การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2548

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2015 กฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจ1

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน

ข้อ 1. นายเพชรอายุ 17 ปี ได้เสียกับ น.ส. หญิงอายุ 20 ปี น.ส. หญิงตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตร 1 คน คือ ด.ญ. สวย นายเพชรรัก ด.ญ. สวยมาก นายเพชรต้องการจดทะเบียนรับรอง ด.ญ. สวยให้เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่นายเพชรไม่ต้องการให้บิดามารดาของตนทราบ ต่อมานายโชติคุณลุง ของนายเพชรได้ให้สร้อยทองเป็นของขวัญวันเกิดแก่นายเพชร นายเพชรได้นำสร้อยทองดังกล่าวไป ให้กับ น.ส. หญิง ดังนี้

ก) นายเพชรจะจดทะเบียนรับรอง ด.ญ. สวยว่าเป็นบุตรของตนโดยไม่ขอความยินยอมจากบิดามารดา ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ข) ถ้าบิดามารดาของนายเพชรทราบเรื่องที่นายเพชรนำสร้อยทองไปให้ น.ส. หญิง บิดามารดาของ นายเพชรจะบอกล้างนิติกรรมการให้สร้อยทองได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติเกี่ยวกับการทำนิติกรรมของผู้เยาว์ไว้ดังนี้คือ

1.         ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงโดยปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้น การนั้นเป็นโมฆียะ (ป.พ.พ. มาตรา 21)

2.         ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการต้องทำเองเฉพาะตัว (ป.พ.พ. มาตรา 23)
ก) ตามปัญหาการที่นายเพชรอายุ 17 ปี ซึ่งเป็นผู้เยาว์ต้องการจดทะเบียนรับ ด.ญ. สวย เป็น บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ถือได้ว่านิติกรรมการจดทะเบียนรับรองบุตรเป็นนิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 23 ซึ่งถือว่าเป็นข้อยกเว้นของ ป.พ.พ. มาตรา 21 ที่ผู้เยาว์สามารถทำได้โดยลำพังตนเองโดย ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม ดังนั้นนายเพชรจึงสามารถที่จะจดทะเบียนรับ ด.ญ. สวย เป็น บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายได้ โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากบิดามารดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม

ข) การที่นายเพชรผู้เยาว์ได้นำสร้อยทองไปให้ น.ส. หญิงนั้น นิติกรรมการให้ดังกล่าวไม่เข้าข้อยกเว้น ที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์ทำได้โดยลำพังตนเอง ดังนั้นถ้าผู้เยาว์จะทำจึงต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 21 เมื่อไม่ได้รับความยินยอมนิติกรรมการให้ดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆียะ และเมื่อบิดามารดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมทราบ ย่อมมีสิทธิบอกล้างนิติกรรมการให้สร้อยทองดังกล่าวได้

สรุป

ก) นายเพชรสามารถจดทะเบียนรับ ด.ญ. สวย เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายได้โดยไม่ต้อง ขอความยินยอมจากบิดามารดา

ข) บิดามารดาของนายเพชรสามารถบอกล้างนิติกรรมการให้สร้อยทองได้ เพราะนิติกรรม การให้ดังกล่าวเป็นโมฆียะ

 

ข้อ 2 ก. เป็นนักธุรกิจซึ่งกำลังประสบกับการขาดทุน มีเจ้าหนี้หลายรายติดตามทวงถามหนี้อยู่ ก. มีรถยนต์โบราณอยู่คันหนึ่งเกรงว่าเจ้าหนี้จะมายึดเอารถยนต์นั้นไป ก. จึงทำเป็นขายรถยนต์นั้นให้ ข. ไป โดย ก. และ ข. รู้กันดีว่าการซื้อขายนี้ไม่ได้เจตนาทำกันจริงจังแต่อย่างไร

ดังนี้สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่าง ก. และ ข. มีผลอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคแรก ได้บัญญัติหลักเกี่ยวกับการแสดง

เจตนาลวงไว้ว่า

“การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคล ภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้”

การแสดงเจตนาลวงตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึงการที่คู่กรณีมิได้มีเจตนาที่จะทำนิติกรรม ให้มีผลบังคับกันตามกฎหมาย แต่ได้แสดงเจตนาหรือทำนิติกรรมขึ้นมาเพี่อหลอกลวงบุคคลอื่นเท่านั้น กฎหมาย จึงได้กำหนดให้นิติกรรมดังกล่าว เป็นโมฆะใช้บังคับกันไม่ได้

ตามปัญหา การที่ ก. ได้ทำนิติกรรมขายรถยนต์โบราณให้ ข. โดย ก. และ ข. รู้กันดีว่าการซื้อขายนี้ไม่ได้เจตนาทำกันจริงจังแต่อย่างไร แต่ทำขึ้นมาเพื่อหลอกลวงเจ้าหนี้ของ ก. เท่านั้น ดังนั้นนิติกรรมใน รูปสัญญาซื้อขายระหว่าง ก. และ ข. จึงมีผลเป็นโมฆะ เพราะเป็นนิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวงของคู่ กรณี คือ ก. และ ข.

