การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560 นายสมศักดิ์ตกลงทําสัญญาขายบ้านของตนหลังหนึ่งให้แก่นายคําแพง ในราคา 1,000,000 บาท โดยมีข้อตกลงกันว่า ให้นายสมศักดิ์มอบบ้านให้นายคําแพงในวันทําสัญญาดังกล่าวและนายคําแพงจะชําระราคาให้ในวันที่ 1 เมษายน 2560 ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมนั้น ให้นายสมศักดิ์เป็นผู้เสีย และทั้งคู่มิได้ทําสัญญากันเป็นหนังสือ นายคําแพงอยู่ในบ้านหลังนี้มาจนถึง วันที่ 25 มีนาคม 2560 ก็เกิดไฟไหม้บ้านข้างเคียงและลุกลามมาไหม้บ้านหลังดังกล่าว

Advertisement

ดังนี้ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า สัญญานี้เป็นสัญญาซื้อขายประเภทใด และถึงวันกําหนดชําระราคา นายคําแพงไม่ยอมชําระราคา นายสมศักดิ์จะมีสิทธิฟ้องบังคับให้นายคําแพงชําระราคา 1,000,000 บาท ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 456 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและ
สัตว์พาหนะด้วย

สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคํามั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มี หลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสําคัญ หรือได้วางประจําไว้ หรือได้ชําระหนี้ บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

มาตรา 458 “กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทําสัญญาซื้อขายกัน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมศักดิ์ตกลงทําสัญญาขายบ้านของตนหลังหนึ่งให้แก่นายคําแพง ในวันที่ 10 มีนาคม 2560 ในราคา 1,000,000 บาท โดยมีข้อตกลงกันว่า ให้นายสมศักดิ์ส่งมอบบ้านให้นายคําแพง ในวันทําสัญญาและนายคําแพงจะชําระราคาให้ในวันที่ 1 เมษายน 2560 ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมนั้นให้นายสมศักดิ์ ถือว่านายสมศักดิ์กับนายคําแพงได้แสดงเจตนาทําสัญญาซื้อขายทรัพย์สินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ และ
เป็นผู้เสียนั้น

การที่ทั้งสองมีข้อตกลงกันว่าค่าฤชาธรรมเนียมให้นายสมศักดิ์เป็นผู้เสียนั้น แสดงให้เห็นว่าคู่สัญญายังมิได้มีเจตนา ที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันในขณะทําสัญญาซื้อขาย แต่มีข้อตกลงกันว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ ในทรัพย์สินให้แก่กันเมื่อได้ไปกระทําตามแบบที่กฎหมายได้กําหนดไว้ให้เสร็จสิ้นอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น สัญญา ซื้อขายบ้านระหว่างนายสมศักดิ์กับนายคําแพงจึงเป็นสัญญาจะซื้อขายตามมาตรา 456 วรรคสอง และแม้ว่า ทั้งสองจะมิได้ทําสัญญากันเป็นหนังสือ สัญญาจะซื้อขายดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์ เพราะสัญญาจะซื้อขายนั้น กฎหมายไม่ได้กําหนดแบบไว้แต่อย่างใด

และเมื่อสัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายสมศักดิ์กับนายคําแพงเป็นสัญญาจะซื้อขายมิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด ดังนั้น จะถือว่ากรรมสิทธิ์ในบ้านหลังดังกล่าวได้โอนไปเป็นของนายคําแพงผู้ซื้อแล้วตามมาตรา 458 ไม่ได้ กรรมสิทธิ์ในบ้านหลังนี้จึงยังไม่โอนไปยังนายคําแพงผู้ซื้อในเวลาซื้อขายแต่ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ ของนายสมศักดิ์ผู้ขาย และเมื่อได้เกิดไฟไหม้บ้านหลังดังกล่าวในขณะที่กรรมสิทธิ์ยังเป็นของนายสมศักดิ์และจะโทษ นายคําแพงไม่ได้ บาปเคราะห์จึงตกแก่นายสมศักดิ์เจ้าของกรรมสิทธิ์ ดังนั้น แม้สัญญาจะซื้อขายดังกล่าวจะมีหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีเนื่องจากได้มีการชําระหนี้บางส่วนคือได้มีการส่งมอบบ้านให้แก่กันแล้วก็ตาม นายสมศักดิ์ก็จะฟ้องบังคับให้นายคําแพงชําระราคา 1,000,000 บาทไม่ได้ เพราะนายสมศักดิ์ไม่มีบ้านที่จะโอนให้แก่นายคําแพงนั่นเอง

