การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4003 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 ตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 (The Convention Relating the Status of Refugees 1951) และพิธีสารว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1967 (The Protocol Relating to the Status of Refugee of 1967) มีหลักการห้ามผลักดันกลับ (Non-refoulement Principle) เป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่ไม่ยอมให้มีการผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปเผชิญกับ อันตรายยังรัฐที่ตนเองหลบหนีข้ามพรมแดนมา เมื่อรัฐ A ไม่ได้เป็นรัฐภาคีสมาชิกในอนุสัญญาดังกล่าว รัฐบาล A จึงประกาศว่า รัฐ A ไม่มีพันธกรณีต้องผูกพันตามสนธิสัญญา ซึ่งรวมไปถึงหลักการห้าม ผลักดันกลับ รัฐบาล A จึงทําการผลักดันผู้ลี้ภัยที่มาตั้งค่ายอยู่ตามแนวพรมแดนของตนออกไปจาก ดินแดนของตน ขอให้นักศึกษาโปรดจงอธิบายการกระทําของรัฐบาล A ว่าถูกต้องตามกฎหมาย ระหว่างประเทศหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

ตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 มาตรา 1 ประกอบกับพิธีสารว่าด้วยสถานภาพ ผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1967 คําว่า “ผู้ลี้ภัย” หมายถึง บุคคลที่อยู่นอกประเทศแห่งสัญชาติของตน เนื่องด้วยความหวาดกลัว ที่มีมูลเหตุอันจะกล่าวอ้างได้ว่าจะถูกประหัตประหารด้วยสาเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกภาพใน กลุ่มสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือความคิดเห็นทางการเมือง และไม่สามารถหรือด้วยความหวาดกลัวนั้น ไม่เต็มใจ ที่จะได้รับความคุ้มครองจากประเทศนั้น ในกรณีของบุคคลไร้สัญชาติ และอยู่นอกประเทศที่เดิมมีที่อาศัยอยู่ประจํา ด้วยความหวาดกลัวที่กล่าวมาจึงไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะกลับไปอยู่อาศัยในประเทศนั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่รัฐบาล A ประกาศว่าตนเองไม่ได้เป็นรัฐภาคีสมาชิกในอนุสัญญาว่า ด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 และพิธิสารว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1967 จึงไม่มีพันธกรณีต้องผูกพันตาม สนธิสัญญานั้นถูกต้อง เพราะรัฐจะผูกพันในสนธิสัญญาได้ก็ต่อเมื่อเป็นรัฐภาคีเท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 33 (1) แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยฯ ได้กําหนดไว้ว่า “รัฐภาคีผู้ทําสัญญาจะไม่ขับไล่หรือส่งกลับ (ผลักดัน) ไม่ว่าจะโดยลักษณะใด ๆ ไปยังชายแห่งดินแดนซึ่ง ณ ที่นั้น ชีวิตหรืออิสรภาพของผู้ลี้ภัยอาจได้รับการคุกคามด้วยสาเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา สมาชิกภาพของกลุ่มทาง การเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือความคิดเห็นทางการเมือง” โดยบทบัญญัติมาตรานี้ถือเป็นการรับรองหลักกฎหมาย จารีตประเพณีระหว่างประเทศที่มีความสําคัญและเป็นที่ยอมรับในสังคมระหว่างประเทศ คือ หลักห้ามผลักดันกลับ (Non-Refoulement Principle) ซึ่งมีผลผูกพันเป็นการทั่วไป ไม่จํากัดเฉพาะรัฐภาคีผู้ทําสัญญาเท่านั้น

ดังนั้น แม้ว่ารัฐ A จะไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาดังกล่าว แต่ก็ยังคงต้องผูกพันในเนื้อหาที่เป็น กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศและไม่สามารถปฏิเสธพันธกรณีในส่วนนี้ได้ การที่รัฐบาล A ผลักดันผู้ลี้ภัย ที่มาตั้งค่ายอยู่ตามแนวพรมแดนของตนออกไปจากดินแดนของตน จึงเท่ากับว่าเป็นการกระทําที่ขัดกับหลักการ ห้ามผลักดันกลับ การกระทําของรัฐ A จึงเป็นการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

