การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2553

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายจ้างได้ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้พนักงานชายเกษียณเมื่อมีอายุ 55 ปี และให้ พนักงานหญิงเกษียณเมื่อมีอายุ 50 ปี นางรัศมีเป็นพนักงานหญิง ได้ทำสัญญากับนายจ้างโดยมี ข้อตกลงกันว่าให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยเมื่อนางรัศมีออกจากงาน เป็นจำนวนเงิน 150,000 บาท นางรัศมีทำงานมาแล้ว 16 ปี 10 เดือน ได้รับค่าจ้างเดือนละ 16,500 บาท และมีอายุครบ 50 ปี ในวันที่ 31 ธันวาคม 2553 นายจ้างจึงให้นางรัศมีออกจากงานและจ่ายค่าชดเชยตามที่ทำข้อตกลงกันไว้ในสัญญาจ้าง เป็นจำนวนเงิน 150,000 บาท แต่นางรัศมีได้ปรึกษาพูดคุยกับเพื่อน ๆ แล้ว เห็นว่า ไม่เป็นการถูกต้องตามกฎหมาย จากข้อเท็จจริงดังกล่าว นางรัศมีจะต้องออกจากงานและ ได้รับค่าชดเชย 150,000 บาท ถูกต้องหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 15 “ให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยเท่าเทียมกันในการจ้างงาน เว้นแต่ ลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจปฏิบัติเช่นนั้นได้

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แกลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

(5) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้าง ซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้ง โดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ

วินิจฉัย

โดยหลักของการทำสัญญาจ้างแรงงานนั้น นายจ้างกับลูกจ้างจะ ทำข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างไรก็ได้ แต่จะต้องไม่ทำสัญญาที่มีข้อตกลงน้อยกว่ามาตรฐานการคุ้มครองแรงงานที่กฎหมายได้กำหนดไว้ และข้อตกลงนั้น จะมีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อกฎหมายโดยชัดแจ้ง หรือเป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ได้ เพราะมิฉะนั้นแล้ว ข้อตกลงนั้นจะตกเป็นโมฆะ (ป.พ.พ. มาตรา 150)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายจ้างได้ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน โดยให้พนักงานชาย เกษียณเมื่อมีอายุ 55 ปี และให้พนักงานหญิงเกษียณเมื่อมีอายุ 50 ปีนั้น ย่อมเป็นการขัดกับมาตรา 15 ที่ กำหนดให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยเท่าเทียมกัน ดังนั้นการกำหนดให้พนักงานชายและหญิง เกษียณอายุต่างกันดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 15 และมีผลเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 นางรัศมีจึง มีสิทธิทำงานต่อไปได้จนถึงอายุ 55 ปี เช่นเดียวกับพนักงานชาย

สำหรับข้อตกลงที่ให้จ่ายค่าชดเชยให้นางรัศมี 150,000 บาท แต่นางรัศมีทำงานมาแล้ว 16 ปี 10 เดือน ซึ่งตามกฎหมายมาตรา 118(5) นางรัศมีจะต้องได้รับค่าชดเชย คือ 300 วัน

ดังนั้นการทำข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นการจ่ายค่าชดเชยให้น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้

ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เมื่อนางรัศมีถูกเลิกจ้างจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตาม มาตรา 118(5) คือเป็นเงิน 165,000 บาท

สรุป การที่นางรัศมีจะต้องออกจากงานและได้รับค่าชดเชย 150,000 บาทนั้น ไมถูกต้อง นางรัศมีมีสิทธิทำงานต่อไปได้จนถึงอายุ 55 ปี เช่นเดียวกับพนักงานชาย และถ้าถูกเลิกจ้างจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชย ตามมาตรา 118(5) คือ 165,000 บาท

 

ข้อ 2. นายเรวัตรเป็นลูกจ้างของบริษัท วนาลี จำกัด ได้ถูกเลิกจ้างและไมได้รับค่าชดเชย นายเรวัตร ซึ่งทำงานกับบริษัท วนาลี จำกัด มา 10 ปีเต็ม จึงมาขอปรึกษาท่านในฐานะเป็นนักกฎหมาย ซึ่งเชี่ยวชญกฎหมายแรงงาน

ให้ท่านอธิบายหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชย และกรณียกเว้นที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้นายเรวัตร ฟังให้เข้าใจ

ธงคำตอบ

ค่าชดเชยเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้ลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เมื่อนายจ้าง เป็นฝ่ายเลิกจ้าง โดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้าง หรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไมได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถที่จะดำเนินกิจการ ต่อไป ถ้านายจ้างมิได้เลิกจ้าง แต่ลูกจ้างลาออกไปเอง ทิ้งงานไป หรือลูกจ้างถึงแกความตาย กรณีเช่นนี้ นายจ้าง ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

หลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชย

ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชย ไว้ดังนี้ คือ ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แกลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

