การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

Advertisement

คําแนะนํา

ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 เอกและอรทัยเคยอยู่กินกันฉันสามีภริยาต่อมาได้แยกทางกัน เอกหวนกลับมาพยายามขอคืนดีกับอรทัย วันเกิดเหตุ เอกขับรถยนต์มารับอรทัยเพื่อพูดจาตกลงกัน ระหว่างทางทั้งสองมีปากเสียงกัน เนื่องจากอรทัยไม่ยอมคืนดีด้วย เอกเกิดความโกรธและหึงหวงจึงหยิบมีดพกออกมาจะกรีดหน้าอรทัย และพูดว่าจะกรีดหน้าให้เสียโฉม อรทัยตกใจและกลัวถูกทําร้ายจึงเปิดประตูรถกระโดดออกมา ทั้งที่รถกําลังแล่นอยู่เป็นเหตุให้อรทัยถูกล้อรถทับถึงแก่ความตาย ดังนี้ เอกจะมีความผิดต่อชีวิต และร่างกายฐานใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 290 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทําร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนาตามมาตรา 290 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย

1 ทําร้ายผู้อื่น

2 เป็นเหตุให้ผู้ถูกทําร้ายถึงแก่ความตาย

3 โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่เอกและอรทัยมีปากเสียงกันเนื่องจากอรทัยไม่ยอมคืนดีด้วย ทําให้เอกเกิดความโกรธและหึงหวงจึงหยิบมีดพกออกมาจะกรีดหน้าอรทัยและพูดว่าจะกรีดหน้าให้เสียโฉม จนอรทัยตกใจ และกลัวจะถูกทําร้ายจึงเปิดประตูรถกระโดดออกมาทั้งที่รถกําลังแล่นอยู่เป็นเหตุให้อรทัยถูกล้อรถทับจนถึงแก่ ความตายนั้น ถือว่าเอกมีเจตนาทําร้ายอรทัย และการที่อรทัยได้กระโดดออกมาจากรถจนถูกล้อรถทับจนถึงแก่ ความตายนั้น ความตายของอรทัยเป็นผลโดยตรงและเป็นผลที่ใกล้ชิดกับการทําร้ายของเอก ดังนั้น เอกจึงมีความผิดฐานมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทําร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 290

สรุป

เอกมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาตามมาตรา 290

 

ข้อ 2 นายใหญ่กู้ยืมเงินนางเล็ก 2 หมื่นบาท โดยจํานํารถจักรยานยนต์เป็นประกัน วันเกิดเหตุนายใหญ่ได้ไปที่บ้านของนางเล็กเพื่อยืมเอารถจักรยานยนต์ที่จํานําเพื่อขับขี่ไปต่างจังหวัด นายใหญ่ยืนอยู่ที่ ประตูรั้วบ้านและเรียกให้นางเล็กเปิดประตูรั้วเพื่อจะเข้าไปเอารถแต่นางเล็กไม่ยอมเปิดประตูให้เข้าบ้าน นายใหญ่จึงขู่เข็ญว่าถ้านางเล็กไม่ยอมให้เข้าไปเอารถตนจะไปแจ้งความว่านางเล็กปล่อยเงินกู้เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราให้ตํารวจมาจับและจะทําให้นางเล็กเสียชื่อเสียง ขณะที่นายใหญ่ยืนขู่เข็ญนางเล็กอยู่นั้นนางเล็กได้โทรศัพท์ไปแจ้งให้ตํารวจมาจับกุมตัวนายใหญ่ดําเนินคดี ดังนี้ อยากทราบว่านายใหญ่มีความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 80 “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้วแต่การ กระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด

ผู้ใดพยายามกระทําความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกําหนดไว้ สําหรับความผิดนั้น”

มาตรา 309 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทําการใด ไม่กระทําการใด หรือจํายอมต่อสิ่งใด โดยทําให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กําลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทําการนั้น ไม่กระทําการนั้นหรือจํายอมต่อสิ่งนั้น ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานทําให้เสื่อมเสียเสรีภาพตามมาตรา 309 ประกอบด้วย

1 ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทําการใด ไม่กระทำการใด หรือจํายอมต่อสิ่งใด

2 โดยทําให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กําลังประทุษร้าย

3 จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทําการนั้น ไม่กระทําการนั้นหรือจํายอมต่อสิ่งนั้น

