การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 จงอธิบายความหมายและสาระสําคัญของรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรและรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี พร้อมเปรียบเทียบความแตกต่างของรัฐธรรมนูญทั้ง 2 รูปแบบ

ธงคําตอบ

รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร หมายถึง รัฐธรรมนูญที่มีการจัดทําขึ้นในรูปแบบของเอกสารที่มีลักษณะเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรถือเป็นรูปแบบของรัฐธรรมนูญ สมัยใหม่อันเป็นที่นิยมทั่วโลกโดยเฉพาะในบรรดาประเทศยุโรปภาคพื้นทวีป นับตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา และด้วยความที่รัฐธรรมนูญรูปแบบนี้ได้รับการจัดทําขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร ผลกระทบที่สําคัญต่อ ระบบกฎหมายก็คือความมั่นคงของบรรดาบทบัญญัติทั้งหลายที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ

อนึ่ง นอกจากบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ ในระบบกฎหมายของ บางประเทศยังมีการออกแบบบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรที่มิได้อยู่ในรูปของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแต่มีเนื้อหา เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญเป็นอย่างยิ่ง บทบัญญัติเหล่านี้เรียกว่า “กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ” ซึ่งมีต้นกําเนิดมาจากประเทศฝรั่งเศส แนวคิดว่าด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเริ่มมาจากเจตนาในการกําหนดรายละเอียดหรือขยายเนื้อความของรัฐธรรมนูญให้มีความชัดเจนแน่นอน เพื่อประโยชน์ในการบังคับการให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้ร่างไม่สามารถระบุบรรดารายละเอียดปลีกย่อยลงไปในรัฐธรรมนูญ ได้ทั้งหมด กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจึงเปรียบเสมือนส่วนเติมเต็มของรัฐธรรมนูญ

โดยทั่วไปกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะปรากฏอยู่ในรูปของรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญสําหรับประเทศที่เป็นราชอาณาจักร) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีสถานะเหนือกว่ารัฐบัญญัติแต่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ

อนึ่ง รัฐบัญญัติบางประเภทที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการจัดการหรือการดําเนินกิจการขององค์กรหลักของรัฐอาจถือว่าเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน แม้จะมิได้มีชื่อเรียกว่ารัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญก็ตาม

รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี (รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร) หมายถึง รัฐธรรมนูญที่ ไม่ได้มีการจัดทําขึ้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นบรรทัดฐานที่มาจากจารีตประเพณีในทางการเมืองการปกครอง ที่ก่อตัวและพัฒนาขึ้นอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ของแต่ละรัฐ ซึ่งรัฐที่มีระบบการเมืองการปกครองภายใต้บรรทัดฐานเหล่านี้แต่มิได้สถาปนารัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรขึ้น ย่อมหมายความว่ารัฐดังกล่าวปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี

ในอดีตรัฐธรรมนูญทั้งหลายล้วนปรากฏตัวในรูปแบบของรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีทั้งสิ้น ซึ่งรัฐธรรมนูญเหล่านี้ก่อตัวขึ้นโดยการรวบรวมจารีตประเพณีในทางการเมืองการปกครองเข้าด้วยกัน เช่น ในประเทศฝรั่งเศสก่อนการปฏิวัติในปี ค.ศ. 1789 การดําเนินงานของบรรดาสถาบันการเมืองทั้งหลายล้วนอยู่ภายใต้บรรทัดฐานต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้อยู่ในรูปของกฎหมายลายลักษณ์อักษร หากแต่ปรากฏตัวอยู่ในรูปแบบของบรรทัดฐานที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานานจนกระทั่งถึงจุดที่ผู้ปกครองยอมรับและจําเป็นต้องปฏิบัติตามโดยไม่อาจฝ่าฝืน รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีจึงเป็นผลผลิตแห่งบรรดาจารีตประเพณีในทางการเมืองการปกครอง ซึ่งในปัจจุบันรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่จะปรากฏตัวอยู่ในรูปแบบลายลักษณ์อักษร เหลือเพียงบางรัฐที่ยังคงปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี เช่น ประเทศอังกฤษ และซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น

รัฐธรรมนูญทั้ง 2 รูปแบบมีลักษณะที่สําคัญที่แตกต่างกัน ดังนี้คือ

1 เนื่องจากรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นจากข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระบบ การเมืองการปกครอง ข้อเท็จจริงในแต่ละเรื่องแต่ละปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละรัฐจึงนําไปสู่รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีที่มีลักษณะแตกต่างกันตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีจึงไม่ได้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของเจตจํานงที่จะก่อตั้งระบบการเมืองการปกครองที่ผ่านการออกแบบอย่างเป็นระบบแบบแผนมาตั้งแต่แรก กลไกทางการเมืองต่าง ๆ ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่กลไกที่ผ่านการวิเคราะห์ผลดีผลเสีย หรือผ่านการวางแผน ให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ ในทางการเมืองมาแต่แรก กรณีจึงแตกต่างจากรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรสมัยใหม่

