การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1102 (LAW 1002) หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 นายอัครเดชเดินทางไปท่องเที่ยวที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ในระหว่างที่นายอัครเดชกําลังเดินชมเมืองอยู่นั้น นายปอมเปได้เข้ามาขายพวงกุญแจที่ระลึกให้กับนายอัครเดชในราคา 3 ยูโร นายอัครเดช ตกลงซื้อพวงกุญแจอันหนึ่งแล้ว แต่ระหว่างนั้นไกด์ได้เรียกให้นายอัครเดชรีบขึ้นรถ นายอัครเดช จึงรีบเดินไปที่รถ นายปอมเปจึงตะโกนขึ้นบอกกับนายอัครเดชว่า “Pacta Sunt Servanda !!!” หลังจากนั้น นายอัครเดชได้มาปรึกษานักศึกษาว่า คําพูดที่นายปอมเปพูดมีความหมายว่าอย่างไร และมีความเกี่ยวข้องกับมาตราใดของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้นักศึกษาอธิบาย ความหมายและรายละเอียดของมาตราดังกล่าวมาโดยละเอียด

ธงคําตอบ

การที่นายปอมเปตะโกนขึ้นบอกกับนายอัครเดชว่า “Pacta Sunt Servanda” นั้น มีความหมายว่า “สัญญาต้องเป็นสัญญา” ซึ่งคําพูดนี้มีความเกี่ยวข้องกับมาตรา 4 วรรคสอง ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในส่วนของการเป็นหลักกฎหมายทั่วไป โดยมาตรา 4 วรรคสอง ได้บัญญัติว่า

“เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมาย เช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป”

กล่าวคือ เมื่อมีคดีหรือข้อพิพาทเกิดขึ้น แต่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติเกี่ยวกับเรื่อง ดังกล่าวไว้ (ซึ่งถือเป็นช่องว่างแห่งกฎหมาย) ให้ศาลวินิจฉัยตามลําดับ ดังนี้

1 ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น หมายความว่า ถ้าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์ อักษรที่จะนํามาตัดสินคดีที่มาสู่ศาล ก็ให้ศาลนําเอาจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาใช้แทนกฎหมายลายลักษณ์อักษร เพื่อวินิจฉัยตัดสินคดี ซึ่งจารีตประเพณีก็คือ ระเบียบแบบแผนที่มนุษย์ยอมรับนับถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานานจนบุคคลทั่วไปรู้สึกว่าเป็นข้อบังคับที่จะนํามาใช้ได้ และมีผลเช่นเดียวกับกฎหมายลายลักษณ์อักษร นั่นเอง เช่น จารีตประเพณีการค้าของธนาคารพาณิชย์ จารีตประเพณีเกี่ยวกับการขนส่ง เป็นต้น

2 ในกรณีที่ไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ให้วินิจฉัยคดีโดยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ ใกล้เคียงอย่างยิ่ง หมายความว่า เมื่อมีข้อเท็จจริงหรือคดีเกิดขึ้น แต่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร อีกทั้งไม่มี จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะนํามาใช้ในการวินิจฉัยคดีนั้นได้ ศาลก็ยังคงต้องวินิจฉัยตัดสินชี้ขาดคดีโดยการอาศัยบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ซึ่งกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งนี้หมายถึงบทบัญญัติที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในกฎหมายเดียวกัน ซึ่งก็คือบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั่นเอง มิใช่กฎหมายอย่างอื่นที่มีลักษณะต่างกัน การขุดหลุมรับน้ำโสโครก หลุมรับปุ๋ย หรือหลุมรับขยะมูลฝอย มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าจะขุดในระยะสองเมตร จากแนวเขตที่ดินไม่ได้ (มาตรา 1342) แต่หลุมที่รับกากสารเคมีไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าขุดได้หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริง ปรากฏว่าในเรื่องการขุดหลุมรับกากสารเคมี มีเหตุผลที่ควรจะห้ามมิให้ขุดในระยะที่ใกล้เคียงกับแนวเขตที่ดิน เพราะอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญแก่บุคคลที่อยู่ในที่ดินข้างเคียงได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงนําเอามาตรา 1342 มาใช้เทียบเคียงกับการขุดหลุมรับกากสารเคมีได้ เป็นต้น

