ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2007 กฎหมายอาญา 2
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายหนึ่งชวน น.ส. สองไปจดทะเบียนสมรสที่เขตบางกะปิ เมื่อจดทะเบียนสมรสเสร็จแล้ววันรุ่งขึ้นนายหนึ่งพา น.ส. สามไปจดทะเบียนสมรสที่เขตบึงกุ่ม ดังนี้ นายหนึ่งจะมีความผิดอาญาอย่างไรหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 137 ผู้ใดแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
ความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน ตามมาตรา 137 นี้ สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้
1 แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ
2 แก่เจ้าพนักงาน
3 ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย
4 โดยเจตนา
แจ้งข้อความ หมายถึง การกระทำด้วยประการใดๆให้เจ้าพนักงานได้ทราบข้อเท็จจริงนั้น อาจกระทำโดยวาจา โดยการเขียนเป็นหนังสือ หรือโดยการแสดงกิริยาท่าทางอย่างใดก็ได้
ข้อความอันเป็นเท็จ หมายถึง ข้อความที่นำไปแจ้งไม่ตรงกับความจริงหรือตรงข้ามกับความจริง เช่น นาย ก ไปจดทะเบียนสมรสกับนางสาว ข โดยแจ้งต่อนายอำเภอว่าไม่เคยมีภริยาหรือจดทะเบียนสมรสมาก่อน ทั้งๆที่นาย ก มีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว คือ นาง ค เช่นนี้เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในอดีตหรือปัจจุบัน ถ้าหากเป็นเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งเป็นเรื่องไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ จะว่าเป็นข้อความเท็จยังไม่ได้
การแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 137 นี้อาจเกิดขึ้นได้ 2 กรณีคือ
(ก) ผู้แจ้งไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานเอง
(ข) โดยตอบคำถามที่เจ้าพนักงานเรียกไปสอบสวนเป็นพยานก็ได้
อนึ่งการแจ้งข้อความอันเป็นจริงบางส่วนและเท็จบางส่วน ก็ถือว่าเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแล้ว เช่น ยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยกรอกข้อความอื่นเป็นความจริง แต่ในช่องสัญชาติของบิดากรอกว่า บิดาเป็นไทย ความจริงเป็นจีน ซึ่งเป็นเท็จไม่หมด ก็ถือว่าแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตามมาตรา 137 นี้แล้ว
การแจ้งข้อความเท็จที่จะถือว่าเป็นความผิดสำเร็จนั้น เจ้าพนักงานผู้รับแจ้งต้องได้ทราบข้อความนั้นด้วย แม้ว่าจะไม่เชื่อเพราะรู้ความจริงอยู่แล้วก็ตาม แต่ถ้าเจ้าพนักงานไม่ทราบข้อความนั้น เช่น เจ้าพนักงานไม่ได้ยิน หรือได้ยินแต่กำลังหลับในอยู่ไม่รู้เรื่อง หรือไม่เข้าใจภาษาต่างประเทศที่แจ้ง เช่นนี้ยังไม่เป็นความผิดสำเร็จ เป็นเพียงความผิดฐานพยายามแจ้งความเท็จเท่านั้น
“แก่เจ้าพนักงาน” เจ้าพนักงานผู้รับแจ้งข้อความตามมาตรานี้ ต้องมีอำนาจหน้าที่รับแจ้งข้อความและดำเนินการตามเรื่องราวที่แจ้งความนั้น และต้องกระทำการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายด้วย เช่น นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น ดังนั้นถ้าเจ้าพนักงานนั้นไม่มีหน้าที่ในการรับแจ้งข้อความหรือเรื่องที่แจ้งนั้นไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานที่จะดำเนินการได้ ก็ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ
“ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย” การแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ก็ต่อเมื่อการแจ้งนั้นอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ดังนั้นถ้าไม่อาจก่อให้เกิดความเสียหายใดๆย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ อนึ่งกฎหมายใช้คำว่า “อาจทำให้เสียหาย” จึงไม่จำเป็นต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริงๆเพียงแต่อาจเสียหายก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว
“โดยเจตนา” หมายความว่า ผู้กระทำจะต้องกระทำด้วยเจตนาตามมาตรา 59 กล่าวคือ ผู้แจ้งจะต้องรู้ว่าข้อความที่แจ้งนั้นเป็นเท็จ และต้องรู้ว่าบุคคลที่ตนแจ้งนั้นเป็นเจ้าพนักงานด้วย ถ้าผู้แจ้งไม่รู้ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
การจดทะเบียนสมรสครั้งที่สองที่นายหนึ่งจดทะเบียนสมรสกับ น.ส. สามนั้น เป็นการแจ้งความเท็จแก่นายทะเบียนฯ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน และการกระทำนี้อาจทำให้ น.ส. สาม และ น.ส. สอง เสียหายได้ อีกทั้งเป็นการกระทำโดยเจตนา (ตั้งใจ) การกระทำของนายหนึ่งเข้าองค์ประกอบความผิดตามหลักกฎหมายข้างต้นทุกประการ ดังนั้นนายหนึ่งจึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน ตามมาตรา 137
สรุป นายหนึ่งมีความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน ตามมาตรา 137