ซึ่งผู้ร่างจะต้องทําการคิดวิเคราะห์ข้อมูลและผลกระทบทางการเมืองการปกครองให้ชัดเจนเสียก่อน ดังนั้นจึงอาจ กล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรส่วนใหญ่ในปัจจุบันนั้นเกิดจากการออกแบบอย่างเป็นระบบ ส่วนรัฐธรรมนูญ จารีตประเพณีนั้นเกิดจากข้อเท็จจริงต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์โดยมิได้ผ่านการออกแบบของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด ๆ แต่ก่อตัวขึ้นเองตามวิวัฒนาการทางการเมืองการปกครองของรัฐ

2 รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีมักก่อให้เกิดปัญหาความไม่ชัดเจนในการใช้การตีความรัฐธรรมนูญรวมทั้งความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความไม่ต่อเนื่องหรือทางตันในทางการเมือง ในกรณีที่เกิดปัญหาซึ่งไม่เคยเกิดขึ้น มาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ของรัฐนั้น ๆ รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีย่อมไม่อาจแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้โดยง่าย กรณีจึงแตกต่างจากรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่ได้ถูกออกแบบมาอย่างรอบคอบ ความเสี่ยงที่จะประสบกับ ปัญหาดังกล่าวย่อมมีน้อย หรืออาจไม่มีเลยก็ได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรสมัยใหม่นั้น เปิดโอกาส ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อยู่เสมอ

3 รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีไม่มีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยในเชิงรูปแบบ เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่ก่อตัวขึ้นจากทางปฏิบัติต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองซึ่งมักเป็นทางปฏิบัติที่อยู่ใน ความควบคุมของกษัตริย์หรือชนชั้นสูง ประชาชนจึงไม่มีส่วนร่วมใด ๆ ในการสถาปนารัฐธรรมนูญแม้แต่น้อย กรณีจึงแตกต่างจากรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรสมัยใหม่ซึ่งมักจะถูกสถาปนาขึ้นโดยความยินยอมของประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตย โดยผ่านการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือผ่านการออกเสียงประชามติ รับรองร่างรัฐธรรมนูญ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั้ง 3 ประการของรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีแล้วจะพบว่า รัฐธรรมนูญในรูปแบบ ดังกล่าวไม่สอดคล้องกับระบบการเมืองการปกครองสมัยใหม่อีกต่อไป เนื่องจากการปกครองในยุคปัจจุบันนั้นให้ความสําคัญกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเป็นหลักทั้งในทางรูปแบบและในทางเนื้อหา นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ในปัจจุบันทั้งทางด้านสังคม การเมือง หรือเศรษฐกิจนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและ มีลักษณะต่อเนื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยจึงเป็นเรื่องที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้

 

ข้อ 2 จงอธิบายรูปแบบการสถาปนารัฐธรรมนูญโดยจําแนกตามผู้ถืออํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญ พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคําตอบ

อํานาจในการก่อตั้งรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับนั้นเรียกว่า “อํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิม อํานาจดังกล่าวเป็นอํานาจที่ผู้สถาปนารัฐธรรมนูญนั้นมีอยู่แต่เดิมโดยไม่ได้รับมาจากผู้ใด และเนื่องจากเป็นอํานาจที่มิได้อยู่ภายใต้อาณัติของผู้อื่น

อํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมจึงเป็นอํานาจที่มีลักษณะไร้ขีดจํากัด

กล่าวคือ ผู้สถาปนารัฐธรรมนูญไม่ถูกผูกพันว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญจะต้องมีลักษณะเช่นไร หรือแม้แต่อยู่ภายใต้ กฎเกณฑ์อื่นใดในโลก

