การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2015 กฎหมายธุรกิจ 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน) ๒ ข้อ 1. จงอธิบายหลักเกณฑ์ของการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถมาโดยละเอียด

ธงคําตอบ

หลักเกณฑ์ของการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 32 วรรคหนึ่ง มีดังนี้คือ

1 บุคคลนั้นจะต้องมีเหตุบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้คือ

(1) กายพิการ

(2) จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(3) ประพฤติสุรุ่ยสุร่าย เสเพลเป็นอาจิณ

(4) ติดสุรายาเมา

(5) มีเหตุอื่นในทํานองเดียวกันกับ (1) – (4)

2 บุคคลนั้นไม่สามารถจะจัดทําการงานโดยตนเองได้ เพราะเหตุบกพร่องนั้น หรือจัดทํา การงานได้ แต่จะจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว

3 ได้มีบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 28 ได้แก่ คู่สมรส ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ปกครอง ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ หรือพนักงานอัยการ ร้องขอต่อศาล

4 ศาลได้มีคําสั่งแสดงว่าบุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ

 

ข้อ 2. นายจนทําสัญญากู้ยืมเงินนายรวยจํานวน 2,000,000 บาท หนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ นายจนไม่มีเงินชําระหนี้ นายจนมีที่ดิน 1 แปลง ซึ่งนายจนกลัวนายรวยจะมาบังคับชําระหนี้เอากับที่ดิน แปลงนี้ นายจนจึงสมคบกับนายโกงโอนที่ดินให้นายโกง เพื่อหลอกนายรวย

ดังนี้ การโอนที่ดินระหว่างนายจนและนายโกง เป็นการแสดงเจตนาอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติหลักเกี่ยวกับการแสดง เจตนาลวงไว้ว่า

“การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ บุคคลภายนอกผู้กระทําการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้”

การแสดงเจตนาลวงตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึงการที่คู่กรณีมิได้มีเจตนาที่จะทํานิติกรรม ให้มีผลบังคับกันตามกฎหมาย แต่ได้แสดงเจตนาหรือทํานิติกรรมขึ้นมาเพื่อหลอกลวงบุคคลอื่นเท่านั้น กฎหมาย จึงได้กําหนดให้นิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะใช้บังคับกันไม่ได้

ตามปัญหา การที่นายจนทําสัญญากู้ยืมเงินนายรวยจํานวน 2,000,000 บาท เมื่อหนี้เงินกู้ ถึงกําหนดชําระ นายจนไม่มีเงินชําระหนี้ และนายจนมีที่ดิน 1 แปลงซึ่งนายจนกลัวว่านายรวยจะมาบังคับชําระหนี้ เอากับที่ดินแปลงนี้ นายจนจึงสมคบกับนายโกงโอนที่ดินให้นายโกงเพื่อหลอกนายรวยนั้น จะเห็นได้ว่า การที่นายจน ได้สมคบกับนายโกงโอนที่ดินให้แก่กันเป็นเพียงการแสดงเจตนาลวงเท่านั้น เพราะคู่กรณีมิได้มีเจตนาที่จะทํานิติกรรม โอนที่ดินกันแต่อย่างใด แต่ได้แสดงเจตนาทํานิติกรรมขึ้นมาเพื่อหลอกลวงบุคคลอื่นเท่านั้น และตามกฎหมาย มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดให้การอนที่ดินซึ่งเป็นการแสดงเจตนาลวงดังกล่าวเป็นโมฆะ

สรุป

การโอนที่ดินระหว่างนายจุนและนายโกง เป็นการแสดงเจตนาลวงและมีผลเป็นโมฆะ

 

ข้อ 3. นายใหญ่ตกลงทําสัญญาซื้อที่ดินของนายเล็ก 1 แปลงจํานวน 100 ตารางวา ราคาตารางวาละ 10,000 บาท แต่เมื่อมีการรังวัดที่ดินตามโฉนดแล้วที่ดินดังกล่าวมีเนื้อที่ 110 ตารางวา ดังนี้ 11 นายใหญ่จะปฏิเสธไม่รับมอบที่ดินดังกล่าวได้หรือไม่ หรือถ้านายใหญ่ยอมรับมอบที่ดินทั้งหมด 110 ตารางวา นายใหญ่ต้องชําระราคาอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 466 ได้บัญญัติหลักไว้ว่า

“ในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้าได้มีการระบุจํานวนเนื้อที่ทั้งหมดไว้ และผู้ขายได้ส่งมอบ ทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อน้อยกว่าหรือมากไปกว่าที่ได้ตกลงทําสัญญาไว้ ผู้ซื้อย่อมมีสิทธิที่จะบอกปัดเสียหรือจะรับเอาไว้ และใช้ราคาตามส่วนก็ได้ ตามแต่จะเลือก

