การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 269 ที่บัญญัติให้ ในวาระเริ่มแรกให้มีวุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกสองร้อยห้าสิบคน ซึ่งมาจากการคัดเลือกของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น ท่านเห็นด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อม ยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 นั้น รัฐสภาเป็นองค์กรที่ใช้อํานาจนิติบัญญัติ ซึ่งรัฐสภานั้นจะประกอบด้วย “สภาผู้แทนราษฎร” และ “วุฒิสภา” โดย

1 สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จะประกอบด้วยสมาชิกจํานวน 500 คน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจํานวน 350 คน และสมาชิกซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจํานวน 150 คน

2 วุฒิสภา (ส.ว.) จะประกอบด้วยสมาชิกจํานวน 200 คน ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคล ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทํางานหรือเคยทํางานด้าน ต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม……. (มาตรา 107)

ซึ่งรัฐสภานอกจากจะเป็นองค์กรผู้ใช้อํานาจนิติบัญญัติแล้ว ในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวน 500 คนนั้น ยังมีอํานาจในการให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย โดยต้องกระทําโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ของสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 159) ซึ่งเท่ากับว่าเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นที่มีสิทธิในการพิจารณา และออกเสียงลงคะแนนเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนสมาชิกวุฒิสภาไม่มีสิทธิลงคะแนนเลือกบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด

แต่อย่างไรก็ตาม ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 (ในบทเฉพาะกาล) มาตรา 269 ได้บัญญัติว่าในวาระเริ่มแรกให้มีวุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิก 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคําแนะนํา โดยมีวาระในการดํารงตําแหน่ง 5 ปี และตามมาตรา 272 ยังได้ กําหนดไว้อีกว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนั้น การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น

ให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาร่วมกันพิจารณาและออกเสียงลงคะแนนเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลที่จะเป็น นายกรัฐมนตรี โดยให้มีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

และเมื่อพิจารณาถึงที่มาของสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 250 คน (ในวาระเริ่มแรก) แล้ว จะเห็นได้ว่า เป็นบุคคลซึ่ง คสช. หรือหัวหน้า คสช. เป็นผู้เลือกทั้งสิ้น (แม้แต่ผู้บัญชาการเหล่าทัพ 6 คน ซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา โดยตําแหน่งก็เป็นคนของ คสช.) จึงถือเสมือนว่าในการกําหนดให้มีวุฒิสภาจํานวน 250 คนดังกล่าวนั้น เป็นกฎเกณฑ์ที่ คสช. เป็นผู้กําหนดขึ้นมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง และเป็นที่พูดกันในสังคมว่า เป็นการต่อท่ออํานาจของ คสช. นั่นเอง เพราะเมื่อมีการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ก็ต้อง ได้รับเลือกเป็นนายกแน่นอน เพราะมีคะแนนเสียงอยู่ในมือแล้วถึง 250 เสียง ส่วนพรรคการเมืองต่าง ๆ เมื่อ มีการเลือกตั้งขึ้นมา ด้วยกฎกติกา หลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ คสช. ได้กําหนดไว้ ถึงอย่างไรก็ได้คะแนนเสียงหรือ จํานวน ส.ส. ไม่ถึง 376 คนแน่นอน ทําให้นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชนอย่างแท้จริง

ดังนั้น จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ข้าพเจ้าจึงไม่เห็นด้วยกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 269 ที่กําหนดให้ในวาระเริ่มแรกให้มีวุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจํานวน 250 คน ซึ่งมาจากการคัดเลือก ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดังกล่าว

หมายเหตุ อาจมีความเห็นเป็นอย่างอื่นได้

 

ข้อ 2 จงอธิบายถึงแนวความคิดในการออกเสียงประชามติ (Referendum) ว่ามีความสัมพันธ์กับหลักการ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศของประชาชนอย่างไร และภายใต้รัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กําหนดให้ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกรณีใดบ้าง ที่จะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ

ธงคําตอบ

ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยกําหนดให้อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ดังนั้นการที่ประชาชนสามารถใช้อํานาจอธิปไตยในการปกครองตนเอง ย่อมมีความสําคัญอย่างยิ่งในการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ด้วยเหตุปัจจัยที่ไม่อาจให้ประชาชนทุกคนมาใช้อํานาจอธิปไตยโดยตรงในการมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ จึงกําหนดให้ประชาชนมีสิทธิเลือกผู้แทนที่ตนเองไว้วางใจไปทําหน้าที่ในการปกครองประเทศแทนตน

การออกเสียงประชามติ (Referendum) จึงเป็นกลไกสําคัญช่องทางหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ประชาชน สามารถมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ โดยให้มีการออกเสียงประชามติในร่างกฎหมายเพื่อการกําหนดนโยบาย ที่สําคัญของประเทศ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตยของประชาชนในอันที่จะแสดง ความคิดเห็นต่อแนวทางการปกครองและการพัฒนาประเทศหรือการกําหนดกฎหมายที่จะนํามาใช้บังคับกับประชาชน อันเป็นแนวทางให้ถือมติของปวงชนเป็นใหญ่ อันเป็นแนวทางสําคัญแห่งหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่กําหนดให้อํานาจอธิปไตยเป็นของประชาชนมีที่มาจากประชาชนและเพื่อประชาชน

อย่างไรก็ตาม หลักการสําคัญในการออกเสียงประชามติกับหลักการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการ ปกครองประเทศของประชาชน คือ การส่งเสริมให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้อํานาจอธิปไตยและถือได้ว่าการออกเสียงประชามติเป็นหลักการในระบอบประชาธิปไตยโดยตรงที่กําหนดให้ประชาชนสามารถมีส่วนโดยตรงในการบริหารประเทศ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิออกเสียงในกิจกรรมเพื่อการดําเนินงานของรัฐที่สําคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกฎหมาย จึงอาจสรุปได้ว่า ระบอบการออกเสียงประชามติเป็นระบบที่ทําให้ การตัดสินใจในการปกครองประเทศกลับมาสู่การตัดสินใจของปวงชนผู้เป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตยที่แท้จริงนั่นเอง

ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น กรณีที่จะต้องจัดให้มีการออกเสียงตามกฎหมายว่าด้วยการ ออกเสียงประชามติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 256 (8) ได้กําหนดไว้ว่าในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่ง ต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออํานาจได้ ก่อนที่จะดําเนินการตามมาตรา 256 (7) ให้จัดให้มีการออกเสียง ตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลของการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ก็ให้ดําเนินการตามมาตรา 256 (7) ต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 256 นั้น จะต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 255 ด้วย กล่าวคือ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการ ปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทํามิได้

 

ข้อ 3 จงเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีและรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร

ธงคําตอบ

รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี (รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร) หมายถึง รัฐธรรมนูญที่ ไม่ได้มีการจัดทําขึ้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นบรรทัดฐานที่มาจากจารีตประเพณีในทางการเมืองการปกครอง ที่ก่อตัวและพัฒนาขึ้นอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ของแต่ละรัฐ ซึ่งรัฐที่มีระบบการเมืองการปกครองภายใต้ บรรทัดฐานเหล่านี้แต่มิได้สถาปนารัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรขึ้น ย่อมหมายความว่ารัฐดังกล่าวปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี

ในอดีตรัฐธรรมนูญทั้งหลายล้วนปรากฏตัวในรูปแบบของรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีทั้งสิ้น ซึ่งรัฐธรรมนูญเหล่านี้ก่อตัวขึ้นโดยการรวบรวมจารีตประเพณีในทางการเมืองการปกครองเข้าด้วยกัน เช่น ในประเทศ ฝรั่งเศสก่อนการปฏิวัติในปี ค.ศ. 1789 การดําเนินงานของบรรดาสถาบันการเมืองทั้งหลายล้วนอยู่ภายใต้บรรทัดฐาน ต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้อยู่ในรูปของกฎหมายลายลักษณ์อักษร หากแต่ปรากฏตัวอยู่ในรูปแบบของบรรทัดฐานที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานานจนกระทั่งถึงจุดที่ผู้ปกครองยอมรับและจําเป็นต้องปฏิบัติตามโดยไม่อาจฝ่าฝืน รัฐธรรมนูญ จารีตประเพณีจึงเป็นผลผลิตแห่งบรรดาจารีตประเพณีในทางการเมืองการปกครอง ซึ่งในปัจจุบันรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่จะปรากฏตัวอยู่ในรูปแบบลายลักษณ์อักษร เหลือเพียงบางรัฐที่ยังคงปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี เช่น ประเทศอังกฤษ และซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น

รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร หมายถึง รัฐธรรมนูญที่มีการจัดทําขึ้นในรูปแบบของเอกสารที่มี ลักษณะเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรถือเป็นรูปแบบของรัฐธรรมนูญ สมัยใหม่อันเป็นที่นิยมทั่วโลกโดยเฉพาะในบรรดาประเทศยุโรปภาคพื้นทวีป นับตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา และด้วยความที่รัฐธรรมนูญรูปแบบนี้ได้รับการจัดทําขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร ผลกระทบที่สําคัญต่อ ระบบกฎหมายก็คือความมั่นคงของบรรดาบทบัญญัติทั้งหลายที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ

อนึ่ง นอกจากบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ ในระบบกฎหมายของ บางประเทศยังมีการออกแบบบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรที่มิได้อยู่ในรูปของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแต่มีเนื้อหา เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญเป็นอย่างยิ่ง บทบัญญัติเหล่านี้เรียกว่า “กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ” ซึ่งมี ต้นกําเนิดมาจากประเทศฝรั่งเศส แนวคิดว่าด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเริ่มมาจากเจตนาในการกําหนดรายละเอียดหรือขยายเนื้อความของรัฐธรรมนูญให้มีความชัดเจนแน่นอน เพื่อประโยชน์ในการบังคับการให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้ร่างไม่สามารถระบุบรรดารายละเอียดปลีกย่อยลงไปในรัฐธรรมนูญ ได้ทั้งหมด กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจึงเปรียบเสมือนส่วนเติมเต็มของรัฐธรรมนูญ โดยทั่วไปกฎหมาย ประกอบรัฐธรรมนูญจะปรากฏอยู่ในรูปของรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญสําหรับประเทศที่เป็นราชอาณาจักร) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีสถานะเหนือกว่ารัฐบัญญัติแต่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ

อนึ่ง รัฐบัญญัติบางประเภทที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการจัดการหรือการดําเนินกิจการขององค์กรหลักของรัฐอาจถือว่าเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน แม้จะมิได้มีชื่อเรียกว่ารัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญก็ตาม

รัฐธรรมนูญทั้ง 2 รูปแบบมีลักษณะที่สําคัญที่แตกต่างกัน ดังนี้คือ

1 เนื่องจากรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นจากข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระบบ การเมืองการปกครอง ข้อเท็จจริงในแต่ละเรื่องแต่ละปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละรัฐจึงนําไปสู่รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีที่มีลักษณะแตกต่างกันตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีจึงไม่ได้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของเจตจํานงที่จะก่อตั้งระบบการเมืองการปกครองที่ผ่านการออกแบบอย่างเป็นระบบแบบแผนมาตั้งแต่แรก กลไกทางการเมืองต่าง ๆ ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่กลไกที่ผ่านการวิเคราะห์ผลดีผลเสีย หรือผ่านการวางแผน ให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ ในทางการเมืองมาแต่แรก กรณีจึงแตกต่างจากรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรสมัยใหม่ ซึ่งผู้ร่างจะต้องทําการคิดวิเคราะห์ข้อมูลและผลกระทบทางการเมืองการปกครองให้ชัดเจนเสียก่อน ดังนั้นจึงอาจ กล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรส่วนใหญ่ในปัจจุบันนั้นเกิดจากการออกแบบอย่างเป็นระบบ ส่วนรัฐธรรมนูญ จารีตประเพณีนั้นเกิดจากข้อเท็จจริงต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์โดยมิได้ผ่านการออกแบบของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด ๆ แต่ก่อตัวขึ้นเองตามวิวัฒนาการทางการเมืองการปกครองของรัฐ

2 รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีมักก่อให้เกิดปัญหาความไม่ชัดเจนในการใช้การตีความรัฐธรรมนูญรวมทั้งความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความไม่ต่อเนื่องหรือทางตันในทางการเมือง ในกรณีที่เกิดปัญหาซึ่งไม่เคยเกิดขึ้น มาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ของรัฐนั้น ๆ รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีย่อมไม่อาจแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้โดยง่าย กรณีจึงแตกต่างจากรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่ได้ถูกออกแบบมาอย่างรอบคอบ ความเสี่ยงที่จะประสบกับ ปัญหาดังกล่าวย่อมมีน้อย หรืออาจไม่มีเลยก็ได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรสมัยใหม่นั้น เปิดโอกาส ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อยู่เสมอ

3 รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีไม่มีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยในเชิงรูปแบบ เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่ก่อตัวขึ้นจากทางปฏิบัติต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองซึ่งมักเป็นทางปฏิบัติที่อยู่ใน ความควบคุมของกษัตริย์หรือชนชั้นสูง ประชาชนจึงไม่มีส่วนร่วมใด ๆ ในการสถาปนารัฐธรรมนูญแม้แต่น้อย กรณีจึงแตกต่างจากรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรสมัยใหม่ซึ่งมักจะถูกสถาปนาขึ้นโดยความยินยอมของประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตย โดยผ่านการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือผ่านการออกเสียงประชามติ รับรองร่างรัฐธรรมนูญ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั้ง 3 ประการของรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีแล้วจะพบว่า รัฐธรรมนูญในรูปแบบ ดังกล่าวไม่สอดคล้องกับระบบการเมืองการปกครองสมัยใหม่อีกต่อไป เนื่องจากการปกครองในยุคปัจจุบันนั้นให้ความสําคัญกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเป็นหลักทั้งในทางรูปแบบและในทางเนื้อหา นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ในปัจจุบันทั้งทางด้านสังคม การเมือง หรือเศรษฐกิจนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแ มีลักษณะต่อเนื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยจึงเป็นเรื่องที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้

 

ข้อ 4 นายเอกได้ฟ้องกรมบัญชีกลางเป็นคดีต่อศาลปกครองกลาง ระหว่างการพิจารณาคดีนายเอกได้ ยื่นคําร้องโต้แย้งว่า พ.ร.บ. บําเหน็จบํานาญข้าราชการ พ.ศ. 2502 มาตรา 9 ซึ่งศาลปกครองกลาง จะใช้บังคับแก่คดีมิได้ระบุเหตุผลความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามที่มาตรา 26 รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติไว้ และกรณีนี้ยังไม่มีคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาก่อน จึงขอให้ศาลปกครองกลางส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า ศาลปกครองกลางจะต้องส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไปหรือไม่ เพราะเหตุใด

ให้ยกหลักกฎหมายประกอบเหตุผลในการตอบโดยชัดแจ้ง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

มาตรา 5 วรรคหนึ่ง “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทําใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”

มาตรา 212 วรรคหนึ่ง “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเอง หรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 5 และยังไม่มีคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดําเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 212 วรรคหนึ่ง กรณีที่ศาลจะส่งความเห็นหรือข้อโต้แย้งเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความได้โต้แย้งว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 5 ซึ่งคําว่า “กฎหมาย” ในที่นี้ หมายถึง กฎหมายในความหมายของรัฐธรรมนูญ คือเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรที่ใช้อํานาจนิติบัญญัติ ซึ่งได้แก่ พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชกําหนด (เฉพาะที่ได้รับอนุมัติจากรัฐสภาแล้ว) หรือกฎหมายอื่นที่เทียบเท่า เช่น ประกาศคณะปฏิวัติ เป็นต้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกได้ฟ้องกรมบัญชีกลางเป็นคดีต่อศาลปกครอง ระหว่าง การพิจารณาคดี นายเอกได้ยื่นคําร้องโต้แย้งว่า พ.ร.บ. บําเหน็จบํานาญข้าราชการ พ.ศ. 2502 มาตรา 9 ซึ่ง ศาลปกครองกลางจะใช้บังคับแก่คดีมิได้ระบุเหตุผลความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามที่ มาตรา 26 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติไว้ และกรณียังไม่มีคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาก่อน จึงขอให้ศาลปกครองกลางส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยนั้น มิใช่เป็นกรณีที่คู่ความโต้แย้งว่า บทบัญญัติของกฎหมาย คือ พ.ร.บ. บําเหน็จบํานาญข้าราชการ พ.ศ. 2502 มาตรา 9 ซึ่งศาลจะบังคับใช้ กับคดีนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 ตามนัยของมาตรา 212 แต่อย่างใด แต่เป็นการโต้แย้งว่า พ.ร.บ. บําเหน็จบํานาญข้าราชการ พ.ศ. 2502 มาตรา 9 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ เท่านั้น นายเอกจึงไม่สามารถใช้สิทธิโต้แย้งตามมาตรา 212 ได้ ดังนั้น ศาลปกครองกลางจึงไม่ต้องส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย

สรุป ศาลปกครองกลางไม่ต้องส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย

Advertisement