การสอบไล่ภาฤดูร้อน ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3101 (LAW 3001) กฎหมายอาญา 3
คําแนะนํา ข้อสอบกระบวนวิชานี้เป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1. นายมืดต้องการฆ่านายสว่างจึงพกปืนไปที่บ้านของนายสว่าง ขณะที่นายสว่างเปิดประตูบ้านกําลังเดิน ไปขึ้นรถ นายมืดล้วงเอาปืนเพื่อจะยิง แต่ด้วยความรีบ ปืนหลุดจากมือหล่นลงพื้นโดยที่นายมีด ยังไม่ได้ยกปืนเล็งไปที่นายสว่าง ปืนกระทบกับพื้นกระสุนลั่นถูกนายสว่างได้รับอันตรายสาหัส
ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่านายมีดมีความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 59 วรรคสี่ “กระทําโดยประมาท ได้แก่กระทําความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทําโดย ปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”
มาตรา 300 “ผู้ใดกระทําโดยประมาท และการกระทํานั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสต้องระวางโทษ…….”
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามมาตรา 300 ประกอบด้วย
1. กระทําด้วยประการใด ๆ
2. โดยประมาท
3. เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมีดต้องการฆ่านายสว่างจึงพกปืนไปที่บ้านของนายสว่าง และขณะที่ นายสว่างเปิดประตูบ้านกําลังเดินไปขึ้นรถ นายมืดล้วงเอาปืนเพื่อจะยิง แต่ด้วยความรีบ ปืนหลุดจากมือหล่นลงพื้น โดยที่นายมืดยังไม่ได้ยกปืนเล็งไปที่นายสว่างนั้น กรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่าแม้นายมืดจะมีเจตนาฆ่านายสว่างก็ตามแต่การกระทําของนายมืดที่ล้วงเอาปืนเพื่อจะยิงนายสว่างโดยที่นายมืดยังไม่ได้ยกปืนเล็งไปที่นายสว่างเพราะปืน หลุดจากมือหล่นลงพื้นก่อนนั้น ยังไม่ถือว่านายมืดได้ลงมือกระทําความผิด เพียงแต่ยังอยู่ในขั้นเตรียมเท่านั้น เพราะกรณีที่จะถือว่าเป็นการลงมือกระทําความผิดนั้น จะต้องเป็นการกระทําขั้นสุดท้ายที่เลยขั้นตระเตรียมที่ ผู้กระทําจําต้องกระทําเพื่อให้เกิดผลนั้นแล้ว เมื่อยังไม่ถือว่าเป็นการลงมือกระทํา ดังนั้น จึงยังไม่ถือว่านายมืดได้ ลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอดอันจะเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 นายมืดจึงไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่านายสว่าง
แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายมืดทําให้ปืนหลุดมือหล่นลงพื้นและปืนกระทบกับพื้นกระสุนลั่นถูก นายสว่างได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น การกระทําของนายมืดถือได้ว่าเป็นการกระทําโดยประมาทตามมาตรา 59 วรรคสี่ กล่าวคือ เป็นการกระทําโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและ พฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ ดังนั้น เมื่อกระสุนลั่นถูก นายสว่างทําให้นายสว่างได้รับอันตรายสาหัส นายมืดจึงมีความผิดต่อร่างกายฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามมาตรา 300
สรุป นายมืดมีความผิดฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามมาตรา 300
ข้อ 2. นายเพชรมีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว แต่แยกกันอยู่โดยยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า นายเพชร มีความสัมพันธ์อยู่กับนางสาวพลอยอายุ 17 ปี นายเพชรได้ชวนนางสาวพลอยไปอยู่กินกันอย่าง เปิดเผยที่บ้านของนายเพชร ต่อมาเดือนเศษนายเพชรได้จัดพิธีแต่งงานกับนางสาวพลอย และ อยู่ที่บ้านของนางสาวพลอยเป็นเวลา 3 เดือน ก็หนีออกจากบ้านไป ดังนี้ อยากทราบนายเพชร มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 319 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากําไร หรือเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษ…”
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานพรากผู้เยาว์โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยตามมาตรา 319 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย
1. พรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี
2. ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล
3. โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย
4. โดยเจตนา
5. เพื่อหากําไร หรือเพื่อการอนาจาร
