การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4003 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 โปรดจงอธิบายบ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศตามมาตรา 38 แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และลําดับศักดิ์ของกฎหมายระหว่างประเทศว่าเป็นอย่างไร

ธงคําตอบ

บ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศตามมาตรา 38 แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ได้แก่

1 อนุสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งวางหลักอันเป็นที่ยอมรับของรัฐ

2 จารีตประเพณีระหว่างประเทศที่เป็นหลักฐานของการปฏิบัติที่ได้การยอมรับว่าเป็นกฎหมาย

3 หลักกฎหมายทั่วไป ซึ่งเป็นที่ยอมรับของชาติอารยะ

4 คําพิพากษาของศาล และคําสอนของผู้ทรงคุณวุฒิสูงสุด ในฐานะที่เป็นแนวทางเสริมในการกําหนดหลักกฎหมาย

ซึ่งบ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศนั้น ถ้าเป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศ จารีตประเพณี ระหว่างประเทศ และหลักกฎหมายทั่วไปนั้นจะอยู่ในกลุ่มที่มีความสําคัญเท่าเทียมกันโดยไม่มีการจัดลําดับศักดิ์ไว้แต่อย่างใด เพราะถือว่าต่างก็เป็นบ่อเกิดลําดับหลักที่กําหนดที่มาของกฎหมายระหว่างประเทศและตามธรรมนูญ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ค.ศ. 1945 ก็ได้กําหนดไว้ว่า ให้ศาลซึ่งมีหน้าที่พิจารณาพิพากษากรณีพิพาทที่มาสู่ศาล ตามกฎหมายระหว่างประเทศ จะต้องพิจารณาพิพากษาโดยใช้อนุสัญญาระหว่างประเทศ จารีตประเพณีระหว่าง ประเทศ และหลักกฎหมายทั่วไปดังกล่าวข้างต้น

ส่วนคําพิพากษาของศาลและคําสอนของผู้ทรงคุณวุฒิสูงสุดนั้น เป็นเพียงแนวทางเสริมที่เป็น เครื่องช่วยให้ศาลวินิจฉัยหลักกฎหมาย เละถือว่าเป็นที่มาหรือบ่อเกิดของกฎหมายในลําดับรอง

แต่อย่างไรก็ตาม ในการที่ศาลจะพิจารณาพิพากษากรณีพิพาทโดยใช้หลักต่าง ๆ อันถือว่าเป็นที่มา หรือบ่อเกิดของกฎหมายดังกล่าวข้างต้นนั้น ก็ไม่กระทบกระเทือนถึงอํานาจศาลในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีโดยอาศัย หลักความยุติธรรม และความรู้สึกผิดชอบอันดี หากคู่ความตกลงให้ปฏิบัติเช่นนั้น

อนึ่ง ลําดับศักดิ์ของกฎหมายระหว่างประเทศนั้น มีข้อยกเว้น 2 ประการ คือ

1 จะสร้างหลักกฎหมายระหว่างประเทศมาขัดแย้งกับ Just Cogent ไม่ได้ (Just Cogent เป็นหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่มีลักษณะพิเศษกว่าหลักกฎหมายระหว่างประเทศอื่น ๆ เป็น หลักกฎหมายระหว่างประเทศที่จะละเมิดไม่ได้ เช่น หลักการห้ามการใช้กําลังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลักการ ห้ามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หลักการห้ามการค้าทาส เป็นต้น)

2 ภายใต้บทบัญญัติมาตรา 103 ของกฎบัตรสหประชาชาติ “ในกรณีแห่งการขัดแย้งระหว่าง ข้อผูกพันของสมาชิกสหประชาชาติตามกฏบัตรฉบับปัจจุบัน และตามข้อผูกพันตามความตกลงระหว่างประเทศ อื่นใด ข้อผูกพันตามกฎบัตรฉบับปัจจุบันจักต้องใช้บังคับ” จึงทําให้ไม่สามารถมีพันธกรณีทางกฎหมายใดจะ เหนือกว่าพันธกรณีตามกฎบัตรสหประชาชาติได้

 

ข้อ 2 จงอธิบายขั้นตอนการจัดทําสนธิสัญญาภายใต้อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969 นอกจากนี้หากไม่ได้นําสนธิสัญญาที่มีผลใช้บังคับแล้วไปจดทะเบียนสนธิสัญญา จะมีผลอย่างไร ต่อองค์กรภายใต้สหประชาชาติ และผลต่อคู่สัญญาด้วยกันเอง