 

ข้อ 2 โปรดจงอธิบายหลักการจดทะเบียนสนธิสัญญาตามมาตรา 102 ของกฎบัตรสหประชาชาติ และผลกระทบทางกฎหมายจากการที่รัฐไม่นําสนธิสัญญานั้นไปจดทะเบียน

ธงคําตอบ

ตามกฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา 102 กําหนดว่า

“สนธิสัญญาและความตกลงระหว่างประเทศทุกฉบับ ซึ่งสมาชิกใด ๆ แห่งสหประชาชาติได้ เข้าเป็นภาคี ภายหลังที่กฎบัตรฉบับปัจจุบันใช้บังคับ จะต้องจดทะเบียนไว้กับสํานักเลขาธิการโดยเร็วที่สุดเท่าที่ จะทําได้ และจะได้จัดพิมพ์ขึ้นโดยสํานักงานนี้

ภาคีโดยสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ เช่นว่าใด ๆ ซึ่งมิได้จดทะเบียนไว้ ไม่อาจ ยกเอาสนธิสัญญา หรือความตกลงนั้น ๆ ขึ้นกล่าวอ้างต่อองค์กรใด ๆ ของสหประชาชาติ”

ตามกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ 102 นั้น ได้บังคับให้สนธิสัญญาทุกฉบับที่รัฐภาคีขององค์การ สหประชาชาติได้ไปจัดทําไว้นั้น จะต้องนํามาจดทะเบียนต่อองค์การสหประชาชาติ (สํานักเลขาธิการ) ถ้าหากไม่ นําไปจดทะเบียนก็จะไม่มีผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของสนธิสัญญา สนธิสัญญานั้นจะไม่ตกเป็นโมฆะ หรือโมฆียะ แต่ประการใด แต่จะส่งผลให้รัฐที่ไม่นําสนธิสัญญาไปจดทะเบียนไม่สามารถนําสนธิสัญญานั้นขึ้นกล่าวอ้างกับ หน่วยงานของสหประชาชาติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นจากตราสาร ดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศกําลังพิจารณาคดี รัฐก็สามารถนําสนธิสัญญา ไปจดทะเบียนได้หากได้รับอนุญาตจากศาล

 

ข้อ 3 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับที่ผ่านมา บัญญัติในมาตรา 1 ว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกันไม่อาจแบ่งแยกออกจากกันได้ แต่ประเทศไทยมีการกระจายอํานาจ หลายรูปแบบ เช่น กรุงเทพมหานคร เทศบาลต่าง ๆ หรือองค์การบริหารส่วนตําบล เป็นต้น ให้นักศึกษาอธิบายเรื่องรูปแบบของรัฐให้เข้าใจ และวิเคราะห์ว่าประเทศไทยเป็นรัฐในรูปแบบใด ด้วยเหตุผลอย่างไร และแตกต่างจากประเทศมาเลเซียอย่างไร

ธงคําตอบ

รูปแบบของรัฐ อาจแบ่งแยกออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ รัฐเดี่ยว และรัฐรวม

1 รัฐเดี่ยว หมายถึง รัฐซึ่งมีการปกครองเป็นเอกภาพไม่ได้แบ่งแยกออกจากกัน โดยมี รัฐบาลกลางปกครองประเทศเพียงรัฐบาลเดียว แม้จะมีการกระจายอํานาจปกครองให้แก่ท้องถิ่นแต่ก็ยังอยู่ใน ความควบคุมของรัฐบาลกลาง มีประมุขของรัฐแต่เพียงผู้เดียว และมีองค์กรนิติบัญญัติเพียงองค์กรเดียว

ตัวอย่างของรัฐเดี่ยว ได้แก่ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สเปน เบลเยียม อิตาลี และประเทศไทย เป็นต้น