สรุป สัญญาซื้อขายระหว่างนายสมศักดิ์กับนายคําแพงเป็นสัญญาจะซื้อขาย และนายสมศักดิ์ จะฟ้องบังคับให้นายคําแพงชําระราคา 1,000,000 บาทไม่ได้

ข้อ 2 นายทองซื้อมือถือใช้แล้วจากการขายทอดตลาดเครื่องหนึ่งของนายเงินในราคา 20,000 บาท เมื่อนายทองใช้มือถือเครื่องนั้นไประยะหนึ่งพบว่ามือถือเครื่องนั้นมีปัญหาชํารุดอยู่ภายในเครื่อง ซ่อมแล้วแก้ไม่หาย นายทองจึงได้ขายมือถือเครื่องนั้นต่อให้นายนาคโดยตกลงว่านายทองจะไม่รับผิดต่อนายนาคในความชํารุดบกพร่อง และการรอนสิทธิใด ๆ ที่เกิดขึ้นกับมือถือเครื่องนั้น เมื่อนายนาคซื้อมาได้เพียงหนึ่งเดือนนายดินได้พาเจ้าพนักงานตํารวจมายึดมือถือเครื่องนั้นไปเพราะเป็นของนายดินที่หายไปและได้แจ้งความกับเจ้าพนักงานตํารวจไว้แล้ว นายนาคจะฟ้องร้องต่อศาลให้นายทองรับผิด ในการรอนสิทธิและในความชํารุดบกพร่องได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 472 “ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชํารุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดีท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด

ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชํารุดบกพร่องมีอยู่”

มาตรา 475 “หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สิน โดยปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของ ผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น”

มาตรา 479 “ถ้าทรัพย์สินซึ่งซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเพราะเหตุการรอนสิทธิก็ดี หรือว่าทรัพย์สินนั้นตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเป็นเหตุให้เสื่อมราคา หรือเสื่อม ความเหมาะสมแก่การที่จะใช้ หรือเสื่อมความสะดวกในการใช้สอย หรือเสื่อมประโยชน์อันจะพึงได้แต่ทรัพย์สินนั้น และซึ่งผู้ซื้อหาได้รู้ในเวลาซื้อขายไม่ก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด”

มาตรา 483 “คู่สัญญาซื้อขายจะตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชํารุดบกพร่องหรือ เพื่อการรอนสิทธิก็ได้”

มาตรา 485 “ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้น ไม่อาจคุ้มความรับผิดของผู้ขายในผลของการอัน ผู้ขายได้กระทําไปเอง หรือผลแห่งข้อความจริงอันผู้ขายได้รู้อยู่แล้วและปกปิดเสีย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายทองซื้อมือถือใช้แล้วจากการขายทอดตลาดเครื่องหนึ่งของนายเงิน ในราคา 20,000 บาท เมื่อนายทองใช้มือถือเครื่องนั้นไประยะหนึ่งพบว่ามือถือเครื่องนั้นมีปัญหาชํารุดอยู่ภายในเครื่อง ซ่อมแล้วแก้ไม่หาย นายทองจึงได้ขายมือถือเครื่องนั้นต่อให้นายนาคโดยตกลงกันว่านายทองจะไม่รับผิดต่อนายนาค ในความชํารุดบกพร่องและการรอนสิทธิใด ๆ ที่เกิดขึ้นกับมือถือเครื่องนั้น และเมื่อนายนาคซื้อมาได้เพียงหนึ่งเดือน นายดินได้พาเจ้าพนักงานตํารวจมายึดมือถือเครื่องนั้นไปเพราะเป็นของนายดินที่หายไปและได้แจ้งความกับเจ้าพนักงานตํารวจไว้แล้วนั้น เช่นนี้ นายนาคจะฟ้องร้องต่อศาลให้นายทองรับผิดในการรอนสิทธิและในความชํารุด บกพร่องได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีที่ 1 ความรับผิดในการรอนสิทธิ การที่นายนาคผู้ซื้อได้ถูกรอนสิทธิ คือถูกนายดินเจ้าของที่แท้จริงของมือถือเครื่องดังกล่าวได้พาเจ้าพนักงานตํารวจมายึดมือถือไปนั้น โดยหลักแล้วนายนาคย่อมสามารถ ฟ้องให้นายทองรับผิดในกรณีที่ตนถูกรอนสิทธิได้ตามมาตรา 475 และมาตรา 479 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มี ข้อตกลงกันไว้ว่านายทองจะไม่รับผิดต่อนายนาคในการรอนสิทธิใด ๆ ตามมาตรา 483 และไม่ปรากฏว่าการที่
นายนาคผู้ซื้อถูกรอนสิทธินั้นเป็นเพราะความผิดของผู้ขายหรือผู้ขายได้รู้ถึงข้อความจริงว่ามือถือนั้นเป็นของนายดิน แต่ได้ปกปิดเสียตามมาตรา 485 แต่อย่างใด ดังนั้น นายนาคจะฟ้องให้นายทองรับผิดในการรอนสิทธิไม่ได้