ธงคําตอบ

การจัดทําสนธิสัญญาภายใต้อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ.1969 ว่าด้วยสนธิสัญญา มีขั้นตอนการ จัดทําดังนี้ คือ

1 การเจรจา

2 การลงนาม

3 การให้สัตยาบัน

4 การจดทะเบียน

1 การเจรจา การเจรจาเป็นขั้นตอนเบื้องต้นในการทําสนธิสัญญาเพื่อกําหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ในการทําสนธิสัญญา ซึ่งองค์กรที่มีอํานาจในการเจรจาเพื่อทําสนธิสัญญาจะถูกกําหนดโดยรัฐธรรมนูญของแต่ละ ประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นประมุขของรัฐ นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีต่างประเทศก็ได้ หรือในบางกรณีผู้มีอํานาจใน การเจรจาอาจจะไม่ทําการเจรจาด้วยตนเองก็ได้แต่มอบอํานาจให้ผู้อื่น เช่น ตัวแทนทางการทูต หรือคณะผู้แทน เข้าทําการเจรจาแทน แต่ต้องทําหนังสือมอบอํานาจเต็ม (Full Powers) ซึ่งผู้แทนจะนํามามอบให้แก่รัฐคู่เจรจา หรือต่อที่ประชุมในกรณีที่มีรัฐหลายรัฐร่วมเจรจาด้วย

การร่างสนธิสัญญาเป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญของรัฐคู่เจรจา จะทําความตกลงกันในหลักการ และข้อความในสนธิสัญญา โดยจะมีการประชุมพิจารณาร่างข้อความในสนธิสัญญา และตามมาตรา 9 ของ อนุสัญญากรุงเวียนนาระบุว่า ร่างสนธิสัญญาต้องได้รับความเห็นชอบโดยเอกฉันท์จากรัฐคู่เจรจา เว้นแต่ที่ประชุม จะให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์

2 การลงนาม การลงนามในสนธิสัญญามีวัตถุประสงค์ที่จะกําหนดข้อความเด็ดขาดในสนธิสัญญา และการแสดงความยินยอมที่จะผูกพันในสนธิสัญญาของรัฐคู่เจรจา ซึ่งการลงนามในสนธิสัญญานั้น จะกระทํา เมื่อผู้แทนในการเจรจาเห็นชอบกับข้อความในร่างสนธิสัญญานั้นแล้ว

การลงนามในสนธิสัญญานั้น อาจจะเป็นการลงนามเลย หรือลงนามย่อก่อนและลงนามจริง ในรายหลังก็ได้ และสนธิสัญญาที่ได้มีการลงนามแล้วนั้นยังไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันความรับผิดชอบของรัฐ จะต้อง มีการให้สัตยาบันเสียก่อนจึงจะสมบูรณ์

3 การให้สัตยาบัน การให้สัตยาบัน หมายถึง การยอมรับขั้นสุดท้าย เป็นการแสดงเจตนา ของรัฐที่จะรับข้อผูกพันและปฏิบัติตามพันธะในสนธิสัญญา และการให้สัตยาบันแก่สนธิสัญญานั้น จะต้องมีการ จัดทําสัตยาบันสาร (Instrument of Ratification) ซึ่งกระทําในนามประมุขของรัฐ หรือรัฐบาล หรืออาจจะลงนาม โดยรัฐมนตรีต่างประเทศก็ได้ และในสัตยาบันสารนั้นจะระบุข้อความในสนธิสัญญา และคํารับรองที่จะปฏิบัติ ตามข้อผูกพันในสนธิสัญญานั้น

4 การจดทะเบียน เมื่อมีการทําสนธิสัญญาเสร็จแล้ว โดยหลักจะต้องนําสนธิสัญญานั้นไป ชุดทะเบียนไว้กับสํานักเลขาธิการขององค์การสหประชาชาติ (มาตรา 102 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ) ทั้งนี้เพราะตามมาตรา 80 แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการจดทะเบียนสนธิสัญญาไว้ว่า หลังจาก สนธิสัญญาเริ่มมีผลใช้บังคับแล้ว สนธิสัญญาจะต้องถูกจัดส่งไปยังสํานักเลขาธิการแห่งองค์การสหประชาชาติเพื่อ ดําเนินการจดทะเบียน จัดเก็บ บันทึก และจัดพิมพ์เผยแพร่ต่อไป