2 รัฐรวม หมายถึง รัฐหลายรัฐมารวมกันโดยเหตุการณ์หรือผลประโยชน์ร่วมกันบางอย่าง ซึ่งรัฐรวมระหว่างหลายรัฐดังกล่าวอาจจะเป็นรัฐรวมแบบสมาพันธรัฐ หรือแบบสหพันธรัฐก็ได้

สําหรับรัฐรวมแบบสหพันธรัฐหรือสหรัฐ เป็นการรวมกันของรัฐหลายรัฐในลักษณะที่ ก่อให้เกิดรัฐใหม่ขึ้นมารัฐเดียว ซึ่งรัฐเดิมที่เข้ามารวมนี้จะสูญสภาพความเป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศไป โดยยอมสละอํานาจอธิปไตยบางส่วนให้แก่รัฐบาลกลางของสหพันธรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกิจการภายนอก เช่น อํานาจในการป้องกันประเทศ อํานาจในการติดต่อกับต่างประเทศ ส่วนกิจการภายในรัฐสมาชิกยังคงมีอิสระเช่นเดิม

ลักษณะสําคัญของสหพันธรัฐ มีดังต่อไปนี้

1 การรวมในรูปสหพันธรัฐไม่ใช่การรวมแบบสมาคมระหว่างรัฐ แต่เป็นการรวมที่ก่อให้เกิด รัฐใหม่ขึ้นมารัฐเดียว และจะมีรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐเพื่อเป็นกฎหมายแม่บทในการปกครอง กําหนดหน้าที่ ของรัฐบาลกลางและหน้าที่ของรัฐสมาชิก

2 รัฐที่มารวมจะหมดสภาพบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศไป ซึ่งรัฐใหม่ที่เกิดขึ้นมา จะมีสภาพบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศเพียงรัฐเดียว

3 อํานาจการติดต่อภายนอก เช่น การทําสนธิสัญญา การรับส่งผู้แทนทางการทูต การป้องกันประเทศ ฯลฯ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลางแต่ผู้เดียว แต่รัฐสมาชิกก็ยังมีอํานาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ในกิจการภายในของตนเอง แต่รัฐธรรมนูญของมลรัฐจะขัดกับรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐไม่ได้

4 มลรัฐมีส่วนในการบริหารงานของสหพันธรัฐ โดยสภาสูงจะประกอบด้วยผู้แทนของ แต่ละมลรัฐ

5 ในกรณีที่มลรัฐไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐต่างประเทศ สหพันธรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ผู้เดียว

สหพันธรัฐอาจจะเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น เกิดจากหลายรัฐมารวมกันในรูปของสหพันธรัฐ เช่น สหรัฐอเมริกาและสวิตเซอร์แลนด์ หรือเกิดการเปลี่ยนรูปจากรัฐเดี่ยวมาเป็นสหพันธรัฐ เช่น เม็กซิโก บราซิล เป็นต้น โดยปกติแล้วรัฐสมาชิกของสหพันธรัฐจะไม่สามารถถอนตัวออกไปได้ เว้นแต่จะกําหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ของสหพันธรัฐให้รัฐสมาชิกถอนตัวออกได้

ในปัจจุบันมีรัฐเป็นจํานวนมากที่มีรูปการปกครองแบบสหพันธรัฐ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก บราซิล อินเดีย ปากีสถาน ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมัน และมาเลเซีย เป็นต้น

ดังนั้น ตามรัฐธรรมนูญฯ ทุกฉบับที่บัญญัติไว้ว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” นั้น แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีรูปแบบของรัฐเป็นลักษณะของรัฐเดี่ยว โดยมีประมุขคนเดียวกัน และมีรัฐบาลกลางบริหารปกครองประเทศรัฐบาลเดียว

ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศมาเลเซียที่มีลักษณะของรัฐเป็นรัฐรวมแบบสหพันธรัฐ ซึ่งจะคล้ายคลึงกัน คือมีประมุขและรัฐบาลกลางเดียวกัน เพียงแต่รัฐบาลกลางของสหพันธรัฐจะรับผิดชอบการบริหาร กิจการภายนอกหรือกิจการระหว่างประเทศเป็นสําคัญ ส่วนรัฐที่มารวมกันยังคงมีอํานาจอิสระในการบริหารปกครอง การดําเนินกิจการภายในของตน มีผู้ปกครองเขตแดนและมีประชากรของตนเองอยู่เช่นเดิม

 

ข้อ 4. จงอธิบายกระบวนการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธีด้วยวิธีที่เรียกว่า “ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” หรือศาลโลก ว่ามีลักษณะและการดําเนินการอย่างไร และวิธีการนี้มีความแตกต่าง จากวิธีการ “ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ” ในประเด็นสําคัญอย่างไร ซึ่งต้องอธิบายแยกแยะ เป็นประเด็นให้ชัดเจนในการตอบคําถามด้วย

ธงคําตอบ

การระงับข้อพิพาทโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก เป็นการระงับข้อพิพาท ทางศาลตามความหมายที่แท้จริง เนื่องจากเป็นลักษณะของการเสนอข้อพิพาทให้ศาลที่จัดตั้งขึ้นมาอย่างถาวร โดยมี ผู้พิพากษาประจําอยู่ มีระเบียบกฎเกณฑ์และวิธีพิจารณาความของตนเอง แตกต่างจากศาลอนุญาโตตุลาการ ระหว่างประเทศ แต่ก็เป็นการระงับข้อพิพาทในทางกฎหมาย และอยู่บนพื้นฐานของการเคารพกฎหมายเช่นเดียวกัน

สําหรับโครงสร้างของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะประกอบด้วยผู้พิพากษา 15 นาย แต่จะเป็นคนในสัญชาติเดียวกันไม่ได้ ได้รับเลือกตั้งอยู่ในตําแหน่ง 9 ปี และอาจได้รับเลือกใหม่ นอกจากนั้นก็มีการเลือกตั้งซ่อม ทุก ๆ 3 ปี โดยผู้พิพากษา 5 คน จะอยู่ในตําแหน่ง 3 ปี 5 คนอยู่ในตําแหน่ง 6 ปี และ 5 คนที่เหลือ อยู่ในตําแหน่ง ได้ครบ 9 ปี ถ้ามีตําแหน่งว่างให้มีการเลือกตั้งซ่อม ผู้ที่ได้รับเลือกจะอยู่ได้เท่าเวลาของผู้ที่ตนแทน การเลือกตั้ง กระทําโดยความเห็นชอบร่วมกันของสมัชชาสหประชาชาติและคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งในกรณีนี้สมาชิกถาวร ของคณะมนตรีความมั่นคงไม่สามารถใช้สิทธิวีโต้ได้ มติถือเสียงส่วนใหญ่เป็นเกณฑ์ ศาลเลือกประธานและรองประธาน ซึ่งอยู่ในตําแหน่ง 3 ปี และอาจได้รับเลือกใหม่อีก

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอํานาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทระหว่างประเทศหรือรัฐเท่านั้น และต้องการเกิดจากความสมัครใจของรัฐคู่กรณีด้วย มีเขตอํานาจในเรื่องดังต่อไปนี้คือ

1 การตีความสนธิสัญญา

2 ปัญหากฎหมายระหว่างประเทศ

3 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดข้อผูกพันระหว่างประเทศ

4 กรณีเกิดการเสียหายเพราะละเมิดพันธะระหว่างประเทศ

นอกจากนี้คู่พิพาทอาจจะขอให้ศาลพิจารณาเรื่องอื่น ๆ ตามที่ได้กําหนดไว้ในสนธิสัญญา และ ยังมีหน้าที่ให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายแก่คณะมนตรีและสมัชชาของสหประชาชาติด้วยในกรณีที่ถูกร้องขอ