สรุป สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่าง ก. และ ข. มีผลเป็นโมฆะ เพราะเป็นนิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวง

 

ข้อ 3. เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549      นายสิรายุขอซื้อที่ดินจากนายปรเมศวร์ในราคาหนึ่งล้านบาทนายปรเมศวร์ยอมขายที่ดินให้แก่นายสิรายุในราคาหนึ่งล้านบาทตามที่นายสิรายุเสนอ โดยนายสิรายุ จ่ายเงินให้แก่นายปรเมศวร์หนึ่งล้านบาทในวันที่ตกลงซื้อขายกัน และนายสิรายุกับนายปรเมศวร์ ตกลงกันว่าจะไปทำการซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กันในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 แต่เมื่อถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 นายปรเมศวร์ไมjไปทำการซื้อขายเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

ดังนี้สัญญาซื้อขายระหว่างนายสิรายุกับนายปรเมศวร์เป็นสัญญาซื้อขายประเภทใด และ นายสิรายุจะสามารถฟ้องร้องบังคับให้นายปรเมศวร์ไปทำการซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

“สัญญาจะซื้อขาย” คือสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษที่คู่กรณี ยังมิได้มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันในขณะที่ทำสัญญาซื้อขาย แต่มีข้อตกลงกันว่าจะมีการ โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันก็ต่อเมื่อได้ไปกระทำตามแบบพิธีที่กฎหมายได้กำหนดไว้ในภายหน้า คือเมื่อ ได้ไปทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วนั้นเอง

ตามปัญหา สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายสิรายุกับนายปรเมศวร์ ที่ได้ตกลงทำสัญญาซื้อขาย กันในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 และมีข้อตกลงกันว่าจะไปทำการซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 นั้นเป็นสัญญาจะซื้อขาย เพราะเป็นสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ และคู่กรณีมีเจตนาที่จะไปทำสัญญาซื้อขายให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ไนภายหน้า

และตามกฎหมายมีหลักว่า “สัญญาจะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ จะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ จะต้องมีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้คือ

1.         มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ

2.         มีการวางประจำหรือมัดจำไว้ หรือ

3.         มีการชำระหนี้บางส่วน” (ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรค 2)

ข้อเท็จจริงตามปัญหา เมื่อในวันที่ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกันนั้น นายสิรายุได้จ่ายเงินให้แก่ นายปรเมศวร์แล้วหนึ่งล้านบาท จึงถือได้ว่าสัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างนายสิรายุกับนายปรเมศวร์นั้นมีหลักฐาน ที่สามารถใช้ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ถ้าฝายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญา คือมีการชำระหนี้บางส่วน ดังนั้น เมื่อครบกำหนด คือวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 นายปรเมศวร์ไม่ไปทำการซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ นายสิรายุย่อมสามารถฟ้องร้องบังคับให้นายปรเมศวร์ไปทำการซื้อขายและจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ได้

สรุป สัญญาซื้อขายระหว่างนายสิรายุกับนายปรเมศวร์เป็นสัญญาจะซื้อขาย และนายสิรายุ สามารถฟ้องร้องบังคับให้นายปรเมศวร์ไปทำการซื้อขายเป็นหนังสือและชุดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้

 

ข้อ 4. ให้นักศึกษาเลือกทำคำตอบเพียงข้อเดียว

ก) ที่ว่า “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติ มาตรา 1009 บุคคลผู้ใช้เงินในเวลาถึงกำหนดย่อมเป็นอัน หลุดพ้นจากความรับผิด เว้นแต่จะได้ทำการฉ้อฉลหรือมีความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง อนึ่งบุคคลซึ่งกล่าวนี้จำต้องพิสูจน์ให้เห็นจริงว่าได้มีการสสักหลังติดต่อกันเรียบร้อยไม่ขาดสาย แต่ไม่จำต้องพิสูจน์ลายมือชื่อของเหล่าผู้สลักหลัง”       ท่านเข้าใจว่าอย่างไร จงอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขป และยกตัวอย่างประกอบหรือ