3 ในกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ให้วินิจฉัยคดีตามหลักกฎหมายทั่วไป กรณีนี้เป็นวิธีการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายแพ่งประการสุดท้าย หมายความว่า ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร ไม่มีจารีตประเพณี และไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ศาลก็ต้องวินิจฉัยตัดสินคดีโดยให้นําเอาหลักกฎหมาย ทั่วไปมาใช้บังคับ ซึ่งหลักกฎหมายทั่วไปนี้อาจจะเป็นหลักกฎหมายดั้งเดิมของกฎหมายโรมัน หรือสุภาษิตของ กฎหมายหรืออาจจะเป็นหลักกฎหมายที่นานาอารยประเทศยอมรับและใช้ปฏิบัติกันทั่วไปก็ได้ เช่น สัญญาต้อง เป็นสัญญา ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อเกิดช่องว่างแห่งกฎหมายแพ่งขึ้น ศาลจะต้องใช้หลักในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมาย ตามขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น เพื่อวินิจฉัยคดีที่เกิดขึ้น จะยกฟ้องโดยอาศัยเหตุว่าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนํามาวินิจฉัยไม่ได้

 

ข้อ 2 ในวันที่ 8 ธันวาคม 2564 นายจอนนี่เดินทางไปรัฐเคนทักกี้ สหรัฐอเมริกา เพื่อเอาของขวัญ ปีใหม่ไปมอบให้นายหลุยส์เพื่อนสนิทที่ได้ย้ายไปอยู่ต่างประเทศ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2564 ระหว่างที่นายจอนนี่และนายหลุยส์ขับรถชมวิวอยู่ในรัฐนั้นได้เกิดพายุทอร์นาโดหลายลูก ความเร็ว 200 ไมล์ต่อชั่วโมง แล่นผ่านบริเวณที่นายจอนนี่และนายหลุยส์ขับรถชมวิวอยู่ พายุนี้ ส่งผลให้รถที่นายจอนนี่และนายหลุยส์ขับอยู่ตลอดจนสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ พังพินาศ หลังพายุสงบเจ้าหน้าที่จึงเริ่มออกค้นหาผู้บาดเจ็บและผู้รอดชีวิตในใต้ซากปรักหักพักที่กองทับกันขนาดใหญ่

ส่วนนายจอนนี่และนายหลุยส์ได้หายไปไม่มีใครพบศพของคนทั้งสอง ต่อมาในวันที่ 2 มกราคม 2565 นายนิกกี้พบนายหลุยส์ที่ประเทศแคนนาดากําลังฉลองอยู่ในงานเลี้ยงปีใหม่ แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีใครพบหรือได้ข่าวนายหลุยส์ส์อีกเลย

ให้วินิจฉัยว่า การหายไปของนายจอนนี่และนายหลุยส์นั้นเป็นการสาบสูญหรือไม่ เมื่อใดที่นางแอนนี่ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจอนนี่ และนางบีน่าภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายหลุยส์ จะสามารถไปใช้สิทธิทางศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งให้สามีเป็นคนสาบสูญได้ เพราะเหตุใด

จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 61 “ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลําเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือสองปี

(1) นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

(2) นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทําลาย หรือสูญหายไป

(3) นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้น ตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 61 กรณีที่บุคคลจะไปใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคําร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญนั้น ต้องปรากฏว่าบุคคลนั้นได้หายไปโดยไม่มีผู้ใดทราบว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และได้หายไปจนครบกําหนด 5 ปีหรือ 2 ปี แล้วแต่กรณี และผู้ที่มีสิทธิไปร้องขอต่อศาลได้นั้นต้องเป็น ผู้มีส่วนได้เสียด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีของนายจอนนี่

ระหว่างที่นายจอนนี่และนายหลุยส์ได้ขับรถชมวิวอยู่นั้น ได้เกิดพายุทอร์นาโดหลายลูก ความเร็ว 200 ไมล์ต่อชั่วโมงแล่นผ่านบริเวณที่นายจอนนี่และนายหลุยส์ขับรถชมวิวอยู่ ส่งผลให้รถที่นายจอนนี่และนายหลุยส์ขับอยู่ ตลอดจนสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ พังพินาศ หลังพายุสงบนายจอนนี่และนายหลุยส์หายไปไม่มีใครพบศพของคน ทั้งสองนั้น กรณีของนายจอนนี่ย่อมถือว่านายจอนนี่ได้สูญหายไปกรณีพิเศษตามมาตรา 61 วรรคสอง (2) โดย ถือว่าเริ่มหายไปนับตั้งแต่วันที่ยานพาหนะที่นายจอนนี่เดินทางได้สูญหายไปหรือถูกทําลาย คือวันที่ 11 ธันวาคม 2564 และจะครบกําหนด 2 ปี ในวันที่ 11 ธันวาคม 2566 ดังนั้น นางแอนนี่ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ นายจอนนี่ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ย่อมสามารถไปใช้สิทธิทางศาลโดยการยื่นคําร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้นายจอนนี่ เป็นคนสาบสูญได้ โดยสามารถเริ่มใช้สิทธิดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป

กรณีของนายหลุยส์

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในวันที่ 2 มกราคม 2555 นายนิกกี้ได้พบนายหลุยส์ที่ประเทศแคนนาดา กําลังฉลองอยู่ในงานเลี้ยงปีใหม่ แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีใครพบหรือได้ข่าวนายหลุยส์อีกเลย กรณีของนายหลุยส์จึง ถือว่าเป็นการหายไปในกรณีธรรมดาตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง และถือว่าจะครบกําหนด 5 ปี (โดยเริ่มนับตั้งแต่ วันที่ได้ข่าวหรือพบเห็นนายหลุยส์ครั้งสุดท้าย) ในวันที่ 2 มกราคม 2570 ดังนั้น นางบีน่าภรรยาโดยชอบ ด้วยกฎหมายของนายหลุยส์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย จึงสามารถไปใช้สิทธิทางศาลเพื่อร้องขอให้ศาลสั่งให้นายหลุยส์ เป็นคนสาบสูญได้ โดยสามารถเริ่มใช้สิทธิดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2570 เป็นต้นไป

สรุป

การหายไปของนายจอนนี่ถือเป็นการหายไปในกรณีพิเศษตามมาตรา 61 วรรคสอง (2) ซึ่งนางแอนนี่ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจอนนี่สามารถไปใช้สิทธิทางศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งให้สามี เป็นคนสาบสูญได้ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป

ส่วนการหายไปของนายหลุยส์ ถือเป็นการหายไปในกรณีธรรมดาตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง ซึ่งนางบีน่าภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายหลุยส์สามารถไปใช้สิทธิทางศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งให้สามี เป็นคนสาบสูญได้ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2570 เป็นต้นไป

 

ข้อ 3 บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ ทํานิติกรรมจะเกิดผลในทางกฎหมายอย่างไร

(1) หนึ่ง อายุย่างเข้าสิบห้าปี ได้รับอนุญาตจากนายสองผู้แทนโดยชอบธรรม ให้ทําพินัยกรรมขึ้นหนึ่งฉบับ กําหนดว่าเมื่อหนึ่งถึงแก่ความตายให้ยกเงินของหนึ่งซึ่งฝากไว้ในธนาคารให้แก่นางดําซึ่งเป็นยายของตนเป็นจํานวนหนึ่งล้านบาท

(2) นายสาม คนไร้ความสามารถ ได้รับอนุญาตจากนางสี่ผู้อนุบาล ให้ไปซื้ออาหารญี่ปุ่นร้านดัง ชุดละ 2,000 บาท จํานวน 1 ชุด

(3) นายห้า คนวิกลจริต ไปซื้อรถยนต์ใช้แล้วจากนายหกในขณะกําลังวิกลจริต แต่นายหกไม่ทราบว่านายห้ากําลังวิกลจริตกําลังคุ้มร้ายในราคาห้าแสนบาท

(4) นายเจ็ด คนเสมือนไร้ความสามารถ ให้นายแปดเพื่อนรักยืมนาฬิกาหรูมูลค่าสามสิบล้านบาท ไปเป็นเวลาหนึ่งเดือน โดยนายแดงผู้พิทักษ์ไม่ได้รู้เห็นด้วยแต่อย่างใด

การทําพินัยกรรมของหนึ่ง การไปซื้ออาหารญี่ปุ่นของนายสาม การไปซื้อรถยนต์ของนายห้า และการให้เพื่อนยืมนาฬิกาของนายเจ็ด มีผลในทางกฎหมายอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบายพร้อม ยกหลักกฎหมายประกอบคําอธิบายโดยครบถ้วน

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 25 “ผู้เยาว์อาจทําพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์”

มาตรา 29 “การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทําลง การนั้นเป็นโมฆียะ”

มาตรา 30 “การใด ๆ อันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทําลง การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทําในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทําเป็นคนวิกลจริต”

มาตรา 34 “คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะทําการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้

(3) กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า การใดกระทําลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรานี้ การนั้นเป็นโมฆียะ”