การนําคดีขึ้นสู่ศาลโดยปกติเป็นความประสงค์ของคู่กรณีเอง นอกจากจะมีสนธิสัญญาที่คู่กรณี ทําไว้บังคับให้ต้องนําคดีขึ้นสู่ศาลนี้ คําตัดสินของศาลผูกพันคู่กรณีให้ต้องปฏิบัติ และถือเป็นที่สุดไม่มีอุทธรณ์ ฎีกา คําพิพากษาของศาลมีลักษณะเป็นพันธกรณีที่คู่กรณีจะต้องปฏิบัติตาม และคําพิพากษาถือเป็นที่สิ้นสุด และผูกพัน เฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้น ถ้ารัฐใดไม่ปฏิบัติตามคําพิพากษา รัฐอีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องเรียนไปยังคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งถ้าคณะมนตรีความมั่นคงเห็นว่าจําเป็นก็อาจทําคําแนะนําหรือวินิจฉัยมาตรการที่จะดําเนินการเพื่อให้เกิดผล ตามคําพิพากษา

ส่วนการระงับข้อพิพาทโดยศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เป็นการระงับข้อพิพาท โดยองค์กรที่ยังไม่มีลักษณะเป็นศาลที่แท้จริง โดยศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เป็นศาลที่มีการจัดตั้งขึ้นมา สืบเนื่องมาจากการประชุมที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี ค.ศ. 1899 และปี ค.ศ.1907 ซึ่งได้มีการผลักดันให้ มีการตั้งอนุญาโตตุลาการในลักษณะถาวรขึ้นเรียกว่า ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ มีที่ทําการอยู่ที่กรุงเฮก

 

โดยรัฐที่เป็นภาคีสมาชิกจะส่งรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถในด้านกฎหมายระหว่างประเทศใน ประเทศของตนเพื่อไปเป็นผู้พิพากษายังศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศจํานวน 4 คน และรายชื่อทั้งหมด จะรวบรวมทําเป็นบัญชีไว้ หากมีกรณีพิพาทมาสู่ศาลจึงจะเรียกผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านั้นมาตัดสิน และกรณีที่ถือว่า ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศยังไม่มีลักษณะที่เป็นศาลอย่างแท้จริงก็เพราะว่า ถึงแม้จะมีที่ทําการศาล อย่างถาวรก็ตาม แต่ว่ายังไม่มีผู้พิพากษาอยู่ประจําตลอดเวลาอย่างศาลทั่วไป และไม่มีการประชุมกันระหว่าง ผู้พิพากษาด้วยกันอย่างเช่นศาลทั่วไป

กระบวนการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศที่เรียกว่าวิธีการ “ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” (ศาลโลก) จะแตกต่างจากวิธีการที่เรียกว่า “ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ” ในประเด็นที่สําคัญ คือ

1 การนําคดีขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยปกติจะเป็นความประสงค์ของคู่กรณีเอง เว้นแต่จะมีสนธิสัญญาที่คู่กรณีทําไว้บังคับให้ต้องนําคดีขึ้นสู่ศาลนี้ แต่การนําคดีขึ้นสู่ศาลอนุญาโตตุลาการ ระหว่างประเทศจะต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจของคู่กรณีเท่านั้น

2 ผู้พิพากษาที่จะตัดสินคดีในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ คือผู้พิพากษาที่ประจําอยู่ในศาล แต่ผู้พิพากษาที่จะตัดสินคดีในศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ คือผู้พิพากษาที่คู่พิพาทเลือกมาจากบัญชีรายชื่อ (เป็นผู้พิพากษาที่ได้รับความยินยอมจากคู่กรณี)

3 การพิจารณาคดีโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จะมีระเบียบกฏเกณฑ์และวิธีพิจารณา เป็นของตนเอง รวมทั้งมีการประชุมร่วมกันของผู้พิพากษาในศาล แต่การพิจารณาคดีโดยศาลอนุญาโตตุลาการ ระหว่างประเทศจะไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์และวิธีพิจารณาเป็นของตนเองรวมทั้งไม่มีการประชุมกันระหว่างผู้พิพากษา เหมือนศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

 

Advertisement