การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1101 (LAW 1001) หลักกฎหมายมหาชน

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 กฎหมายมหาชนคืออะไร ความยุติธรรมคืออะไร กฎหมายมีความสัมพันธ์กับความยุติธรรม

อย่างไรบ้าง จงอธิบายโดยละเอียด

ธงคําตอบ

กฎหมายมหาชน ได้แก่ กฎหมายที่กําหนดถึงกฎเกณฑ์ทางกฎหมายทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับ “สถานะและอํานาจรัฐและผู้ปกครอง รวมทั้งเป็นกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่กําหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและผู้ปกครองกับพลเมืองผู้อยู่ใต้การปกครอง ในฐานะที่รัฐและผู้ปกครองมีเอกสิทธิทางปกครองเหนือพลเมืองซึ่งอยู่ในฐานะเป็นเอกชน”

สาขาของกฎหมายมหาชน ได้แก่ รัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง และกฎหมายการคลัง

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและผู้ปกครองกับพลเมืองตามกฎหมายมหาชนนั้น เป็นความสัมพันธ์ในลักษณะที่รัฐและผู้ปกครองมีเอกสิทธิ์ทางปกครองเหนือพลเมือง ซึ่งจะแตกต่างกับกฎหมายเอกชนที่ตั้งอยู่บน พื้นฐานแห่งความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันของคู่กรณี และตั้งอยู่บนหลักความศักดิ์สิทธิ์แห่งการแสดงเจตนาและเสรีภาพในการทําสัญญา

รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ เป็นกติกาการปกครองของรัฐ และเป็นกลไกการใช้อํานาจขององค์กรต่าง ๆ ทั้งองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ องค์กรฝ่ายบริหาร องค์กรฝ่ายตุลาการ และ องค์กรของรัฐที่เป็นองค์กรอิสระ

กติกาหรือกฎเกณฑ์ที่เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศมีทั้งดีและไม่ดี มีทั้งที่เป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการ และรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ซึ่งหากกติกาหรือกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการปกครองประเทศเป็นกติกาที่ไม่ดีคือเป็นกฎเกณฑ์ที่กําหนดขึ้นตามอําเภอใจของผู้มีอํานาจจัดให้มีรัฐธรรมนูญ ก็ควรจะต้องมีการแก้ไขกติกาหรือกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายนั้น

ความสัมพันธ์ของกฎหมายมหาชนกับหลักความยุติธรรม

ความยุติธรรมคืออะไร เป็นสิ่งที่นักกฎหมายต้องพิจารณาและให้ความสําคัญอย่างมาก เพราะกฎหมายนั้นตราออกมาใช้บังคับเพื่อความเป็นธรรมในสังคม ความยุติธรรมนี้จะเอาอะไรมาเป็นปทัสถาน ของความยุติธรรมว่าพอดี หรือเพียงพอแล้ว เพราะเวลาพูดถึงความยุติธรรมถ้าใช้สามัญสํานึกของตัวเองเป็นหลัก บางเรื่องก็อาจจะเห็นว่าไม่เป็นธรรม แต่ถ้าเอาสังคมส่วนรวมเป็นที่ตั้งก็อาจเป็นธรรม เช่น กรณีออกกฎหมาย เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ หากใช้บังคับแก่คนทั่วไปโดยไม่เลือกใช้เฉพาะกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งแล้ว เช่นนี้ก็ย่อมถือว่ากฎหมายนั้นมีความยุติธรรมแล้ว

โดยทั่วไป ความยุติธรรมเป็นสิ่งบางอย่างที่ “รู้สึก” ได้ หรือรับรู้ได้โดย “สัญชาตญาณ” แต่ก็ ยากที่จะอธิบาย หรือให้นิยามความหมายของสิ่งที่รู้สึกได้ดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม

ความหมายของคําว่า “ความยุติธรรม” มีความหลากหลาย รายละเอียดต่าง ๆ อาจศึกษา หาอ่านได้โดยตรงในวิชานิติปรัชญา ในที่นี้จะยกคําจํากัดความของนักกฎหมายหรือนักปราชญ์เพียงบางท่าน เช่น