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเพชรมีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว แต่แยกกันอยู่โดยยัง ไม่ได้จดทะเบียนหย่า นายเพชรมีความสัมพันธ์อยู่กับนางสาวพลอยอายุ 17 ปี นายเพชรได้ชวนนางสาวพลอยไป อยู่กินกันอย่างเปิดเผยที่บ้านของนายเพชรนั้น แม้จะฟังได้ว่านางสาวพลอยจะสมัครใจไปกับนายเพชรและได้อยู่กินกันอย่างเปิดเผย และต่อมาอีกเดือนเศษนายเพชรได้จัดพิธีแต่งงานกับนางสาวพลอยก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจาก พฤติการณ์ของนายเพชรที่นายเพชรอยู่ที่บ้านของนางสาวพลอยเป็นเวลา 3 เดือน ก็หนีออกจากบ้าน อีกทั้งนายเพชร ก็มีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว แม้จะแยกกันอยู่แต่ก็ไม่ได้จดทะเบียนหย่ากันแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่า นายเพชรได้พานางสาวพลอยไปหลับนอนได้เสียกันที่บ้านของนายเพชรโดยไม่มีเจตนาที่จะอยู่กินเลี้ยงดูนางสาวพลอย ฉันสามีภริยา การกระทําของนายเพชรถือได้ว่าเป็นการพรากผู้เยาว์ที่มีอายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเสีย จากบิดามารดาเพื่อการอนาจารอันเป็นความผิดตามมาตรา 319 วรรคหนึ่งแล้ว ดังนั้น นายเพชรจึงมีความผิด ฐานพรากผู้เยาว์โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยตามมาตรา 319 วรรคหนึ่ง (คําพิพากษาฎีกาที่ 1287/2533)
สรุป นายเพชรมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามมาตรา 319 วรรคหนึ่ง
ข้อ 3. นายกล้าประกอบกิจการร้านค้าวัสดุก่อสร้าง มีนายหนึ่งเป็นลูกจ้างในตําแหน่งผู้จัดการร้าน ทําหน้าที่ ดูแลกิจการในร้าน เมื่อพนักงานในร้านขายสินค้าได้ ต้องนําเงินที่ได้รับจากลูกค้าหย่อนลงในตู้นิรภัย ของร้าน ซึ่งนายหนึ่งเป็นผู้เก็บรักษากุญแจตู้นิรภัย มีหน้าที่ไขตู้นิรภัยในเวลา 17.00 นาฬิกาของทุกวัน และนําเงินออกมานับต่อหน้านายสองลูกจ้างอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีตําแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่การเงิน วันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 15.00 นาฬิกา นายหนึ่งแอบไขตู้นิรภัยและเอาเงินจํานวน 5,000 บาท ไปเป็นของตน ดังนี้ นายหนึ่งมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 334 “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทํา
ความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษ…”
มาตรา 335 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดลักทรัพย์
(11) ที่เป็นของนายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง ต้องระวางโทษ…”
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ประกอบด้วย
1. เอาไป
2. ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
3. โดยเจตนา
4. โดยทุจริต
กรณีที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 นั้น จะต้องเป็นกรณีการเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปจากการครอบครองของผู้อื่นโดยทุจริต หรือเป็นการแย่งการครอบครองนั่นเอง
ในกรณีที่เป็นการเอาทรัพย์สินของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริตในขณะที่ผู้เอาทรัพย์สินนั้นครอบครองทรัพย์สินนั้นอยู่ย่อมไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แต่อาจเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ (ตามมาตรา 352 วรรคหนึ่ง)
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกล้าประกอบกิจการร้านค้าวัสดุก่อสร้าง มีนายหนึ่งเป็นลูกจ้างใน ตําแหน่งผู้จัดการร้าน ทําหน้าที่ดูแลกิจการในร้าน เมื่อพนักงานในร้านขายสินค้าได้ ต้องนําเงินที่ได้รับจากลูกค้า หย่อนลงในตู้นิรภัยของร้าน ซึ่งนายหนึ่งเป็นผู้เก็บรักษากุญแจตู้นิรภัย มีหน้าที่ไขตู้นิรภัยในเวลา 17.00 น. ของทุกวัน และต้องนําเงินออกมานับต่อหน้านาย สองลูกจ้างอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีตําแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่การเงินนั้น ย่อมถือว่า เงินซึ่งอยู่ในตู้นิรภัยนั้นเป็นทรัพย์สินที่ลูกจ้างยึดถือไว้แทนนายจ้างชั่วคราวและจะต้องนําส่งมอบให้แก่นายจ้าง
อํานาจในการครอบครองควบคุมดูแลเงินดังกล่าวยังเป็นของนายจ้าง ดังนั้น การที่นายหนึ่งลูกจ้างได้แอบไข ตู้นิรภัยและเอาเงินจํานวน 5,000 บาท ไปเป็นของตน จึงเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต นายหนึ่งจึงมี ความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 และเมื่อทรัพย์นั้นเป็นของนายจ้าง นายหนึ่งจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ที่ เป็นของนายจ้างตามมาตรา 335 วรรคหนึ่ง (11) (เทียบเคียงคําพิพากษาฎีกาที่ 2387/2564)
สรุป นายหนึ่งมีความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างตามมาตรา 335 วรรคหนึ่ง (11)