ส่วนผลของสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศซึ่งไม่ได้จดทะเบียนไว้ ไม่อาจยกเอาสนธิสัญญา หรือความตกลงนั้น ๆ ขึ้นกล่าวอ้างต่อองค์กรใด ๆ ของสหประชาชาติได้ (มาตรา 102 วรรคสองแห่งกฎบัตร สหประชาชาติ) แต่ผลบังคับระหว่างคู่สัญญายังมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ ไม่ตกเป็นโมฆะหรือโมฆียะแต่อย่างใด ตามหลัก Pacta Sunt servanda

 

ข้อ 3. ประเทศไทยกําลังที่จะมีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ในเดือนมีนาคมศกหน้านี้หลังจากอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มานานกว่า 4 ปี ดังนั้นรัฐบาลไทยที่จะมาทําหน้าที่แทน คสช. ตามข้อเท็จจริงนี้จะมีหลักเกณฑ์ใดของกฎหมาย ระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง ให้นักศึกษาอธิบายให้ชัดเจน และวิเคราะห์ว่ารัฐบาลนี้ จะต้องได้รับการรับรองจากรัฐอื่นหรือไม่

ธงคําตอบ

หากมีเหตุการณ์ที่จะนําไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาลใหม่แทนรัฐบาลเดิมด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ การปฏิวัติ หรือวิธีอื่นใดก็ตาม จะต้องมีการรับรองรัฐบาลใหม่หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 กรณีไม่จําเป็นต้องรับรอง คือ กรณีที่รัฐบาลใหม่ได้ขึ้นมาบริหารประเทศตามกระบวนการ ตามปกติวิสัยหรือตามวิถีทางของกฎหมายภายในของรัฐนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือโดย วิธีการอื่น ๆ ก็ตาม ก็ไม่จําเป็นต้องรับรองรัฐบาลชุดใหม่นี้ เพราะถือว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องและชอบธรรมแล้ว

2 กรณีที่จะต้องมีการรับรองรัฐบาลใหม่ จะเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ

(1) กรณีที่รัฐบาลใหม่มิได้ขึ้นมาปกครองประเทศตามวิถีทางของกฎหมาย คือ เป็นกรณีที่มี คณะบุคคลขึ้นครองอํานาจโดยวิธีการที่ผิดแปลกไปจากที่รัฐธรรมนูญกําหนดไว้ ซึ่งโดยปกติที่ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ คือ การปฏิวัติรัฐประหาร หรือการได้อํานาจโดยการใช้กําลังบังคับ

(2) กรณีที่มีการตั้งรัฐบาลขึ้นมีอํานาจปกครองดินแดนส่วนหนึ่งของรัฐ โดยการแย่งอํานาจปกครองจากรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐ ทําให้มี 2 รัฐบาลในรัฐเดียวกัน ซึ่งรัฐบาลที่ตั้งขึ้นในกรณีดังกล่าว เรียกได้ว่าเป็นรัฐบาลโดยพฤตินัย จึงสมควรที่จะต้องได้รับการรับรองจากรัฐอื่น

การตัดสินใจในการให้การรับรองรัฐบาลใหม่นี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของรัฐที่จะให้การรับรองหรือไม่ และอาจจะรับรองโดยมีเงื่อนไขก็ได้ การรับรองรัฐบาลนี้มีผลในลักษณะของการประกาศให้นานาชาติทราบถึง สถานภาพของรัฐบาลที่ได้รับการรับรองเช่นเดียวกับการรับรองรัฐ

สําหรับแนวคิดในการพิจารณาเกี่ยวกับการรับรองรัฐบาลใหม่นี้ มีทฤษฎีที่เกี่ยวข้องดังนี้ คือ

1 ทฤษฎี Tobar เป็นหลักการรับรองรัฐบาลโดยพิจารณาถึงความชอบธรรมของรัฐบาล ที่ขึ้นมามีอํานาจปกครองประเทศว่าเป็นไปตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้เป็นความคิดที่พยายาม จะป้องกันการปฏิวัติรัฐประหารที่เกิดขึ้นบ่อยในลาตินอเมริกา ซึ่ง Tobar รัฐมนตรีต่างประเทศเอกวาดอร์ เห็นว่า รัฐไม่ควรรับรองรัฐบาลที่ได้อํานาจมาโดยการปฏิวัติรัฐประหาร เว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลใหม่จะทําให้ถูกต้องตาม ขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ โดยได้รับความยินยอมจากสภาที่มาจากการเลือกตั้งเสียก่อน

