การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3001 กฎหมายอาญา 3
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 เอกขับขี่รถจักรยานยนต์โดยประมาทเฉียวชนรถกระบะทําให้โทที่นั่งซ้อนท้ายตกจากรถศีรษะกระแทกพื้นบาดเจ็บเลือดไหล โทถูกนําตัวส่งโรงพยาบาล แพทย์ต้องเย็บบาดแผล 20 เข็ม แล้ว อนุญาตให้กลับบ้านได้ แต่เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาบาดแผลไม่ได้รับการทําความสะอาด อย่างเพียงพอเป็นเหตุให้แผลติดเชื้อรุนแรงจนเข้าสู่กระแสโลหิตทําให้โทถึงแก่ความตายใน 3 วันต่อมา ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าเอกจะมีความผิดตอชีวิตและร่างกายฐานใดหรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 291 “ผู้ใดกระทําโดยประมาท และการกระทํานั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษ”
มาตรา 390 “ผู้ใดกระทําโดยประมาท และการกระทํานั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กาย หรือจิตใจต้องระวางโทษ”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เอกขับขี่รถจักรยานยนต์โดยประมาทเฉียวชนรถกระบะทําให้โท ที่นั่งซ้อนท้ายตกจากรถศีรษะกระแทกพื้นบาดเจ็บเลือดไหล และแพทย์ต้องเย็บบาดแผล 20 เข็มนั้น การกระทํา ของเอกย่อมเป็นความผิดฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายตามมาตรา 390
ส่วนการที่โทได้ถึงแก่ความตายใน 3 วันต่อมาเนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาบาดแผล ไม่ได้รับการทําความสะอาดอย่างเพียงพอเป็นเหตุให้แผลติดเชื้อรุนแรงจนเข้าสู่กระแสโลหิต และทําให้โทถึงแก่ ความตายนั้น ถือเป็นเหตุแทรกแซงที่ไม่อาจพึงคาดหมายได้ จึงตัดความรับผิดในผลคือความตายของโทจากการ กระทําโดยประมาทของเอก ดังนั้น เอกจึงไม่ต้องรับผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 291
สรุป เอกมีความผิดฐานกระทําโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายตาม มาตรา 390
ข้อ 2 นายเอกมีอาชีพเป็นทนายความได้สมัครเข้าทํางานฝ่ายกฎหมายที่บริษัทแห่งหนึ่ง ก่อนถึงวันสอบสัมภาษณ์ได้มีบุคคลอื่นเขียนจดหมายส่งทางไปรษณีย์มาถึงนายโทพนักงานฝ่ายกฎหมายของ บริษัทนั้นระบุข้อความว่า “นายเอกเป็นทนายนิสัยไม่ดี เฮงซวย” หลังจากอ่านจดหมายแล้วนายโท ได้มอบจดหมายฉบับนั้นให้แก่นายกิตติซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายกฎหมายของบริษัทและจะต้องทําการ สอบสัมภาษณ์นายเอก เมื่อถึงวันสอบสัมภาษณ์นายกิตติได้มอบจดหมายนั้นให้นายเอกอ่าน โดยบอกด้วยว่านายโทเป็นผู้มอบจดหมายให้มา ต่อมานายเอกจึงดําเนินคดีกับนายโทในข้อหาหมิ่นประมาท ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นายโทจะมีความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 326 “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษ”
วินิจฉัย
องค์ประกอบของความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 ประกอบด้วย
1 ใส่ความผู้อื่น
2 ต่อบุคคลที่สาม
3 โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง
4 โดยเจตนา