เดวิด ฮูม (David Hume) อธิบายไว้ว่า ความยุติธรรมเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งที่มิได้ปรากฏขึ้นเองโดยธรรมชาติ แต่เป็นคุณธรรมที่เกิดจากการคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ (Artificial Virtue)

เพลโต (Plato : 427 – 347 B.C.) ปรัชญาเมธีชาวกรีกในงานเขียนเรื่อง “อุดมรัฐ” (The Republic) ได้ให้คํานิยามความยุติธรรมว่า หมายถึง การทํากรรมดี (Doing welt is Justice) หรือการทําในสิ่งที่ ถูกต้อง (Right Conduct)

อริสโตเติล (Aristotle) มองว่าความยุติธรรม คือ คุณธรรมทางสังคม (Social Virtue) ประการหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และคุณธรรมเรื่องความยุติธรรมนี้จะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเมื่อมนุษย์ได้ปลดปล่อยตัวเขาเองจากแรงผลักดันของความเห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง อริสโตเติล แบ่งความยุติธรรมออกเป็น 2 ประเภท คือ

1 ความยุติธรรมโดยธรรมชาติ (Natural Justice) หมายถึง หลักความยุติธรรม ซึ่งมีลักษณะ เป็นสากล ไม่เปลี่ยนแปลง ใช้ได้ต่อมนุษย์ทุกคน ไม่มีขอบเขตจํากัด และอาจค้นพบได้โดย “เหตุผลบริสุทธิ์” ของมนุษย์

2 ความยุติธรรมตามแบบแผน (Conventional Justice) หมายถึง ความยุติธรรมซึ่ง เป็นไปตามตัวบทกฎหมายของบ้านเมือง หรือธรรมนิยมปฏิบัติของแต่ละสังคมหรือชุมชน ความยุติธรรมลักษณะนี้อาจเข้าใจแตกต่างกันตามสถานที่และอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาหรือตามความเหมาะสม

กฎหมายกับความยุติธรรมนั้นย่อมมีความสัมพันธ์กัน ดังพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จ

พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้วิชาความรู้ชั้นเนติบัณฑิต สมัยที่ 33 ปีการศึกษา 2523 ณ อาคารใหม่สวนอัมพร 24 ตุลาคม 2524 ตอนหนึ่งว่า “ตัวกฎหมายก็ไม่ใช่ความยุติธรรม เป็นแต่เพียงเครื่องมือที่ใช้ในการประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมเท่านั้น ดังนั้นนักกฎหมายในการใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาและอํานวยความยุติธรรม และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดินก็มิได้มีวงแคบอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยา ตลอดจนเหตุและผลตามเป็นจริงด้วย”

และนอกจากนั้น ลอร์ดเดนนิ่ง (Lord Denning) และจอห์น รอลส์ (John Rawls) ได้อธิบาย ความหมายของความยุติธรรมว่า คือ สิ่งที่ผู้มีเหตุมีผลและมีความรับผิดชอบต่อสังคมถือว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรม และบุคคลที่มีเหตุผลนั้นต้อง “เป็นคนกลาง” ไม่มีส่วนได้เสียในเรื่องที่วินิจฉัย โดยความเห็นของ Lord Brown- Wilkinson ในคดีปิโนเชต์ได้นําคําพิพากษาของลอร์ดเฮวาร์ดมาอ้างด้วยว่า “เป็นความสําคัญขั้นพื้นฐานที่ว่าไม่เพียงแต่จะทําให้เกิดความยุติธรรมเท่านั้น แต่ต้องทําให้คนเห็นปรากฏชัดเจนและปราศจากข้อสงสัยใด ๆ ว่า มีความยุติธรรมเกิดขึ้นจริง…” ในคําพิพากษานั้น

 

ข้อ 2 จงอธิบายอย่างละเอียดว่ากฎหมายมหาชนและหลักกฎหมายมหาชนมีความเกี่ยวข้องและสําคัญแก่ตัวนักศึกษาอย่างไร

ธงคําตอบ

“กฎหมายมหาชน” คือ กฎหมายที่บัญญัติให้อํานาจและหน้าที่แก่รัฐ แก่หน่วยงานทางปกครอง หรือหน่วยงานของรัฐและแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในทางปกครองและการบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชน ส่วนใหญ่ ในฐานะที่ฝ่ายปกครองมีอํานาจเหนือผู้ใต้ปกครอง