ทฤษฎี Tobar ใช้เฉพาะในทวีปอเมริกาเท่านั้น ประเทศในยุโรปไม่ยอมรับนับถือปฏิบัติ โดยหลักการแล้วทฤษฎีดังกล่าวขัดแย้งกับข้อเท็จจริง เพราะการรับรองรัฐบาลใหม่ก็เหมือนกับการรับรองรัฐ ซึ่ง เป็นเพียงการยืนยันหรือประกาศสภาพของรัฐบาลที่มีอยู่แล้วเท่านั้น และการปฏิเสธการรับรองรัฐบาลโดยอ้างว่า เป็นรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมนั้น เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่น ดังนั้นทฤษฎี Tobar จึงไม่ได้รับการ ยึดถือปฏิบัติตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 1932 เป็นต้นมา

2 ทฤษฎี Estrada เป็นหลักการรับรองรัฐบาลโดยพิจารณาถึงประสิทธิภาพของรัฐบาลนั้นว่า มีอํานาจอันแท้จริงในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ได้หรือไม่ ถ้ารัฐบาลมีความสามารถเซ่นว่านี้ก็เพียงพอที่จะเป็นรัฐบาลโดยสมบูรณ์ได้ โดยมิต้องไปพิจารณาถึง ความถูกต้องตามกฎหมายภายในของรัฐบาล เพราะเป็นกิจการภายในของรัฐนั้น รัฐอื่นไม่มีหน้าที่ไปพิจารณา รัฐทุกรัฐ ย่อมมีอํานาจอธิปไตยของตนเอง ซึ่งสังคม ระหว่างประเทศในปัจจุบันนี้ยึดถือตามทฤษฎี Estrada นี้ เช่น การรับรอง รัฐบาลทหารของประเทศพม่า หรือการรับรองรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหารของประเทศไทย เป็นต้น

รูปแบบของการรับรองรัฐบาล

การรับรองรัฐบาล อาจจําแนกได้เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ การรับรองโดยชัดแจ้ง (โดยนิตินัย) และการ รับรองโดยปริยาย (โดยพฤตินัย)

1 การรับรองโดยชัดแจ้ง (โดยนิตินัย) อาจจะกระทําโดยการให้การรับรองรัฐบาลใหม่เป็น ลายลักษณ์อักษร หรือด้วยวาจา โดยผ่านผู้แทนของรัฐหรือประมุขของรัฐ หรืออาจจะทําได้โดยการประกาศทาง สื่อมวลชน โดยวิธีการทางการทูต โดยคําแถลงการณ์ หรือโดยหนังสือตราสาร เป็นต้น

2 การรับรองโดยปริยาย (โดยพฤตินัย) ได้แก่ การกระทําใด ๆ ซึ่งถือว่าผู้ให้การรับรอง ประสงค์จะยอมรับสถานะของผู้ซึ่งได้รับการรับรอง เช่น การเปิดสัมพันธไมตรีทางการทูต โดยการตั้งทูตไปประจํา หรือแลกเปลี่ยนทูตซึ่งกันและกัน หรือไม่เรียกทูตของตนกลับเมื่อมีรัฐบาลใหม่ เป็นต้น หรือการทําสนธิสัญญา ทวิภาคีกับรัฐบาลใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นการรับรองรัฐบาลใหม่โดยปริยายเช่นเดียวกัน

สําหรับกรณีของประเทศไทยซึ่งกําลังจะมีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ในเดือนมีนาคม ศกหน้านี้นั้น รัฐบาลเทยที่กําลังจะมาทําหน้าที่แทน คสช. ถือว่าเป็นรัฐบาลที่ขึ้นมาปกครองประเทศตามวิถีทางที่ กฎหมายได้กําหนดไว้ จึงไม่จําเป็นต้องได้รับการรับรองจากรัฐอื่นตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประเทศ

เพราะแม้จะไม่มีการรับรองรัฐบาลใหม่ก็ถือว่ารัฐบาลใหม่ดังกล่าวเป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ จึงสามารถปฏิบัติพันธกรณีระหว่างประเทศได้อย่างสมบูรณ์แล้ว

 

