การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3ข้อ
ข้อ 1 จงอธิบายว่าประเทศไทยใช้กฎหมายระบบใด พร้อมบอกลักษณะสำคัญของกฎหมายมาให้ถูกต้องและครบถ้วนด้วย
ธงคำตอบ
ประเทศไทยชะระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law)
ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรนี้จะอยู่ในรูปของประมวลกฎหมาย ซึ่งประเทศที่ใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรจะต้องมีการจัดทำเป็นประมวลกฎหมายขึ้น โดยเฉพาะในทางกฎหมายแพ่งนั้นใช้ระบบกฎหมาย “Civil Law” มาจากภาษาลาตินของโรมันว่า “Jus Civile” โดยกษัตริย์โรมันชื่อ Justinian ได้ทรงรวบรวมกฎหมายประเพณี ซึ่งบันทึกไว้ในกฎหมายสิบสองโต๊ะ รวมทั้งรวบรวมนักกฎหมายในสมัยพระองค์ช่วยกันบัญญัติออกมาเป็นรูปกฎหมาย Civil Law ขึ้น มีชื่อว่า “Corpus Juris Civilis” ซึ่งต่อมาฝรั่งเศสและเยอรมันได้นำเอากฎหมายนี้มาจัดทำเป็นประมวลกฎหมายแพ่ง (Civil Code) ขึ้น จนเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก หรือที่เรียกว่า Condifild Law นั่นเอง
ประมวลกฎหมายคือ กฎหมายที่ได้บัญญัติหรือตราขึ้น โดยรวบรวมเอาบทบัญญัติเกี่ยวกับกฎหมายที่เป็นเรื่องเดียวกัน แต่กระจัดกระจายกันอยู่ไม่เป็นระเบียบ เอามารวบรวมจัดให้เป็นหมวดหมู่วางหลักเกณฑ์ให้อยู่ในที่เดียวกัน และมีข้อความเกี่ยวเนื่องติดต่อกันอย่างเป็นระเบียบ
กฎหมายที่เป็นรูปประมวลกฎหมายหรือกฎหมายลายลักอักษรนี้ เป็นการพิจารณาหลักเกณฑ์ ทั่วไปมาสู่เรื่องเฉพาะเรื่อง คือ เอาบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปมาปรับด้วยเป็นรายๆไป ดังนั้นประเทศที่ใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรจึงต้องคำนึงถึงตัวบทเป็นสำคัญ ส่วนคำพิพากษาของศาลเป็นเพียงช่วยในการตีความในตัวบทของประมวลกฎหมายหรือพระราชบัญญัติเท่านั้น ไม่ใช่ที่มาของกฎหมายอย่างเช่นระบบ Common Law ซึ่งที่มาของประมวลกฎหมายต่างๆ ในระบบ Civil Law นี้จะมาจากกฎหมายโรมันอันเป็นต้นแบบนั้นเอง
และนอกจากนี้ กฎหมายของประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมายนี้ แยกกฎหมายออกเป็นกฎหมายมหาชนและกฎหมายเอกชน คือ ในส่วนที่เกี่ยวกับมหาชนก็มีศาลปกครอง และในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายเอกชนก็มีศาลยุติธรรมเป็นผู้พิจารณาคดี ส่วนกฎหมายระบบ Common Law ไม่มีการแยกประเภทคดีทั้งทางมหาชนและเอกชนต้องพิจารณาในศาลยุติธรรมเพียงศาลเดียว
สำหรับลักษณะสำคัญของกฎหมายมีอยู่ 5 ประการ คือ
- กฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่เกิดขึ้นจากรัฏฐาธิปัตย์ คือ มาจากบุคคลหรือคณะบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดของรัฐหรือของประเทศ โดยใช้อำนาจนิติบัญญัติสร้างกฎหมายขึ้นมาเป็นข้อบังคับแห่งกฎหมาย เรียกว่าเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Codified Law) หรือกฎหมายที่เป็นรูปประมวลกฎหมาย เช่นประเทศไทยพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยความเห็นชอบของรัฐสภา เป็นต้น ฉะนั้นถ้าเป็นบุคคลธรรมดาด้วยกันเองแล้วย่อมไม่มีอำนาจที่จะออกข้อบังคับให้เป็นข้อกฎหมายใช้บังคับแก่คนทั่วไป
อนึ่ง ฝ่ายนิติบัญญัติอาจมอบอำนาจให้ฝ่ายบริหารออกกฎหมายได้เช่นกัน เช่น พระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวง ซึ่งนับได้ว่าเป็นกฎหมายเช่นกัน
- กฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ได้ทั่วไปกับทุกคนที่อยู่ในรัฐหรือในประเทศนั้นๆ
คือ มิได้ทำขึ้นเพื่อให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดใช้โดยเฉพาะ หรือออกมาเพื่อกิจการอันหนึ่งอันใดโดยเฉพาะ แต่ใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป และทุกสถานที่โดยเสมอภาค
- กฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ได้เสมอไป คือ เมื่อได้มีการประกาศใช้กฎหมายใดแล้ว ต้องใช้กฎหมายนั้นไปจนกว่าจะมีกฎหมายใหม่สำหรับเรื่องเดียวกันนั้นออกมา และให้ยกเลิกกฎหมายเก่าอันนั้นเสีย
4 กฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตาม ข้อบังคับดังกล่าวนั้นอาจจะเป็นเรื่องให้กระทำการหรือเป็นเรื่องให้ละเว้นกระทำการก็ได้ ซึ่งถ้ามีผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกลงโทษในทางอาญา5 กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ ซึ่งสภาพบังคับตามกฎหมายนั้นมีได้ทั้งในทางอาญาและในทางแพ่ง
– สภาพบังคับในทางอาญา คือ “โทษ” นั่นเอง ซึ่งตามกฎหมายกำหนดไว้มี 5 ชนิด โดยเรียง จากโทษหนักที่สุดไปยังโทษเบาที่สุด ได้แก่ 1 ประหารชีวิต 2 จำคุก 3 กักขัง 4 ปรับ 5 ริบทรัพย์สิน
– สภาพบังคับในทางแพ่ง หรือความรับผิดในทางแพ่งนั้น คือ การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กัน ได้แก่ การคืนทรัพย์ การชดใช้ราคาแทนทรัพย์ และรวมถึงการชดใช้ค่าเสียหายด้วย