แต่ถ้าจํานวนส่วนที่ขาดตกบกพร่องหรือส่วนที่เกินนั้นมีจํานวนไม่มากกว่าร้อยละ 5 ของเนื้อที่ ทั้งหมดที่ได้ระบุไว้ ผู้ซื้อจะต้องรับเอาไว้และใช้ราคาตามส่วนจะบอกปัดไม่รับไม่ได้”

วินิจฉัย

ตามปัญหา การที่นายใหญ่ตกลงทําสัญญาซื้อที่ดินของนายเล็ก 1 แปลงจํานวน 100 ตารางวา ราคาตารางวาละ 10,000 บาท แต่เมื่อมีการรังวัดที่ดินตามโฉนดแล้วที่ดินดังกล่าวมีเนื้อที่ 110 ตารางวานั้น ถือว่า เป็นการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มีการระบุจํานวนเนื้อที่ทั้งหมดไว้ ดังนั้น เมื่อนายเล็กได้ส่งมอบที่ดิน ให้นายใหญ่มีจํานวนเนื้อที่มากไปกว่าที่ได้ตกลงทําสัญญาไว้ และจํานวนส่วนที่เกินคือ 10 ตารางวานั้น มีจํานวน มากกว่าร้อยละ 5 ของเนื้อที่ทั้งหมดที่ได้ระบุไว้ นายใหญ่ย่อมมีสิทธิตามมาตรา 466 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ 1

1 นายใหญ่สามารถปฏิเสธไม่รับมอบที่ดินดังกล่าวได้ หรือ

2 ถ้านายใหญ่ยอมรับมอบที่ดินทั้งหมด 110 ตารางวา นายใหญ่ก็ต้องชําระราคาค่าที่ดิน ตามส่วน เป็นเงินทั้งสิ้นจํานวน 1,100,000 บาท ตามแต่นายใหญ่จะเลือก

สรุป

นายใหญ่จะปฏิเสธไม่รับมอบที่ดินแปลงดังกล่าวได้ หรือถ้านายใหญ่ยอมรับมอบที่ดิน ทั้งหมด 110 ตารางวา นายใหญ่ก็ต้องชําระราคาให้แก่นายเล็กเป็นเงิน 1,100,000 บาท

 

ข้อ 4. เมื่อผู้เคยค้าออกเช็คสั่งให้ธนาคารใช้เงิน ธนาคารจําต้องใช้เงินตามคําสั่งเว้นกรณีใดบ้างที่ธนาคารสามารถใช้ดุลพินิจพิจารณาว่าไม่จําเป็นต้องใช้เงินตามเช็คนั้น จงระบุให้ครบถ้วน

ธงคําตอบ

หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 991 ได้บัญญัติหลักเกี่ยวกับการใช้เงินตามเช็ค ของธนาคารไว้ว่า “ธนาคารจําต้องใช้เงินตามเช็คซึ่งผู้เคยค้ากับธนาคารได้ออกเบิกเงินแก่ตน เว้นแต่ในกรณีอย่างใด อย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ธนาคารมีสิทธิปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คได้ คือ

(1) ไม่มีเงินในบัญชีของผู้เคยค้าคนนั้นเป็นเจ้าหนี้พอจะจ่ายตามเช็คนั้น หรือ

(2) เช็คนั้นได้ยื่นเพื่อให้ใช้เงินเมื่อพ้นเวลา 6 เดือนนับแต่วันออกเช็ค หรือ

(3) ได้มีคําบอกกล่าวว่าเช็คนั้นหายหรือถูกลักไป”

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา 991 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่า โดยหลักการแล้วเมื่อผู้เคยค้าหรือผู้สั่งจ่ายเช็ค ได้ออกเช็คสั่งให้ธนาคารใช้เงิน ธนาคารจําต้องใช้เงินตามคําสั่งนั้น แต่อย่างไรก็ดี ธนาคารสามารถใช้ดุลพินิจพิจารณาว่าไม่จําเป็นต้องใช้เงินตามเช็คนั้นได้ ถ้าเข้าข้อยกเว้นอย่างใด อย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ

1 ไม่มีเงินในบัญชีของผู้เคยค้าคนนั้น (ผู้สั่งจ่ายเช็ค) เป็นเจ้าหนี้พอที่จะจ่ายตามเช็คนั้น หรือ

2 เช็คนั้นได้นําไปยื่นเพื่อให้ธนาคารใช้เงินเมื่อพ้นกําหนด 6 เดือนนับแต่วันออกเซ็คนั้น หรือ

3 ได้มีคําบอกกล่าว (มีการแจ้งให้ธนาคารทราบ) ว่าเช็คนั้นหายหรือถูกลักไป

Advertisement