การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2015 กฎหมายธุรกิจ 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายวงศ์เป็นบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ วันหนึ่งนายวงศ์ขายรถจักรยานของตนแก่นายคมซึ่งเป็นเพื่อนในราคา 1,000 บาท โดยในขณะนั้นนายวงศ์มีจิตปกติ ไม่ได้มีอาการวิกลจริต แต่นายคมทราบดีว่านายวงศ์เป็นคนวิกลจริต ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นิติกรรมการขายจักรยานของนายวงศ์แก่นายคมมีผลทางกฎหมายอย่างไร

ธงคําตอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 30 ได้บัญญัติหลักเกี่ยวกับการทํานิติกรรมของ คนวิกลจริตไว้ว่า “คนวิกลจริตที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทํานิติกรรมใด ๆ นิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อนิติกรรมนั้นได้กระทําในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่า ผู้กระทําเป็นคนวิกลจริต”

จากหลักกฎหมายดังกล่าว คนวิกลจริตที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้น ทํานิติกรรมใด ๆ นิติกรรมนั้นจะมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อ

1 นิติกรรมนั้นได้กระทําในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และ

2 คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้กระทํานิติกรรมนั้นเป็นคนวิกลจริต

ตามปัญหา การที่นายวงศ์ซึ่งเป็นบุคคลวิกลจริตแต่ศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ได้ทํานิติกรรมโดยการขายรถจักรยานของตนให้แก่นายคมซึ่งเป็นเพื่อนในราคา 1,000 บาทนั้น เมื่อข้อเท็จจริง ปรากฏว่า ในขณะที่นายวงศ์ได้ขายรถจักรยานให้แก่นายคมนั้น นายวงศ์มีจิตปกติไม่ได้มีอาการวิกลจริตแต่ อย่างใด ดังนั้น แม้นายคมจะทราบดีอยู่แล้วว่านายวงศ์เป็นคนวิกลจริต ก็ไม่ทําให้นิติกรรมการขายรถจักรยาน ของนายวงศ์แก่นายคมตกเป็นโมฆียะแต่อย่างใด กล่าวคือนิติกรรมดังกล่าวย่อมมีผลสมบูรณ์นั่นเอง

สรุป

นิติกรรมการขายรถจักรยานของนายวงศ์แก่นายคมมีผลสมบูรณ์

 

ข้อ 2. กลฉ้อฉลโดยการนิ่ง คืออะไร ให้ท่านอธิบายพร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบ

ธงคําตอบ

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 162 ได้บัญญัติลักษณะของกลฉ้อฉลโดยการนิ่งไว้ว่า

“ในนิติกรรมสองฝ่าย การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งจงใจนิ่งเสีย ไม่ไขข้อความจริงหรือคุณสมบัติอันใด อันหนึ่งที่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้นั้น ให้ถือว่าเป็นกลฉ้อฉล ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าถ้ามิได้นิ่งเสียเช่นนั้น นิติกรรมอันนั้น ก็คงจะมิได้ทําขึ้นเลย”

กลฉ้อฉลโดยการนิ่ง คือการที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งได้ใช้อุบายหลอกลวงให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจผิด เพื่อให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งนั้นแสดงเจตนาทํานิติกรรมด้วยเช่นเดียวกับกลฉ้อฉลโดยทั่ว ๆ ไป เพียงแต่กลฉ้อฉลโดย การนิ่งนั้น เกิดขึ้นโดยคู่กรณีฝ่ายหนึ่งจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งข้อความจริงที่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้เท่านั้น โดยไม่มี การแสดงข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา

กรณีที่จะถือว่าเป็นกลฉ้อฉลโดยการนิ่งและจะมีผลทําให้นิติกรรมที่เกิดขึ้นตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ดังนี้ คือ

1 จะเกิดขึ้นได้เฉพาะในนิติกรรมสองฝ่ายที่เรียกว่าสัญญา เท่านั้น

2 คู่กรณีฝ่ายหนึ่งจงใจนิ่งเสียไม่ไขข้อความจริงหรือข้อคุณสมบัติอันใดอันหนึ่งซึ่งคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้ คือคู่กรณีฝ่ายหนึ่งนั้นได้จงใจหรือตั้งใจที่จะปกปิดข้อความจริงหรือ ข้อคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไม่รู้ ทั้ง ๆ ที่ตนมีหน้าที่ที่จะต้องบอกความจริงนั้น

3 คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งพิสูจน์ได้ว่า ถ้ามิได้นิ่งเสียเช่นนั้น นิติกรรมนั้นก็คงจะมิได้ทําขึ้นเลย