1 การสถาปนารัฐธรรมนูญในรูปแบบเผด็จการ

ในรัฐที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ เช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบอบคณาธิปไตย เป็นต้น อํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมย่อมอยู่ในมือของผู้ปกครองหรือคณะผู้ปกครองแต่เพียงผู้เดียว การจัดทํารัฐธรรมนูญจึงไม่มีกระบวนการที่เชื่อมโยงกับประชาชน แต่เป็นการจัดทําโดยผู้ปกครองฝ่ายเดียวและมอบให้แก่ผู้อยู่ใต้ปกครอง ผู้ปกครองจึงเป็นผู้กําหนดสถานะและอํานาจขององค์กรผู้ใช้อํานาจรัฐ ซึ่งย่อมหมายความรวมถึง สถานะและอํานาจของผู้ปกครองเองด้วย ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสปี ค.ศ. 1814, รัฐธรรมนูญโปรตุเกส ปี ค.ศ. 1826 และรัฐธรรมนูญเสปนปี ค.ศ. 1834 เป็นต้น

การจัดทํารัฐธรรมนูญแบบเผด็จการในบางกรณีอาจนําไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยได้ หากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตย กล่าวคือ มีบทบัญญัติว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมือง ของประชาชนเป็นสําคัญ แต่อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นได้ยากเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้ปกครองที่มีอํานาจ เบ็ดเสร็จเด็ดขาดในมือย่อมไม่มีเจตนาที่จะสละอํานาจดังกล่าวให้กับประชาชนหากไม่ใช่กรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ในโลกปัจจุบันยังคงปรากฏการจัดทํารัฐธรรมนูญแบบเผด็จการอยู่โดยเฉพาะในประเทศโลกที่สาม

ซึ่งมักจะมีการทํารัฐประหารโดยกองทัพ โดยภายหลังการยึดอํานาจรัฐบาลประชาธิปไตยมักจะมีการฉีกรัฐธรรมนูญเดิม และจัดทํารัฐธรรมนูญใหม่โดยกองทัพหรือผู้ที่กองทัพแต่งตั้ง จากนั้นผู้ก่อการรัฐประหารมักประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ที่ตนเองจัดทําขึ้นใหม่โดยไม่ผ่านกระบวนการทางประชาธิปไตยใด ๆ ทั้งสิ้น

2 การสถาปนารัฐธรรมนูญในรูปแบบผสม (กึ่งเผด็จการถึงประชาธิปไตย)

การจัดทํารัฐธรรมนูญแบบผสมเกิดขึ้นได้ในกรณีที่อํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมอยู่ในมือของทั้งผู้ปกครองในระบอบเผด็จการและประชาชน กล่าวคือ เป็นรัฐธรรมนูญอันเป็นผลมาจากการต่อสู้หรือ ต่อรองกันระหว่างผู้ปกครองเดิม (กษัตริย์หรือผู้เผด็จการ) และประชาชน (ผู้แทนประชาชนหรือคณะปฏิวัติ ในนามของประชาชน) จนได้ข้อสรุปตกลงร่วมกัน

ในอดีตการจัดทํารัฐธรรมนูญแบบผสมมักเกิดขึ้นในกรณีที่มีการเปลี่ยนราชวงศ์หรือการก่อตั้งราชวงศ์ใหม่ เช่น รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสปี ค.ศ. 1830 เป็นต้น ส่วนในปัจจุบันการจัดทํารัฐธรรมนูญแบบผสม มักจะเป็นกรณีที่คณะรัฐประหารเสนอร่างรัฐธรรมนูญ (ที่มิได้มาจากการร่างโดยผู้แทนของประชาชน) ให้ประชาชนเป็นผู้รับรองผ่านกระบวนการประชามติ เช่น กรณีของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี พ.ศ. 2550 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี พ.ศ. 2560

3 การสถาปนารัฐธรรมนูญในรูปแบบประชาธิปไตย

ในรัฐที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมย่อมเป็นของปวงชน กล่าวคือ ประชาชนหรือผู้แทนของประชาชนเท่านั้นที่จะเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ การสถาปนารัฐธรรมนูญในรูปแบบ ประชาธิปไตยในปัจจุบันอาจแบ่งแยกได้เป็น 2 กระบวนการหลัก ได้แก่ การร่างรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ และการรับรองร่างรัฐธรรมนูญโดยผ่านกระบวนการประชามติ

การสถาปนารัฐธรรมนูญในรูปแบบประชาธิปไตยสามารถกระทําได้ทั้งสิ้น 3 วิธี ดังนี้

วิธีแรก ก่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อสภา ดังกล่าวร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จจึงนําร่างรัฐธรรมนูญไปเสนอให้ประชาชนรับรองโดยผ่านกระบวนการประชามติ

วิธีที่สอง ก่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อสภาดังกล่าวร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการประชามติอีก

วิธีที่สาม ฝ่ายบริหารซึ่งเข้าสู่ตําแหน่งด้วยวิธีการอันชอบด้วยระบอบประชาธิปไตย (ผ่านการ เลือกตั้งทั่วไปโดยชอบด้วยระบอบประชาธิปไตย) จัดทําร่างรัฐธรรมนูญขึ้น และเสนอร่างดังกล่าวให้ประชาชน เป็นผู้รับรองโดยผ่านกระบวนการประชามติ

