การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญ

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. การปกครองในระบบรัฐสภามีสาระสำคัญอย่างไร และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 นั้น ถือได้ว่าประเทศไทยมีการปกครองในระบบรัฐสภาหรือไม่ เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

การปกครองในระบบรัฐสภา เป็นรูปแบบหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งองค์กรฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และมีความสัมพันธ์กันค่อนข้างใกล้ชิด และตามทัศนะของนักนิติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เช่น ศาสตราจารย์โมริส โฮริอู (Maurice Hauriou) การปกครองในระบบรัฐสภาจะมีสาระสำคัญ 3 ประการ คือ

  1. ประมุขของรัฐซึ่งไม่ต้องรับผิดทางการเมืองในระบบรัฐสภา ฝ่ายบริหาร ประกอบด้วย 2 องค์กร คือ ประมุขของรัฐและคณะรัฐมนตรี

ประมุขของรัฐอาจมีฐานะเป็นกษัตริย์ หรือประธานาธิบดี และทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร

  1. คณะรัฐมนตรีซึ่งต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา เนื่องจากคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในทางบริหารประเทศแทนประมุข เป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชางานประจำกระทรวงต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดต่อรัฐสภา กล่าวคือ สภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายตัวหรือทั้งคณะ และถ้ามีมติไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีต้องออกจากตำแหน่ง
  2. เพื่อให้อำนาจบริหาร และอำนาจนิติบัญญัติสมดุลกัน ระบบรัฐสภาได้ให้อำนาจคณะรัฐมนตรียุบสภานิติบัญญัติได้

สำหรับประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ไม่ถือว่าเป็นการปกครองในระบบรัฐสภา เนื่องจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภานั้นมาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) (มาตรา 6) อีกทั้งคณะรัฐมนตรีก็มาจากคณะปฏิวัติรัฐประหาร ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นอกจากนั้นไม่มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารอย่างแท้จริง เนื่องจากหัวหน้า คสช. ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยในขณะเดียวกันมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตามมาตรา 44 ที่ให้มีอำนาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทำการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งหรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้ และเป็นที่สุดอีกด้วย

 

ข้อ 2. จากข้อเท็จจริงของเหตุการณ์บ้านเมืองและการเมืองการปกครองของไทยในปัจจุบัน ให้นักศึกษาอธิบายอย่างละเอียดว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ อย่างไร พร้อมยกตัวอย่างประกอบให้ถูกต้องชัดเจน

ธงคำตอบ

โดยหลักแล้ว ประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น จะต้องยึดหลักการที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย 5 ประการ ดังนี้คือ

  1. หลักการแบ่งแยกอำนาจทางปกครอง คือจะต้องมีการแบ่งอำนาจอธิปไตย (อำนาจทางปกครอง) ออกเป็น 3 อำนาจ ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจทั้งสามอำนาจไม่ให้อำนาจหนึ่งอำนาจใดใช้ได้อย่างอิสระเพื่อจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ การรักษาสิทธิเสรีภาพ และประโยชน์ของประชาชนจากการใช้อำนาจทางปกครองของรัฐ
  2. หลักความเสมอภาคและเท่าเทียมของประชาชนภายในรัฐ คือการใช้อำนาจทางปกครองทั้ง 3 อำนาจนั้น จะต้องกระทำต่อบุคคลทุกคนโดยยึดหลักว่าบุคคลทุกคนมีความเท่าเทียมกันและมีความเสมอภาคกัน
  3. หลักการมีส่วนร่วมในการปกครอง หมายความว่า ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการเลือกบุคคลผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้ใช้อำนาจในทางปกครอง เช่น มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งผู้บริหารทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้ใช้อำนาจในทางปกครอง จะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่โดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งจากประชาชน
  4. หลักการใช้อำนาจทางปกครอง จะต้องเป็นการใช้อำนาจเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และในการปฏิบัติหน้าที่ (ในการใช้อำนาจปกครอง) ขององค์กรของรัฐไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐจะต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือนิติรัฐ
  5. หลักการตรวจสอบการใช้อำนาจทางปกครอง หมายความว่า การใช้อำนาจทางปกครองดังกล่าวจะต้องสามารถควบคุมและตรวจสอบให้อยู่ในความพอเหมาะพอดีได้

จากหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยทั้ง 5 ประการดังกล่าวข้างต้น เมื่อนำมาพิจารณากับข้อเท็จจริงของเหตุการณ์บ้านเมืองและการเมืองการปกครองของไทยในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากการที่ประเทศไทยมีการปกครองโดยขาดหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยหลายประการ เช่น แม้ประเทศไทยจะมีการแบ่งแยกอำนาจปกครองออกเป็น 3 อำนาจก็ตาม แต่ไม่มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารรวมทั้งฝ่ายตุลาการอย่างแท้จริง เพราะหัวหน้า คสช. ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นฝ่ายบริหารนั้นก็มีอำนาจสั่งการ ระงับ หรือยับยั้งการกระทำใด ๆ ของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการได้ (ตามมาตรา 44) และอีกประการหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการปกครองเลย เพราะปัจจุบันฝ่ายบริหารคือคณะรัฐมนตรีก็มาจากคณะรัฐประหารไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ของประชาชน รวมทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ทำหน้าที่ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา (รัฐสภา) ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. และนอกจากนั้นในการใช้อำนาจทางปกครองในปัจจุบันส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถที่จะควบคุมและตรวจสอบได้ หรืออาจจะควบคุมตรวจสอบได้บ้างแต่ก็ไม่สามารถที่จะกระทำได้อย่างเต็มที่

 

ข้อ 3. ขณะนี้ “คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” กำลังดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ให้ท่านอธิบายว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีจำนวนเท่าใด มีที่มาอย่างไร และจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเท่าใด

ธงคำตอบ

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราซอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ได้กำหนดจำนวนและที่มาของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไว่ในมาตรา 32 ดังนี้ คือ

  1. ให้มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวน 36 คน
  2. คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 36 คน ให้ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติแต่งตั้งจากบุคคลดังต่อไปนี้

(1)     ประธานกรรมาธิการตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเสนอ

(2)     ผู้ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอจำนวน 20 คน

(3)     ผู้ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติเสนอฝ่ายละ 5 คน

และตามมาตรา 34 ได้กำหนดให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นหรือข้อเสนอแนะจากสภาปฏิรูปแห่งชาติตามมาตรา 31 (2)

 

ข้อ 4. ตามที่ พ.ร.บ. ควบคุมยาง พ.ศ. 2542 ได้ให้อำนาจรัฐมนตรีฯ สามารถกำหนดเขตพื้นที่ให้บางจังหวัดหรือบางอำเภอสามารถปลูกยางและห้ามปลูกยางได้ นอกจากนี้ยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบในสวนยางและวิธีการทำยางได้ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในภาคใต้และภาคอีสาน จึงได้มาปรึกษาท่านโดยประสงค์ที่จะยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพราะเห็นว่า มาตรา 6 “เพื่อประโยชน์ในการผลิตยาง การค้ายาง…ให้รัฐมนตรี โดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนด

(3) เขตทำสวนยาง

(5)เขตห้ามปลูกต้นยาง

(6) วิธีการทำสวนยางในบางท้องที่”

และมาตรา 41 “ในการปฏิบัติหน้าที่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังนี้

(1) เข้าไปในสวนยางหรือแปลงเพาะพันธุ์ต้นยางในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกเพื่อตรวจสอบเนื้อที่สวนยาง จำนวนต้นยาง พันธุ์ต้นยางวิธีการทำสวนยาง…” กรณีจึงเป็นการละเมิดต่อสิทธิหรือเสรีภาพของเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า พ.ร.บ. ควบคุมยางฯมาตรา 6 (3) (5)(6) และมาตรา 41 (1) ได้ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของเกษตรกรฯ ตามรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ในกรณีใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

และท่านจะแนะนำให้เกษตรกรฯ ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

มาตรา 29 “การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้

กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ทั้งต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการ

ตรากฎหมายนั้นด้วย”

มาตรา 41 “สิทธิของบุคคลในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครอง ขอบเขตแห่งสิทธิและการจำกัดสิทธิเช่นว่านี้ย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”

มาตรา 43 “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพการคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดีภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน”

และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557มาตรา 4 “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”

วินิจฉัย

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ค. 2557 มาตรา 4 ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ค. 2550 มาตรา 29, 41 และมาตรา 43 นั้น สิทธิ และเสรีภาพของบุคคลย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็นและจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัย ได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การที่ พ.ร.บ. ควบคุมยางฯ ได้บัญญัติให้อำนาจรัฐมนตรีฯ สามารถกำหนดเขตพื้นที่ให้บางจังหวัดหรือบางอำเภอสามารถปลูกยางและห้ามปลูกยางได้ตามมาตรา 6 (3) (5) (6) นั้น ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพของบุคคล เพราะมิได้เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการปลูกยางแต่อย่างใด

ประเด็นที่ 2 การที่ พ.ร.บ. ควบคุมยางฯ มาตรา 41 (1) ได้บัญญัติให้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสวนยางหรือแปลงเพาะพันธุ์ต้นยางในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก เพื่อตรวจสอบเนื้อที่สวนยาง จำนวนต้นยาง พันธุ์ต้นยาง วิธีการทำสวนยาง…นั้น ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดต่อสิทธิในทรัพย์สินของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราแต่อย่างใด เพราะตามกฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงการให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบฯ เท่านั้น

ดังนั้น เมื่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวไม่เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราแต่อย่างใด ข้าพเจ้าก็จะแนะนำต่อเกษตรกรฯ ว่าไม่ต้องยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

สรุป

เมื่อกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพารามาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำดังที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

Advertisement