ตัวอย่าง เช่น ในสัญญาประกันชีวิต ผู้เอาประกันชีวิตเคยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วย โรคมะเร็งในเม็ดโลหิตขาว ไม่มีทางรักษา และอาจตายได้ภายใน 7 วัน 6 เดือนหรืออย่างช้า 5 ปี ซึ่งผู้เอาประกัน ชีวิตมีหน้าที่ต้องเปิดเผยความจริงข้อนี้แก่ผู้รับประกันภัย แต่ได้ปกปิดความจริงไม่เปิดเผยให้ผู้รับประกันภัยได้ ทราบความจริงนั้น ดังนี้ ย่อมถือว่า ผู้เอาประกันชีวิตได้ใช้กลฉ้อฉลโดยการนิ่งแล้ว และมีผลทําให้สัญญาประกัน ชีวิตตกเป็นโมฆียะ

 

ข้อ 3. นายเมฆทําสัญญาซื้อขายเก้าอี้จากนายหมอกจํานวน 50 ตัว พอถึงวันส่งมอบ นายหมอกนําเก้าอี้มาส่งมอบให้นายเมฆจํานวน 50 ตัว พร้อมทั้งโต๊ะอีก 50 ตัว ดังนี้ ถ้านายเมฆไม่พอใจ จะปฏิเสธไม่รับมอบทั้งเก้าอี้และโต๊ะได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 465 ได้บัญญัติหลักเกี่ยวกับสิทธิของ ผู้ซื้อตามสัญญาซื้อขายในกรณีที่ผู้ขายได้มีการส่งมอบทรัพย์สินซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ได้ สัญญาไว้ หรือระคนกับทรัพย์สินอย่างอื่นที่มิได้รวมอยู่ในข้อสัญญา ไว้ดังนี้คือ

(1) ถ้าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินน้อยกว่าที่ได้สัญญาไว้ ผู้ซื้อจะบอกปัดไม่รับเอาทรัพย์สินนั้น ก็ได้ หรือจะรับเอาทรัพย์สินนั้นแล้วใช้ราคาตามส่วนก็ได้

(2) ถ้าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินมากกว่าที่ได้สัญญาไว้ ผู้ซื้อจะรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้เฉพาะ ที่ตกลงไว้ในสัญญาและนอกนั้นบอกปัดเสียก็ได้ หรือจะบอกปัดไม่รับเสียทั้งหมดก็ได้ หรือจะรับเอาไว้ทั้งหมด แล้วใช้ราคาตามส่วนก็ได้

(3) ถ้าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินตามที่ได้สัญญาไว้ระคนกับทรัพย์สินอย่างอื่นที่มิได้รวมอยู่ใน ข้อสัญญา ผู้ซื้อจะรับเอาไว้เฉพาะทรัพย์สินตามสัญญาและนอกนั้นบอกปัดเสียก็ได้ หรือจะบอกปัดไม่รับเสีย ทั้งหมดก็ได้

ตามปัญหา การที่นายเมฆทําสัญญาซื้อขายเก้าอี้จากนายหมอกจํานวน 50 ตัว พอถึงวันส่งมอบ นายหมอกนําเก้าอี้มาส่งมอบให้นายเมฆจํานวน 50 ตัว พร้อมทั้งโต๊ะอีก 50 ตัวนั้น กรณีดังกล่าวถือได้ว่านายหมอก ผู้ขายมิได้ปฏิบัติตามสัญญา กล่าวคือได้ส่งมอบทรัพย์สินตามที่ได้สัญญาไว้ระคนปนกับทรัพย์สินอย่างอื่นที่มิได้ รวมอยู่ในข้อสัญญา ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 465 (3) นายเมฆผู้ซื้อย่อมมีสิทธิที่จะรับเอาไว้เฉพาะเก้าอี้จํานวน 50 ตัว ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญา และบอกปัดไม่รับมอบโต๊ะ 50 ตัวนั้น หรือจะปฏิเสธไม่ยอมรับมอบ เก้าอี้ทั้ง 50 ตัว และโต๊ะ 50 ตัวนั้นทั้งหมดก็ได้

ดังนั้น ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เมื่อนายเมฆไม่พอใจ นายเมฆย่อมสามารถปฏิเสธไม่รับมอบ ทั้งเก้าอี้และโต๊ะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 465 (3)

สรุป

ถ้านายเมฆไม่พอใจ นายเมฆสามารถปฏิเสธไม่รับมอบทั้งเก้าอี้และโต๊ะได้

 

ข้อ 4. (ก) ตั๋วแลกเงินสามารถโอนให้กันได้โดยวิธีใดบ้าง จงอธิบายพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบ

(ข) เมื่อผู้เคยค้าออกเช็คสั่งให้ธนาคารใช้เงิน ธนาคารจําต้องใช้เงินตราตามคําสั่ง เว้นกรณีใดบ้างที่ธนาคารไม่จําเป็นต้องใช้เงินตามเช็คนั้น

ธงคําตอบ

(ก) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงินได้บัญญัติถึงวิธีโอนตั๋วแลกเงินไว้ดังนี้ คือ

1 ตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อนั้นย่อมโอนให้กันได้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบ (มาตรา 917 วรรคหนึ่ง)

2 ตั๋วแลกเงินสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ย่อมโอนกันได้ด้วยการส่งมอบให้แก่กัน (มาตรา 918)

3 การสลักหลังต้องเขียนลงในตั๋วแลกเงินและลงลายมือชื่อผู้สลักหลัง โดยจะระบุชื่อของผู้รับสลักหลังด้วย หรือเพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้สลักหลังไว้ที่ด้านหลังของตั๋วแลกเงินซึ่งเรียกว่า การสลักหลังลอยก็ได้ (มาตรา 919)

จากหลักกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่าตั๋วแลกเงินนั้นสามารถโอนให้แก่ผู้อื่นได้โดยวิธีดังต่อไปนี้

1 ถ้าเป็นตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ (ผู้รับเงิน) การโอนย่อมสามารถทําได้โดยการ สลักหลังและส่งมอบ (มาตรา 917 วรรคหนึ่ง) หมายความว่าตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ (ผู้รับเงิน) นั้น ถ้าจะ มีการโอนต่อไปให้แก่บุคคลอื่น การโอนจะมีผลสมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมายก็ต่อเมื่อผู้โอนได้ทําการสลักหลังและ ส่งมอบตั๋วแลกเงินนั้นให้แก่ผู้รับโอน (จะโอนโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้)

“การสลักหลัง” คือ การที่ผู้สลักหลัง (ผู้โอน) ได้เขียนข้อความและลงลายมือชื่อของตนไว้ ในตั๋วแลกเงิน (หรือใบประจําต่อ) โดยอาจจะเป็นการ “สลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ)” หรืออาจจะเป็นการ “สลักหลังลอย” ก็ได้

(1) การสลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ) หมายถึง การสลักหลังที่ได้มีการระบุชื่อของผู้รับ สลักหลัง (ผู้รับประโยชน์หรือผู้รับโอน) ไว้ในตั๋วแลกเงินด้วย โดยอาจจะทําที่ด้านหน้าหรือด้านหลังตั๋วก็ได้

(2) การสลักหลังลอย หมายถึง การสลักหลังที่ไม่ได้มีการระบุชื่อของผู้รับสลักหลัง (ผู้รับประโยชน์หรือผู้รับโอน) ไว้ เพียงแต่ผู้สลักหลังได้ลงแต่ลายมือชื่อของตนไว้ที่ด้านหลังของตั๋วแลกเงินเท่านั้น (มาตรา 919 วรรคสอง)

ตัวอย่าง หนึ่งได้ออกตั๋วแลกเงินสั่งให้สองจ่ายเงินให้แก่สาม โดยระบุชื่อสามเป็นผู้รับเงิน ดังนี้ถ้าสามมีความประสงค์จะโอนตั๋วแลกเงินฉบับนี้ต่อไปให้ ก. สามจะต้องลงลายมือชื่อของสามสลักหลังไว้ด้วย โดยสามอาจจะระบุชื่อ ก. ผู้รับสลักหลังลงไว้ในตัวด้วยซึ่งเรียกว่า การสลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ) หรือสามอาจจะ ลงแต่ลายมือชื่อของสามไว้ที่ด้านหลังของตั๋วแลกเงินนั้น โดยไม่ระบุชื่อ ก. ผู้รับสลักหลังไว้ในตัวซึ่งเรียกว่าเป็น การสลักหลังลอยก็ได้

2 ถ้าเป็นตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ การโอนตั๋วชนิดนี้ย่อมสามารถทําได้โดยการ ส่งมอบตั๋วแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ต้องมีการสลักหลังใด ๆ ทั้งสิ้น (มาตรา 918)

ตัวอย่าง หนึ่งออกตั๋วแลกเงินสั่งให้สองจ่ายเงินแก่ผู้ถือ และส่งมอบตัวนั้นให้แก่สาม ดังนี้ ถ้าสามมีความประสงค์จะโอนตั๋วแลกเงินฉบับนี้ให้แก่ ก. สามสามารถโอนได้โดยการส่งมอบตัวให้แก่ ก. โดยที่สาม ไม่ต้องลงลายมือชื่อสลักหลังตั๋ว การโอนตั๋วดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์

(ข) เมื่อผู้เคยค้ากับธนาคารได้ออกเช็คสั่งให้ธนาคารใช้เงิน โดยหลักแล้วธนาคารจําต้องใช้เงิน ตามคําสั่ง เว้นแต่ในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ธนาคารมีสิทธิไม่ต้องใช้เงินตามเช็คนั้น (ป.พ.พ. มาตรา 991)

(1) ไม่มีเงินในบัญชีของผู้เคยค้าคนนั้น เป็นเจ้าหนี้พอที่จะจ่ายตามเช็คนั้น หรือ

(2) เช็คนั้นได้ยื่นเพื่อให้ใช้เงินเมื่อพ้นเวลา 6 เดือนนับแต่วันออกเช็ค หรือ

(3) ได้มีคําบอกกล่าวว่าเช็คนั้นหายหรือถูกลักไป

Advertisement