มาตรา 1703 “พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ทําขึ้นนั้นเป็นโมฆะ”

วินิจฉัย

(1) ตามมาตรา 25 นั้น กฎหมายได้บัญญัติให้ผู้เยาว์อาจทําพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุครบ 15 ปี บริบูรณ์ หากผู้เยาว์ทําพินัยกรรมโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว พินัยกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆะ เสมือนว่ามิได้มีการ ทําพินัยกรรมนั้นเลยตามมาตรา 1703

กรณีตามปัญหา การที่หนึ่ง อายุย่าง 15 ปี ได้ทําพินัยกรรมขึ้นหนึ่งฉบับ กําหนดว่าเมื่อหนึ่ง ถึงแก่ความตายให้ยกเงินของหนึ่งซึ่งฝากไว้ในธนาคารให้แก่นางดําซึ่งเป็นยายของตนเป็นจํานวน 1 ล้านบาทนั้น แม้หนึ่งจะได้ทําพินัยกรรมโดยได้รับอนุญาตจากนายสองผู้แทนโดยชอบธรรมก็ตาม แต่เมื่อหนึ่งผู้เยาว์ได้ทําพินัยกรรมในขณะที่มีอายุไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์ ถือเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 25 ดังนั้น พินัยกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1703

(2) ตามมาตรา 29 กฎหมายได้บัญญัติห้ามมิให้คนไร้ความสามารถทํานิติกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าคนไร้ความสามารถฝ่าฝืนไปทํานิติกรรม ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลหรือไม่ก็ตาม นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆียะ (นิติกรรมที่เกี่ยวกับคนไร้ความสามารถต้องให้ผู้อนุบาลทําแทน)

กรณีตามปัญหา การที่นายสามคนไร้ความสามารถได้ทํานิติกรรมโดยไปซื้ออาหารญี่ปุ่น ร้านดัง ชุดละ 2,000 บาท จํานวน 1 ชุด แม้การทํานิติกรรมดังกล่าวของนายสามจะได้รับความยินยอมจากนางสี่ ผู้อนุบาลก็ตาม นิติกรรมดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 29

(3) โดยหลักของมาตรา 30 คนวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทํานิติกรรมใด ๆ นิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะตกเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อได้ทํานิติกรรมนั้นในขณะจริตวิกล และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ได้รู้อยู่แล้วว่าผู้ทํานิติกรรมเป็นคนวิกลจริต

กรณีตามปัญหา การที่นายห้าคนวิกลจริตได้ไปซื้อรถยนต์ใช้แล้วจากนายหกในขณะที่กําลังวิกลจริตอยู่ เมื่อนายหกไม่ทราบว่านายห้าเป็นคนวิกลจริต ดังนั้น นิติกรรมการซื้อรถยนต์ดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ไม่ตกเป็นโมฆียะแต่อย่างใด

(4) โดยทั่วไป คนเสมือนไร้ความสามารถทํานิติกรรมใด ๆ ได้โดยลําพังตนเอง และมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมที่สําคัญบางอย่างที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 เช่น การกู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์ อันมีค่า คนเสมือนไร้ความสามารถจะทําต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

กรณีตามปัญหา การที่นายเจ็ดคนเสมือนไร้ความสามารถให้นายแปดเพื่อนรักยืมนาฬิกาหรู มูลค่า 30 ล้านบาท ไปเป็นเวลา 1 เดือน โดยไม่ได้รับความยินยอมจากนายแดงผู้พิทักษ์นั้น เมื่อการให้ยืมนาฬิกา ดังกล่าวแม้จะมีมูลค่า 30 ล้านบาท ไม่ใช่เป็นการให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า (เพราะมิใช่สังหาริมทรัพย์ที่ เมื่อมีการจําหน่ายจ่ายโอนกันจะต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่) จึงเป็นนิติกรรมที่ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อนตามมาตรา 34 (3) ดังนั้น นิติกรรมการให้เพื่อนยืมนาฬิกาของนายเจ็ด คนเสมือนไร้ความสามารถดังกล่าว จึงมีผลสมบูรณ์

สรุป

(1) การทําพินัยกรรมของหนึ่งมีผลเป็นโมฆะ

(2) การไปซื้ออาหารญี่ปุ่นของนายสามเป็นโมฆียะ

(3) การไปซื้อรถยนต์ของนายห้ามีผลสมบูรณ์

(4) การให้เพื่อนยืมนาฬิกาของนายเจ็ดมีผลสมบูรณ์

Advertisement