การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2550

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2015 กฎหมายธุรกิจ 1

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายชาญเป็นคนวิกลจริตที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ วันหนึ่งนายชาญได้ไปซื้อ โทรศัพท์มือถือจากนายพร โดยในขณะที่นายชาญซื้อโทรศัพท์มือถือนั้นนายชาญไม่ได้มีอาการวิกลจริต แต่อย่างใด แต่นายพรซึ่งเป็นเพื่อนพี่ชายนายชาญทราบดีว่านายชาญเป็นคนวิกลจริต ดังนี้ให้ท่าน วินิจฉัยว่า นิติกรรมการซื้อโทรศัพท์มือถือของนายชาญจะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร
ธงคำตอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 30 ได้บัญญัติหลักเกี่ยวกับการทำนิติกรรมของคน วิกลจริตไว้ว่า “คนวิกลจริตที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใด ๆ นิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ เว้นแต่จะเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อนิติกรรมนั้นได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้ว ว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต”
จากหลักกฎหมายดังกล่าว คนวิกลจริตที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้น ทำนิติกรรมใด ๆ นิติกรรมนั้นจะมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อ

1.         นิติกรรมนั้นได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และ

2.         คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้กระทำนิติกรรมนั้นเป็นคนวิกลจริต

วินิจฉัย

ตามปัญหา การที่นายชาญซึ่งเป็นคนวิกลจริตที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความ

สามารถ ได้ไปทำนิติกรรมโดยการซื้อโทรศัพท์มือถือจากนายพร โดยในขณะที่นายชาญซื้อโทรศัพท์มือถือจากนาย พรนั้น นายชาญไม่มีอาการวิกลจริตแต่อย่างใด ดังนั้นแม้นายพรจะทราบดีว่านายชาญเป็นคนวิกลจริต ก็ไม่ทำให้ นิติกรรมซื้อขายดังกล่าวเป็นโมฆียะ เพราะไม่เข้าองค์ประกอบตาม ป.พ.พ. ม”:ตรา 30 ดังนั้นนิติกรรมการซื้อ โทรศัพท์มือถือของนายชาญจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
สรุป นิติกรรมการซื้อโทรศัพท์มือถือของนายชาญมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

 

ข้อ 2. เหตุแห่งโมฆะกรรมมีอะไรบ้าง จงอธิบาย

ธงคำตอบ

เหตุแห่งโมฆะกรรม (เหตุที่ทำให้นิติกรรมมีผลเป็นโมฆะ) มีดังนี้คือ

1.         วัตถุประสงค์แห่งนิติกรรม เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือเป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

2.         นิติกรรมที่มิได้ทำให้ ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้

3.         นิติกรรมที่เกิดจากความบกพร่องของการแสดงเจตนา (การแสดงเจตนาโดยวิปริต) ได้แก่นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวง          และนิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาเพราะสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม

 

ข้อ 3. นายดำตกลงชื้อไข่เป็ดของนายแดง จำนวน 500 ฟอง เป็นเงิน 2,000 บาท โดยนายแดงจะนำ ไข่เป็ดนั้นมาส่งมอบให้แก่นายดำที่บ้านในวันรุ่งขึ้น ปรากฏว่าในเวลาที่นายแดงมาส่งมอบไข่ ที่ตกลงซื้อกันไว้นั้นกลับพบว่ามีทั้งไข่ไก่และไข่เป็ดระคนปนกันมา จำนวน 500 ฟอง นายดำ จึงปฏิเสธที่จะรับมอบไข่ดังกล่าวทั้งหมด รวมทั้งปฏิเสธที่จะชำระราคาค่าไข่เป็ดแก่นายแดง เช่นนี้ นักศึกษาจงวินิจฉัยว่านายดำมีสิทธิตามกฎหมายที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับมอบไข่ที่นายแดงนำมา ส่งมอบทั้งหมดและไม่ชำระราคาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 465 ได้บัญญัติหลักเกี่ยวกับหน้าที่และความ รับผิดของผู้ขายในกรณีที่มีการส่งมอบทรัพย์สินซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ได้สัญญาไว้ หรือ ระคนกับทรัพย์สินอย่างอื่นที่มีได้รวมอยู่ในข้อสัญญา ไว้ดังนี้คือ