(1)       ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบหนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่า ค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือไมน้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้าง ตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(2)       ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปี แต่ไม่ครบสามปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตรา สุดท้ายเก้าสิบวัน หรือไมน้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานเก้าสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงาน โดยคำนวณเป็นหน่วย

(3)       ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปี แต่ไมครบหกปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตรา สุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับ ค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(4)       ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหกปี แต่ไม่ครบสิบปี ให้จ่ายไมน้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย สองร้อยสี่สิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตาม ผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(5)       ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไปให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

กรณียกเว้นที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 ได้บัญญัติจ้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้อง จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างไว้ว่า นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

(1)       ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(2)       จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(3)       ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

(4)       ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรมและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน

หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไมเกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

(5)       ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มี

เหตุอันสมควร

(6)       ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้ กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

สำหรับนายเรวัตรนั้น เมื่อได้ทำงานกับบริษัทฯ มาครบ 10 ปีเต็มแล้ว เมื่อถูกบริษัทเลิกจ้าง และมิได้ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งตามมาตรา 119(1) – (6) นายเรวัตรย่อมมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยจากบริษัทซึ่งเป็นนายจ้างตามมาตรา 118(5)

 

ข้อ 3. นายสมบัติเป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานเร่งรัดหนี้สินของบริษัท จริงใจไฟแนนเชียล จำกัด ได้ค่าจ้าง เดือนละ 17,000 บาท วันเกิดเหตุนายสมบัติเดินทางจากบ้านในช่วงเช้าเพื่อไปติดตามทวงหนี้เงินกู้ จากนายอ่ำซึ่งเป็นลูกหนี้ของบริษัทตามหน้าที่ ขณะพูดคุยเจรจากัน นายอ่ำไม่พอใจชักปืนยิงใส่ นายสมบัติ 1 นัด นายสมบัติถึงแก่ความตายทันที ภริยานายสมบัติซึ่งเป็นผู้จัดการศพได้ติดต่อ ขอรับค่าทำศพและเงินทดแทนจากนายจ้าง นายจ้างปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่า นายสมบัติไม่ได้ถูกยิง และถึงแกความตายในสถานที่ทำงานและเวลางาน ดังนี้ ภริยา พ่อ แม่ บุตรอายุ 13 ปี และ ด.ช.อ่อน ซึ่งเป็นคนอาศัยอยู่ในบ้านจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนหรือไม่ อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537

มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้

ประสบอันตราย” หมายความว่า การที่ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายหรือผลกระทบแก่จิตใจ หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แกนายจ้าง หรือตามคำสั่งของนายจ้าง

มาตรา 16 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้นายจ้าง จ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างเป็นจำนวนหนึ่งร้อยเท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมาย ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน

มาตรา 18 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทน เป็นรายเดือนให้แกลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้

(4) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย

มีกำหนดแปดปี

ค่าทดแทนตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองต้องไม่น้อยกว่าค่าทดแทนรายเดือนต่ำสุด และไม่ มากกว่าค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกำหนด

มาตรา 20 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้บุคคล ดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง

(1)       บิดามารดา

(2)       สามีหรือภริยา

(3)       บุตรมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี เว้นแต่เมื่อมีอายุครบสิบแปดปีและยังศึกษาอยู่ในระดับที่ ไม่สูงกว่าปริญญาตรี ให้ได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่

มาตรา 21 วรรคแรก ให้ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ได้รับส่วนแบ่งในเงินทดแทนเท่ากัน

วินิจฉัย

จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ ถือได้ว่า นายสมบัติเป็นลูกจ้างของบริษัท จริงใจฯ และถึงแก่ความตายจากการทำงาน เพราะนายสมบัติมีตำแหน่งเร่งรัดหนี้สินและถูกยิงขณะปฏิบัติหน้าที่ให้นายจ้าง และนายจ้างก็ได้รับประโยชน์ ดังนั้นถือว่านายสมบัติประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างตามมาตรา 5 การที่นายจ้างปฏิเสธการจ่ายเงินทดแทนจึงไม่ถูกต้อง นายจ้างต้องจ่ายค่าทดแทน ดังนี้

1.         ค่าทำศพ ที่ผู้จัดการศพมีสิทธิได้รับตามมาตรา 16 เป็นจำนวน 100 เท่าของอัตราค่าจ้าง ขั้นต่ำรายวันสูงสุดเท่ากับ 221 X 100 เป็นจำนวนเงิน 22,100 บาท

2.         ค่าทดแทนตามมาตรา 18(4) ที่จะต้องจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิตามมาตรา 10 คือ ร้อยละ 60

ของค่าจ้างรายเดือนไม่เกิน 8 ปี คือ

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อค่าทดแทนดังกล่าวมากกว่าค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมกำหนด .คือไมเกินเดือนละ 9,000 บาท จึงต้องลดลงมาเหลือเพียง 9,000 บาท (มาตรา 18 วรรคท้าย)

