การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2007 กฎหมายอาญา 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. นายมีนแจ้งความต่อนายเมษเจ้าพนักงานสรรพสามิตประจําสนามบินสุวรรณภูมิว่า มีการลักทรัพย์ผู้โดยสารซึ่งเป็นความเท็จ ดังนี้ นายมีน มีความผิดต่อเจ้าพนักงานประการใด หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
อาญา มาตรา 173 “ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทําความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้มีการกระทําความผิด ต้องระวางโทษ…”
วินิจฉัย
ความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 173 มีองค์ประกอบความผิดดังนี้
1. รู้ว่ามิได้มีการกระทําความผิดเกิดขึ้น
2. แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญา 3. ว่าได้มีการกระทําความผิด
4. โดยเจตนา
ความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา 173 นี้ หมายความถึงการแจ้งต่อเจ้าพนักงาน ในกรณีที่ความผิดอาญาไม่ได้เกิดขึ้นเลย แต่แจ้งว่าความผิดนั้นได้เกิดขึ้น ถ้าเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับคดีอาญา ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้ว ต้องปรับตามบทมาตรา 172 มิใช่มาตรา 173
ซึ่งเจ้าพนักงานตามมาตรา 173 นี้ หมายความถึงเจ้าพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญาเท่านั้น ถ้าเป็นบุคคลอื่นใดนอกจากนี้แล้ว ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้
“พนักงานสอบสวน” หมายถึง เจ้าพนักงานตํารวจที่มียศตั้งแต่ร้อยตํารวจตรีขึ้นไป แล้ว มีตําแหน่งเป็นพนักงานสอบสวน ไม่ได้หมายความรวมถึงตํารวจชั้นประทวน ซึ่งไม่มีอํานาจสอบสวน
“เจ้าพนักงานผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญา” หมายถึง ตํารวจชั้นสัญญาบัตร หรือตํารวจชั้นประทวนก็ได้ ผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญา และให้หมายความรวมถึงเจ้าหน้าที่อื่น ๆ เช่น พัศดีเรือนจํา พนักงานตรวจคนเข้าเมือง พนักงานกรมสรรพสามิต กรมเจ้าท่า และเจ้าหน้าที่อื่นในเมือมีหน้าที่ในการรักษา ความสงบเรียบร้อย และมีหน้าที่ในการจับกุมปราบปรามการกระทําความผิดได้
และการแจ้งตามมาตรา 173 นี้ อาจจะเสียหายแก่ใครหรือไม่ ไม่ใช่สาระสําคัญเพราะไม่ใช่องค์ประกอบแห่งความผิด เมื่อแจ้งโดยรู้ว่ามิได้มีการกระทําผิดต่อเจ้าพนักงานว่าได้มีการกระทําผิดแล้ว ย่อมเป็น ความผิดสําเร็จทันที ทั้งนี้ผู้กระทําผิดจะต้องได้กระทําโดยมีเจตนาด้วย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมีนแจ้งความต่อนายเมษเจ้าพนักงานสรรพสามิตประจําสนามบินสุวรรณภูมิว่ามีการลักทรัพย์ผู้โดยสารซึ่งเป็นความเท็จนั้น ถือเป็นกรณีที่นายมีนรู้ว่ามิได้มีการกระทําความผิดเกิดขึ้น แต่ไปแจ้งความแก่เจ้าพนักงานผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้มีการกระทําความผิดเกิดขึ้น และเมื่อได้กระทําไปโดยมีเจตนา การกระทําของนายมีนจึงครบองค์ประกอบความผิดตามหลักกฎหมายดังกล่าว ข้างต้นทุกประการ ดังนั้น นายมีนจึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 173
