การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2552

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4002  การว่าความ

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

Advertisement

ข้อ 1. นาย ก. มีบุตรชายสองคนคือ นาย ข. และนาย ค. ต่อมา นาย ก. ได้ถึงแก่กรรมลงโดยมิได้ทำ พินัยกรรมไว้ และไม่ได้กำหนดให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก นาย ค. บุตรต่างมารดาของนาย ก. ได้ ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอเป็นผู้จัดการมรดกของนาย ก. เจ้ามรดก นาย ข. ทราบเรื่องจึงมีความประสงค์ที่จะคัดค้านความไมเหมาะสมของการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนาย ค. โดยมีเหตุผล ดังนี้

1.         นาย ค. เป็นบุคคลที่ชอบเล่นการพนันและเมาสุราเป็นอาจิณ เป็นเหตุที่แสดงให้เห็นถึงความไม่สามารถของผู้ร้องที่จะจัดการมรดกให้เป็นไปโดยสุจริต

2.         นาย ค. เป็นบุคคลที่ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1718(3) เป็นการแสดงให้เห็นความขาดคุณสมบัติของผู้ร้องตามกฎหมาย

ดังนั้น ให้ท่านในฐานะทนายความของนาย ข. ยื่นคำร้องคัดค้านการขอเป็นผู้จัดการมรดกของ

นาย ค. ตามความประสงค์ของตัวความ

(ให้ร่างแต่ใจความในคำร้องโดยไม่ต้องคำนึงถึงแบบพิมพ์ศาล)

ธงคำตอบ

ข้อ 1. คดีนี้ ผู้ร้องได้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนาย ก. ผู้ตาย โดยนาย ก. ผู้ตายไม่ได้ ทำพินัยกรรมไว้ และไม่ได้ตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก ดังความแจ้งแล้วนั้น

ข้อ 2. ผู้ร้องคัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายและเป็นทายาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอร้องคัดค้าน ความไม่เหมาะสมของการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ร้อง ทั้งนี้ผู้ร้องคัดค้านมีเหตุผลดังต่อไปนี้

2.1       ผู้ร้องเป็นบุคคลที่ชอบเล่นการพนันและเมาสุราเป็นอาจิณ เป็นเหตุที่แสดงให้เห็น ถึงความไม่สามารถของผู้ร้องที่จะจัดการมรดกให้เป็นไปโดยสุจริตและยุติธรรม

2.2       ผู้ร้องเป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์มาตรา 1718(3) เป็นการแสดงให้เห็นความขาดคุณสมบัติของผู้ร้องตามกฎหมาย

ด้วยเหตุผลดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ผู้ร้องคัดค้านจึงขอคัดค้านการขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ร้อง โดยขอศาลได้โปรดยกคำร้องของผู้ร้องเสีย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ลงชื่อ……(ลายมือชื่อนาย ข.)……ผู้ร้องคัดค้าน

คำร้องฉบับนี้ ข้าพเจ้า (ชื่อนักศึกษา) ทนายผู้ร้องคัดค้านเป็นผู้เรียงและพิมพ์

ลงชื่อ…….(ลายมือชื่อนักศึกษา)…….ผู้เรียงและพิมพ์

ข้อ 2. ในคดีฟ้องล้มละลายระหว่างธนาคาร ก. โจทก์กับนาย ข. จำเลย ในชั้นดำเนินกระบวนพิจารณา ธนาคาร ก. ได้อ้างเอกสารเป็นพยานหลักฐานจำนวนไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันฉบับ ทำให้การคัดสำเนา เอกสารเพื่อส่งให้กับจำเลยเป็นไปด้วยความลำบากเพราะต้องใช้เวลามาก ซึ่งจะทำให้กระบวน พิจารณาคดีของศาลล่าช้า ธนาคาร ก. จึงมีความประสงค์จะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขออนุญาตไมส่ง สำเนาพยานเอกสารให้กับนาย ข. โดยขอส่งต้นฉบับทั้งหมดต่อศาลและให้นาย ข. มาตรวจพยาน เอกสารที่ศาลเอง ดังนั่น ให้ท่านในฐานะทนายความของธนาคาร ก. ร่างคำร้องยื่นต่อศาลตาม ความประสงค์ของตัวความ (ให้ร่างแต่ใจความในคำร้องเท่านั้นโดยไม่ต้องคำนึงถึงแบบพิมพ์ศาล)

