การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายกีกี้กับนางปีโป้เป็นพี่น้องกัน ได้ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันโดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนมีวัตถุประสงค์เปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวเรือ โดยลงหุ้นกันคนละ 3 หมื่นบาท และใช้ชื่อร้านว่า “ก๋วยเตี๋ยวเรือนายมิรู้อิ่มนนทบุรี” โดยเปิดขายที่ถนนรามคําแหง ซอย 39 เหตุที่ใช้ชื่อนี้ก็เพราะว่า ได้ตกลงกับนายมิรู้อิ่ม โคคา ซึ่งเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวเรือที่จังหวัดนนทบุรีมาก่อนจนมีลูกค้ามากมาย และมีชื่อเสียงคนรู้จักทั่วไป โดยที่นายมิรู้อิ่ม โคคา ได้เรียกเก็บเงินเป็นค่าตอบแทนจํานวน 20,000 บาท และยอมให้นายกีกี้และนางปีโป้ใช้ชื่อ “นายมิรู้อิ่ม” เป็นชื่อร้านก๋วยเตี๋ยว และนายมิรู้อิ่ม โคคา จะเป็น ผู้นําวัตถุดิบที่ตนผลิตได้มาส่งขายให้นายกีกี้และนางปีโป้เพื่อนํามาทําเป็นก๋วยเตี๋ยวเรือขายต่อไป ต่อมานายกีกี้ก็ได้กู้ยืมเงินนางสะโมจํานวน 500,000 บาท เพื่อนํามาขยายกิจการร้านขายก๋วยเตี๋ยว โดยนางสะโมเห็นว่าร้านขายก๋วยเตี๋ยวเรือนายมิรู้อิ่มนนทบุรี ที่นายกีกี้และนางปีโป้ทําอยู่นี้รสอร่อย และเข้าใจว่านายมิรู้อิ่ม โคคา เป็นหุ้นส่วนด้วยจึงยินยอมให้กู้เงินจํานวนดังกล่าว แต่เมื่อหนี้เงินกู้ ถึงกําหนดชําระนางสะโมก็ทวงถามจากนายกีกี้และนางปีโป้ แต่ทั้งสองคนไม่มีเงินชําระหนี้ นางสะโม จึงได้ทวงถามจากนายมิรู้อิ่ม โคคา แต่ว่านายมิรู้อิ่ม โคคา ปฏิเสธและไม่ยอมชําระหนี้ดังกล่าว โดยอธิบายเหตุผลต่อนางสะโมว่าตนไม่ใช่หุ้นส่วนกับนายกีกี้และนางปีโป้ และตนไม่ใช่เจ้าของ ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือดังกล่าว แต่การที่ตนยินยอมให้นายกีกี้กับนางปีโป้ใช้ชื่อตนเป็นชื่อร้านก็เพราะ เป็นเรื่องของการทําธุรกิจการค้า ประกอบกับรู้สึกสงสารนายกีกี้กับนางปีโป้

ให้ท่านวินิจฉัยว่า คําอธิบายของนายมิรู้อิ่ม โคคา ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1025 “อันว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคน ต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจํากัด”

มาตรา 1050 “การใด ๆ อันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทําไปในทางที่เป็นธรรมดา การค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้น ๆ ด้วย และจะต้องรับผิด ร่วมกันโดยไม่จํากัดจํานวนในการชําระหนี้ อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น”

มาตรา 1054 วรรคหนึ่ง “บุคคลใดแสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนด้วยวาจาก็ดี ด้วยลายลักษณ์อักษร ก็ดี ด้วยกิริยาก็ดี ด้วยยินยอมให้เขาใช้ชื่อตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือรู้แล้วไม่คัดค้านปล่อยให้เขาแสดงว่าตน เป็นหุ้นส่วนก็ดี ท่านว่าบุคคลนั้นย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนเสมือนเป็นหุ้นส่วน”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 1025 และมาตรา 1050 ได้บัญญัติให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนในห้างหุ้นส่วนสามัญ จะต้องร่วมกันรับผิดและโดยไม่จํากัดจํานวนในบรรดาหนี้สินที่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้ก่อให้เกิดขึ้น เนื่องจากการที่ได้จัดทําไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น