สรุป นายมีนมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 173
ข้อ 2. หนึ่งมาดักฆ่าสองเห็นสองเดินมาที่กลางซอยในระยะยิงจึงชักปืนออกมาเพื่อจะยิง บังเอิญตํารวจสายตรวจขับรถผ่านมาพอดี หนึ่งตกใจทิ้งปืนวิ่งหนีมาที่บ้านของสาม สามถามหนึ่งว่าไปทําอะไรมา หนึ่งบอกว่าไปดักจะฆ่าคนแต่ดันเห็นตํารวจก่อนเลยไม่ได้ฆ่ามัน สามให้หนึ่งหลบตํารวจในบ้าน สี่ศัตรูของสองเห็นสองเดินออกมาถึงปากซอย สี่ใช้มีดแทงสองตายคาที่แล้วหนีมาบ้านของสามซึ่งเป็นเพื่อนกัน สี่พูดกับสามว่าเพิ่งแทงคนตายช่วยหน่อย สามให้สี่เข้ามาหลบในบ้านไม่ให้ตํารวจจับ ดังนี้ สามจะมีความผิดอาญาอย่างไร หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 189 “ผู้ใดช่วยผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทําความผิด หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทําความผิด อันมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อมิให้ต้องโทษ โดยให้พํานักแก่ผู้นั้น โดยซ่อนเร้นหรือโดยช่วยผู้นั้นด้วยประการใด เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ต้องระวางโทษ”
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานช่วยผู้กระทําความผิดเพื่อไม่ให้ต้องโทษตามมาตรา 189 ประกอบด้วย
1. ช่วยโดยให้พํานัก โดยซ่อนเร้น หรือโดยช่วยด้วยประการใด
2. ผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทําความผิด หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทําความผิด
3. ความผิดนั้นไม่ใช่ความผิดลหุโทษ
4. เพื่อไม่ให้ต้องโทษ และเพื่อไม่ให้ถูกจับกุม
5. โดยเจตนา
การกระทําความผิดตามมาตรานี้ คือ ช่วยผู้อื่น ซึ่งการช่วยนั้นจะต้องทําโดยให้ที่พํานักโดยซ่อนเร้น หรือโดยช่วยด้วยประการใด
คําว่า “ให้พํานัก” หมายถึง ให้ที่พักอาศัยจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ เช่น ให้อยู่ในบ้าน คําว่า “ซ่อนเร้น” หมายถึง ปกปิดมิให้เจ้าพนักงานทราบ เช่น พาไปหลบในหลุม
คําว่า “ช่วยด้วยประการใด” หมายถึง ช่วยเหลือผู้กระทําความผิดหรือผู้ต้องหาในทุก ๆ วิธี เช่น การช่วยดูต้นทาง การให้สัญญาณให้ผู้นั้นไม่ต้องถูกจับ เป็นต้น
ผู้ที่ได้รับการช่วยตามมาตรานี้ต้องเป็นผู้อื่น ไม่ใช่ช่วยตนเอง และผู้อื่นนี้จะต้องเป็นผู้กระทําความผิด หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทําความผิดในขณะที่ช่วยนั้นด้วย
คําว่า “ผู้กระทําความผิด” หมายถึง ผู้กระทําความผิดที่มีโทษทางอาญา โดยไม่จําเป็นที่จะต้องถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิด เพียงแต่มีมูลเหตุที่แสดงให้เห็นว่าผู้นั้นกระทําความผิดก็เพียงพอแล้ว
คําว่า “ผู้ต้องหาว่ากระทําความผิด” หมายถึง ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดทางอาญา แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล
ผู้ช่วยผู้กระทําความผิดจะมีความผิดตามมาตรา 189 นี้ ต้องเป็นการช่วยผู้กระทําความผิดหรือ ผู้ต้องหาว่ากระทําความผิดที่มิใช่ความผิดลหุโทษ (ความผิดที่มีอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท)
