การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2553
ข้อสอบกระชวนวิชา LAW 1001 หลักกฎหมายมหาชน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1
ก. กฎหมายมหาชนคืออะไร มีความสัมพันธ์กับหลักความยุติธรรม และหลักประโยชน์สาธารณะ (Public Interest) อย่างไร จงอธิบายข. กฎหมายที่ดี (Good Law) มีลักษณะอย่างไรบ้าง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 309 ขัดกับหลักการดังกล่าวอย่างไรบ้าง จงอธิบาย
ธงคำตอบ
ก. “กฎหมายมหาชน” ได้แก่ กฎหมายที่เกี่ยวกับรัฐ อำนาจรัฐและการใช้อำนาจรัฐเกี่ยวกับการปกครองหรือเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองภายในรัฐ กล่าวคือ กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ หน่วยงานของรัฐ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐกับราษฎรในลักษณะที่รัฐ หน่วยงานของรัฐรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นฝ่ายปกครองมีเอกสิทธิ์หรือมีสถานะเหนือกว่าราษฎรซึ่งเป็นเอกชน
ความสัมพันธ์ของกฎหมายมหาชนกับความยุติธรรม
ความยุติธรรมคืออะไร เป็นสิ่งที่นักกฎหมายต้องพิจารณาและให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะกฎหมายนั้นตราออกมาใช้บังคับเพื่อความเป็นธรรมในสังคม ความยุติธรรมนี้จะเอาอะไรมาเป็นปทัสถานของความยุติธรรมว่าพอดี หรือเพียงพอแล้ว เพราะเวลาพูดถึงความยุติธรรมถ้าใช้สามัญสำนึกของตัวเองเป็นหลัก บางเรื่องก็อาจจะเห็นว่าไม่เป็นธรรม แต่ถ้าเอาสังคมส่วนรวมเป็นที่ตั้งก็อาจเป็นธรรม เช่น กรณีออกกฎหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ หากใช้บังคับแก่คนทั่วไปโดยไม่เลือกใช้เฉพาะกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งแล้ว เช่นนี้ก็ย่อมถือว่ากฎหมายนั้นมีความยุติธรรมแล้ว
โดยทั่วไป ความยุติธรรมเป็นสิ่งบางอย่างที่ “รู้สึกได้” หรือรับรู้ได้โดย “สัญชาตญาณ” แต่ก็ยากที่จะอธิบาย หรือให้นิยามความหมายของสิ่งที่รู้สึกได้ดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม
ความหมายของคำว่า “ความยุติธรรม” มีความหลากหลาย รายละเอียดต่างๆอาจศึกษาหาอ่านได้โดยตรงในวิชานิติปรัชญา ในที่นี้จะเพียงยกคำจำกัดความของนักกฎหมายหรือนักปราชญ์เพียงบางท่าน เช่น
เดวิด ฮูม (David Hume) อธิบายไว้ว่า ความยุติธรรมเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งที่มิได้ปรากฏขึ้นเองโดยธรรมชาติ แต่เป็นคุณธรรมที่เกิดจากการคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ (Artificial Virtue)
เพลโต (Plato : 427 – 347 B.C.) ปรัชญาเมธีชาวกรีกในงานเขียนเรื่อง “อุดมรัฐ” (The Republic) ได้ให้คำนิยามความยุติธรรมว่า หมายถึง การทำความดี (Doing well is Justice) หรือการทำสิ่งที่ถูกต้อง (Right Conduct)
อริสโตเติล (Aristotle) มองว่าความยุติธรรม คือ คุณธรรมทางสังคม (Social Virtue) ประการหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และ คุณธรรมเรื่องความยุติธรรมนี้จะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเมื่อมนุษย์ได้ ปลดปล่อยตัวเขาเองจากแรงผลักดันของความเห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง
อริสโตเติล แบ่งความยุติธรรมออกเป็น 2 ประเภท คือ
1 ความยุติธรรมโดยธรรมชาติ (Natural Justice) หมายถึง หลักความยุติธรรม ซึ่งมีลักษณะเป็นสากล ไม่เปลี่ยนแปลง ใช้ได้ต่อมนุษย์ทุกคน ไม่มีขอบเขตจำกัด และอาจค้นพบได้โดย “เหตุผลบริสุทธิ์” ของมนุษย์
2 ความยุติธรรมตามแบบแผน (Conventional Justice) หมายถึง ความยุติธรรมซึ่งเป็นไปตามตัวบทกฎหมายของบ้านเมือง หรือธรรมนิยมปฏิบัติของแต่ละสังคมหรือชุมชน ความยุติธรรมลักษณะนี้ อาจเข้าใจแตกต่างกันตามสถานที่และอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาหรือตามความเหมาะสม
กฎหมายกับความยุติธรรมนั้นย่อมมีความสัมพันธ์กัน ดังที่พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้วิชาความรู้ชั้นเนติบัณฑิต สมัยที่ 33 ปีการศึกษา 2523 ณ อาคารใหม่สวนอัมพร 24 ตุลาคม 2524 ตอนหนึ่งว่า “ตัวกฎหมายก็ไม่ใช่ความยุติธรรมเป็นแต่เพียงเครื่องมือที่ใช้ในการประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมเท่านั้น ดังนั้นนักกฎหมายในการใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาและอำนวยความยุติธรรม และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดินก็มิได้มีวงแคบอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยา ตลอดจนเหตุและผลตามเป็นจริงด้วย”
ความสัมพันธ์ของกฎหมายมหาชนกับหลักประโยชน์สาธารณะ
กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่มีหลักการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ตอบสนองความต้องการของประชนชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ เน้นการปกครองโดยกฎหมายตามหลักนิติรัฐ และเน้นการใช้การตีความกฎหมายตามหลักนิติธรรม เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและสร้างดุลยภาพขององค์กรที่ใช้อำนาจรัฐ
ดังนั้น ถ้าผู้มีอำนาจหรือผู้ปกครองออกกฎหมายที่คุ้มครองตนเองหรือเพื่อประโยชน์ส่วนตัว จึงไม่ถือว่าเป็นประโยชน์สาธารณะ และเป็นการเขียนกฎหมายที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของปะเทศชาติ และประชาชน
ข. กฎหมายที่ดี (Good Law)
การปกครองบ้านปกครองเมืองโดยกฎหมายที่เป็นธรรมนั้น ก็คือ ต้องมีกฎหมายที่ดี (Good Law) ซึ่งกฎหมายที่ดีจะมีลักษณะสำคัญอยู่ 5 ประการ คือ
1 กฎหมายต้องมีลักษณะเป็นการทั่วไป กล่าวคือ กฎหมายมีผลใช้บังคับทั่วไป มิได้มุ่งหมายใช้กับกรณีใดกรณีหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ
2 กฎหมายต้องมีความชัดเจนแน่นอน
3 กฎหมายต้องไม่มีผลย้อนหลัง
4 กฎหมายต้องไม่ขัดต่อหลักความได้สัดส่วน
5 กฎหมายต้องไม่กระทบต่อเนื้อหาอันเป็นแก่นแท้ของสิทธิและเสรีภาพ
กฎหมายใดก็ตามที่มุ่งให้เกิดผลแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ย่อมขัดต่อหลักแห่งความเสมอภาคและย่อมขัดกับหลักกฎหมายที่ดี ความไม่ขัดต่อหลักความได้สัดส่วนก็มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความสมดุลที่เป็นธรรม เพื่อให้ทุกฝ่ายดำรงอยู่ได้ ส่วนที่ว่ากฎหมายต้องไม่ขัดแย้งต่อเนื้อหาอันเป็นแก่นแท้ของสิทธิและเสรีภาพนั้น ก็คือ พลเมืองทุกคนมีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่จะกระทำหรือดำเนินการอย่างใดๆได้ รวมทั้งสิทธิดำเนินการในทางการเมือง
ดังนั้น กฎหมายใดก็ตามที่จำกัดสิทธิตามรัฐธรรมนูญโดยมุ่งหมายให้เกิดผลร้ายกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ย่อมไม่ใช่กฎหมายที่ดี
มาตรา 309 แห่งรัฐธรรมนูญ 2550 ขัดกับหลักกฎหมายที่ดี เพราะเป็นกฎหมายที่เขียนขัดต่อหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม และหลักประโยชน์สาธารณะ คือ ไม่ได้เป็นประโยชน์กับประชาชน และประเทศชาติ แต่เป็นประโยชน์กับผู้ทำการรัฐประหาร และพวกของผู้ทำรัฐประหาร หรือพรรคการเมืองที่ร่วมกับการรัฐประหาร การเขียนกฎหมายดังกล่าวจึงขัดกับหลักกฎหมาย หลักความรับผิด และหลักความยุติธรรม ซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดการแตกแยก การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ใครอยู่ฝ่ายตรงข้าม คิดไม่เหมือน คิดต่าง คือ ศัตรูทางความคิด ทางการเมืองต้องขจัด ทำให้ประเทศชาติไม่สงบ ประชาชนไม่ได้ประโยชน์