กรณีที่ 2 ความรับผิดในความชํารุดบกพร่อง การที่มือถือที่นายนาคได้ซื้อไปจากนายทองนั้นมีปัญหา ชํารุดบกพร่องภายในเครื่องซึ่งซ่อมแล้วก็ไม่หายนั้น ถือว่านายทองผู้ขายจะต้องรับผิดในความชํารุดบกพร่องนั้น ต่อนายนาคตามมาตรา 472 และมาตรา 479 และแม้ว่าจะได้มีข้อตกลงกันไว้ว่านายทองจะไม่รับผิดต่อนายนาคในความชํารุดบกพร่องที่เกิดขึ้นกับมือถือเครื่องนั้นตามมาตรา 483 ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าการที่มือถือมีความ ชํารุดบกพร่องนั้น นายทองผู้ขายได้รู้อยู่แล้วแต่ได้ปกปิดไม่บอกให้นายนาครู้ตามมาตรา 485 ดังนั้น ข้อสัญญา ที่ว่านายทองไม่ต้องรับผิดนั้นจึงไม่คุ้มครองความรับผิดของผู้ขาย นายนาคจึงสามารถฟ้องให้นายทองรับผิดในความชํารุดบกพร่องได้

สรุป นายนาคจะฟ้องให้นายทองรับผิดในการรอนสิทธิไม่ได้ แต่สามารถฟ้องให้นายทองรับผิด
ในความชํารุดบกพร่องได้

ข้อ 3 นายเอกขายพ่อม้าแข่งตัวหนึ่งกับนายโทในราคาหนึ่งแสนบาท โดยทําสัญญาเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ ทั้งนายเอกและนายโท และจดทะเบียนไว้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ในสัญญาซื้อขายฉบับเดียวกันนั้น มีข้อตกลงให้นายเอกมีสิทธิซื้อพ่อม้าตัวนั้นกลับคืนได้ภายในเวลา 1 ปี ในราคาหนึ่งแสนบาท เท่าราคาขาย ต่อมาเมื่อขายไปได้ 6 เดือน นายโทได้จดทะเบียนขายต่อพ่อม้าตัวนั้นไปให้กับนายตรี โดยนายตรีและนายเอกทราบถึงสัญญาที่นายเอกทําไว้กับนายโท หลังจากที่นายโทขายพ่อม้าให้ นายตรีไป 3 เดือน นายเอกได้โทรศัพท์ขอเลื่อนเวลาซื้อพ่อมาคืนจากนายตรีไปเป็น 2 ปี นายตรี ตอบตกลง เมื่อขายพ่อม้าไปรวมเวลาได้ 1 ปีกับ 2 เดือน นายเอกจึงได้นําเงินหนึ่งแสนบาทมาขอไถ่ พ่อม้าตัวนี้คืนจากนายตรี นายตรีจะไม่ยอมรับไถ่คืนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 456 วรรคหนึ่ง “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าต้นขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย”