การที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ ผู้ช่วยเหลือจะต้องมีมูลเหตุชักจูงใจหรือเจตนาพิเศษ เพื่อที่จะให้ผู้ที่ตนช่วยนั้นไม่ให้ต้องโทษและเพื่อไม่ให้ถูกจับกุมด้วย กล่าวคือ จะต้องมีเจตนาพิเศษทั้งสองอย่าง
ผู้ช่วยเหลือจะต้องกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 คือ มีเจตนาในการช่วยเหลือ รวมทั้ง รู้ข้อเท็จจริงด้วยว่าผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือนั้นเป็นผู้กระทําความผิดหรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทําความผิด
กรณีตามอุทาหรณ์ สามจะมีความผิดอาญาอย่างไร หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้
กรณีของหนึ่ง การที่หนึ่งมาดักฆ่าสองเห็นสองเดินมาในระยะยิงจึงชักปืนออกมาเพื่อจะยิง บังเอิญตํารวจสายตรวจขับรถผ่านมาพอดี หนึ่งตกใจทิ้งปืนวิ่งหนีมาที่บ้านของสามนั้น การกระทําของหนึ่งที่ชักปืนออกมาเพื่อจะยิง แต่ยังไม่ได้เล็งปืนไปที่สองถือว่าหนึ่งยังไม่ได้ลงมือกระทําความผิดแต่อย่างใด หนึ่งจึงยังมิใช่ ผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทําความผิดตามนัยมาตรา 189 ดังนั้น การที่สามให้หนึ่งหลบตํารวจในบ้าน การกระทําของสาม จึงไม่ต้องด้วยองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 189 สามจึงไม่มีความผิดอาญาฐานช่วยผู้กระทําความผิด เพื่อไม่ให้ต้องโทษตามมาตรา 189
กรณีของสี่ การที่สี่ใช้มีดแทงสองตายแล้วหนีมาที่บ้านของสาม และสามก็รู้ว่าสี่เพิ่งกระทําความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนาอันมิใช่ความผิดลหุโทษ แต่สามก็ให้สี่เข้ามาหลบในบ้านเพื่อไม่ให้ตํารวจจับนั้น การกระทําของสามกรณีนี้ถือว่าครบองค์ประกอบของความผิดฐานช่วยผู้กระทําความผิดเพื่อไม่ให้ต้องโทษ ตามมาตรา 189 แล้ว กล่าวคือ เป็นการให้พํานักแก่ผู้กระทําความผิดเพื่อไม่ให้ต้องโทษและเพื่อไม่ให้ถูกจับกุม และเมื่อได้กระทําโดยเจตนา ดังนั้น กรณีนี้สามจึงมีความผิดอาญาฐานช่วยผู้กระทําความผิดเพื่อไม่ให้ต้องโทษ ตามมาตรา 189
สรุป
การที่สามให้สี่เข้ามาหลบในบ้านไม่ให้ตํารวจจับ สามมีความผิดอาญาฐานช่วยผู้กระทํา ความผิดเพื่อไม่ให้ต้องโทษตามมาตรา 189 แต่การที่สามให้หนึ่งหลบตํารวจในบ้าน สามไม่มีความผิดอาญาตาม มาตราดังกล่าวแต่อย่างใด
ข้อ 3. ชาย 15 คน ชุมนุมกันที่ศาลากลางจังหวัดกล่าวโจมตีและขับไล่ผู้ว่าราชการจังหวัด จากนั้นได้เผาศาลากลางและขู่ว่าถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ย้ายออกจากพื้นที่จะฆ่าให้ตาย ต่อมาความทราบถึงตํารวจ ตํารวจได้ไปยังสถานที่เกิดเหตุและสั่งให้สลายตัว ปรากฏว่าชาย 15 คนไม่ยอมสลายตัว ดังนี้ ชาย 15 คน มีความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชนหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 215 วรรคแรก “ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย หรือกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษ..”