กฎหมายมหาชน ปัจจุบันได้แก่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง ซึ่งกฎหมาย ปกครองนั้นอาจจะอยู่ในชื่อของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกําหนด ประมวล กฎหมาย หรืออาจจะอยู่ในชื่อของประกาศคณะปฏิวัติก็ได้

กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการวางระเบียบการปกครองของรัฐ ในทางการเมืองโดยกําหนดโครงสร้างของรัฐระบอบการปกครอง การใช้อํานาจอธิปไตย และการดําเนินงานของ สถาบันสูงสุดของรัฐที่ใช้อํานาจอธิปไตย กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงอํานาจในการปกครองประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 อํานาจ คือ

1 อํานาจนิติบัญญัติ เป็นอํานาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของ อํานาจอธิปไตย ซึ่งมีรัฐสภาเป็นผู้ใช้อํานาจนี้

2 อํานาจบริหาร เป็นอํานาจที่จะจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย มีรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี เป็นผู้ใช้อํานาจนี้

3 อํานาจตุลาการ เป็นอํานาจในการตัดสินและพิพากษาอรรถคดี ซึ่งองค์กรสําคัญที่ใช้ อํานาจนี้ คือ ศาล

กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่วางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองของรัฐในทางปกครองหรือที่เรียกว่า “การจัดระเบียบราชการบริหาร” รวมทั้งการวางระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมของฝ่ายปกครอง ที่เรียกว่า “บริการสาธารณะ” ซึ่งฝ่ายปกครองจัดทําเพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชน

ราชการแผ่นดินของไทยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหาร ส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลมาจากกฎหมายปกครองดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

นอกจากนี้ยังกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อํานาจหน้าที่ ในทางปกครองแก่หน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐในการออกคําสั่งทางปกครอง ให้อํานาจในการออกกฎ ให้อํานาจในการกระทําทางปกครองและสัญญาทางปกครอง

ซึ่งในการใช้อํานาจนิติบัญญัติ อํานาจบริหาร และอํานาจตุลาการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการใช้อํานาจทางปกครองในการออกกฎ ออกคําสั่งทางปกครอง หรือการกระทําทางปกครองในรูปแบบอื่น และการทําสัญญาทางปกครองขององค์กรของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ก็เพื่อการ บริหารราชการแผ่นดินและเพื่อการจัดทําบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวมของประเทศ ซึ่งรวมทั้งเพื่อประโยชน์แก่ตัวข้าพเจ้าด้วย ดังนั้นในการใช้อํานาจต่าง ๆ หรือการกระทําต่าง ๆ ขององค์กรของรัฐ หรือหน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงต้องมีกฎหมายมหาชนบัญญัติให้อํานาจและหน้าที่ไว้ด้วย เพราะถ้าไม่มีกฎหมายมหาชนบัญญัติให้อํานาจและหน้าที่ไว้ องค์กรของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองและ เจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะไม่สามารถที่จะดําเนินการใด ๆ ได้ และนอกจากนั้น ในการใช้อํานาจต่าง ๆ ขององค์กรของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองและ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็จะต้องได้ใช้อํานาจโดยถูกต้องตามหลักของกฎหมายมหาชนด้วย ซึ่งได้แก่

1 หลักความชอบด้วยกฎหมาย หมายถึง การใช้อํานาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐ ไม่ว่า จะเป็นองค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ องค์กรของรัฐฝ่ายบริหาร และองค์กรของรัฐฝ่ายตุลาการ จะต้องเป็นการใช้ อํานาจหน้าที่ตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้เท่านั้น จะใช้อํานาจหน้าที่นอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้มิได้

2 หลักประโยชน์สาธารณะ หมายถึง การใช้อํานาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐฝ่ายต่าง ๆ จะต้องเป็นการใช้อํานาจหน้าที่เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของคนส่วนใหญ่ในสังคม ไม่ใช่เป็นการสนองตอบ ต่อความต้องการของคนบางกลุ่มบางพวกหรือเพื่อใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ

3 หลักความยุติธรรม หมายถึง การใช้อํานาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐฝ่ายต่าง ๆ จะต้อง เป็นการใช้อํานาจหน้าที่กับบุคคลทุกคนในสังคมอย่างเสมอภาคกัน และจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม

และนอกจากนั้นยังมีหลักกฎหมายมหาชนหรือหลักกฎหมายปกครองที่มีความสําคัญต่อการบริหารราชการแผ่นดินอีกหลายประการ เช่น หลักความซื่อสัตย์สุจริต หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เป็นต้น หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยรามคําแหงซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะใช้อํานาจทางปกครองเพื่อออกกฎ เช่น ระเบียบข้อบังคับของมหาวิทยาลัยหรือ ออกคําสั่งทางปกครอง หรือกระทําการทางปกครองในรูปแบบอื่น หรือการทําสัญญาทางปกครองในการบริหาร มหาวิทยาลัยเพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัยและนักศึกษาทุกคนซึ่งรวมทั้งข้าพเจ้าด้วยนั้นก็จะต้องมีกฎหมายมหาชน

ซึ่งในที่นี้คือ พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยรามคําแหง ซึ่งเป็นกฎหมายปกครองได้บัญญัติให้อํานาจและหน้าที่ไว้ด้วย และจะต้องใช้อํานาจและหน้าที่นั้นโดยถูกต้องตามหลักการต่าง ๆ ของกฎหมายมหาชนดังกล่าวข้างต้นด้วย เพราะถ้า เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยได้ใช้อํานาจหน้าที่เกินขอบเขตที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือเป็นการใช้อํานาจโดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อํานาจไว้ หรือได้ใช้อํานาจและหน้าที่ไม่ถูกต้องตามหลักของกฎหมายมหาชนแล้ว ย่อมอาจก่อให้เกิดข้อพิพาทซึ่งเรียกว่า ข้อพิพาททางปกครองขึ้นมาได้ และเมื่อเกิดข้อพิพาททางปกครองหรือคดีปกครอง ขึ้นมาแล้ว ก็สามารถนําข้อพิพาทนั้นไปฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองได้

ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากฎหมายมหาชนและหลักกฎหมายมหาชนมีความเกี่ยวข้องและสําคัญแก่ ตัวข้าพเจ้า ตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3 ทําไมจึงต้องควบคุมการใช้อํานาจรัฐ ในทางทฤษฎี การควบคุมการใช้อํานาจรัฐที่ดีมีองค์ประกอบ อะไรบ้าง และเกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติใดบ้าง ให้นักศึกษาระบุมาสัก 4 – 5 พระราชบัญญัติ พร้อมทั้งอธิบายและยกตัวอย่างประกอบ

ธงคําตอบ

กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่ไม่เสมอภาค กล่าวคือ รัฐมีเอกสิทธิ์ทางปกครองอยู่เหนือเอกชนนั้น เป็นการแสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะของกฎหมายมหาชนที่มีความเหนือกว่าในอํานาจรัฐ ซึ่งได้มา จากประชาชนในการที่รัฐย่อมมีอํานาจในการแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกนิติกรรมหรือสัญญาทางปกครองที่ รัฐเห็นว่าเป็นนิติกรรมหรือสัญญาทางปกครองที่ไม่เกิดประโยชน์ในการจัดทําบริการสาธารณะ หรือไม่เกิดผลดี แก่สาธารณชนได้ แต่การใช้อํานาจรัฐดังกล่าวต้องเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย

และเนื่องจากกฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่ให้อํานาจรัฐ หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอยู่เหนือประชาชน ดังนั้นหากไม่มีการควบคุม เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐอาจใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบ ด้วยกฎหมายได้ ซึ่งการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายคือการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรของรัฐ หน่วยงานของรัฐ กระทําการหรืองดเว้นกระทําการใช้อํานาจที่มีอยู่ตามกฎหมาย หรือใช้อํานาจนอกวัตถุประสงค์ของกฎหมาย อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน การควบคุมการใช้อํานาจรัฐที่ดี มีองค์ประกอบดังนี้ คือ

1 ระบบขององค์กรและกระบวนการตรวจสอบการกระทําของรัฐและเจ้าหน้าที่นั้น ควรมี ระบบที่ครอบคลุมกิจการของรัฐทุกด้าน เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นไปโดยทั่วถึงอย่างแท้จริง

2 ระบบควบคุมการใช้อํานาจรัฐนั้น ต้องเหมาะสมกับสภาพกิจกรรมของรัฐที่ถูกควบคุม และต้องมั่นใจว่าระบบควบคุมการใช้อํานาจรัฐนั้นต้องสร้างสมดุลภาพของความจําเป็นในการใช้อํานาจรัฐ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนแต่ละคนให้ได้

3 องค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบควบคุมนั้น ต้องมีลักษณะเป็นอิสระที่จะตรวจสอบควบคุม กิจกรรมที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทําได้ โดยองค์กรควบคุมนั้นเองจะต้องถูกตรวจสอบได้ด้วย

4 จะต้องมีการปรับปรุงกลไกทั้งหลายที่ประชาชนจะสามารถใช้สิทธินําเรื่องมาสู่องค์กร ทั้งหลายได้โดยกว้างขวางขึ้น อันจะทําให้ระบบการควบคุมมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สําหรับพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการใช้อํานาจรัฐนั้น มีหลายฉบับ เช่น

1 พระราชบัญญัติความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ. 2539 โดย พ.ร.บ. ฉบับนี้จะใช้บังคับแก่การกระทําละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐต่อบุคคลภายนอกหรือต่อหน่วยงาน ของรัฐ โดยจะกําหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทําละเมิดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ว่าการกระทําละเมิดนั้นจะเกิดขึ้นเนื่องจากการกระทําโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ตาม

2 พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เป็น พ.ร.บ.ที่มีวัตถุประสงค์ ในการวางมาตรฐานการปฏิบัติงานราชการแผ่นดินของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง กับการออกกฎหรือคําสั่งทางปกครอง ให้มีหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมแก่ ประชาชน เช่น การวางกรอบวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการออกกฎหรือคําสั่งทางปกครอง รูปแบบและผล ของคําสั่ง การอุทธรณ์คําสั่ง การเพิกถอนคําสั่ง วิธีการแจ้งคําสั่ง ระยะเวลาและอายุความ เป็นต้น

3 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เป็น พ.ร.บ.ที่ใช้ควบคุมการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถ้าหากเจ้าหน้าที่รัฐ ใช้อํานาจทางปกครองหรือใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ หรือคําสั่ง หรือการกระทําใด ๆ เอกชนผู้ได้รับความเสียหายก็สามารถฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลปกครองได้โดยอาศัยกลไกของกฎหมายฉบับนี้

พระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับ จะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันและมีความสําคัญในเรื่องการ ควบคุมการใช้อํานาจรัฐเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น พระราชบัญญัติความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐฯ เป็นกฎหมายที่ใช้ควบคุมการใช้อํานาจรัฐ โดยควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐมิให้เจ้าหน้าที่รัฐกระทําการใด ๆ ไม่ว่าจะโดยจงใจหรือโดยประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลภายนอกหรือต่อหน่วยงานของรัฐ และพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ เป็นกฎหมายที่ใช้ควบคุมการใช้อํานาจทางปกครอง ของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะการใช้อํานาจทางปกครองในการออกคําสั่งทางปกครองว่าจะต้องเป็นไปตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกําหนดไว้เท่านั้น

ในกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทําการใด ๆ เนื่องจากการใช้อํานาจรัฐและก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น แก่บุคคลภายนอก หรือเจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้อํานาจทางปกครองออกกฎหรือคําสั่ง และเป็นกฎหรือคําสั่งที่ไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย ดังนี้บุคคลที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับความเดือดร้อนจากการใช้อํานาจหรือจากการกระทําของ เจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าว ย่อมสามารถฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองเพื่อเรียกค่าเสียหายหรือให้ศาลปกครองสั่งให้เพิกถอน กฎหรือคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นได้ โดยอาศัยสิทธิตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ นั่นเอง

Advertisement