ข) นายแดงเป็นผู้ทรงเช็คฉบับหนึ่งซึ่งธนาคารได้รับรองเช็คแล้ว มาปรึกษาท่านว่าถ้านำเช็คนี้ไปยื่น กับธนาคารเพื่อให้ใช้เงิน ธนาคารจะปฏิบัติการใช้เงินตามเช็คนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก) ตาม ป.พ.พ. มาตรา 949 นั้น เป็นเรื่องของการใช้เงินตามตั๋วเงินเมื่อตั๋วเงินนั้นได้ถึง กำหนดเวลาใช้เงิน ซึ่งถ้าบุคคลที่มีหน้าที่ในการใช้เงินได้ใช้เงินไปถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ก็จะหลุดพ้นจากความรับผิดชอบตามตัวเงิน คือ ไม่ต้องรับผิดชอบในการใช้เงินตามตั๋วเงินนั้นอีกเลย

ตามบทบัญญัติของมาตรา 949 นั้น สามารถแยกออกได้ 2 กรณี คือ

1.         ถ้าเป็นกรณีที่ธนาคารเป็นผู้ใช้เงินตามตั๋ว เช่น ธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็ค เป็นต้น กฎหมายได้บัญญัติให้ใช้มาตรา 1009 บังคับ จะไม่ใช้มาตรา 949 บังคับ

2.         ถ้าเป็นกรณีที่บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ธนาคารเป็นผู้ใช้เงิน เช่น ผู้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงิน เป็นต้น ดังนี้กฎหมายให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 949 บังคับ

และตามบทบัญญัติของมาตรา 949 นี้ หมายความว่า บุคคลผู้ใช้เงินตามตั๋วเงินจะหลุดพ้น จากความรับผิดชอบได้นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ ดังต่อไปนี้ คือ

1.         จะต้องได้ใช้เงินไปเมื่อตั๋วนั้นถึงกำหนดชำระเงินแล้ว

2.         จะต้องเป็นการใช้เงินไปโดยสุจริต กล่าวคือ มิได้ทำการฉ้อฉลหรือประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรง และ

3.         ได้พิสูจน์ให้เห็นจริงว่าตั๋วนั้นได้มีการสลักหลังติดต่อกันเรียบร้อยไม่ขาดสาย แต่ไม่จำเป็น ต้องพิสูจน์ลายมือชื่อของบรรดาผู้สลักหลังแต่อย่างใด

ตัวอย่าง ดำออกตั๋วแลกเงินสั่งให้แดงจ่ายเงินให้แก่ขาวจำนวน 100,000 บาท ต่อมาได้มีการโอนตั๋วแลกเงินฉบับนี้โดยการสลักหลังและส่งมอบทุกครั้ง จนกระทั่งตั๋วฉบับนี้ได้มาอยู่ในความครอบครองของ เหลืองซึ่งเป็นผู้ทรง ดังนั้นแม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าในการสลักหลังครั้งหนึ่งจะเป็นการสลักหลังปลอมก็ตาม เมื่อตั๋วถึงกำหนดใช้เงิน เหลืองได้นำตั๋วไปยื่นให้แดงจ่ายเงิน และแดงได้จ่ายเงินให้แก่เหลืองไปแล้วโดยถูกต้องตาม หลักเกณฑ์ 3 ประการดังกล่าวข้างต้น แดงก็ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดชอบในการใช้เงินตามตั๋วเงินไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 949

ข) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 993 วรรค 1 ได้บัญญัติหลักเกี่ยวกับการรับรองเช็คและผลของการรับรองเช็ค ไว้ว่า “ถ้าธนาคารเขียนข้อความลงลายมือชื่อบนเช็ค เช่นคำว่า “ใช้ได้” หรือ “ใช้เงินได้” หรือคำใด ๆ อันแสดงผลอย่างเดียวกัน ธนาคารต้องผูกพันในฐานเป็นลูกหนี้ชั้นต้นในอันจะต้องใช้เงิน แก่ผู้ทรงตามเช็คนั้น”

จากหลักกฎหมายดังกล่าวหมายความว่า ถ้าธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็คได้ลงลายมือชื่อ รับรองเช็คไว้แล้ว ธนาคารผู้รับรองเช็คจะต้องผูกพันในฐานเป็นลูกหนี้ชั้นต้นในอันที่จะต้องใช้เงินตามเช็คนั้นเสมอ เมื่อผู้ทรงเช็คได้นำเช็คนั้นมายื่นเพื่อให้ธนาคารใช้เงินตามเช็ค

ดังนั้นเมื่อนายแดงเป็นผู้ทรงเช็คฉบับหนึ่งซึ่งธนาคารได้รับรองเช็คไว้แล้ว นำเช็คนี้ไปยื่นให้ธนาคารใช้เงินตามเช็ด ธนาคารจะต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คนั้น จะปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คไม่ได้

Advertisement