การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. ระบอบการปกครอง (Regime of Government) มีความหมายอย่างไร และหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยกับหลักการปกครองระบอบเผด็จการ มีหลักการสำคัญแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร อธิบายมาให้เข้าใจอย่างละเอียด
ธงคำตอบ
“ระบอบการปกครอง” หมายถึง สถาบันทางการเมืองซึ่งรัฐบาลของรัฐได้จัดตั้งขึ้นเพื่อใช้อำนาจในการปกครองประเทศ ซึ่งระบอบการปกครองในโลกจะแบ่งออกเป็น 3 แบบใหญ่ ๆ ได้แก่
- ระบอบเผด็จการ
- ระบอบประชาธิปไตย และ
- ระบอบสังคมนิยม
สำหรับหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยกับหลักการปกครองระบอบเผด็จการ จะมีหลักการที่สำคัญแตกต่างกันดังนี้ คือ
หลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย หมายความถึง ระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ การถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่ ถึงกระนั้น นิยามของคำนี้ก็มีวิวัฒนาการต่อเนื่องมาตลอด จากที่โดยเนื้อแท้มีความหมายเพียงแต่การปกครองตนเอง (Self Government) ได้คลี่คลายและมีความหมายในอาณาบริเวณที่กว้างขวางขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ จนถือเสมือนเป็นหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จักต้องครอบคลุมหลักการสำคัญดังต่อไปนี้ให้ครบถ้วน
- หลักอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน (Popular Sovereignty) หรืออำนาจสูงสุดในการปกครองอยู่ที่ประชาชน ดังนั้น ในฐานะที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประชาชนจึงมีสิทธิตั้งรัฐบาลได้ผ่านกระบวนการเลือกตั้งเป็นสำคัญ
- หลักสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ ของประชาชน (Bill of Rights) จะต้องได้รับการคุ้มครองรัฐจะต้องไม่ล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนถึงสิทธิเสรีภาพอันพึงมีของประชาชน
- หลักความสูงสุดของกฎหมาย ผู้มีอำนาจต้องถูกกฎหมายจำกัดอำนาจเอาไว้ เป้าหมาย วิธีการ และรากฐานในการดำเนินการใด ๆ ก็ตามของรัฐจะต้องชอบด้วยกฎหมาย (Government of Law, Not of Men) คือ “หลักนิติธรรม” (Rule of Law)
- หลักความเสมอภาค ซึ่งเน้นความเท่าเทียมกันของมนุษย์ทุกคน โดยให้ความคุ้มครองทางกฎหมายอย่างทัดเทียมกัน (Equal Protection under Law) โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ (Discrimination)
- หลักการเสียงข้างมาก (Majority Rule) ในการปกครอง ถึงแม้ว่าประชาธิปไตยจะเป็นการปกครองที่ยึดมั่นในเสียงข้างมาก แต่ก็จะต้องพร้อมรับฟังและให้ความเป็นธรรมแก่ฝ่ายเสียงข้างน้อยด้วยเช่นกัน
- หลักการแบ่งแยกอำนาจทางปกครอง คือ จะต้องมีการแบ่งอำนาจอธิปไตย (อำนาจทางปกครอง) ออกเป็น 3 อำนาจ ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจทั้ง 3 อำนาจไม่ให้อำนาจหนึ่งอำนาจใดใช้ได้อย่างอิสระเพื่อจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ การรักษาสิทธิเสรีภาพ และประโยชน์ของประชาชนจากการใช้อำนาจทางปกครองของรัฐ
- หลักการมีส่วนร่วมในการปกครอง หมายความว่า ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการเลือกบุคคลผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้ใช้อำนาจในทางปกครอง เช่น มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งผู้บริหารทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้ใช้อำนาจในทางปกครอง จะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่โดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งจากประชาชน
- หลักการใช้อำนาจทางปกครอง จะต้องเป็นการใช้อำนาจเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และในการปฏิบัติหน้าที่ (ในการใช้อำนาจปกครอง) ขององค์กรของรัฐไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐจะต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือนิติรัฐ
- หลักการตรวจสอบการใช้อำนาจทางปกครอง หมายความว่า การใช้อำนาจทางปกครองดังกล่าวจะต้องสามารถควบคุมและตรวจสอบให้อยู่ในความพอเหมาะพอดีได้
ส่วนหลักการปกครองระบอบเผด็จการ เป็นระบอบการปกครองที่ตรงข้ามกับระบอบประชาธิปไตย เพราะระบอบเผด็จการนั้นเป็นระบอบการปกครองที่ผู้ปกครองจะมีอำนาจสูงสุดในการปกครอง โดยไม่สนใจสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และการได้มาของการเป็นผู้นำในระบอบเผด็จการมักจะเกิดจากการปฏิวัติหรือรัฐประหาร
หลักการสำคัญของระบอบเผด็จการ จะมีลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
- อำนาจรัฐอยู่เหนือประชาชน ไม่ยินยอมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ แต่ต้องปฏิบัติตามที่รัฐหรือผู้นำกำหนด ไม่มีสิทธิคัดค้านหรือโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น
- เป็นการแก้ปัญหาโดยการใช้อำนาจ แก้ปัญหาโดยใช้ความรุนแรงเด็ดขาด ใช้อำนาจทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามหรือผู้ที่มีความคิดเห็นขัดแย้งต่อรัฐหรือต่อผู้นำ
- ปกครองประเทศโดยมุ่งเน้นประโยชน์ของภาครัฐมากกว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชน
- เน้นการเชื่อผู้นำพาชาติก้าวหน้า เพื่อสร้างศรัทธาและบารมีของผู้นำ
- มีการรวมอำนาจปกครองไว้ในที่แห่งเดียว ศูนย์กลางในการสั่งการคือตัวผู้นำซึ่งจะรวมทั้ง 3 สถาบัน คือ สถาบันบริหาร สถาบันนิติบัญญัติ และสถาบันตุลาการ อยู่ในการปกครองของตนเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว