การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2553
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4003 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. นายรักรามติดตามข่าวสารระหว่างประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นข้อพิพาทระหว่างไทยและกัมพูชา ซึ่งอาจพัฒนาจนอาจกลายเป็นสงครามระหว่างประเทศได้ ประเด็นที่นายรักราม ไม่เข้าใจ คือ ไทยและกัมพูชามีการทำสนธิสัญญาระหว่างกันหลายเรื่อง และหากเกิดสงครามขึ้นจริง สนธิสัญญาระหว่างประเทศทั้งสองจะมีผลบังคับใช้ต่อไปหรือไม่ นักศึกษาในฐานะที่ผ่านการศึกษา วิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองมาแล้ว จะอธิบายหลักการดังกล่าวนี้ให้นายรักรามเข้าใจ อย่างชัดเจนอย่างไร
ธงคำตอบ
ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ สนธิสัญญาที่กำหนดให้คู่สัญญาปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้ปฏิบัติไปตามนั้นแล้ว สนธิสัญญาก็ถือว่าสิ้นสุดลง ส่วนสนธิสัญญาที่คู่สัญญาต้องปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นประจำ ก็อาจสิ้นสุดลงได้ด้วยสาเหตุ 7 ประการ เช่น คู่สัญญายินยอมตกลงเลิกสัญญา มีการทำสัญญาใหม่ หรือมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น เป็นต้น
สำหรับกรณีการสิ้นสุดของสนธิสัญญา เพราะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นหรือที่เรียกว่า สภาพการณ์แวดล้อมผิดไปจากเดิม (Rebus sic stantibus) นั้น กรณีที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็คือ การเกิดสงคราม ซึ่งสงครามจะทำให้สนธิสัญญาที่ทำระหว่างรัฐคู่สงครามก่อนเกิดสงครามสิ้นสุดลง และสงครามในที่นี้หมายถึง สงครามตามความหมายของกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ถ้าเป็นการใช้กำลังบังคับในรูปแบบอื่นที่ไม่ถึงขั้นทำสงคราม ไม่มีผลทำให้สนธิสัญญาสิ้นสุดลงแต่อย่างใด
หลักการที่ว่าสงครามทำให้สนธิสัญญาที่ทำไว้ก่อนเกิดสงครามสิ้นสุดลง จะต้องแยกพิจารณา ว่าเป็นสนธิสัญญาสองฝ่าย (ทวิภาคี) หรือหลายฝาย (พหุภาคี)
สำหรับสนธิสัญญาสองฝาย (ทวิภาคี) โดยหลักการแล้วถือว่าสนธิสัญญาที่ทำไว้ก่อนเกิด สงครามของรัฐคู่สงครามสิ้นสุดลง เว้นแต่
1. สนธิสัญญาที่ทำขึ้นเพื่อบังคับใช้โดยตรงในเวลาสงคราม เช่น อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วย กฎหมายและจารีตประเพณีในการทำสงครามทางบก ค.ศ. 1907, อนุสัญญาเจนีวา ว่าด้วยการปฏิบัติต่อเชลยศึก ค.ศ. 1949
2. สนธิสัญญาบางชนิด เช่น การยกดินแดนให้แก่กัน
3. สนธิสัญญานั้นเองได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าให้คงดำเนินต่อไปแม้เมื่อเกิดสงคราม เช่น สนธิสัญญาลงวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1815 ระหว่างอังกฤษ ฮอลแลนด์ และรัสเซีย ซึ่งกำหนดว่าอังกฤษจะต้องจ่ายเงินให้รัสเซียแม้ว่าจะทำสงครามกับรัสเซียก็ตาม ใน สงครามไคเมียระหว่างอังกฤษกับรัสเซีย อังกฤษก็ยังชำระหนี้ให้รัสเซียต่อไป
ดังนั้น ตามอุทาหรณ์ หากไทยกับกัมพูชาเกิดสงครามกัน สนธิสัญญาระหว่างประเทศทั้งสองซึ่งเป็น สนธิสัญญาสองฝ่าย (ทวิภาคี) ที่ทำขึ้นนั้นจะสิ้นสุดการบังคับใช้ หากไม่ใช่สนธิสัญญาที่เป็นไปตามข้อยกเว้นดังกล่าว
สรุป ข้าพเจ้าจะอธิบายให้นายรักรามเข้าใจอย่างชัดเจนตามหลักการดังกล่าวข้างต้น