สำหรับทายาทที่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน (ทายาทเงินทดแทน) ตามมาตรา 20 ได้แก่ ภริยา พ่อ แม่ และบุตรอายุ 13 ปี ส่วน ด.ช.อ่อนเป็นผู้อาศัยในบ้านไม่มีสิทธิได้รับ และทายาทที่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน ดังกล่าว จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนเท่า ๆ กันตามมาตรา 21 วรรคแรก

สรุป การที่นายจ้างปฏิเสการจ่ายเงินทดแทนดังกล่าวไม่ถูกต้อง นายจ้างตองจ่ายเงินทดแทน ได้แก่ ค่าทำศพเป็นเงิน 22,100 บาท และค่าทดแทนตามมาตรา 18 เป็นรายเดือน แกผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 คือ ภริยา พอ แม่ และบุตรอายุ 13 ปี เดือนละ 9,000 บาท เป็นเวลา 8 ปี

 หมายเหตุ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันสูงสุดในปัจจุบัน คือ 221 บาท (ใช้บังคับตังแต่ปี 2554 เป็นต้นไป) ซึ่งใช้บังคับในจังหวัดภูเก็ตจังหวัดเดียว

 

ข้อ 4. ลูกจ้างของบริษัท กิตติมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ได้รวมตัวกันยื่นข้อเรียกร้องขอขึ้นค่าจ้าง และ สวัสดิการ จากนายจ้าง นายอำนวยซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนในการเจรจา แต่ไม่ได้ร่วม ลงชื่อและลายมือชื่อในข้อเรียกร้องการเจรจาประสบความสำเร็จสามารถตกลงกันได้ และทั้งสองฝ่าย ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ต่อมาอีก 3 เดือน นายจ้างเลิกจ้าง นายอำนวยโดยให้เหตุผลว่า นายอำนวยมักจะก่อความวุ่นวายในสถานที่ทำงาน ปลุกระดมลูกจ้าง เพื่อให้มีการเรียกร้องต่อนยจ้าง ดังนี้นายอำนวยจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร ให้อธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

มาตรา 123 “ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ ห้ามมิให้ นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการหรือสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการ หรือ อนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่บุคคลดังกล่าว

(1)       ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแกนายจ้าง

(2)       จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(3)       ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างโดยนายจ้างได้ ว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำต้องว่ากล่าวและตักเตือน ทั้งนี้ ข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งนั้นต้องมิได้ออกเพื่อขัดขวางมิให้บุคคลดังกล่าวดำเนินการเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง หรือ

(4)       ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไมมีเหตุผลอันสมควร

(5)       กระทำการใด ๆ เป็นการยุยง สนับสนุน หรือชักชวนให้มีการฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับ

สภาพการจ้างหรือคำชี้ขาด

วินิจนัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ข้ออ้างของนายจ้างฟังขึ้นหรือไม่ เห็นว่า การที่ ลูกจ้างของบริษัทฯ ได้รวมตัวกันแจ้งข้อเรียกร้องต่อนายจ้างจนกระทั้งตกลงกันได้ และทำข้อตกลงเกี่ยวกับ สภาพการจ้าง กรณีเช่นนี้เป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายในการทำข้อตกลงเกี่ยวกันสภาพการจ้าง เมื่อ ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ ลูกจ้างจึงได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติมาตรา 123 ที่นายจ้าง จะเลิกจ้างลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับไม่ได้ หาก นายจ้างเลิกจ้างย่อมถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม

อย่างไรก็ตามแม้ลูกจ้างจะได้รับความคุ้มครองดังกล่าว แต่ถ้าลูกจ้างได้กระทำความผิด อย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นความผิดร้ายแรงตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 123(1) – (5) นายจ้างก็สามารถเลิกจ้างได้ และไม่ถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอำนวยเป็นผู้แทนในการเจรจาตามข้อเรียกร้องเพื่อให้ได้มซึ่ง ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ดังนั้นแม้นายอำนวยจะไมได้ร่วมลงชื่อและลายมือชื่อในข้อเรียกร้องก็ได้รับ ความคุ้มครองตามกฎหมาย เมื่อการเจรจาบ่ระสบความสำเร็จสามารถตกลงกันได้และทั้งสองฝ่ายทำข้อตกลง เกี่ยวกับสภาพการจ้างตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ นายอำนวยย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 123 เมื่อ นายจ้างเลิกจ้างด้วยเหตุผลที่ไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 123(1) – (5) ถือว่านายจ้างกระทำการอันไม่เป็นธรรม ต่อนายอำนวย

สรุป การเลิกจ้างของนายจ้างเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม นายอำนวยย่อมมีสิทธิได้รับ ความคุ้มครองตามกฎหมาย

Advertisement