มาตรา 216 “เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทําความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไป ผู้ใด ไม่เลิก ต้องระวางโทษ”
วินิจฉัย
ความผิดฐานมั่วสุมกันทําให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามมาตรา 215 วรรคแรก มีองค์ประกอบความผิดดังนี้ คือ
1. มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป
2. ใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย หรือกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
3. โดยเจตนา
ส่วนความผิดตามมาตรา 216 มีองค์ประกอบความผิดดังนี้ คือ
1. เมื่อเจ้าพนักงานส่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทําความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไป
2. ผู้ใดไม่เลิก
3. โดยเจตนา
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ชาย 15 คนได้ชุมนุมกันที่ศาลากลางจังหวัดและได้เผาศาลากลาง อีกทั้ง ได้ขู่ว่าจะฆ่าผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น การกระทําของชาย 15 คนดังกล่าว ถือว่าเป็นการมั่วสุมกันของคนตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป และเป็นการขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายหรือกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และได้กระทําไปโดยเจตนา การกระทําของชาย 15 คนนั้น จึงครบองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 215 วรรคแรก ทุกประการ ชาย 15 คนจึงมีความผิดฐานมั่วสุมกันทําให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
การกระทําของชาย 15 คนไม่มีความผิดตามมาตรา 216 เพราะกรณีที่จะเป็นความผิดตาม มาตรา 216 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานได้มีคําสั่งก่อนที่ผู้มั่วสุมจะได้ลงมือใช้กําลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญ ว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย หรือก่อนที่ผู้มั่วสุมจะกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามมาตรา 215 แต่ผู้มั่วสุมไม่ยอมเลิก
สรุป
ชาย 15 คนมีความผิดฐานมั่วสุมกันทําให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามมาตรา 215 แต่ไม่มีความผิดตามมาตรา 216
ข้อ 4. นายแดงไม่เคยกู้เงินนาย ก. วันเกิดเหตุ นาย ก. นํากระดาษมาแผ่นหนึ่ง เขียนข้อความว่า “นายแดงกู้เงิน นาย ก. จํานวน 100,000 บาท กําหนดชําระภายใน 1 ปี” ต่อมานาย ก. ทําเอกสารฉบับนั้นหายไป จําเลยเป็นคนเก็บได้ จําเลยแก้ไขข้อความจากคําว่า “นาย ก.” เป็นคําว่า “จําเลย” ข้อความ จึงกลายเป็นว่า “นายแดง กู้เงิน จําเลย 100,000 บาท” ดังนี้ จําเลยมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 264 วรรคแรก “ผู้ใดทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือ ตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอม ในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่า เป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษ…”
มาตรา 265 “ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษ”
มาตรา 268 “ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทําความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่ บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคแรก ประกอบด้วย
1. กระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) ทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด
(ข) เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือ
(ค) ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร
2. โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
3. ได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง
4. โดยเจตนา
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นาย ก. นํากระดาษมาเขียนสัญญากู้ขึ้นเอง โดยที่นายแดงไม่เคยกู้เงิน จากนาย ก. เลยนั้น ถือเป็นการกระทําโดยไม่มีอํานาจ เอกสารการกู้ยืมเงินดังกล่าวจึงเป็นเอกสารสิทธิปลอม
และการที่จําเลยเก็บเอกสารฉบับนั้นได้ และได้แก้ไขข้อความจากคําว่า “นาย ก.” เป็นคําว่า “จําเลย” นั้น ถึงแม้จําเลยจะไม่มีอํานาจที่จะกระทําก็ตาม แต่การแก้ไขของจําเลยดังกล่าวเป็นการแก้ไขข้อความ ในเอกสารที่มีการปลอมมาก่อน ซึ่งกรณีจะเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารได้นั้นจะต้องเป็นการแก้ไขข้อความในเอกสารที่แท้จริงเท่านั้น ดังนั้นการกระทําของจําเลยจึงขาดองค์ประกอบของความผิดฐานปลอมเอกสารตาม มาตรา 264 วรรคแรก จําเลยจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามมาตรา 264 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265
เมื่อจําเลยไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร ถึงแม้จําเลยจะนําเอกสารดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินจากนายแดง จําเลยก็ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้ใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268
สรุป
จําเลยไม่มีความผิดเกี่ยวกับเอกสาร