คําว่า “ใส่ความ” ตามนัยมาตรา 325 หมายความว่า พูดหาเหตุร้าย หรือกล่าวหาเรื่องร้าย ให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย โดยเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ซึ่งกระทําต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ดังนั้น ข้อความที่เป็นถ้อยคําเปรียบเทียบที่ไม่สุภาพหรือเหยียดหยามให้ อับอาย หรือข้อความที่ไม่ทําให้บุคคลซึ่งได้ยินเชื่อว่าจะเป็นไปได้ ยังไม่ถือว่าเป็นการกล่าวหาเรื่องร้ายกันถือเป็น การใส่ความตามมาตรานี้
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายโทได้อ่านจดหมายจนทราบข้อความในจดหมายที่เขียนส่งมาให้โดยระบุข้อความว่า “นายเอกเป็นทนายนิสัยไม่ดี เฮงซวย” แล้วส่งมอบจดหมายนั้นให้นายกิตติ อ่านต่อนั้น ถึงแม้จะเป็นการใส่ความนายเอกต่อบุคคลที่สาม แต่ข้อความในจดหมายนั้นก็ไม่น่าจะทําให้นายเอก เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังแต่อย่างใด เพราะคําว่า “นิสัยไม่ดี” ก็ไม่มีข้อความใดแสดงว่านายเอก นิสัยไม่ดีอย่างไร ส่วนคําว่า “เฮงซวย” ก็เป็นเพียงคําดูถูกแสดงถึงคุณภาพต่ำเท่านั้น ข้อความดังกล่าวจึงไม่ใช่ ข้อความที่เป็นหมิ่นประมาท ดังนั้นการกระทําของนายโทจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326
สรุป นายโทไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทนายเอกตามข้อกล่าวหา
ข้อ 3 จําเลยกับนาย ก. นําโคไปเลี้ยงกลางทุ่งนา ปรากฏว่าฝูงโคของนาย ก. เดินปะปนไปกับฝูงโคของจําเลยจนแยกไม่ออก นาย ก. ไม่สามารถแยกฝูงโคของนาย ก. ออกมาได้ นาย ก. จึงบอกแก่จําเลย ให้ดูไว้ให้ด้วยเดี๋ยวจะมาเอา จําเลยรับปากจะดูให้หลังจากนั้น 2 ชั่วโมง จําเลยพาฝูงโคของจําเลย และนาย ก. ไปที่บ้านของจําเลย และนําโคของนาย ก. ไปขาย เมื่อได้เงินมาก็เอาไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตน ดังนี้ จําเลยมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 334 “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้น กระทําความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษ”
วินิจฉัย
องค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ประกอบด้วย
1 เอาไป
2 ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
3 โดยเจตนา
4 โดยทุจริต
กรณีที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 นั้น จะต้องเป็นกรณีการเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปจากการครอบครองของผู้อื่นโดยทุจริต หรือเป็นการแย่งการครอบครองนั่นเอง ในกรณีที่เป็นการเอาทรัพย์สินของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริตในขณะที่ผู้เอาทรัพย์สินนั้น ไปได้ครอบครองทรัพย์สินนั้นอยู่ย่อมไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แต่อาจเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ (ตาม มาตรา 352 วรรคแรก)
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นาย ก. บอกให้จําเลยดูฝูงโคของนาย ก. ไว้ให้ด้วยเดี๋ยวจะมาเอานั้น ถือเป็นการบอกให้จําเลยช่วยดูแลทรัพย์เป็นการชั่วคราว ยังไม่ถึงกับเป็นการฝากทรัพย์ จึงยังไม่เป็นการส่งมอบ การครอบครอง ดังนั้น การครอบครองฝูงโคดังกล่าวจึงยังคงอยู่ที่นาย ก. การที่จําเลยนําโคของนาย ก. ไปขาย จึงเป็นการแย่งการครอบครองจากผู้อื่น และเมื่อเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยเจตนาและโดยทุจริต จําเลย จึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 (เทียบฎีกาที่ 535/2500)