ธงคำตอบ

คำร้องขอให้คู่ความตรวจเอกสารเพราะเหตุสำเนาให้ไม่ทัน

ข้อ 1. คดีนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้เป็นบุคคลล้มละลาย คดีอยู่ระหว่างการนัดสืบพยาน แต่เนื่องจากพยานเอกสารที่โจทก์ยื่นต่อศาลนั้นมีไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันฉบับ การคัดสำเนาเอกสารเพื่อส่งให้กับจำเลย เป็นไปด้วยความลำบากเพราะต้องใช้เวลามากอาจทำให้กระบวนพิจารณาของศาลล่าช้า โจทก์จึงขอส่งต้นฉบับ เอกสารทั้งหมดต่อศาล และขอให้จำเลยมาตรวจเอกสารที่ศาลเอง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาล ได้โปรดอนุญาต

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ลงชื่อ…..(ลายมือชื่อธนาคาร ก.)……ผู้ร้อง

คำร้องฉบับนี้ ข้าพเจ้า (ชื่อนักศึกษา) ทนายโจทก์เป็นผู้เรียงและพิมพ์

ลงชื่อ……(ลายมือชื่อนักศึกษา)…..ผู้เรียงและพิมพ์

ข้อ3. ข้อเท็จจริงตามสำนวนการสอบสวนได้ความว่า เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 เวลาประมาณ 03.00 น.ขณะที่นายชัยเดินผ่านร้านสะดวกเอแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนสุขุมวิท ตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ได้พบเห็นนางสาวน้อยสวมสร้อยคอทองคำหนักหนึ่งบาท ราคา 17,000 บาท นายชัย จึงเดินเข้าไปทางด้านหลังของนางสาวน้อย แล้วเอื้อมมือไปกระชากสร้อยคอทองคำของนางสาวน้อย แต่นางสาวน้อยไหวตัวทันจึงคว้ามือนายชัยไว้มิให้นายชัยกระชากสร้อยคอไปพร้อมร้องตะโกนให้ คนช่วย นายชัยตกใจจึงปล่อยมือออกจากสร้อยคอแล้ววิ่งหนีไป ระหว่างนั้นเองมีตำรวจสายตรวจ สองนายขับขี่รถจักรยานยนต์ผ่านมา จึงไล่ติดตามและจับนายชัยมาได้นำส่งพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองชลบุรี ชั้นสอบสวนนายชัยให้การรับสารภาพ ระหว่างพนักงานสอบสวนได้ นำตัวนายชัยไปฝากขังที่ศาลจังหวัดชลบุรี ตามคดีหมายเลขดำที่ ฝ. 125/2553

สมมุติว่านักศึกษาเป็นพนักงานอัยการจังหวัดชลบุรี   ผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนี้ได้มีคำสั่งฟ้อง

นายชัยในข้อหาพยายามวิ่งราวทรัพย์ ให้นักศึกษาเรียงคำฟ้องคดีดังกล่าวเฉพาะเนื้อคำฟ้องตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 336 ผู้ใดลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ผู้นั้นกระทำความผิด ฐานวิงราวทรัพย์…

มาตรา 80 ผู้ใดลงมือกระทำความผิดไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ธงคำตอบ

ถ้าข้าพเจ้าเป็นพนักงานอัยการจังหวัดชลบุรี ผู้รับผิดชอบของสำนวนคดีนี้ ข้าพเจ้าจะเรียงคำ ฟ้องคดีนายชัยในข้อหาพยายามวิ่งราวทรัพย์ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1. เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยได้กระทำผิดต่อ กฎหมายกล่าวคือ จำเลยได้บังอาจลักเอาสร้อยคอทองคำหนักหนึ่งบาท ราคา 17,000 บาท ของนางสาวน้อย ผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยในการลักทรัพย์ดังกล่าวจำเลยได้ฉกฉวยเอาซึ่งหน้า จำเลยได้ลงมือกระทำความผิด ไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล เพราะผู้เสียหายไหวตัวทันแล้วขัดขวางมิให้จำเลยเอาสร้อยคอทองคำ ของผู้เสียหายไป จำเลยจึงไม่ได้ไปซึ่งสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายสมดังเจตนาของจำเลย

เหตุเกิดที่ตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี

ข้อ 2. ตามวันเวลาดังกล่าวในฟ้องข้อ 1. ภายหลังจากที่จำเลยกระทำความผิดดังกล่าวในฟ้อง ข้อ 1. แล้ว เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ และได้นำส่งพนักงานสอบสวน

ชั้นสอบสวน จำเลยให้การรับสารภาพ

ระหว่างสอบสวน จำเลยถูกควบคุมตัวตลอดมา ขณะนี้ต้องขังอยู่ตามหมายขังของศาลนี้ในคดี หมายเลขดำที่ ฝ. 125/2553 ขอให้ศาลเบิกตัวจำเลยมาเพื่อพิจารณาลงโทษต่อไป

 

ข้อ 4. นายสมชาย ได้เป็นโจทก์ฟ้องนายเก่งและนายอ้วนเป็นจำเลยในคดีแพ่ง ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสอง ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลพิพากษาตามยอม จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ ศาลออกหมายบังคับคดี นายชัยรัตน์ ทนายความได้รับการแต่งตั้งจากโจทก์ ให้มีหน้าที่ดูแลและบังคับคดีแทนโจทก์ โจทก์ได้โอนเงินเข้าบัญชี เงินฝากของนายชัยรัตน์ เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาท) เพื่อให้ไปดำเนินการประมูลทรัพย์สินในคดีที่ถูกนำออกขายทอดตลาด เจ้าพนักงาน บังคับคดี ได้ขายทอดตลาดที่ดินในคดีนี้ไปโดยที่นายชัยรัตน์ไม่ได้ไปติดตามดูแลการขายทอดตลาด แต่อย่างใด หลังจากนั้น โจทก์จึงได้ทวงถามเงินจำนวน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาท) จาก นายชัยรัตน์คืน แต่นายชัยรัตน์ไม่ยอมคืนเงินที่ได้มาให้แกโจทก์แต่อย่างใด

ให้วินิจฉัยว่า นายชัยรัตน์ ทนายความ มีความผิดตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมารยาททนายความ พ.ศ. 2529 หรือไม่ อย่างไร ให้อธิบาย

ธงคำตอบ

ตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 หมวด 3 เรื่องมรรยาท

ต่อตัวความ

ข้อ 12. การกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวต่อไปนี้ อันอาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์

ของลูกความ

(1)       จงใจขาดนัด หรือทอดทิ้งคดี

(2)       จงใจละเว้นหน้าที่ ที่ควรกระทำอันเกี่ยวแก่การดำเนินคดีแห่งลูกความของตน หรือปิดบังข้อความที่ควรแจ้งให้ลูกความทราบ

 ข้อ 15. กระทำการอันใดอันเป็นการฉ้อโกง ยักยอก หรือตระบัดสินลูกความ หรือครอบครอง หรือหน่วงเหนี่ยวเงินหรือทรัพย์สินของลูกความที่ตนได้รับมาโดยหน้าที่อันเกี่ยวข้องไว้นานเกินกว่าเหตุ โดยมิได้รับ ความยินยอมจากลูกความ เว้นแต่จะมีเหตุอันสมควร

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายชัยรัตน์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทนายโจทก์ และได้รับเงินจาก โจทก์จำนวน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาท) เพื่อไปดำเนินการประมูลทรัพย์สินในคดีที่ถูกนำออกขายทอดตลาด แต่นายชัยรัตน์ไม่ได้ไปติดตามดูแลการขายทอดตลาด จนทำให้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินไป การกระทำของนายชัยรัตน์ดังกล่าว ถือว่าเป็นการจงใจละเว้นหน้าที่ที่ควรกระทำอันเกี่ยวแก่การดำเนินคดีของ ลูกความ เป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ข้อ 12.

และนอกจากนั้น เมื่อโจทก์ขอให้นายชัยรัตน์คืนเงินจำนวน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาท) แต่นายชัยรัตน์ไม่ยอมคืนเงินที่ได้มาให้แกโจทก์ถือได้ว่า เป็นการยักยอกเงิน หรือตระบัดสินลูกความ อันเป็น การประพฤติผิดมรรยาททนายความ ตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ข้อ 15. อีกข้อหนึ่งด้วย (เทียบได้ตามคำสั่งสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความที่ 9/2547)

สรุป    นายชัยรัตน์ ทนายความ มีความผิดตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ข้อ 12. และข้อ 15.

Advertisement