การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1001 หลักกฎหมายมหาชน
ข้อ 1 กฎหมายมหาชนคืออะไร มีความสัมพันธ์กับรัฐศาสตร์อย่างไร และนักศึกษามีความเข้าใจคำว่า “อำนาจ” คือธรรม กับ “ธรรม” คืออำนาจ อย่างไร จงอธิบาย
ธงคำตอบ
กฎหมายมหาชน คือ กฎหมายที่กล่าวกำหนดถึงกฎเกณฑ์ทางกฎหมายทั้งหลายเกี่ยวข้องกับ สถานะและอำนาจ ของรัฐและ ผู้ปกครอง รวมทั้งเป็นกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและ ผู้ปกครองกับพลเมือง ผู้อยู่ใต้ปกครองในฐานะที่รัฐและผู้ปกครองมีเอกสิทธิ์ทางปกครองเหนือพลเมืองซึ่งอยู่ในฐานะเป็นเอกชน
ส่วนรัฐศาสตร์นั้น คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของรัฐ อำนาจ และการปกครอง รัฐศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับรัฐ กำเนิด และวิวัฒนาการของรัฐ รัฐในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และยังศึกษาถึงองค์การทางการเมือง สถาบันทางการปกครอง ตลอดจนอำนาจในการปกครองรัฐ วิธีการดำเนินการต่างๆของรัฐ รวมทั้งแนงความคิดทางการปกครองและทางการเมืองในรัฐด้วย
กฎหมายมหาชนและรัฐศาสตร์เป็นศาสตร์ 2 ศาสตร์ ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างมาก เพราะกฎหมายมหาชนจะศึกษาเรื่องรัฐ อำนาจรัฐ รัฐธรรมนูญ และศึกษาสถาบันการเมืองของรัฐ ซึ่งก็ต้องเกี่ยวข้องกับรัฐศาสตร์ แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายมหาชนยังต้องศึกษาในด้านนิติศาสตร์อยู่อีกมาก ศึกษาบทบัญญัติของกฎหมายมิใช่เป็น การศึกษาทางรัฐศาสตร์ล้วนๆกฎหมายมหาชนสัมพันธ์กับปรัชญา กล่าวคือ กฎหมายแต่ละอย่างจะมีปรัชญาที่แตกต่างกัน ปรัชญาของกฎหมายเอกชน ปรัชญาของกฎหมายอาญา ปรัชญากฎหมายมหาชน เป็นต้น
ดังนั้น ปรัชญา ซึ่งเป็น ศาสตร์แห่งการวิเคราะห์ความรู้ยอดสรุปของวิชากฎหมายมหาชน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรัฐ อำนาจรัฐ การปกครองของรัฐ กฎหมายมหาชน จึงสัมพันธ์กับปรัชญาสาธารณะประโยชน์ หรือประโยชน์สาธารณะ และการประสานดุลยภาพระหว่างประโยชน์สาธารณะ กับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของเอกชน
ส่วนประเด็น อำนาจ คือ ธรรม กับ ธรรม คือ อำนาจ อธิบายได้ดังนี้คือ
กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายเกี่ยวกับรัฐ รัฐธรรมนูญ อำนาจรัฐ การปกครองของรัฐ และการควบคุมตรวจสอบภายใน อำนาจรัฐ โดยเฉพาะในรัฐเสรีนิยมประชาธิปไตย ดังนั้น การใช้อำนาจรัฐจึงเป็นสาระสำคัญของผู้ปกครองประเทศที่จะดำเนินการ ปกครองในการใช้อำนาจเพื่อความถูกต้องเป็นธรรมและเหตุผลเพื่อให้เกิดประโยชน์ สุขกับประชาชน หากใช้อำนาจตามอำเภอใจหรือตามความต้องการของผู้ปกครองคือให้ อำนาจ คือ ธรรม ซึ่งก็คือความต้องการของผู้ปกครองเป็นสิ่งที่ถูกต้องแม้จะไม่ชอบด้วยธรรมะ และเหตุผล กฎหมายจะไม่มีความแน่นอน ซึ่งการใช้อำนาจในลักษณะนี้จะเป็นการใช้อำนาจในระบอบการปกครองแบบเผด็จการนั่นเอง กฎหมายเป็น Will เจตนาของผู้ปกครองที่จะต้องการใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ตามอำเภอใจ
ส่วนที่ว่า ธรรมคืออำนาจ หมายถึง การใช้อำนาจโดยดูจากความถูกต้อง เหตุและผล ความเหมาะสม ใช้กฎหมายโดยคำนึงถึงความ
เป็นธรรม กฎหมายต้องเป็นกฎหมายที่ดี (Good Law) ถ้าเป็นกฎหมายที่ไม่ดี ก็ออกกฎหมายยกเลิกได้ เช่น ประกาศของคณะปฏิวัติ หรือประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองฉบับใดที่ไม่มีความเป็นธรรมก็ออกกฎหมายใหม่มายกเลิกกฎหมายเก่าซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกในยุคเผด็จการได้
ฉะนั้น การที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นการได้อำนาจรัฐมาจากตัวบทกฎหมาย คือ รัฐธรรมนูญ ดังนั้นรัฐบาลหรือรัฐสภาออกกฎหมายใหม่ หรือแก้ไขกฎหมายที่ไม่ดีจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว
เพราะกฎหมายคือเจตน์จำนงร่วมกันของประชาชนทั้งชาติ ซึ่งเป็น General (ไม่ใช่ Will ) แบบกฎหมายในระบอบเผด็จการซึ่งออกตามอำเภอใจ กฎหมายจะมีความแน่นอนมากกว่าเพราะผ่านการพิจารณาจากตัวแทนของประชาชนบนพื้นฐานของประโยชน์สาธารณะและความต้องการของประชาชนในรัฐ