4 โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่นายใหญ่ได้ขู่เข็ญให้นางเล็กเปิดประตูรั้วเพื่อจะเข้าไปเอารถที่จํานําไว้ กับนางเล็กโดยขู่เข็ญว่าถ้านางเล็กไม่ยอมให้เข้าไปเอารถตนจะไปแจ้งความว่านางเล็กปล่อยเงินกู้เรียกดอกเบี้ย เกินอัตราให้ตํารวจมาจับและจะทําให้นางเล็กเสียชื่อเสียงนั้น การกระทําของนายใหญ่ถือว่าเป็นการข่มขืนใจผู้อื่น ให้กระทําการใดหรือจํายอมต่อสิ่งใด โดยทําให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อเสรีภาพและชื่อเสียงตามมาตรา 309 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อนางเล็กไม่ยอมเปิดประตูรั้ว และได้แจ้งให้ตํารวจมาจับกุมตัวนายใหญ่ดําเนินคดีนั้น ถือว่าการกระทําของนายใหญ่เป็นการลงมือกระทําไปตลอดแล้วแต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล จึงเป็นความผิดฐานพยายามข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทําการใดหรือจํายอมต่อสิ่งใดตามมาตรา 309 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 80

สรุป

นายใหญ่มีความผิดฐานพยายามข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทําการใดหรือจํายอมต่อสิ่งใดตาม มาตรา 309 ประกอบมาตรา 80

 

ข้อ 3 แดงเล่นการพนันฟุตบอลและเสียเงินพนันไปจนหมดตัวแดงจึงไปขอยืมรถยนต์จากดําโดยแดงอ้างว่ามารดาของตนป่วยอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมาจะขอยืมรถยนต์ขับไปเยี่ยมมารดาที่จังหวัดนครราชสีมา แล้วจะนํารถยนต์ของดํามาคืนให้ภายใน 3 วัน แต่ที่จริงมารดาของแดงไม่ได้ป่วยเลย เมื่อแดงได้รับรถยนต์จากดําแล้วแดงกลับขับรถยนต์ไปที่จังหวัดกาญจนบุรีเพื่อนําไปขายให้เพื่อนของตนที่ได้นัดหมายกันไว้ แดงรอเพื่อนแดงอยู่หนึ่งวันในวันรุ่งขึ้นแดงจึงขายรถยนต์ให้กับ เพื่อนของตนได้เงิน 300,000 บาท แดงจึงมิได้นํารถยนต์มาคืนดํา ให้วินิจฉัยว่าแดงมีความผิดอาญา เกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่ เพียงใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 334 “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้น กระทําความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย

องค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ประกอบด้วย

1 เอาไป

2 ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3 โดยเจตนา

4 โดยทุจริต

กรณีที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 นั้น จะต้องเป็นกรณีการเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปจากการครอบครองของผู้อื่นโดยทุจริต หรือเป็นการแย่งการครอบครองนั่นเอง ในกรณีที่เป็นการเอาทรัพย์สินของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริตในขณะที่ผู้เอาทรัพย์สินนั้น ไปได้ครอบครองทรัพย์สินนั้นอยู่ โดยอาจจะเป็นการครอบครองเพราะเจ้าของส่งมอบการครอบครองให้โดยชอบ หรือเพราะเจ้าของส่งมอบให้โดยสําคัญผิด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้เอาไปนั้นเก็บได้ ย่อมไม่เป็นความผิดฐาน ลักทรัพย์ แต่อาจเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์สินหายแล้วแต่กรณีตามมาตรา 352

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่แดงไปขอยืมรถยนต์จากดําโดยแดงอ้างว่ามารดาของตนป่วยอยู่ที่ จังหวัดนครราชสีมาจะขอยืมรถยนต์ขับไปเยี่ยมมารดาที่จังหวัดนครราชสีมา แล้วจะนํารถยนต์มาคืนให้ดําภายใน 3 วัน และความจริงมารดาของแดงไม่ได้ป่วยเลยนั้น เป็นเพียงการใช้กลอุบายของแดงเพื่อเอารถยนต์ของดําไป เท่านั้น ดังนั้น สัญญายืมย่อมไม่เกิดขึ้น และการที่ดําได้ส่งมอบการครอบครองรถยนต์ให้แก่แดงจึงมิใช่การส่งมอบ ตามสัญญายืมที่จะทําให้การครอบครองรถยนต์ตกไปอยู่กับแดง แต่เป็นการส่งมอบให้เพราะถูกแดงหลอกลวง

