ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 ก. การตีความกฎหมายคืออะไร จงอธิบายถึงหลักเกณฑ์ในการตีความกฎหมายแพ่งมาพอสังเขป
ข หลักกฎหมายทั่วไปในทางแพ่งคืออะไร หลักกฎหมายทั่วไปสามารถนำมาใช้ในการอุดช่องว่างของกฎหมายแพ่งได้อย่างไร จงอธิบาย
ธงคำตอบ
ก. การตีความกฎหมาย คือ การค้นหาความหมายของกฎหมายที่มีถ้อยคำไม่ชัดเจนหรือกำกวมหรือมีความหมายได้หลายอย่าง เพื่อจะได้ทราบว่าถ้อยคำของกฎหมายนั้นมีความหมายอย่างไร เมื่อตีความกฎหมายได้แล้วก็จะได้นำเอากฎหมายไปปรับใช้ในการวินิจฉัยกับข้อเท็จจริงได้ต่อไป
หลักเกณฑ์ในการตีความกฎหมายแพ่ง มีหลักเช่นเดียวกับการใช้กฎหมายแพ่ง กล่าวคือ จะต้องค้นหาความหมายของบทบัญญัติของกฎหมายและเจตนารมณ์ของกฎหมายไปพร้อมๆกัน จึงจะได้ความหมายที่ถูกต้องแท้จริงของกฎหมายนั้น โดยเริ่มจาก
1 การตีความตัวอักษร ทั้งศัพท์ธรรมดาและศัพท์กฎหมาย เพื่อจะได้ทราบความหมายของตัวอักษรเสียก่อน และ
2 การตีความตามเจตนารมณ์ เพื่อค้นหาความมุ่งหมายอันแท้จริงของกฎหมายว่าเป็นอย่างไร เจตนารมณ์ของกฎหมายอาจดูได้จากที่มา ตำแหน่งหรือหมวดหมู่ของกฎหมาย จากถ้อยคำของบทบัญญัตินั้นๆ หรือดูจากสถานการณ์ในขณะบัญญัติกฎหมาย รวมถึงจากรายงานการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติในการออกกฎหมายนั้นๆด้วย
ข หลักกฎหมายทั่วไป คือ หลักกฎหมายอันเป็นรากฐานหรือเป็นที่มาของบทบัญญัติกฎหมายใยเรื่องต่างๆในทางแพ่ง บทบัญญัติองกฎหมายในมาตราต่างๆ ของกฎหมายแพ่งมักจะบัญญัติขึ้นมาจากหลักทั่วไปดังกล่าว เช่น หลักสุจริต หลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน หลักผู้ซื้อต้องระวัง หลักกฎหมายปิดปาก หลักบุคคลต้องปฏิบัติตามสัญญา ฯลฯ หลักกฎหมายทั่วไปนี้อาจมาจากหลักทั่วไปที่ใช้อยู่ในระบบกฎหมายไทยเอง คือระบบซีวิลลอว์ หรืออาจเป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่มาจากระบบกฎหมายอื่น เช่น ระบบคอมมอน ลอว์ ก็ได้
หลักกฎหมายทั่วไปอาจนำมาใช้ในการอุดช่องว่างของกฎหมายได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรค 2 คือ หากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาปรับกับคดี และก็ไม่มีจารีตประเพณี รวมถึงไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ก็ต้องนำหลักกฎหมายทั่วไปมาใช้ปรับกับข้อเท็จจริงในคดีที่เกิดขึ้นแทน