การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นางปราณีเกิดที่จังหวัดอุบลราชธานีเป็นบุตรของนายยิน นางเกียว แซ่ผ่าน สามีภรรยาสัญชาติญวณซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเลขที่ 6 – 7/2497 ออกให้ ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองฯ จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาปราณีอยู่กินกับนายกู๋ แซ่โง ญวณอพยพโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส เกิดบุตรที่ จ.อุบลฯ สามคน เมื่อปี พ.ศ. 2511, 2512 และ 2516 ตามลำดับ เจ้าหน้าที่กิจการญวณอพยพได้ใส่ชื่อนายกู๋นางปราณีและบุตรลงในทะเบียนบ้านคนญวณอพยพเลขที่ 108/8 ถนนอุปราช ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
ปี พ.ศ. 2525 ปราณีและบุตรทั้งสามคนขอให้เจ้าหน้าที่เพิกถอนชื่ออกจากทะเบียนบ้านดังกล่าว โดยอ้างว่าตนมีสัญชาติไทย ข้ออ้างฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด และปัจจุบัน ปราณีและบุตรมีสัญชาติไทยหรือไม่ บกหลักกฎหมายประกอบคำตอบให้ชัดเจน
ธงคำตอบ
พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย
พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย
มาตรา 10 บทบัญญัติมาตรา 7(1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย
ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337
ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น
(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
ข้อ 2 บุคคลตามข้อ 1 ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว ไม่ได้สัญชาติไทย เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น
วินิจฉัย
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า ปัจจุบันปราณีและบุตรทั้ง 3 คน มีสัญชาติไทยหรือไม่ เห็นว่า ปราณีเกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยชอบด้วยกฎหมาย กรณีถือว่าปราณีเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ย่อมได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508มาตรา 7(3)
ต่อมาได้ความว่า ปราณีอยู่กินกับนายกู๋ แซ่โง ญวณอพยพโดยไม่จดทะเบียนสมรสและเกิดบุตรที่จังหวัดอุบลราชธานีจำนวน 3 คน สำหรับบุตร 2 คนแรกนั้น เกิดในราชอาณาจักรไทยก่อนวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515) จึงได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิด ตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3))
อนึ่งเมื่อประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับแล้ว
1 ปราณีไม่ถูกถอนสัญชาติไทย เพราะแม้ได้ความว่าปราณีจะเกิดจากนายยินและนางเกียว แซ่ผ่าน สามีภรรยาสัญชาติญวณ แต่ในขณะที่ปราณีเกิดนั้น นายยินและนางเกียว แซ่ผ่าน ได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง จึงไม่ต้องด้วยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) แต่อย่างใด ปราณีจึงยังคงมีสัญชาติไทย
2 บุตร 2 คนแรกนั้นไม่ถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) เพราะปราณีมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย และนายกู๋บิดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวก็มิใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย (ฎ. 2450/2526) บุตร 2 คนแรกจึงยังคงมีสัญชาติไทย
3 สำหรับบุตรคนที่ 3 แม้จะเกิดภายหลังวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ใช้บังคับแล้ว ก็ย่อมได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิด ตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) เช่นกัน เพราะไม่เข้าข้อยกเว้น ตามข้อ 2 และข้อ 1(3) เนื่องจากปราณีมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย และนายกู๋บิดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวก็มิใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535) บุตรทั้ง 3 คนกลับได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7(1) ที่กำหนดให้บุคคลผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักร ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ทั้งนี้โดยผลของมาตรา 10 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าวที่ได้กำหนดให้นำบทบัญญัติมาตรา 7(1) มาใช้บังคับย้อนหลังกับผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 อันเป็นวันที่ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ใช้บังคับด้วย ดังนั้น บุตรทั้ง 3 คนจึงได้รับสัญชาติไทยตามหลักสายโลหิตโดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่เกิด เพราะมารดา คือ ปราณีเป็นผู้มีสัญชาติไทย
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า การที่ปราณีและบุตรทั้ง 3 คน จะขอให้เจ้าหน้าที่เพิกถอนชื่ออกจากทะเบียนบ้านคนญวณอพยพ โดยอ้างว่าตนมีสัญชาติไทยนั้น ข้ออ้างดังกล่าวรับฟังได้หรือไม่ เห็นว่า โดยหลักแล้ว การได้ การเสีย หรือการกลับคืนสัญชาติ ย่อมเป็นไปตามกฎหมายบัญญัติไว้ ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่กิจการญวณอพยพได้ใส่ชื่อปราณีและบุตรทั้ง 3 คนลงในทะเบียนบ้านคนญวณอพยพ ย่อมไม่มีผลทำให้บุคคลผู้มีสัญชาติไทยตามกฎหมายอยู่แล้ว ต้องสูญเสียสัญชาติไทยและกลายเป็นคนสัญชาติญวณแต่อย่างใด การลงชื่อในทะเบียนคนญวณอพยพเป็นเพียงการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ไม่มีผลลบล้างกฎหมายสัญชาติเป้นอย่างอื่นไปได้ (ฎ. 2318 –2319/2530) ข้ออ้างของปราณีและบุตรทั้ง 3 คน จึงฟังขึ้น
สรุป ปัจจุบันปราณีได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) และบุตรทั้ง 3 คนได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7(1) โดยผลของมาตรา 10 ซึ่งมีผลย้อนหลังตั้งแต่เกิด ส่วนข้ออ้างของปราณีและบุตรทั้ง 3 คนว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยนั้นฟังขึ้น