มาตรา 491 “อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้”

มาตรา 494 “ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้
(1) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ กําหนดสิบปีนับแต่เวลาซื้อขาย
(2) ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ กําหนดสามปีนับแต่เวลาซื้อขาย

มาตรา 495 “ถ้าในสัญญามีกําหนดเวลาไถ่เกินไปกว่านั้น ท่านให้ลดลงมาเป็นสิบปีและสามปี
ตามประเภททรัพย์”

มาตรา 496 “กําหนดเวลาไถ่นั้น อาจทําสัญญาขยายกําหนดเวลาไม่ได้ แต่กําหนดเวลาไถ่รวมกัน ทั้งหมด ถ้าเกินกําหนดเวลาตามมาตรา 494 ให้ลดลงมาเป็นกําหนดเวลาตามมาตรา 494

การขยายกําหนดเวลาไถ่ตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่…”

วินิจฉัย

สัญญาขายฝาก เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้น คืนได้ เมื่อเป็นสัญญาซื้อขาย จึงต้องนําบทบัญญัติว่าด้วยซื้อขายมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม ดังนั้น การขายฝาก อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ เช่น เรือมีระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป แพที่อยู่อาศัยและสัตว์พาหนะ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 วรรคหนึ่ง

กรณีตามอุทาหรณ์ นายตรีจะไม่ยอมรับไถ่คืนได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 การที่นายเอกขายพ่อม้าแข่งตัวหนึ่งให้กับนายโทในราคาหนึ่งแสนบาท โดยทําสัญญา เป็นหนังสือลงลายมือชื่อทั้งนายเอกและนายโท และจดทะเบียนไว้กับพนักงานเจ้าหน้าที่และในสัญญาซื้อขาย ฉบับเดียวกันนั้นมีข้อตกลงให้นายเอกมีสิทธิซื้อพ่อม้าตัวนั้นกลับคืนได้ภายในเวลา 1 ปี ในราคาหนึ่งแสนบาท เท่ากับราคาขายนั้น ถือว่าเป็นสัญญาขายฝากตามมาตรา 491 และมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 456 วรรคหนึ่ง และ กําหนดเวลาไถ่คืนก็ไม่เกินตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 494 (2) และมาตรา 495

2 ต่อมาเมื่อขายไปได้ 6 เดือน นายโทได้จดทะเบียนขายต่อพ่อม้าตัวนั้นไปให้กับนายตรี โดยนายตรีได้ทราบถึงสัญญาที่นายเอกทําไว้กับนายโท และหลังจากที่นายโทขายพ่อมาให้นายตรีไปได้ 3 เดือน นายเอกได้โทรศัพท์ขอเลื่อนเวลาซื้อพ่อมาคืนจากนายตรีไปเป็น 2 ปี โดยนายตรีตกลงด้วยนั้น ถือเป็นการขยาย กําหนดเวลาไถ่ ซึ่งแม้ว่ากําหนดเวลาไถ่รวมกันทั้งหมดจะไม่เกินกําหนดเวลาตามมาตรา 494 (2) และมาตรา 495 ประกอบมาตรา 496 วรรคหนึ่งก็ตาม แต่ตามมาตรา 496 วรรคสอง ได้กําหนดไว้ว่า การขยายกําหนดเวลาไถ่ อย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ เมื่อการขยายเวลาไถ่ระหว่างนายเอกกับนายตรีไม่ได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อนายตรีผู้รับไถ่ ข้อตกลงของการขยายเวลาไถ่จึงใช้บังคับนายตรีไม่ได้ ดังนั้น เมื่อการขายพ่อม้าไปแล้วรวมเวลาได้ 1 ปีกับ 2 เดือน ซึ่งเกินกําหนดเวลาไถ่คืนคือ 1 ปี การที่นายเอกได้นําเงิน หนึ่งแสนบาทมาขอไถ่พ่อม้าตัวนี้คืนจากนายตรี นายตรีจึงสามารถที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับไถ่คืนได้

สรุป เมื่อนายเอกมาขอไถ่พ่อม้าตัวนี้คืนจากนายตรี นายตรีสามารถปฏิเสธไม่ยอมรับไถ่คืนได้

 

Advertisement