 

ข้อ 3 จงอธิบายกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

ธงคําตอบ

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้กําหนดกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมไว้ในมาตรา 255 และมาตรา 256 ดังนี้

มาตรา 255 : การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทํามิได้

มาตรา 256 : ภายใต้บังคับมาตรา 255 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทําได้ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการ ดังต่อไปนี้

(1) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

(2) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ

(3) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนน โดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกซึ่งในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา จํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

(4) การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลําดับมาตรา โดยการออกเสียงในวาระที่สองนี้ ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ แต่ในกรณีที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อกันได้แสดงความคิดเห็นด้วย

(5) เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกําหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป

(6) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดํารง ตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน สมาชิกทั้งหมดเท่าทีมีอยู่ของวุฒิสภาและมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวน

(7) เมื่อมีการลงมติเห็นชอบตาม (6) แล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน แล้วจึงนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นําความในมาตรา 81 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

(8) ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม ของผู้ดํารงตําแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือ เรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออํานาจได้ ก่อนดําเนินการตาม (7) ให้จัดให้มีการออกเสียง ประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดําเนินการตาม (7) ต่อไป

(9) ก่อนนายกรัฐมนตรีนําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยตาม (7) สมาชิก สภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน มีจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิก ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือของทั้งสองสภารวมกัน แล้วแต่กรณี มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอความเห็นต่อ ประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี ว่าร่างรัฐธรรมนูญตาม (7) ขัดต่อมาตรา 255 หรือมีลักษณะตาม (8) และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องดังกล่าวส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้

 

ข้อ 4 จงอธิบายรูปแบบการยกเลิกรัฐธรรมนูญ

ธงคําตอบ

รูปแบบของการยกเลิกรัฐธรรมนูญสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

1 การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยตรง

การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยตรง หมายถึง การกระทําให้รัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งสิ้นผลไป โดยการประกาศยกเลิกโดยตรง การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยตรงมักเป็นผลมาจากการปฏิวัติหรือการรัฐประหาร เนื่องจากเมื่อเกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองเดิม ผู้ก่อการปฏิวัติหรือรัฐประหารย่อมเป็นผู้ถืออํานาจรัฐในทางข้อเท็จจริง ส่งผลให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลดังกล่าวมีอํานาจยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น อาจกล่าวได้ว่าโดยทั่วไปการยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยตรงก็คือการทําให้รัฐธรรมนูญฉบับหนึ่ง สิ้นสุดลงโดยผลแห่งกําลังในทางข้อเท็จจริง

การปฏิวัติหรือการรัฐประหารนับเป็นสาเหตุแห่งการยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยตรงที่พบได้บ่อยและชัดเจนที่สุด โดยเฉพาะการรัฐประหารโดยใช้กําลังทหารเข้ายึดอํานาจรัฐ ซึ่งกรณีหลังนี้มักเกิดขึ้นในประเทศด้อยพัฒนาหรือประเทศกําลังพัฒนาบางประเทศ การยกเลิกรัฐธรรมนูญด้วยวิธีดังกล่าวย่อมไม่มีประเด็นในทาง กฎหมายที่สลับซับซ้อนให้พิจารณา เนื่องจากเป็นกรณีที่มีการประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยชัดแจ้ง

2 การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยอ้อม

แม้รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่จะไม่ปรากฏบทบัญญัติว่าด้วยการยกเลิกรัฐธรรมนูญเอาไว้ (เว้นแต่ ในกรณีของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวซึ่งอาจกําหนดให้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวสิ้นผลลงเมื่อมีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญฉบับถาวร) แต่การยกเลิกรัฐธรรมนูญก็อาจเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีที่เรียกว่าการยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยอ้อม ซึ่งหมายถึงการยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยการกระทําที่มิได้มุ่งหมายต่อการยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยตรง แต่กลับส่งผล เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ซึ่งสามารถจําแนกการยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยอ้อมออกเป็น 4 รูปแบบดังต่อไปนี้