สรุป จําเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334
ข้อ 4 จําเลยที่ 1 จําเลยที่ 2 จําเลยที่ 3 จําเลยที่ 4 ไปที่บ้านของนาย ก. เมื่อไปถึง จําเลยที่ 1 จําเลยที่ 2 จําเลยที่ 3 จําเลยที่ 4 ใช้เท้าเตะไปที่รั้วบ้านของนาย ก. ซึ่งรั้วบ้านของนาย ก. เป็นรั้วสังกะสี นาย ก. ได้ยินเสียงจึงออกมาดู จําเลยที่ 1 พูดกับนาย ก. ขอเงิน 10,000 บาท นาย ก. ตอบว่าไม่มี จําเลยที่ 1 จําเลยที่ 2 จําเลยที่ 3 จําเลยที่ 4 ช่วยกันเตะรั้วจนสังกะสีหลุดออก 3 แผ่น นาย ก. กลัวรั้วจะพัง และกลัวจะถูกทําร้ายจึงยอมให้เงินจําเลยที่ 1 ไป 2,000 บาท จําเลยที่ 1 รับเงินมาแล้วจึงพูดกับ นาย ก. ว่า “ทีหลังถ้ากูมา อยากได้อะไรให้ตามใจกูนะ” ดังนี้ จําเลยที่ 1 จําเลยที่ 2 จําเลยที่ 3 และจําเลยที่ 4 มีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 340 “ผู้ใดชิงทรัพย์ โดยร่วมกันกระทําความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้นั้นกระทำ ความผิดฐานปล้นทรัพย์ ต้องระวางโทษ..”
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ ตามมาตรา 339 วรรคแรก ประกอบด้วย
1 ชิงทรัพย์
2 โดยร่วมกันกระทําความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป
3 โดยเจตนา
การขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้าย เพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น อันจะเป็นความผิด ฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 และถ้าได้ร่วมกันกระทําความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ก็จะเป็นความผิดฐาน ปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 นั้น การขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายดังกล่าวอาจจะเป็นการขู่ตรง ๆ ก็ได้ หรืออาจจะ เป็นการใช้ถ้อยคําทํากิริยาหรือทําโดยประการใด ๆ อันเป็นการแสดงให้ผู้ถูกขู่เข็ญเข้าใจได้ว่าจะได้รับภยันตราย จากการกระทําของผู้ขู่เข็ญก็ได้
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จําเลยที่ 1 พูดกับนาย ก. ขอเงิน 10,000 บาท เมื่อนาย ก. ตอบว่าไม่มี จําเลยที่ 1 กับพวกช่วยกันเตะรั้วจนสังกะสีหลุดออก 3 แผ่น นาย ก. กลัวรั้วจะฟังและกลัวถูกทําร้ายจึงยอมให้เงิน จําเลยที่ 1 ไป 2,000 บาท นั้น จะเห็นได้ว่า การกระทําของจําเลยที่ 1 และพวกเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าเป็น การขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้าย และการที่จําเลยที่ 1 ได้รับเงินแล้วยังพูดขู่เข็ญอีกว่า “ทีหลัง ถ้ากูมา อยากได้อะไรให้ตามใจกูนะ” คําพูดขู่เข็ญของจําเลยที่ 1 ดังกล่าวแม้ไม่ใช่ถ้อยคําขู่เข็ญตรง ๆ แต่ก็เข้าใจ ได้ว่าต่อไปถ้าจําเลยที่ 1 อยากได้อะไรแล้ว นาย ก. ต้องให้ ถ้าไม่ให้จะถูกจําเลยที่ 1 ทําร้าย ดังนั้น การกระทําของ จําเลยที่ 1 กับพวกอีกสามคน จึงครบองค์ประกอบของความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 จําเลยที่ 1 จําเลยที่ 2 จําเลยที่ 3 และจําเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานปล้นทรัพย์ (เทียบฎีกาที่ 549/2517)
สรุป จําเลยที่ 1 จําเลยที่ 2 จําเลยที่ 3 และจําเลยที่ 4 มีความผิดฐานปล้นทรัพย์ตาม ป.อาญา มาตรา 340