุตรก็ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1547 อันนี้มีผลทำให้ประเสริฐกลายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายดำบิดา และมีผลทำให้นายดำเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของประเสริฐก็ตาม ก็หาทำให้ประเสริฐกลับได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(1) ไปไม่ เพราะผลของการเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1557 (เดิม) กำหนดให้มีผลนับแต่วันที่บิดาจดทะเบียนรับรองเด็กเป็นบุตร และคำว่า “บิดา” ตาม พ.ร.บ. สัญชาติฯ มาตรา 7(1) หมายถึงบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายในขณะเกิดเท่านั้น (ฎ. 1119/2527 ฎ. 3120/2528)
แต่อย่างไรก็ดีเมื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 1557 ได้มีการแก้ไขบัญญัติใหม่เป็นว่า “การเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1547 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด” (ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2551) ผลของการแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าว จึงทำให้ประเสริฐกลับมาได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(1) เพราะเกิดโดยบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้มีสัญชาติไทย
สรุป ประเสริฐได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติฯ มาตรา 7(1) ตั้งแต่เกิดเพราะเกิดโดยบิดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย