การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2552

ข้อสอบกระบวนวิชา law 2015 กฎหมายธุรกิจ 1

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นาย ก. เป็นคนไร้ความสามารถ ซื้อโทรทัศน์เครื่องหนึ่งจากนาย ข. ราคา 5,000 บาท โดยที่ นาย ข. ไม่รู้ว่านาย ก. เป็นคนไร้ความสามารถ  ดังนี้ สัญญาซื้อขายนั้นมีผลตามกฎหมายอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 บัญญัติว่า “การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นเป็นโมฆียะ”
จากหลักกฎหมายดังกล่าว จะเห็นว่า คนไร้ความสามารถนั้น กฎหมายห้ามทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้ามีการฝ่าฝืนไปทำนิติกรรม ไม่ว่าจะทำนิติกรรมในขณะที่มีอาการจริตวิกลหรือไม่ คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะ ได้รู้หรือไม่ว่าผู้กระทำนิติกรรมเป็นคนไร้ความสามารถ หรือจะได้ทำนิติกรรมโดยผู้อนุบาลยินยอมหรือไม่ก็ตาม นิติกรรมนั้นก็จะตกเป็นโมฆียะทั้งสิ้น
ตามปัญหา การที่นาย ก. ซึ่งเป็นคนไร้ความสามารถ ได้ทำสัญญาซื้อโทรทัศน์เครื่องหนึ่งจาก นาย ข. ดังนี้แม้ว่านาย ข. ผู้ขายจะไม่รู้ว่านาย ก. เป็นคนไร้ความสามารถก็ตาม สัญญาซื้อขายดังกล่าวก็มีผล เป็นโมฆียะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 29

สรุป สัญญาซื้อขายโทรทัศน์ระหว่างนาย ก. และนาย ข. เป็นโมฆียะ

 

ข้อ 2. นิติกรรมอำพรางมีลักษณะและผลตามกฎหมายอย่างไร อธิบาย ยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 บัญญัติว่า

“การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ…

ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่ง ทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของ กฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ”

ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง ดังกล่าว เป็นบทบัญญัติเรื่องนิติกรรมอำพราง ซึ่งในเรื่อง “นิติกรรมอำพราง” นั้น เป็นเรื่องที่ในระหว่างคู่กรณีได้มีการ ทำนิติกรรมขึ้นมา 2 ลักษณะ ได้แก่ นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวงอันหนึ่ง กับนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ อีกอันหนึ่ง

1. นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวง (นิติกรรมที่เปิดเผย) หมายถึง นิติกรรมที่คู่กรณี ได้ทำขึ้นมาโดยไม่มีเจตนาให้มีผลใช้บังคับกัน แต่ได้ทำขึ้นมาเพื่อลวงให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าคู่กรณีได้ตกลงทำนิติกรรม ลักษณะนี้กัน และเพื่อเป็นการอำพรางหรือปกปิดนิติกรรมที่แท้จริงนั่นเอง

2. นิติกรรมที่ถูกอำพราง หมายถึง นิติกรรมที่แท้จริงของคู่กรณีที่ได้ทำขึ้นมา และต้องการ ให้มีผลใช้บังคับกันได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ได้ปกปิดอาพรางไว้ไม่เปิดเผยให้บุคคลอื่นรู้

ตามกฎหมายได้บัญญัติว่า ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ มาใช้บังคับ หมายความว่า ให้คู่กรณีบังคับกันด้วยนิติกรรมที่ถูกอำพรางนั่นเอง ส่วนนิติกรรมที่เกิดจากการ แสดงเจตนาลวงจะมีผลเป็นโมฆะ

ตัวอย่าง ปู่ได้ยกรถยนต์คันหนึ่งให้แก่หลานที่ชื่อ ก. โดยเสน่หา แต่เกรงว่าหลานคนอื่นรู้ จะหาว่าปู่ลำเอียง จึงได้ทำสัญญาชื้อขายกับ ก. ไว้เพื่อลวงหลานคนอื่น ดังนี้นิติกรรมที่จะมีผลใช้บังคับกันระหว่าง ปู่กับหลานที่ชื่อ ก. คือนิติกรรมให้ ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพราง ส่วนนิติกรรมซื้อขายตกเป็นโมฆะเพราะเป็น นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวง

 

ข้อ 3. นายดำมีที่ดิน 1 แปลง ตกลงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินนั้นกับนายแดงในราคา 1,000,000 บาท โดยมิได้ทำเป็นหนังลือสัญญา แต่นายแดงได้ให้เงินมัดจำแก่นายดำไปเพียง 1,000 บาท ต่อมา นายดำกลับไม่ยอมไปโอนที่ดินให้นายแดง เช่นนี้ จงพิจารณาว่า สัญญาจะซื้อขายดังกล่าวมีผล สมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ และนายแดงจะฟ้องให้นายดำโอนที่ดินแปลงดังกล่าวแก่ตนได้หรือไม่

ธงคำตอบ

สัญญาชื้อขายที่ดินระหว่างนายดำและนายแดงเมื่อเป็นการทำในรูปของ “สัญญาจะซื้อขาย” แม้ว่าจะมิได้ทำเป็นหนังสือสัญญา กล่าวคือตกลงกันด้วยวาจาเท่านั้น สัญญาจะซื้อขายดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์ ตามกฎหมาย เพราะการทำสัญญาจะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษนั้น กฎหมายมิได้กำหนด แบบไว้แต่อย่างใด ดังนั้นคู่สัญญาจะทำสัญญาจะซื้อขายกันด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือสัญญากันไว้ก็ได้

และตามกฎหมายมีหลักว่า “สัญญาจะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ จะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ จะต้องมีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้คือ

1.         มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ

2.         มีการวางประจำหรือมัดจำไว้ หรือ

3.         มีการชำระหนี้บางส่วน” (ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง)

ตามปัญหา เมื่อสัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างนายดำและนายแดง ซึ่งมิได้ทำเป็นหนังสือสัญญา กันไว้นั้น นายแดงผู้ซื้อได้ให้เงินมัดจำแก่นายดำผู้ขายไว้แล้ว 1,000 บาท ดังนั้นถ้าต่อมานายดำไม่ยอมไปโอนที่ดิน ให้นายแดง นายแดงย่อมสามารถฟ้องบังคับให้นายดำโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ตนได้ เพราะสัญญาจะซื้อขาย ดังกล่าวมีหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ คือ มีการวางมัดจำกันไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง

สรุป สัญญาจะซื้อขายดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย และนายแดงสามารถฟ้องให้นายดำ โอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ตนได้

 

ข้อ 4. ป.พ.พ. มาตรา 949 “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1009 บุคคลผู้ใช้เงินในเวลาถึงกำหนด ย่อมเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิด เว้นแต่ตนจะได้ทำการฉ้อฉลหรือมีความประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรง อนึ่งบุคคลซึ่งกล่าวนี้จำต้องพิสูจน์ให้เห็นจริงว่า ได้มีการสลักหลังติดต่อกันเรียบร้อย ไม่ขาดสาย แต่ไม่จำต้องพิสูจน์ลายมือชื่อของเหล่าผู้สลักหลัง”

ท่านเข้าใจหลักกฎหมายว่าอย่างไร จงอธิบาย และยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 949 นั้น เป็นเรื่องของการใช้เงินตามตั๋วเงินเมื่อตั๋วเงินนั้นได้ถึงกำหนด เวลาใช้เงิน ซึ่งถ้าบุคคลที่มีหน้าที่ในการใช้เงินได้ใช้เงินไปถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ก็จะหลุดพ้น จากความรับผิดตามตั๋วเงิน คือ ไม่ต้องรับผิดในการใช้เงินตามตั๋วเงินนั้นอีกเลย

ตามบทบัญญัติของมาตรา 949 นั้น สามารถแยกออกได้ 2 กรณี คือ

1.         ถ้าเป็นกรณีที่ธนาคารเป็นผู้ใช้เงินตามตั๋ว เช่น ธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็ค เป็นต้น กฎหมายได้บัญญัติให้ใช้มาตรา 1009 บังคับ จะไม่ใช้มาตรา 949 บังคับ

2.         ถ้าเป็นกรณีที่บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ธนาคารเป็นผู้ใช้เงิน เช่น ผู้จ่ายเงินตามตัวแลกเงิน เป็นต้น ดังนี้กฎหมายให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 949 บังคับ

และตามบทบัญญัติของมาตรา 949 นี้ หมายความว่า บุคคลผู้ใช้เงินตามตัวเงินจะหลุดพ้น จากความรับผิดได้นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ ดังต่อไปนี้ คือ

1.         จะต้องได้ใช้เงินไปเมื่อตั๋วนั้นถึงกำหนดชำระเงินแล้ว

2.         จะต้องเป็นการใช้เงินไปโดยสุจริต กล่าวคือ มิได้ทำการฉ้อฉลหรือประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรง และ

3.         ได้พิสูจน์ให้เห็นจริงว่า ตั๋วนั้นได้มีการสลักหลังติดต่อกันเรียบร้อยไม่ขาดสาย แต่ ไม่จำต้องพิสูจน์ลายมือชื่อของบรรดาผู้สลักหลังแต่อย่างใด

ตัวอย่าง ดำออกตั๋วแลกเงินสั่งให้แดงจ่ายเงินให้แก่ขาวจำนวน 100,000 บาท ต่อมาได้มี การโอนตั๋วแลกเงินฉบับนี้โดยการสลักหลังและส่งมอบทุกครั้ง จนกระทั่งตั๋วฉบับนี้ได้มาอยู่ในความครอบครอง ของเหลืองซึ่งเป็นผู้ทรง ดังนั้นแม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าในการสลักหลังครั้งหนึ่งจะเป็นการสลักหลังปลอมก็ตาม เมื่อตั๋วถึงกำหนดใช้เงิน เหลืองได้นำตั๋วไปยื่นให้แดงจ่ายเงิน และแดงได้จ่ายเงินให้แก่เหลืองไปแล้วโดยถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์ 3 ประการดังกล่าวข้างต้น แดงก็ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในการใช้เงินตามตั๋วเงินไปตามป.พ.พ. มาตรา 949

Advertisement