(1)       ถ้าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินน้อยกว่าที่ได้สัญญาไว้ ผู้ซื้อจะบอกปัดไม่รับเอาทรัพย์สินนั้น ก็ได้ หรือจะรับเอาทรัพย์สินนั้นแล้วใช้ราคาตามส่วนก็ได้

(2)       ถ้าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินมากกว่าที่ได้สัญญาไว้ ผู้ซื้อจะรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้เฉพาะที่ ตกลงไว้ในสัญญาและนอกนั้นบอกปัดเสียก็ได้ หรือจะบอกปัดไม่รับเสียทั้งหมดก็ได้ หรือจะรับเอาไว้ทั้งหมดแล้ว ใช้ราคาตามส่วนก็ได้

(3)       ถ้าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินตามที่ได้สัญญาไว้ระคนกับทรัพย์สินอย่างอื่นที่มีได้รวมอยู่ ในข้อสัญญา ผู้ซื้อจะรับเอาไว้เฉพาะทรัพย์สินตามสัญญาและนอกนั้นบอกปัดเสียก็ได้ หรือจะบอกปัดไม่รับเสีย ทั้งหมดก็ได้

ตามอุทาหรณ์ การที่นายดำได้ตกลงซื้อไข่เป็ดจากนายแดง ซึ่งเป็นการตกลงซื้อขายสังหาริมทรัพย์ เมื่อนายแดงผู้ขายได้ส่งมอบไข่ไก่ระคนปนกันมากับไข่เป็ด ดังนี้ผู้ซื้อย่อมมีสิทธิตามหลักกฎหมาย ดังกล่าวข้างต้น คือมีสิทธิที่จะรับเอาไว้เฉพาะไข่เป็ดซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ตกลงกันไว้ในสัญญาและบอกปัดไม่รับมอบ ไข่ไก่ หรือจะปฏิเสธไม่ยอมรับมอบไข่ไก่และไข่เป็ดนั้นทั้งหมดตลอดจนไม่ชำระราคาค่าไข่นั้นก็ได้

สรุป นายดำมีสิทธิตามกฎหมายที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับมอบไข่ที่นายแดงนำมาส่งมอบทั้งหมด และไม่ชำระราคาได้ ตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 4. การเขียนตั๋วให้เป็นตั๋วแลกเงินมีหลักกฎหมายอย่างไรบ้าง จงอธิบายและยกตัวอย่าง

ธงคำตอบ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 909 และมาตรา 910 ได้บัญญัติหลักในการ เขียนตั๋วแลกเงินไว้ดังนี้อือ

ในการเขียนตั๋วแลกเงิน ไม่ว่าจะเป็นตั๋วแลกเงินชนิดระบุชื่อผู้รับเงินหรือตัวแลกเงินชนิดผู้ถือนั้น ตั๋วแลกเงินจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ผู้เขียนตั๋วแลกเงินจะต้องเขียนให้มีข้อความหรือรายการที่สำคัญ 5 ประการ ให้ครบถ้วนเสมอ ได้แก่ข้อความดังต่อไปนี้คือ

1.         คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วแลกเงิน

2.         คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้จ่ายเงินเป็นจำนวนที่แน่นอน

3.         ชื่อหรือยี่ห้อผู้จ่าย

4.         ชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ

5.         ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย

ถ้าหากผู้เขียนตั๋วแลกเงินได้เขียนโดยมีข้อความที่สำคัญดังกล่าวอันใดอันหนึ่งขาดตกบกพร่องไป เอกสารนั้นย่อมไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วแลกเงิน

ตัวอย่าง นายหนึ่งต้องการออกตั๋วแลกเงินเพื่อชำระหนี้แก่นายสาม 100,000 บาท นายหนึ่ง ก็จะต้องเขียนตั๋วแลกเงินให้มีข้อความที่สำคัญ 5 ประการดังกล่าวข้างต้น โดยนายหนึ่งอาจจะเขียนโดยระบุให้ นายสองจ่ายเงินให้แก่นายสาม (ซึ่งถือว่าเป็นตั๋วแลกเงินชนิดระบุชื่อ) หรือนายหนึ่งอาจจะเขียนโดยสั่งให้นายสอง ผู้จ่ายจ่ายเงินให้แก่ผู้ถือตั๋วแลกเงินก็ได้ (ซึ่งถือว่าเป็นตั๋วแลกเงินชนิดผู้ถือ)

Advertisement