และตามมาตรา 1054 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้บุคคลที่ไม่ได้เป็นหุ้นส่วน แต่ได้แสดงตนว่า เป็นหุ้นส่วน หรือยินยอมให้เขาใช้ชื่อตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วน หรือรู้แล้วไม่คัดค้านปล่อยให้เขาแสดงว่าตนเป็นหุ้นส่วน จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนเสมือนว่าตนเป็นหุ้นส่วน และต้องรับผิดก็แต่เฉพาะ ในกรณีที่บุคคลภายนอกถูกหลอกลวง หรือหลงผิดเข้าใจว่าบุคคลนั้นเป็นหุ้นส่วน และหนี้ของห้างหุ้นส่วนได้เกิดขึ้น และเป็นผลโดยตรงจากการที่บุคคลนั้นได้แสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนหรือยินยอมให้เขาใช้ชื่อของตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วน หรือปล่อยให้เขาแสดงว่าตนเป็นหุ้นส่วนด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมิรู้อิ่มซึ่งไม่ได้เป็นหุ้นส่วนร่วมกับนายกีกี้และนางปีโป้ ได้ยินยอม ให้นายกีกี้และนางปีโป้ใช้ชื่อของตนไปใช้เป็นชื่อของห้างหุ้นส่วน ทําให้นางสะโมเข้าใจโดยสุจริตว่า นายมิรู้อิ่มเป็น หุ้นส่วนร่วมกับนายกีกี้และนางปีโป้จึงยินยอมให้นายกีกี้กู้ยืมเงินนั้น การกระทําของนายมิรู้อิ่มถือว่าได้แสดงตนว่า เป็นหุ้นส่วนร่วมกันกับนายกีกี้และนางปีโป้ ดังนั้น นายมิรู้อิมจึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้สิน ต่าง ๆ อันเกิดจากการจัดกิจการในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างเสมือนว่านายมิรู้อิมเป็นหุ้นส่วนด้วย ตามมาตรา 1054 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1025 และมาตรา 1050

และการที่นายกีกี้ก็ได้กู้ยืมเงินจากนางสะโมจํานวน 500,000 บาท เพื่อนํามาขยายกิจการร้าน ขายก๋วยเตี๋ยวนั้น ถือว่าเป็นหนี้ที่เกิดจากการจัดกิจการในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนที่ผู้เป็น หุ้นส่วนคนอื่น ๆ รวมทั้งนายมิรู้อิ่มจะต้องร่วมกันรับผิดโดยไม่จํากัดจํานวน ดังนั้น เมื่อนางสะโมได้ทวงถามให้ นายมิรู้อิ่มชําระหนี้ แต่นายมิรู้อิ่มปฏิเสธไม่ยอมชําระหนี้โดยอธิบายเหตุผลต่อนางสะโมว่าตนไม่ใช่หุ้นส่วนกับ นายกีกี้และนางปีโป้นั้น คําอธิบายของนายมิรู้อิ่ม จึงฟังไม่ขึ้น

สรุป คําอธิบายของนายมิรู้อิ่ม โคคา ดังกล่าว ฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 2. นายแสง นายสิน และนายสอน เข้าหุ้นกันมีวัตถุประสงค์ตั้งโรงสีข้าว รับซื้อข้าวเปลือกและขายข้าวสารในระหว่างที่ยังมิได้ไปจดทะเบียนจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจํากัด นายสอนซึ่งเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัด ความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้รับซื้อข้าวเปลือกจากนายสีไว้เป็นเงิน 10 ล้านบาท และยัง มิได้ชําระหนี้ ต่อมามีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจํากัด โดยนายแสงและนายสินเป็น หุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดลงหุ้นไว้คนละหนึ่งล้านบาท นายสอนเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัด ความรับผิด และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการลงหุ้นไว้เป็นเงินห้าล้านบาท แต่นายแสงมักจะบอกกับชาวนา ที่นําข้าวมาขายให้ห้างหุ้นส่วนจํากัดว่าตนลงหุ้นไว้ห้าล้านบาท เท่ากับนายสอน ต่อมานายสี ได้ทวงเงินค่าข้าวเปลือกจากห้างหุ้นส่วนจํากัด และทวงเงินค่าข้าวเปลือกจากนายสอนด้วย แต่ ห้างหุ้นส่วนจํากัดและนายสอนไม่มีเงินชําระหนี้ นายสีจึงเรียกให้นายแสงและนายสินร่วมกัน รับผิดชอบในหนี้ค่าข้าวเปลือก แต่นายแสงและนายสินต่อสู้ว่าเมื่อห้างหุ้นส่วนจํากัดนี้ยังมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้ของห้างฯ คือนายสีจะเรียกให้นายแสงและนายสินชําระหนี้ไม่ได้ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของบุคคลทั้งสองรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1079 “อันห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนอยู่ตราบใด ท่านให้ถือว่าเป็น ห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดย่อมต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจํากัดจํานวน จนกว่าจะได้จดทะเบียน

มาตรา 1095 วรรคหนึ่ง “ตราบใดห้างหุ้นส่วนจํากัดยังมิได้เลิกกัน ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้าง ย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดได้”

วินิจฉัย

โดยหลักตามมาตรา 1095 วรรคหนึ่งนั้น ถ้าตราบใดที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดยังมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจํากัดจะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดไม่ได้ จะฟ้องร้องได้แต่เฉพาะผู้เป็น หุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้นว่า ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิด คนใดจะต้องรับผิดเพื่อหนี้ของห้างหุ้นส่วนจํากัดโดยไม่จํากัดจํานวนแล้ว ดังนี้เจ้าหนี้ของห้างก็ย่อมมีสิทธิที่จะ ฟ้องให้หุ้นส่วนคนนั้นรับผิดชอบชําระหนี้ให้แก่ตนได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ห้างหุ้นส่วนจํากัดเลิกกันก่อนแต่อย่างใด

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแสง นายสิน และนายสอน ได้เข้าหุ้นกันเพื่อจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วน จํากัด มีวัตถุประสงค์ตั้งโรงสีข้าว รับซื้อข้าวเปลือกและขายข้าวสาร โดยมีนายสอนเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัด ความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ สวนนายแสงและนายสินเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดนั้น เมื่อ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในระหว่างที่ยังมิได้ไปจดทะเบียนจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจํากัด นายสอนได้รับซื้อข้าวเปลือก จากนายสีไว้เป็นเงิน 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดการตามวัตถุประสงค์ของห้างฯ กรณีเช่นนี้ ถือว่าหนี้จากการรับซื้อ ข้าวเปลือกดังกล่าวได้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจํากัด ซึ่งตามกฎหมายให้ถือว่าเป็นหนี้ ของห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนไม่ว่าจะเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดหรือจําพวกไม่จํากัด ความรับผิดจะต้องร่วมกันรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจํากัดจํานวน (มาตรา 1079) และเมื่อนายแสง และนายสินจะต้องรับผิดเพื่อหนี้ของห้างฯ โดยไม่จํากัดจํานวนแล้ว นายสีจึงมีสิทธิเรียกให้นายแสงและนายสิน ร่วมกันรับผิดชอบในหนี้ค่าข้าวเปลือกได้ แม้ว่าห้างฯ จะยังมิได้เลิกกันก็ตาม เพราะถือว่าเป็นข้อยกเว้นของ มาตรา 1095 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ข้อต่อสู้ของนายแสงและนายสินที่ว่านายสีเจ้าหนี้ของห้างฯ จะเรียกให้ตนชําระหนี้ ไม่ได้เพราะห้างฯ ยังมิได้เลิกกันนั้นจึงรับฟังไม่ได้

สรุป ข้อต่อสู้ของนายแสงและนายสินรับฟังไม่ได้

 

ข้อ 3. ในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทลาเต้ จํากัด เพื่อเลือกกรรมการที่หมดวาระ มีนายสดและนายใสผู้ถือหุ้นลงสมัครเป็นกรรมการ และทั้งสองคนได้เข้าประชุมผู้ถือหุ้นด้วย แต่ก่อนที่จะลงมติเลือก กรรมการ นายสดได้งดออกเสียงโดยเดินออกจากที่ประชุมไป จากนั้นได้มีการลงมติเลือกกรรมการ แทนตําแหน่งที่ว่างลงหนึ่งตําแหน่ง ปรากฏว่านายใสได้ลงคะแนนเลือกตัวเองเป็นกรรมการด้วย และผลของการลงคะแนน นายใสได้เป็นกรรมการโดยมีคะแนนมากกว่านายสดเพียง 1 คะแนน เท่านั้น นายสดเห็นว่านายใสลงคะแนนเลือกตนเองเป็นกรรมการ เป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในเรื่องที่ลงมติ จึงไม่อาจลงคะแนนได้ และประสงค์จะฟ้องเพิกถอน มติเรื่องการเลือกกรรมการบริษัทในครั้งนี้ ดังนี้ ท่านเห็นว่าข้อกล่าวอ้างของนายสดฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1185 “ผู้ถือหุ้นคนใดมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในข้ออันใดซึ่งที่ประชุมจะลงมติ ท่าน ห้ามมิให้ผู้ถือหุ้นคนนั้นออกเสียงลงคะแนนด้วยในข้อนั้น”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 1185 กฎหมายได้วางหลักไว้ว่า ในการลงมติปัญหาใดในที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ถ้าผู้ถือหุ้นคนใดมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษยิ่งกว่าส่วนได้เสียในฐานะผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นคนนั้นย่อมไม่มีสิทธิออกเสียง ลงคะแนนในปัญหาข้อนั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายใสได้ลงคะแนนเลือกตนเองเป็นกรรมการในการประชุมใหญ่ ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และผลของการลงคะแนนทําให้นายใสได้เป็นกรรมการนั้น แม้จะเห็นได้ว่าในการลงคะแนน ในครั้งนี้ นายใสมีส่วนได้เสียในข้อตั้งกรรมการด้วย แต่ข้อได้เสียดังกล่าวมิใช่ข้อได้เสียเป็นพิเศษตามความใน มาตรา 1185 เพราะการตั้งกรรมการเป็นวิธีการจัดการบริษัท มิใช่เป็นเรื่องส่วนตัวของนายใสโดยเฉพาะ อีกทั้ง ผู้ถือหุ้นทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะเป็นกรรมการได้ ดังนั้น การที่นายสดอ้างว่าการที่นายใสลงคะแนนเลือกตนเองเป็น กรรมการ เป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากนายใสมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในเรื่องที่ลงมติ จึงมิอาจ ลงคะแนนได้นั้น ข้อกล่าวอ้างของนายสดจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป ข้อกล่าวอ้างของนายสดฟังไม่ขึ้น

Advertisement