2.1 การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยการแก้ไขในส่วนที่เป็นสาระสําคัญของรัฐธรรมนูญ : รัฐธรรมนูญทุกฉบับล้วนประกอบไปด้วยเนื้อหาส่วนที่เป็นสาระสําคัญซึ่งอาจแตกต่างกันในรายละเอียด แต่โดยหลักแล้วจะต้องถือว่าบทบัญญัติว่าด้วยรูปของรัฐ ระบอบการปกครอง และรูปแบบของสถาบันการเมือง เป็นสาระสําคัญของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อบรรดาบทบัญญัติดังกล่าว เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ (จากสาธารณรัฐเป็นราชอาณาจักรหรือจากราชอาณาจักร เป็นสาธารณรัฐ) เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง (ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบเผด็จการ อาจกระทําโดย ยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนทั้งหมด เป็นต้น) หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของ สถาบันการเมือง (เปลี่ยนจากระบบสภาเดี่ยวเป็นระบบสภาคู่ เปลี่ยนจากระบบรัฐสภาเป็นระบบประธานาธิบดี เป็นต้น) แม้การแก้ไขเช่นว่านี้จะได้กระทําตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกําหนดไว้ทุกประการ และแม้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะมิได้กําหนดข้อจํากัดในการแก้ไขบทบัญญัติส่วนใดส่วนหนึ่งไว้ก็ตาม กรณีเช่นนี้ จะต้องถือว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่บังคับใช้อยู่ และเป็นการสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปโดยปริยายเนื่องจากเป็นการทําลายหลักการสําคัญของรัฐธรรมนูญฉบับเดิม

2.2 การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยการฝ่าฝืนบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติม

รัฐธรรมนูญ : การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะต้องดําเนินตามขั้นตอนและเงื่อนไขที่กําหนดเอาไว้ในบทบัญญัติ ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และเนื่องจากบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญคือบทบัญญัติ ว่าด้วยการใช้อํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญลําดับรอง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าว ย่อมเป็นการทําลายอํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญอันเป็นบ่อเกิดแห่งรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างเช่น บทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกําหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในขั้นตอนสุดท้ายต้องผ่านกระบวนการ ออกเสียงประชามติ แต่กลับมิได้มีการนําร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไปให้ประชาชนออกเสียง ประชามติก่อนการประกาศใช้ย่อมถือได้ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยไม่เคารพบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมและสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยปริยาย

2.3 การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติม

รัฐธรรมนูญ : การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแตกต่างจากกรณีของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติในส่วนดังกล่าว ในกรณีนี้แม้รัฐธรรมนูญ จะมิได้บัญญัติห้ามมิให้แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่การแก้ไขเพิ่มเติม บทบัญญัติในส่วนดังกล่าวก็ถือว่าเป็นการทําลายอํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญลําดับรองซึ่งปรากฏอยู่ในรูปของ บทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างเช่น บทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กําหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในขั้นตอนสุดท้ายต้องผ่านกระบวนการออกเสียงประชามติ แต่เสียงข้างมาก ในรัฐสภาไม่เห็นด้วยกับกระบวนการดังกล่าวเนื่องจากสร้างความยุ่งยากและความเสี่ยงในทางการเมืองในอนาคต จึงได้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยยกเลิกบทบัญญัติที่กําหนดให้ต้องนําร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไปผ่านกระบวนการประชามติ ย่อมถือได้ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมและสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยปริยาย

การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยอ้อมทั้ง 3 รูปแบบข้างต้น เป็นการพิจารณาจากแง่มุม ในทางทฤษฎี แต่การกระทําทั้ง 3 กรณีมิได้ส่งผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญในทางปฏิบัติแต่อย่างใด หรือกล่าว อีกนัยหนึ่งคือรัฐธรรมนูญที่ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 3 กรณีก็ยังคงได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดิม

2.4 การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยการสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ : การประกาศ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยตรงอาจกระทําได้โดยมิต้องอาศัยกําลังทหารในนามของคณะรัฐประหารหรือกําลังของประชาชนในนามของคณะปฏิวัติ ยกตัวอย่างเช่น มีการร่างรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นร่างดังกล่าว ได้ผ่านกระบวนการออกเสียงประชามติโดยประชาชนและมีการประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กรณีเช่นนี้ ย่อมถือว่าเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมโดยไม่จําต้องประกาศให้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวสิ้นสุดลง

เมื่อได้พิจารณาการยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยอ้อมทั้ง 4 รูปแบบแล้ว จะพบว่า 3 รูปแบบแรก เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญอันเป็นผลมาจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นการแก้ไขเพิ่มเติม บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจึงเป็นหนึ่งกลไกที่สําคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ทั้งในแง่ของการประกันความมั่นคง ของรัฐธรรมนูญด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้เหมาะสมกับยุคสมัย และในแง่ของการหลีกเลี่ยงการยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยอ้อม

Advertisement