กรณีดังกล่าวถือว่าเป็นกรณีที่แดงได้แย่งการครอบครองรถยนต์ไปจากดําซึ่งเป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น และเมื่อเป็นการเอาไปโดยเจตนาและโดยทุจริต จึงครบองค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ทุกประการ ดังนั้น แดงจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 โดยเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย

สรุป

แดงมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334

 

ข้อ 4 หนึ่งเลือกซื้อมังคุดจํานวน 2 กิโลกรัม คิดเป็นเงินรวม 130 บาท หนึ่งชําระค่ามังคุดโดยส่งธนบัตรใบละ 1,000 บาท ให้สองแม่ค้าขายผลไม้ สองรับธนบัตรมารีบแอบเอาซุกไว้แล้วทอนเงินให้หนึ่ง เพียง 370 บาท หนึ่งทักท้วงว่าจ่ายเงินใบละ 1,000 บาทให้สอง แต่สองยืนยันว่าหนึ่งให้มา 500 บาท พร้อมทั้งเปิดถุงเงินให้ดูว่าไม่มีธนบัตรใบละ 1,000 บาท มีแต่ใบละ 500 บาท และใบละ 100 บาท เท่านั้น หนึ่งขอคืนผลไม้และให้สองคืนเงิน 1,000 บาท แต่สองไม่ยอมคืน ดังนี้ สองจะมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 341 “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิด ข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทําให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทํา ถอน หรือทําลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทําความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษ”

มาตรา 352 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทําความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 ประกอบด้วย

1 หลอกลวงผู้อื่นด้วย การ

(ก) แสดงข้อความเป็นเท็จ หรือ

(ข) ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง

2 โดยการหลอกลวงนั้น

(ก) ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือ

(ข) ทําให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทํา ถอน หรือทําลายเอกสารสิทธิ์

3 โดยเจตนา

4 โดยทุจริต

องค์ประกอบความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 352 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย

1 ครอบครอง

2 ทรัพย์ของผู้อื่นหรือยิ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3 เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม

4 โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่หนึ่งเลือกซื้อมังคุดจากสองแม่ค้าขายผลไม้จํานวน 2 กิโลกรัม เป็นเงิน จํานวน 130 บาท และหนึ่งชําระค่ามังคุดโดยส่งธนบัตรใบละ 1,000 บาทให้สองเมื่อสองรับธนบัตรมาแล้ว รีบแอบเอาซุกไว้แล้วทอนเงินให้หนึ่งเพียง 370 บาท หนึ่งทักท้วงว่าจ่ายเงินใบละ 1,000 บาทให้สอง แต่สอง ยืนยันว่าหนึ่งให้ใบละ 500 บาท พร้อมทั้งเปิดถุงเงินให้ดูว่าไม่มีธนบัตรใบละ 1,000 บาท มีแต่ใบละ 500 บาท และใบละ 100 บาทเท่านั้น หนึ่งจึงขอคืนผลไม้และให้สองคืนเงิน 1,000 บาท แต่สองไม่ยอมคืนนั้น การกระทําของสองดังกล่าว สองย่อมไม่มีความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์แต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นความผิดฐานยักยอกหรือ ความผิดฐานฉ้อโกง ทั้งนี้เพราะ

1 การที่หนึ่งส่งมอบธนบัตรใบละ 1,000 บาทให้สองนั้น เงิน 1,000 บาทนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ ของสองแล้ว จึงไม่ถือว่าสองได้ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริตแต่อย่างใด ดังนั้น สองจึงไม่มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา 352 วรรคหนึ่ง

2 การที่สองหลอกหนึ่งว่าหนึ่งได้ให้ใบละ 500 บาท และได้เปิดถุงให้ดูว่าไม่มีธนบัตรใบละ 1,000 บาท มีแต่ใบละ 500 บาท และใบละ 100 บาทเท่านั้น การหลอกลวงของสองดังกล่าวก็ไม่ทําให้สอง ได้ทรัพย์สินจากหนึ่งผู้ถูกหลอกลวงแต่อย่างใด เป็นเพียงการที่สองมีเจตนาที่จะทอนเงินให้หนึ่งไม่ครบเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันในทางแพ่งต่อไป ดังนั้น สองจึงไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341

สรุป

สองไม่มีความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์แต่อย่างใด

 

 

Advertisement