ข้อ 4. ภายใต้หลักกฎหมายของกฎบัตรสหประชาชาติ (United Nations Carter) โปรดจงอธิบายว่าเหตุใดในฐานะรัฐสมาชิก (Member State) ของสหประชาชาติ จึงต้องระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ โดยสันติวิธี และมีข้อยกเว้นอย่างไรบ้าง

ธงคําตอบ

เหตุที่รัฐสมาชิกของสหประชาชาติจะต้องระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธีนั้นเป็นไปตาม หลักการที่ว่ารัฐทั้งหลายมีพันธกรณีที่จะต้องระงับกรณีพิพาทระหว่างรัฐโดยสันติวิธี ซึ่งหลักการดังกล่าวได้ยืนยัน ไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติมาตรา 2 (3) ว่า “รัฐสมาชิกทั้งปวงจะต้องระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศของตนโดย สันติวิธี ในลักษณะการเช่นที่จะไม่เป็นอันตรายต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และความยุติธรรม”

นอกจากนั้นมาตรา 33 (1) ยังระบุไว้ว่า “ผู้เป็นฝ่ายในกรณีพิพาทใด ๆ ซึ่งหากดําเนินอยู่ต่อไป น่าจะเป็นอันตรายแก่การธํารงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ก่อนอื่นจักต้องแสวงหาการแก้ไข โดยการเจรจา การไต่สวน การไกล่เกลี่ย การประนีประนอม อนุญาโตตุลาการ การระงับโดยทางศาล การหันเข้า อาศัยทบวงการตัวแทน หรือการตกลงส่วนภูมิภาค หรือสันติวิธีประการอื่นใดที่คู่กรณีจะพึงเลือก”

และมาตรา 51 ระบุว่า “ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบันอันจักรอนสิทธิประจําตัวในการ ป้องกันตนเองโดยลําพังตน หรือโดยร่วมกัน หากการโจมตีโดยกําลังอาวุธยังเกิดแก่สมาชิกของสหประชาชาติ จนกว่าคณะมนตรีความมั่นคงจะได้ดําเนินมาตรการที่จําเป็นเพื่อธํารงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่าง ประเทศ มาตรการที่สมาชิกได้ดําเนินไปในการใช้สิทธิป้องกันตนเองนี้ จักต้องรายงานให้คณะมนตรีความมั่นคง ทราบโดยทันที และจักต้องไม่กระทบกระเทือนอํานาจและความรับผิดชอบของคณะมนตรีความมั่นคงภายใต้ กฎบัตรฉบับปัจจุบันแต่ทางหนึ่งทางใด ในอันที่จักดําเนินการเช่นที่เห็นจําเป็น เพื่อธํารงไว้หรือสถาปนากลับคืนมา ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศในขณะหนึ่งขณะใด”

หมวด 7 การดําเนินการเกี่ยวกับการคุกคามต่อสันติภาพ การละเมิดสันติภาพ และการกระทําการรุกราน ในฐานะรัฐสมาชิกของสหประชาชาติ จึงมีพันธกรณีต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งระบุให้รัฐสมาชิกต้องระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศของตนโดยสันติวิธี ในลักษณะการเช่นที่จะไม่เป็นอันตราย แก่สันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และความยุติธรรม ตามกฎหมายตามกฎบัตรสหประชาชาติมาตรา 2 (3) ซึ่งกลไกการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธีนั้นแม้ไม่ได้ระบุในมาตรา 2 (3) ก็ตาม หากแต่ระบุในมาตรา 33 (1) คือ การเจรจา การไต่สวน การไกล่เกลี่ย การประนีประนอม อนุญาโตตุลาการ การระงับโดยทางศาล การหันเข้า อาศัยทบวงการตัวแทน หรือการตกลงส่วนภูมิภาค หรือสันติวิธีประการอื่นใดที่คู่กรณีจะพึงเลือก

ส่วนข้อยกเว้น สําหรับการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศของตนโดยสันติวิธี มี 2 ประการ คือ

1 การใช้สิทธิป้องกันตนเอง ซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ตามที่ ปรากฏในมาตรา 51 ของกฎบัตรสหประชาชาติ

2 การใช้มาตรการรักษาสันติภาพร่วมกัน (Collective Self-defense) ภายใต้กองกําลัง รักษาสันติภาพ ตามหมวด 7 ของกฎบัตรสหประชาชาติว่าด้วยการดําเนินการเกี่ยวกับการคุกคามต่อสันติภาพ การละเมิดสันติภาพ และการกระทําการรุกราน

Advertisement